ในวันนี้เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ได้มีเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทยนั่นก็คือการอัตวินิบาตกรรมเพื่อการประท้วงของนายสืบ นาคะสเถียร นักอนุรักษ์และข้าราชการกรมป่าไม้ (อ่านประวัติเพิ่มเติมได้ที่ The Principia – 1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร… | Facebook ) ทำให้มีการกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้งขึ้นภายในปีเดียวกัน และถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกในปีถัดมา
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ 1.8 ล้านไร่โดยประมาณ เป็นเขตที่เป็นรอยต่อของชีวภูมิศาสตร์สี่ภูมิภาคของเอเชีย ได้แก่ ภูมิภาคซุนเดอิก ภูมิภาคอิโด-เบอร์มิส ภูมิภาคอินโด-ไชนิส และภูมิภาคไซโน-หิมาลายัน ทำให้มีพรรณพืชและชนิดป่าหลายชนิดหลายรูปแบบ ภายในนั้นมีชนิดของป่ามากถึง 7 ชนิดคือ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเขาหินปูน ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรังอีกด้วย ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและความหลากหลายจากชนิดของป่าทำให้ห้วยขาแข้งเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่น้อยกว่า 159 ชนิด นกไม่น้อยกว่า 428 ชนิด โดยรวมมีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 700 ชนิด บางชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม งูลายสาบท้องสามขีด เขียดงูเกาะเต่า ฯลฯ และในความหลากหลายของชนิดพันธุ์มีสัตว์เด่นที่ได้รับสมญานามว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ดแห่งห้วยขาแข้งดังนี้
ควายป่า
ควายป่า หรือ มหิงสา (Bubalus arnee) แต่เดิมเคยมีควายป่าให้เราเห็นอยู่ตามป่าทุ่งโปร่งเกือบทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงแหล่งเดียวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บริเวณที่ราบริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของพื้นที่ ประมาณไม่เกิน 50 ตัว เป็นความเปราะบางต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ควายป่าจึงได้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
ลักษณะของควายป่าในลำขาแข้งรูปร่างจะคล้ายคลึงกับควายบ้านแต่มีขนาดที่ใหญ่ล่ำสันและมีวงเขาตีโค้งกว้างกว่าดุร้ายกว่าควายบ้านมาก สีลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง 4 สีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี มีรูปแบบสังคมคล้ายพวกวัวป่ามีการรวมฝูงกันและตัวผู้มักชอบอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง
เสือโคร่ง
เสือโคร่ง (Panthera tigris) จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและเป็นสัตว์กินเนื้ออยู่ในวงศ์ Felidae เป็นสัตว์ที่มีขนาดที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย
สีขนบนลำตัวจะมีสีตั้งแต่โทนแดงส้มไปยังเหลืองปนน้ำตาล ส่วนล่างใต้ท้องจะเป็นสีขาว ลำตัวมีลายพาดผ่านเป็นสีดำและเทาเข้ม (ลายพาดกลอน) อาจดูเหมือนหมือนกันทั้งหมด แต่ในความจริงแล้ว ลวดลายของเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีความแตกต่างกัน แม้กระทั่งลายทั้งสองด้านของลำตัวก็ยังแตกต่างกัน
ขนาดของลำตัว หากวัดจากความยาวลำตัวรวมความยาวของหางแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 140-300 เซนติเมตร เสือโคร่งหนึ่งตัวอาจมีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม โดยส่วนใหญ่แล้วเสือโคร่งเพศผู้มักมีน้ำหนักและลำตัวที่ใหญ่กว่าเสือโคร่งเพศเมีย โดยเฉพาะเสือโคร่งในสายพันธุ์ไซบีเรียที่เป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด เพศผู้อาจมีความยาวลำตัวเกิน 10 ฟุต และมีน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม ในขณะที่เพศผู้ของสายพันธุ์ที่เล็กที่สุดอย่างเสือโคร่งสุมาตรานั้น จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 100-140 กิโลกรัมเท่านั้น
เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่รักสันโดษ แต่ละตัวจะมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งเสือตัวเมียครอบครองอาณาเขตราว 10-20 ตารางกิโลเมตร และ 30-70 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวผู้ การประกาศอาณาเขตจะทำโดยการทิ้งรอยข่วนตามต้นไม้และการปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะจะสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ เมื่อเสือโคร่งตัวอื่นมาได้กลิ่นนี้ จะรู้ได้ทันทีว่าเจ้าของพื้นที่เป็นเพศใด และพร้อมที่จะสืบพันธุ์แล้วหรือไม่ กลิ่นของปัสสาวะนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นเจ้าของพื้นที่จะต้องหมั่นแวะเวียนตรวจตราพื้นที่และเติมกลิ่นของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากกลิ่นหายไป เสือโคร่งตัวอื่นอาจถือว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของและยึดพื้นที่ไปได้ ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตามลำพัง แต่ในบางครั้งเราอาจพบเสือโคร่งอยู่รวมกัน ที่เป็นการร่วมกันล่าเหยื่อที่ใหญ่กว่าหรือเป็นแม่เสือที่เลี้ยงดูลูก
ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าราว 250 ตัว จากผืนป่าที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศไทย
เสือดาว
เสือดาว (Panthera pardus) เป็นเสือมีขนาดใหญ่ รองลงมาจากเสือโคร่ง เสือดาวมีขนสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลือง มีจุดดำทั้งตัว แต่บริเวณกลางตัวมีจุดดำเป็นกลุ่มๆ ที่เรียกกันว่า “รอยขยุ้มตีนหมา” หลังหูดำ มีจุดสีขาวนวลที่หลังหูเหมือนเสือโคร่ง ส่วนเสือดำนั้นมีขนาดและรูปร่างเหมือนเสือดาวทุกประการ แต่มีสีดำตลอดตัว ถิ่นอาศัยสามารถพบได้ในแอฟริกาและเอเชีย ตั้งแต่แมนจูเรียลงมาถึงอินโดจีน ไทย มาเลเซีย และชวา สำหรับประเทศไทยพบตามป่าทั่วไปแต่พบมากทางภาคใต้ สามารถอยู่ในป่าได้ทุกชนิด ทั้งป่าทึบ ป่าโปร่งและป่าที่มีโขดหิน ทนร้อนได้ดีกว่าเสือโคร่งไม่ชอบอาบน้ำอย่างเสือโคร่ง ขึ้นต้นไม้เก่งกว่าเสือโคร่ง เป็นสัตว์ที่ว่องไวและดุ ปกติแล้วอยู่ตามลำพังตัวเดียว จะอยู่เป็นคู่ในระยะผสมพันธุ์เท่านั้น ชอบกระโดดจากต้นไม้เพื่อจับเหยื่อบนพื้นดิน และลากเหยื่อขึ้นต้นไม้เพื่อกันไม่ให้สัตว์อื่นมาแย่ง
สมเสร็จ
สมเสร็จ (Tapirus indicus) เป็นสัตว์กีบเดี่ยว มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดอยู่รวมกันในตัว กล่าวคือ รูปร่างคล้ายหมู กีบเท้าคล้ายแรด จมูกและริมฝีปากมนยาวยื่นออกมาคล้ายงวงช้าง หางสั้นคล้ายหางหมี หูเล็กสั้นกลม ตาเล็ก สมเสร็จเป็นสัตว์กีบคี่เช่นเดียวกับแรดและกระซู่แต่ไม่มีนอบริเวณจมูกตีนหลังของสมเสร็จมีกีบนิ้ว 3 นิ้วคล้ายแรดส่วนตีนหน้ามีกีบนิ้ว 4 นิ้วลักษณะกีบค่อนข้างเรียวแยกจากกันโดยมีร่องระหว่างนิ้วลึกร่องขารวมถึงหางและก้นเป็นสีดำบริเวณกลางลำตัวตั้งแต่หลังขาหน้าถึงก้นเป็นสีขาวหนังตามลำตัวของสมเสร็จไม่หนา และไม่มีรอยพับเหมือนแรดและกระซู่ ยกเว้นบริเวณคอจะมีแผ่นหนังหนามากไว้ช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรู เช่น เสือโคร่งที่ชอบตะปบเหยื่อบริเวณคอ สมเสร็จเอเชียมีขนาดใหญ่กว่าสมเสร็จพันธุ์อื่นๆ และตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ สามารถพบได้ในเอเชียตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีของไทย ลงไปจนถึงคาบสมุทรมลายา สุมาตรา
โดยปกติชอบอยู่ลำพังตัวเดียวหรืออยู่กับลูก จะอยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน รักสงบ อาศัยตามป่าดงดิบหรือป่าทึบ ใกล้แหล่งน้ำลำธาร ชอบนอนแช่น้ำปลักโคลน ดำน้ำเก่งมาก จมูกไว เนื่องจากมีตาเล็กการมองเห็นไม่ดีนัก การดำรงชีวิตจะใช้จมูกในการดมกลิ่นมากกว่า ส่งเสียงร้องเหมือนนกหวีดเมื่อภัยมา การทำกิจกรรมของสมเสร็จจึงใช้เวลากลางคืนมากกว่ากลางวันโดยมีเวลาการทำกิจกรรมอยู่ในระหว่าง 18.00 น. จนถึง 05.00 น. ในตอนเช้ามืด เป็นสัตว์ที่ถ่ายมูลซ้ำที่เดิมโดยพบมากที่สุดบริเวณสันเขา มีการติดต่อสื่อสารโดยการขูดดินซึ่งมักจะทำในบริเวณใกล้ต้นไม้ใหญ่การขูดดินนี้จะพบมากบริเวณสันเขาและลาดเขาในฤดูฝน เนื่องจากในฤดูฝนการสื่อสารโดยใช้กลิ่นทำได้ไม่ค่อยได้ผลจึงทำให้มีการทำสัญลักษณ์เพิ่มมากขึ้น
