“Science is not a boy’s game, it’s not a girl’s game. It’s everyone’s game.”
นิเชลล์ นิโคลส์ (Nichelle Nichols) อดีต NASA Ambassador
เวลาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ พวกเรามักจะเห็นว่านักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่อาจจะประดิษฐ์ คิดค้น หรือพบเจอกับความรู้ที่สามารถพลิกโลกได้ มักเป็นนักวิทยาศาสตร์ “ผู้ชาย” แม้ว่าเราอาจจะรู้จักกับชื่อของนักวิทยาศาสตร์หญิงบางคน เช่น มารี คูรี (Marie Curie) ที่ค้นพบองค์ความรู้ ที่ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ อย่างรางวัลโนเบล แต่หลายคนก็ยังมองว่า ถ้าไม่มี ปิแอร์ คูรี (Pierre Curie) สามีของเธอคอยช่วยเหลือ มารี คูรี คงกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โลกลืม เหมือนกันกับนักวิทยาศาสตร์หญิงคนอื่น ๆ
ในปี 2022 มีงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ในหัวข้อที่ว่า ผู้หญิงได้เครดิตจากงานด้านวิทยาศาสตร์น้อยกว่าผู้ชาย (Women are credited less in science than men) ซึ่งหมายถึงการได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย หรือการได้รับการเสนอชื่อเป็นเจ้าของสิทธิบัตรก็ตาม ซึ่งงานวิจัยก็ยืนยันว่าผู้หญิงได้รับชื่อจากผลงานเหล่านี้น้อยกว่าผู้ชายจริง ๆ แบบที่เราไม่ได้คิดไปเอง แม้ว่าจะเป็นวงการที่มีผู้หญิงทำงานอยู่เยอะกว่า เช่น ด้านการแพทย์ก็ตาม
ผู้วิจัยทำการศึกษาผลงานด้านวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย 52 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา โดยศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี 2013 – 2016 พบว่าเป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ 128,859 คน ด้วยจำนวนบทความวิชาการ 39,426 ชิ้น และจำนวนสิทธิบัตร 7,675 ใบ ผลจากงานวิจัยพบว่า ผู้หญิง มีโอกาสได้รับชื่อว่าเป็นผู้ร่วมเขียนบทความวิชาการน้อยกว่า ผู้ชาย 13% และได้รับโอกาสให้มีชื่อเป็นเจ้าของสิทธิบัตรน้อยกว่า ผู้ชาย 58% รวมถึงยังมีการสอบถามกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อีกมากกว่า 2,400 คน ที่เคยตีพิมพ์งานวิจัย พบว่า 43% ของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงในกลุ่มนี้ เคยถูกกีดกันออกจากงานวิจัย โดยสาเหตุหลักมาจากการที่นักวิจัยคนอื่นต้องการลดทอนบทบาทการมีส่วนร่วมของคนในทีมลง แต่ก็ยังมีเหตุผลที่น่าสนใจจากผู้หญิง 15% ที่มีการสอบถาม ที่อธิบายว่าเหตุผลที่ทำให้พวกเธอถูกกีดกันออกมาคือ การเลือกปฏิบัติจากอคติทางเพศ ซึ่งผลการศึกษาของนักวิจัยกลุ่มนี้จึงทำให้เราได้เข้าใจว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศยังคงมีอยู่จริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการวิทยาศาสตร์
วันนี้ The Principia จึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับนักวิทยาศาสตร์หญิง ผู้ที่นำพาองค์ความรู้มาก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนในโลกใบนี้ ซึ่งเราจะพูดถึงใครบ้าง ติดตามดูได้ภายในบทความนี้
อัจฉริยะหญิงสาว เจ้าของสองรางวัลโนเบล
มารี คูรี (Marie Curie) เป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศฝรั่งเศสที่ได้รับปริญญาเอก เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล และยังเป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองสาขา ได้แก่ รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1903 จากการศึกษาการแผ่รังสีของธาตุยูเรเนียมในแร่พิตซ์เบลนด์ (Pitchblende) จนพบกับธาตุใหม่ที่แผ่รังสีได้รุนแรงกว่าธาตุยูเรเนียม 900 เท่า และรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1911 จากการค้นพบธาตุเรเดียม และธาตุพอโลเนียม รวมถึงศึกษาคุณสมบัติของมันอย่างละเอียด จนกลายมาเป็นการประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ ในเวลาต่อมา
