ดาวเคราะห์น้อยเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ โดยมีรูปร่างที่หลากหลายและไม่แน่นอน ซึ่งดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 950 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่มักกระจุกตัวรวมกันบริเวณระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสเรียกว่า ‘แถบดาวเคราะห์น้อย’
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 องค์การนาซาเปิดเผยว่าในวันที่ 27 มกราคม 2566 ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU จะโคจรเฉียดมาใกล้โลกซึ่งถือเป็นดาวเคราะห์น้อยที่เฉียดใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
โดยดาวเคราะห์น้อย 2023 BU นี้มีขนาด 3.5-8.5 เมตรหรือเท่ากับขนาดของรถบรรทุก ซึ่งจะเฉียดใกล้โลกบริเวณเหนือภูมิภาคอเมริกาใต้ เวลา 07.27 น. ตามเวลาประเทศไทยที่ระยะห่าง 3,600 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะที่ใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมค้างฟ้า (geosynchronous satellites)
ซึ่งดาวเคราะห์น้อย 2023 BU นี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ชื่อ Gennadiy Borisov จากหอดูดาว Margo ในเมือง Nauchnyi แคว้นไครเมีย เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 จากนั้นได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำวงโคจรของดาวเคราะห์ข้างต้นโดยหอสังเกตการณ์ทั่วโลก โดยจัดให้ดาวเคราะห์น้อย 2023BU จัดเป็นวัตถุใกล้โลก (Near-Earth object : NEO)
จากการประเมินของ สเกาต์ ระบบประเมินอันตรายของนาซา คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์น้อยนี้จะไม่ทำอันตรายต่อโลก โดยจะเป็นการเฉียดและจากไปเท่านั้นโดยถึงแม้จะมีโอกาสดาวเคราะห์น้อยนี้อาจจะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดแต่ก็จะเผาไหม้และจะหลงเหลือเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ เป็นอุกกาบาตขนาดเล็กเท่านั้น
นอกจากนี้ NASA คำนวณว่าเนื่องจากอิทธิพลการรบกวนของแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้ดาวเคราะห์น้อย2023 BU นี้ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นานขึ้นจากเดิมที่โคจรเป็นวงกลมใกล้โลกใช้เวลา 359 วันกลายเป็นวงโคจรวงรีซึ่งกินเวลา 425 วัน
อ้างอิง
NASA System Predicts Small Asteroid to Pass Close by Earth This Week | NASA