วัวแดง
วัวแดง (Bos javanicus) เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายวัวบ้าน แต่มีลักษณะสำคัญที่ต่างไปจากวัวบ้านและกระทิงคือ มีวงก้นขาวกว้างเกือบครึ่งตะโพกจั้งแต่โคนหางลงไปเป็นวงโค้งลงไปที่ตะโพกเกือบถึงข้อเท้าทั้งในตัวผู้และตัวเมีย เป็นรูปใบโพธิ์ มีเส้นขาวรอบจมูก และรอบดวงตา ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้าดูคล้ายสวมถุงเท้าขาว ระหว่างโคนขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็ง ๆ บรรทัดหลังมีขนสีน้ำตาลดำตั้งแต่บริเวณสันหลังถึงโคนหาง มีหนังหย่อนใต้คอซึ่งเรียกว่า “พืม” หางยาว ปลายหางเป็นพู่สีน้ำตาลดำ เขาของวัวแดงทั้งสองเพศต่างกันดังนี้ เพศผู้มีเขาขนาดใหญ่ ปลายเขาแหลมสีดำกางออกไปกว้าง ส่วนปลายสุดของเขามีสีเหลืองทอง เมื่ออายุมากขึ้นวงแหวนบริเวณฐานซึ่งเรียกว่า “พาลี” จะมีมากขึ้น วงแหวนแรกบนฐานเขาจะเกิดขึ้นเมื่ออายุได้ 4 ปี และจะเกิดบนฐานเขาทุกปี ปีละหนึ่งวง ระหว่างโคนเขาของเพศผู้ไม่มีขนมีแต่หนังตกสะเก็ดเรียกว่า “กระบังหน้า” เขาของเพศเมียมีสีดำที่โคนและสีเหลืองทองที่บริเวณฐาน ขนาดของเขาเล็กกว่าเพศผู้ เขาจะโค้งกลับด้านหลังปลายเขาโค้งเข้าหากันบิดไปข้างหลังเล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้นบริเวณฐานเขามีลักษณะคล้ายวงแหวนแต่ไม่นูนเด่น ปลายเขาแหลมและงอมากกว่าในเพศผู้
สามารถพบได้ในพม่า ไทย อินโดจีน ชวา บอร์เนียว เกาะบาหลี ซาราวัค เซลีเบส สำหรับประเทศไทยเคยพบได้ทุกภาค ชอบหากินอยู่เป็นฝูง ไม่ใหญ่นัก ราว 2-25 ตัว หรือมากกว่า ปกติจะเริ่มออกหากินตั้งแต่ตอนพลบค่ำไปจนถึงเช้าตรู่ กลางวันนอนหลบตามพุ่มไม้ทึบ ชอบอยู่ตามป่าโปร่งหรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่งไม่ชอบนอนแช่ปลัก รักสงบ ปกติไม่ดุร้าย หากินโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง มีพฤติกรรมการกินอาหารสัมพันธ์กับการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย และสัมพันธ์กับสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไปฤดูกาลต่าง ๆ วัวแดงซึ่งไม่มีฟันหน้าและฟันเขี้ยวติดที่ขากรรไกรบน การเล็มหญ้าจึงอาศัยลิ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้ลิ้นม้วนรัดใบหญ้า ต้นหญ้า และดึงเข้าปาก
กระทิง
กระทิง หรือ เมย (Bos gaurus) เป็นสัตว์เท้ากีบ อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับควายป่าและวัวแดง แต่กระทิงนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างใหญ่ ล่ำ มีขนสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขาทั้งสี่มีสีขาวคล้ายกับสวมถุงเท้าอยู่ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตรงหน้าผากที่อยู่ระหว่างเขาจะมีขนสีน้ำตาล พร้อมจุดแต้มสีเทาอมเหลือง เรียกว่า ‘หน้าโพ’
กระทิงนั้นมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งจะมีสมาชิกตั้งแต่ 2 – 60 ตัว ซึ่งในฝูงจะประกอบด้วยตัวเมียและลูก โดยปกติแล้ว กระทิงจะอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่สูง หรือหากินร่วมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ตัวผู้มักอาศัยอยู่ตามลำพังแต่จะเข้าไปอยู่รวมฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ฝูงกระทิงจะเดินหากินสลับไปกับการนอนหลับพักผ่อนตลอดทั้งวัน โดยบางตัวจะนอนหลับท่ายืนหรือนอนราบกับพื้น กระทิงสามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพป่า ทั้งป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง, ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบเขาหรือบางครั้งก็อาจเข้าไปหากินอยู่ตามไร่ร้างหรือป่าที่อยู่ในสภาพฟื้นฟูจากการทำลายและมักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำเนื่องจากอดน้ำไม่เก่ง