ปิแอร์ คูรี (Pierre Curie) สามีของ มารี คูรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยมาด้วยกัน และยังเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันในปี 1903 ด้วย ซึ่งมีหลายครั้งที่ ปิแอร์ คูรี ให้เครดิตแก่ภรรยา ในการตีพิมพ์ผลงานโดยมีชื่อของเธอเพียงคนเดียว จนในปี 1906 เขาได้เสียชีวิตลงจากธาตุสุดอันตรายที่ทำวิจัยอยู่ แต่ด้วยกำลังใจที่ยังดีอยู่ แม้สามีจะเสียชีวิตไปแล้ว มารี คูรี ยังคงทำการศึกษาธาตุเรเดียมและพอโลเนียมต่อไป และรางวัลที่เธอได้รับในปี 1911 ก็เป็นข้อพิสูจน์ความทุ่มเทให้กับวงการวิทยาศาสตร์ที่ มารี คูรี เป็นคนลงมือด้วยตัวเอง
ปัจจุบัน มีการนำเรเดียมและพอโลเนียมมาประยุกต์ใช้สำหรับงานต่าง ๆ หลายด้าน โดยธาตุเรเดียม ซึ่งแผ่รังสีที่ทำให้เซลล์ถูกทำลายและหยุดแบ่งตัว ถูกนำไปใช้เป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีรักษาโรคมะเร็ง ส่วนธาตุพอโลเนียม สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นตัวจุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์ ใช้กำจัดประจุไฟฟ้าสถิตในโรงงานทอผ้า ใช้เป็นแหล่งความร้อน ใช้เป็นตัวกำจัดผงฝุ่นบนแผ่นฟิล์ม และใช้เป็นยาพิษ
ผู้ค้นพบปริศนาแห่งชีวิต แต่ไม่ได้รับเครดิตมากมายนัก
โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) หนึ่งในผู้ที่ทำการศึกษาหาโครงสร้างของดีเอ็นเอ (DNA, Deoxyribonucleic acid) สารพันธุกรรมที่สร้างลักษณะนิสัยที่ทั้งเหมือน และแตกต่าง ในสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด รวมถึงมนุษย์ โดยความสามารถที่โดดเด่นของแฟรงคลินคือ การใช้วิทยาการผลิกศาสตร์รังสีเอ็กซ์ (X-ray crystallography) หรือการใช้รังสีเอ็กซ์ ในการถ่ายภาพตำแหน่งของอะตอมต่าง ๆ ที่อยู่ในผลึก หรือโมเลกุลของสสาร เพื่อทำการศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างของโมเลกุล
แฟรงคลิน ที่เป็นผู้บุกเบิกการใช้ผลิกศาสตร์วิเคราะห์โครงสร้างของไวรัสสัตว์ ก็เคยพบหลักฐานสำคัญผ่านการเก็บภาพดีเอ็นเอด้วยรังสีเอ็กซ์ ทำให้เธอพบว่าดีเอ็นเอสามารถเปลี่ยนรูปร่างไปตามลักษณะแวดล้อมที่มีความชื้นต่างกัน และยังทำให้เธอมีภาพหลักฐานสำคัญที่ชื่อว่า Photo 51 ซึ่งเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดว่า ดีเอ็นเอมีลักษณะเป็นเกลียวคู่ ในขณะนั้นมีการแข่งขันกันศึกษาโครงสร้างของดีเอ็นเอระหว่างนักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น ไลนัส พอลิง (Linus Pauling) นักวิจัยด้านชีววิทยาโมเลกุลชื่อดังในยุคนั้น ก็เสนอแบบจำลองของโครงสร้างดีเอ็นเอที่เขาคิดขึ้นมาเอง แต่มันเป็นแบบจำลองที่ผิด เพราะเขาคิดว่าดีเอ็นเอมีสามสาย ถ้าหากว่าเขาได้เห็น Photo 51 ของแฟรงคลิน เขาจะต้องรู้โครงสร้างที่แท้จริงของดีเอ็นเอแน่นอน
มอริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของแฟรงคลิน นำ Photo 51 ไปให้กับนักวิทยาศาสตร์อีกสองคน เจมส์ วัตสัน (James Watson) และฟรานซิส คริก (Francis Crick) ซึ่งทำการศึกษาเรื่องโครงสร้างดีเอ็นเออยู่แล้ว และภาพนั้นทำให้พวกเขา เดาภาพสามมิติของโครงสร้างดีเอ็นเอถูกต้อง จึงทำการศึกษาต่อ จนได้ตีพิมพ์ผลงานการค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอที่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยตั้งต้นเรื่องราวมาจากภาพที่เป็นผลงานของแฟรงคลิน จนท้ายที่สุด ทั้งมอริส วิลคินส์, เจมส์ วัตสัน, และฟรานซิส คริก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ในปี 1962 ในขณะที่ โรซาลินด์ แฟรงคลิน กลับไม่มีชื่ออยู่ในนั้น
