มารี คูรี (Marie Curie) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกได้ค้นพบเรื่องราวอันมหัศจรรย์ของธาตุเรเดียม (Radium) จนเป็นที่มาของการรักษาโรคมะเร็ง และยังค้นพบธาตุพอโลเนียม (Polonium) อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง ในสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 1903 และสาขาเคมีเมื่อปี 1911 ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของอาชีพนักวิทยาศาสตร์หญิงทั่วโลก
หลายท่านสงสัยมั้ยครับว่า เจ้าเรเดียม และพอโลเนียม คืออะไร มาจากไหนกัน?
จุดกำเนิดการค้นพบเรเดียมและพอโลเนียม
จุดเริ่มต้นของการค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้ เริ่มต้นมาจากการศึกษาพบธาตุ “ยูเรเนียม” ในแร่พิตซ์เบลนด์ (Pitchblende)
เมื่อศึกษาโดยละเอียดผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ค้นพบว่าในตัวแร่เองยังมีพลังงานบางอย่างที่ถูกปล่อยออกมา และมีความแรงมากกว่าธาตุยูเรเนียม จนนำไปสู่การสกัดและค้นพบธาตุกัมมันตรังสีชนิดใหม่
ธาตุใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า พอโลเนียม (Polonium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์ (บ้านเกิดของมาดามมารี คูรี) นอกจากนี้มารี คูรี ได้ทำการศึกษาและสกัดธาตุต่อไปอีก จนค้นพบว่ามีพลังงานอีกหนึ่งชนิดที่มีความแรงมากกว่ายูเรเนียมและพอโลเนียม ซึ่งพลังงานนี้ได้ปล่อยออกมาแบบทุกทิศทุกทาง จึงให้ชื่อว่า เรเดียม โดยมีรากศัพท์มาจาก radius (รัศมี)
ความรุนแรงของธาตุเรเดียมและพอโลเนียม รุนแรงขนาดไหน และมีประโยชน์อย่างไร?
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเรเดียม ส่งผลให้เซลล์ถูกทำลาย และหยุดแบ่งตัว ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาโรคมะเร็ง ในขณะเดียวกันเรเดียมในสมัยก่อน ยังถูกนำมาใช้ทำพรายน้ำบนหน้าปัดนาฬิกาหรือแผงหน้าปัดบนรถถัง เครื่องบินรบ และเรือรบ เพื่อให้เกิดการเรืองแสง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1917 แต่ต้องลดการใช้เรเดียมลงจนเลิกใช้ไปเนื่องจากมีความอันตราย ตั้งแต่ในช่วงปี 1928 เป็นต้นมา
ด้วยความที่ มารี คูรี ใช้เวลาอย่างมากในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของเรเดียม ประกอบกับพลังงานมหาศาลในตัวมัน ทำให้ผิวหนังของเธอเริ่มแห้งกร้าน ลอกออกเป็นชั้นสีดำ คล้ายกับเนื้อเยื่อถูกเผาจากด้านใน ซึ่งเป็นอันตรายต่อดีเอ็นเอ
ส่วนพอโลเนียมนั้น เมื่อนำมาผสมกับแบริลเลียมให้เป็นโลหะผสมแล้วจะใช้เป็นแหล่งกำเนิดนิวตรอน ซึ่งจะเป็นตัวจุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์ได้ รวมไปถึงการนำไปใช้ในงานด้านอื่น ๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดประจุไฟฟ้าสถิตในโรงงานทอผ้า ใช้เป็นแหล่งความร้อน ใช้เป็นยาพิษ และเป็นตัวกำจัดผงฝุ่นบนแผ่นฟิล์ม แต่หากมีการกิน หายใจ หรือดูดซึมเข้าไปด้วยวิธีการต่าง ๆ จะส่งผลให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตเช่นเดียวกันกับเรเดียม
5 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ มารี คูรี
1. มารี คูรี เป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศฝรั่งเศสที่ได้รับปริญญาเอก และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเธอได้รับรางวัลดังกล่าวถึง 2 ครั้ง
2. หน่วย คูรี (Curie, Ci) เคยเป็นหน่วยที่ใช้วัดกัมมันตภาพ (แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ หน่วย เบ็กเคอเรล แทน)
3. ครอบครัวของกูรี มีรางวัลโนเบลมาครอบครองถึง 5 ครั้ง (มารี คูรี 2 ครั้ง, สามี 1 ครั้ง, ลูกสาว 1 ครั้ง และ สามีของลูกสาว 1 ครั้ง)
4. ธาตุคูเรียม (Curium) ธาตุลำดับที่ 96 ในตารางธาตุ ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ มารี คูรี และสามี
5. ธาตุกัมมันตรังสี เป็นสิ่งที่ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และยังส่งผลร้ายในตอนบั้นปลายชีวิตแก่ มารี คูรี