ปัจจุบันเราพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากมาย หลายร้อยดวงแต่ละดวงมีคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเองนักดาราศาสตร์จึงพยายามศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เพื่อหวังว่าอาจจะมีดาวสักดวงที่อาจจะเหมาะสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตก็ได้
ซารา ซีเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในเคมบริดจ์กล่าวว่า แก๊สที่ห้อหุ้มชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลก เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราใช้บอกว่าดาวเคราะห์ดวงนี้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ โดยความบางของชั้นบรรยากาศและองค์ประกอบของแก๊สที่เหมาะสมของโลกนั้นเอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิต
นักดาราศาสตร์นำกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์มาศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบ 55 Cancri e ซึ่งเป็นดาวซุปเปอร์เอิร์ธที่ถูกยืนยันว่าไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เนื่องจากเต็มไปด้วยทะเลแมกมาและอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก ถึงยังงั้นดาวเคราะห์นี้ก็ยังมีชั้นบรรยากาศที่หนาเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ของรัศมีดาว ทั้งยังเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งผิดวิสัยดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ ๆ ดาวฤกษ์ ที่ชั้นบรรยากาศควรถูกเปลวสุริยะเป่าทิ้งไปหมดแล้ว
วิศวกรได้ใช้สเปกโตรมิเตอร์อินฟราเรดเพื่อตรวจจับพลวัตของแก๊สที่หมุนวนรอบดาวเคราะห์ที่ดูดซับรังสีอินฟราเรดเพื่อยืนยันว่าดาวดวงนี้มีชั้นบรรยากาศจริง และประกอบด้วยธาตุอะไร
นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวนี้อาจมีกลไกบางอย่าง ที่ทดแทนการระเหยของชั้นบรรยากาศจากเปลวสุริยะ ดังนั้นพวกเขาจึงหันกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ไปเพื่อศึกษามันอีกครั้ง เพื่อให้เราสามารถเข้าใจกลไกของดาวเคราะห์ลาวาเหลวนี้ในการสร้างชั้นบรรยากาศทดแทน โดยองค์ความรู้ที่ได้จากดาวนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจวิวัฒนาการของดาวโลกในครั้งก่อกำเนิดที่ยังเต็มไปด้วยทะเลลาวาก่อนที่จะกลายมาเป็นดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เรารู้จักในทุกวันนี้