เหตุผลเป็นเพราะ รางวัลโนเบลไม่เสนอชื่อให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และโรซาลินด์ แฟรงคลิน ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้างานประกาศรางวัล สำหรับผลงานการศึกษาโครงสร้างดีเอ็นเอ โดยเธอจากโลกนี้ไปในวัย 37 ปี เมื่อปี 1958 ด้วยโรคภัยมากมายที่รุมเร้าเธอ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะผลงานของเธอคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้การศึกษาโครงสร้างดีเอ็นเอประสบความสำเร็จ ต่อมาในปี 1968 หนังสือที่เขียนโดย เจมส์ วัตสัน ชื่อว่า The Double Helix ก็ถูกตีพิมพ์ออกมา โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่เขายกย่องแฟรงคลินไว้ว่า เขาไม่มีทางชนะรางวัลโนเบลได้ หรือไม่แม้แต่การได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยชื่อดังชิ้นนั้น หากว่าเขาไม่ได้พบเจอกับ โรซาลินด์ แฟรงคลิน
เบื้องหลังความสำเร็จของ “ก้าวแรกบนดวงจันทร์”
มาร์กาเร็ต แฮมิลตัน (Margaret Hamilton) คนแรกในโลกที่นิยามงานของตัวเองและทีมว่า วิศวกรซอฟต์แวร์ หรือ Software engineer เนื่องจากความสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของเธอและคนอื่น ๆ เป็นงานที่สำคัญมาก ไม่แพ้กับวิศวกรคนอื่นที่สร้างสรรค์ยานอวกาศใน NASA โดยงานที่สำคัญที่สุดคือการได้อยู่เบื้องหลังการเขียนโปรแกรมให้กับระบบการบินของโครงการ อะพอลโล 11 ที่จะพานักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ และพาพวกเขากลับมาอย่างปลอดภัย นอกจากชื่อเสียงที่ประเทศชาติของเธอจะได้รับแล้ว ชีวิตของนักบินอวกาศทั้งสองคน นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และบัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ยังอยู่ในกำมือของเธออีกด้วยศ
แฮมิลตัน เริ่มต้นจากความสนใจในด้านคณิตศาสตร์ แต่กลับได้เริ่มทำงานเป็นผู้เขียนโปรแกรม โดยเริ่มแรก เธอเขียนโปรแกรมเพื่อทำนายสภาพอากาศด้วยคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นให้กับ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT, Massachusetts Institute of Technology) และยังได้รับโอกาสในการพัฒนาระบบป้องกันทางอากาศให้กับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งเคยมีระบบดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยเธอทำหน้าที่เขียนโปรแกรมที่ช่วยในการระบุยานบินของศัตรู
ความสามารถที่โดดเด่นเข้าตา จึงทำให้เธอกลายมาเป็นหัวหน้าทีมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้แก่ยานสำรวจอวกาศของ NASA ในโครงการอะพอลโล 11 โดยแฮมิลตันกับทีม มีหน้าที่ในการพัฒนาระบบนำทางและควบคุมให้แก่ส่วนบัญชาการ และส่วนยานลงจอดบนดงจันทร์ ซึ่งในขณะนั้น ไม่มีสถาบันการศึกษาไหนในโลกเคยสอนวิศกรรมซอฟต์แวร์ เพราะฉะนั้นทุกปัญหาที่เธอกับทีมพบเจอ ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง ซึ่งความยากลำบากของงานพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็ผ่านไปได้อย่างสำเร็จลุล่วง มนุษย์โลกก้าวย่ำดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก และสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอด ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการนำทีมพัฒนาซอฟต์แวร์โดยแฮมิลตัน ซึ่งมีความจริงจังมาก รับรู้ได้จำคำพูดของเธอที่ว่า “ทุกคนรู้ดี มันไม่มีโอกาสที่สอง” (There was no second chance. We all know that.)
โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก
เอดา เลิฟเลซ หรือที่มีชื่อเต็มว่า ออกัสตา เอดา คิง เคานต์เตสแห่งเลิฟเลซ (Augusta Ada King, Countess of Lovelace) เป็นลูกสาวของลอร์ดไบรอน ขุนนางแห่งอังกฤษ ซึ่งฐานะทางสังคมของเธอ ทำให้เธอได้มีโอกาสศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สถานที่ที่ทำให้เธอได้รู้จักกับบิดาแห่งคอมพิวเตอร์อย่าง ชาร์ลส์ แบบเบจ (Charles Babbage)
ในปี 1833 แบบเบจประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่า เครื่องวิเคราะห์ (analytical engine) และมักจะพูดถึงเครื่องจักรที่เขาสร้างขึ้นในงานสังคมเสมอ และในปี 1843 เขาก็ได้รู้จักกับเอดา ผ่านเพื่อนที่มีอยู่ร่วมกัน ซึ่งพบเจอกันในงานสังคมดังที่กล่าวไป และเช่นเดิม แบบเบจพูดถึงเครื่องจักรของเขา โดยกล่าวไว้ทำนองว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าหากเครื่องคำนวณไม่เพียงสามารถหยั่งรู้ได้ แต่ยังสามารถตอบสนองต่อการหยั่งรู้นั้นได้ด้วย” ซึ่งคนเดียวที่สนใจคำพูดดังกล่าวของแบบเบจคือเอดา เธอจึงอาสาช่วยพัฒนาวิธีการที่จะทำให้เครื่องวิเคราะห์สามารถตอบสนองการหยั่งรู้ของมนุษย์ได้
สิ่งที่เธอทำคือ การสร้างภาษาให้เครื่องวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเขียนโปรแกรมแบบวนซ้ำ (loop) ซึ่งนั่นเป็นเทคนิคสำคัญสำหรับการเขียนโปรแกรมมาจนถึงปัจจุบัน เพราะการเขียนโปรแกรมแบบวนซ้ำ ทำให้โปรแกรมสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเขียนใหม่ทุกครั้ง และเทคนิคนี้ก็ทำให้เครื่องวิเคราะห์ของแบบเบจที่ถือเป็นคอมพิวเตอร์ยุคแรกของโลก สามารถตอบสนองต่อคำสั่งของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้เธอถูกยกย่องว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก
กล่าวได้ว่า สิ่งที่ ชาร์ลส์ แบบเบจ ทำคือการผลิตเครื่องจักร แต่สิ่งที่ เอดา เลิฟเลซ ทำคือการประดิษฐ์ภาษาที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้
ผู้หญิง ที่ฝูงลิงให้ความไว้วางใจ
เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) คือผู้ที่ทำให้มนุษย์รู้จักกับสิ่งมีชีวิตที่มีใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยดีเอ็นเอที่เหมือนกับมนุษย์ถึง 98.6% อย่างลิงชิมแปนซีมากขึ้น โดยเธอเริ่มมีชื่อเสียงในปี 1965 จากการปรากฎตัวบนปกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก รวมถึงการปรากฎตัวในหนังสารคดีชื่อว่า Miss Goodall and the Wild Chimpanzees ซึ่งสร้างขึ้นจากเรื่องราวของเธอ ที่ทำการเข้าป่าศึกษาพฤติกรรมทางสังคมและอารมณ์ของชิมแปนซีในธรรมชาติ
กูดดอลล์เรียนรู้การแยกแยะท่าทาง เสียงร้องต่าง ๆ รวมถึงวิธีการสื่อสารด้วยภาษาลิง ซึ่งความเหมือนและความแตกต่างในการสื่อสารของคนกับชิมแปนซีได้สร้างความสนใจให้แก่เธอเป็นอย่างยิ่ง เธอเคยกล่าวว่า “พวกมันทักทายด้วยการจูบและสวมกอดกัน พวกมันใช้การตบเบา ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กัน พวกมันกุมมือ พวกมันแสวงหาการสัมผัสทางกายเพื่อบรรเทาความตื่นกลัว หรือความเครียด มันช่างเหมือนกับพวกเรามาก” แต่ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนในยุคนั้นก็กังขาต่อการศึกษาของเธอ เพราะพวกเขาคิดว่า การมีบุคลิก มีอารมณ์ความรู้สึก และมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหา เป็นลักษณะที่มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น