ในประเทศไทยเดิมทีเราสามารถพบกระทิงได้ตามป่าทุกภาคของประเทศแต่หลังจากถูกคุกคามในพื้นที่หากินหรือแม้กระทั่งการถูกล่าจากมนุษย์ก็ทำให้จำนวนกระทิงนั้นลดลงเรื่อยๆ
ช้างป่า
ช้างป่า หรือ ช้างเอเชีย (Elephas maximus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ระดับหัวไหล่ประมาณ 2.5 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3 – 4 ตัน ช้างเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง (โขลง) ลูกช้างเพศผู้จะออกจากโขลงไปหากินโดยลำพังเมื่อมีอายุ 6 – 7 ปี และจะเริ่มพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 10 – 15 ปี ในช่วงนี้ ช้างเพศผู้จะมีความดุร้ายหรือที่เรียกว่า ตกมัน ส่วนช้างเพศเมียจะโตเต็มวัยและพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 15 – 16 ปี ตั้งท้องนาน 22 เดือน และตกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยแต่ละครอกมีระยะเวลาห่างกัน 4 ปี ลูกช้างจำนวนหนึ่งจะเสียชีวิตจากการคลอด การล่าตามธรรมชาติโดยสัตว์ผู้ล่า และจากการทำร้ายโดยช้างเพศผู้ตัวอื่นที่อยู่นอกฝูง ซึ่งเป็นกลไกที่ควบคุมสมดุลของประชากรช้างในป่า เมื่อช้างโตเต็มวัยแล้วจะมีอัตราการตายต่ำมาก ช้างบางตัวอาจมีอายุยืนถึง 60 หรือ 70 ปี
สามารถพบได้ในประเทศเนปาล บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และสุมาตรา การประมาณจำนวนช้างป่าเอเชียล่าสุดคาดว่า ทั่วเอเชียเหลือช้างประมาณ 41,000 – 52,000 ตัว แม้ในปัจจุบันจะยังสามารถพบได้ตามพื้นที่อนุรักษ์ทั่วไป จำนวนช้างป่าไทยคาดว่าเหลืออยู่เพียง 2,500 – 3,200 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจำกัดด้วยขนาดของพื้นที่ที่เล็กลงทุกขณะ ถูกคุกคามด้วยการล่า และกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ การขยายตัวของชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีผลลบโดยตรงต่อช้าง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างกำลังเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ เนื่องจากมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและอาจขยายไปในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 20 แห่งทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้
ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเค้าพูดเพื่อตัวเองไม่ได้
สัตว์ทั้ง 7 ชนิดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งสามารถพบได้ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง ยังมีสัตว์อีกมากมายในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์นี้แต่ทว่าการล่าเพียงเพื่อความสนุกของมนุษย์และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ กลับทำให้พวกมันมีจำนวนที่น้อยลงไปทุกที เสียงของเหล่าสรรพสัตว์ต่างถูกเพิกเฉยเพียงเพราะพวกมันไม่อาจสื่อสารกับเราจนกระทั้งวันที่ 1 กันยายน ที่คุณสืบ นาคะเสถียรได้ตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมเพื่อเรียกร้องให้คนระดับสูงตระหนักรู้ถึงเสียงของสรรพสัตว์จนนำพามาสู่การประชุมในอีกสองสัปดาห์ต่อมาที่ว่าด้วยเรื่องที่คุณสืบ นาคะเสถียรรณรงค์มาตลอดทั้งชีวิต
อ้างอิง
The Principia – 1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร… | Facebook
สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง และ 30 ปี มรดกโลก
ควายป่า – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
รู้จัก เสือโคร่ง และงานอนุรักษ์ในประเทศไทย
เสือดาว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมเสร็จ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์