สัตวแพทย์ (Veterinarian) คือ แพทย์ที่ทำหน้าที่ในการรักษาน้องสัตว์ทั้งหลาย ภาษาชาวบ้านเรียกอย่างง่ายๆว่า “หมอรักษาสัตว์” ซึ่งคำว่า Veterinary ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกโดย โทมัส บราวน์ (Thomas Browne) ในช่วงหลังบางครั้งจะเรียกสั้นๆว่า “Vet”
ในประเทศไทย ได้มีการใช้คำว่า “สัตวแพทย์” แทนคำภาษาอังกฤษว่า “Veterinarian” เป็นครั้งแรก โดย พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของวิชาสัตวแพทย์สมัยใหม่ ท่านทรงก่อตั้งโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ทหารบก และได้ทรงพัฒนาโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์จากการก่อตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบกขึ้นมา นับว่าเป็นการริเริ่มการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย หลังจากนั้นต่อมาก็ได้พัฒนาเป็นแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในสถานศึกษาพลเรือนครั้งแรกของไทย เพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญา และได้มีการพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในเวลาต่อมา

คำว่า “สัตวแพทย์” นั้น มี 2 ความหมายด้วยกัน อย่างแรกคือ นายสัตวแพทย์ (Veterinarian) หรือคนที่เรียนจบสัตวแพทย์ในระดับปริญญาตรีและได้รับคุณวุฒิปริญญาทางสัตวแพทยศาสตร์ (สพ.บ.) และได้รับใบประกอบวิชาชีพกรสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง และอย่างที่สอง คือ สัตวแพทย์ (Paravet) หรือคนที่เรียนจบโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์เป็นเวลา 2 ปีจนได้รับประกาศนียบัตร และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ได้ถูกเปลี่ยนเป็นคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตวแพทย์ต่อสังคมไทย จึงมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสัตวแพทย์ไทย” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2491
อ้างอิง
สำนักวิทยบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร | วันสัตวแพทย์ไทย
สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ | ประวัติสมาคม