เธอยังคงมุ่งมั่นในการศึกษาลิงชิมแปนซีอย่างใกล้ชิดต่อไป จนได้รับการยอมรับจากทั้งวงการวิทยาศาสตร์ และผู้คนในสังคม โดยในปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์และความผูกพันที่เธอมีต่อลิงชิมแปนซี กูดดอลล์จึงผันตัวมาเป็นนักอนุรักษ์ โดยในปี 1991 เธอพบว่าอุทยานแห่งชาติกอมเบ เหลือขนาดเป็นเพียงผืนป่าเล็ก ๆ ที่ถูกห้อมล้อมด้วยภูเขาหัวโล้นอันแห้งแล้ง เธอจึงได้ริเริ่มโครงการ Roots and Shoots ที่ดำเนินการโดยสถาบันเจน กูดอลล์ เพื่อส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นในแอฟริกาเป็นแกนนำในการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าของพวกเขา
นักคณิตศาสตร์สาว เจ้าของรางวัลคนแรก
มาเรียม มีร์ซาคานี (Maryam Mirzakhani) นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน เชื้อสายอิหร่าน ที่เคยทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้รับรางวัลเหรียญฟีลดส์ ในปี 2014 ซึ่งรางวัลนี้มอบให้เพียง 1 ครั้งในรอบ 4 ปี และรางวัลนี้ยังเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักคณิตศาสตร์ในระดับที่ใกล้เคียงกับรางวัลโนเบลเลยทีเดียว ซึ่งการรับรางวัลในครั้งนั้นของ มีร์ซาคานี ถือเป็นการมอบรางวัลเหรียญฟีลดส์ให้กับชาวอิหร่านเป็นครั้งแรก และยังเป็นการมอบรางวัลเหรียญฟีลดส์ให้กับผู้หญิงเป็นครั้งแรกอีกด้วย หลังจากผู้ที่ได้รับรางวัลเดียวกันนี้ทั้ง 52 คน ล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น นับจากปี 1936 ซึ่งเป็นปีที่มีการมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรก
ผลงานของมีร์ซาคานี คือการศึกษาเรขาคณิต พื้นที่ผิวของรีมันน์ ซึ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่มีความซับซ้อนอย่างมาก แต่สามารถมองในมุมสองมิติได้เป็นรูปแบบระนาบ โดยหนึ่งในงานวิจัยหลักที่ทำให้เธอได้รับรางวัลคือ การศึกษาว่าพื้นที่ผิวของรีมันน์นั้นสามารถบิดรูปร่างได้จนเรียบเนียนไปกับพื้นที่ผิวอื่นได้อย่างไร และการศึกษานี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจในพื้นที่ประหลาด ๆ ที่คนทั่วไปนึกไม่ถึงได้มากยิ่งขึ้น
มีร์ซาคานี ป่วยด้วยโรคมะเร็งและจากโลกนี้ไปในวัย 40 ปี เมื่อปี 2013 แต่ผลงานของเธอกลับเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงมากมายในประเทศอิหร่าน โดยเธอเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันคงจะมีความสุขมาก ถ้าสิ่งที่ฉันได้ทำมาทั้งหมด เป็นเเรงกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้หญิงสาวทุกคน (โดยเฉพาะชาวอิหร่าน) ให้หันมาสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น และกล้าที่จะเดินทางตามความฝันนั้น”
เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA Vaccine) วัคซีนพลิกโลก
เคทลิน คาริโก (Katalin Kariko) เชื่อมาตลอดว่าเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นสารพันธุกรรมอีกชนิดนอกเหนือจากดีเอ็นเอ ที่สามารถนำมาผลิตเป็นยารักษาโรค หรือวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่มนุษย์ได้ แต่ในตอนเริ่มต้นกลับไม่มีใครเชื่อเธอเลย เนื่องจากอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมที่มีความเสถียรน้อย เสียสภาพได้ง่าย และไม่เคยมีใครนำมันมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์มาก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คาริโกท้อถอยเลยสักนิด แม้ว่าเธอจะไม่ได้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน ไม่มีเงินทุนวิจัย หรือบางครั้งไม่มีห้องแล็บให้เธอทำงานด้วยซ้ำ เธอก็ยังคงหาทางกลับมาทำงานวิจัยที่เธอเชื่อมั่นอยู่เสมอ
คาริโก เคยศึกษาโดยใช้เอ็มอาร์เอ็นเอ ใส่ไปในร่างกายหนูทดลองเพื่อสั่งการให้เอ็มอาร์เอ็นเอนั้นสังเคราะห์เป็นโปรตีนในร่างกายหนูทดลอง และแน่นอนว่าเธอทำไม่สำเร็จ นอกจากจะสั่งการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกายหนูทดลองไม่ได้ ยังทำให้พวกมันเกิดอาการป่วย เคลื่อนไหวผิดปกติ ไม่มีความอยากอาหาร การศึกษาต่อมาจึงต่อยอดอาการป่วยของหนู ว่าอาจเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายคิดว่าเอ็มอาร์เอ็นที่ใช้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงมีการปรับแต่งโครงสร้างเอ็มอาร์เอ็นเอด้วยโมเลกุลที่ชื่อว่า ซูโดยูริดีน (pseudouridine) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับองค์ประกอบที่มีอยู่ในเอ็มอาร์เอ็นเอจริง ๆ ในธรรมชาติ และนำเอ็มอาร์เอ็นเอที่ปรับแต่งแล้วไปศึกษาอีกครั้ง พบว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ได้ตอบสนองอย่างรุนแรงจนเกิดอาการป่วยอีกแล้ว ผลงานนี้ทำให้หนูทดลองสามารถสร้างโปรตีนในร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพได้ตามที่คาริโกต้องการ และยังทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการฉีดเอ็มอาร์เอ็นเอเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพื่อให้สร้างโปรตีนที่มีคุณสมบัติทางยา เช่น อินซูลิน หรือฮอร์โมนบางชนิด ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการนำมาผลิตเป็นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในปัจจุบันด้วย
ในสมัยก่อน หากคำนวณค่าแรงในการทำงานยังไม่มีใครเชื่อแนวคิดของเอ็มอาร์เอ็นเอ คาริโก ซึ่งทำงานหนักมาก ได้ค่าตอบแทนเพียงชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมเชื่อในแนวคิดของเอ็มอาร์เอ็นเอ ทำให้เธอกลายเป็นฮีโร่ที่ช่วยชะลอการติดเชื้อ COVID-19 และทำให้เธอก้าวหน้าในอาชีพการงานจนกลายมาเป็นรองประธานอาวุโสที่บริษัท BioNTech หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรค COVID-19
เภสัชกรชาวไทยใจบุญ
กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิงที่มีทั้งความสามารถและความเสียสละ ในการช่วยเหลือผู้คนในโลกจากความเจ็บป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดโอกาสทางการรักษา โดยคุณกฤษณา เริ่มต้นอาชีพการเป็นเภสัชกรจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ต่อมาได้ย้ายมาทำงานในสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมในปี 1989 และได้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ในประเทศไทย จนสามารถผลิตยาสามัญที่เรียกว่า “ยาเอดส์” ได้เป็นครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา และได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม ด้วยอายุเพียง 37 ปี
ภายหลังคุณกฤษณาก็ลาออกจากสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม และเดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกด้วยตัวคนเดียว เพราะเล็งเห็นว่าทวีปแอฟริกาในขณะนั้นยังขาดแคลนด้านการรักษาทางการแพทย์อยู่ โดยระหว่างปี 2002 – 2005 เธอได้ตั้งโรงงานผลิตยาต้านเอดส์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ “Afrivir” อันมีส่วนผสมของตัวยาเหมือนยาในประเทศไทย ซึ่งผลิตขึ้นได้ครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ในปี 2005 และถูกใช้ในการรักษาคนงานในโรงงาน รวมถึงชาวคองโกคนอื่นที่ติดเชื้อเอดส์จำนวนกว่า 30,000 คน
นอกจากนี้ คุณกฤษณายังก่อตั้งโรงงานผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรียในประเทศสาธารณรัฐแทนซาเนีย โดยในปี 2005 เธอวิจัยและผลิตยา “Thai-Tanzunate” ในประเทศแทนซาเนียได้สำเร็จ และสามารถรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียได้เป็นจำนวนหลายล้านคนนับจากนั้น นอกจากนี้เธอยังเดินทางช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ประเทศอิริคเทอร์เรีย ประเทศเบนินและประเทศไลบีเรีย
ผลงานของเธอ ทำให้ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลก เช่น บิล เกตส์ ที่ชื่นชมคุณกฤษณาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และยังยกย่องให้เป็น “Heroes in the field” รวมถึงยังได้รับรางวัลมากมายจากการอุทิศตนในการผลิตยาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสจำนวนมาก ทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชีย โดยตัวอย่างรางวัลที่ได้รับ เช่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ในปี 2004, รางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะในปี 2009, และล่าสุดได้รับรางวัลผู้นำหญิงระดับโลก (Global Women’s Leadership Awards) ในปี 2022 ภายในงานประชุมผู้นำสตรีโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2022” (Global Summit of Women 2022) นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่น ๆ อีกมากมายที่เธอได้รับ โดยปัจจุบัน คุณกฤษณา ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี คณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
มีผู้หญิงอีกมากมาย ที่ส่งเสริมวงการวิทยาศาสตร์ และนำความรู้ต่าง ๆ มาสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนบนโลกใบนี้ รวมถึงอาจจะประดิษฐ์ คิดค้น หรือพบเจอกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าพลิกโลก เพียงแต่เรายังไม่ได้รู้จักพวกเธอดีพอ ถ้าหากว่าใครรู้จักกับ “ผู้หญิง” คนไหน ที่สร้างแรงบันดาลให้กับคุณในเรื่องราววิทยาศาสตร์ เล่าให้เราฟังทีนะครับ
เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เกมของผู้ชาย ไม่ใช่เกมของผู้หญิง แต่มันเป็นเกมของทุกคน
อ้างอิง
Star Trek legend who became NASA’s ‘secret weapon’
Women are credited less in science than men
งานวิจัยเผย นักวิทยาศาสตร์หญิงมีโอกาสได้เครดิตในงานวิชาการน้อยกว่านักวิทยาศาสตร์เพศชาย
5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “มารี คูรี” นักวิทยาศาสตร์หญิงเจ้าของสองรางวัลโนเบล
รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 19 Marie Curie
22 pioneering women in science history you really should know about
How we unravelled the structure of DNA
อดีตและปัจจุบันของผลิกศาสตร์รังสีเอ็กซ์
ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังซอฟต์แวร์ระบบนำทางอะพอลโล 11
“แม่” แห่งโปรแกรมเมอร์ Ada Lovelace แรงบันดาลใจของบล็อกเชน Cardano
เจน กูดอลล์: นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ทำให้โลกรู้จักลิงชิมแปนซีมากขึ้น
These 4 People Just Won The Most Prestigious Award In Mathematics
4 เรื่องน่าสนใจของ Maryam Mirzakhani นักคณิตศาสตร์หญิงชาวอิหร่านผู้ล่วงลับที่โลกต้องจดจำ
นักวิทยาศาสตร์หญิง ผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer และ Moderna
รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 24 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์