Hilight
- โลกนี้เคยมี AI อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่เมื่อ ChatGPT ที่เป็น Generative AI มากความสามารถเปิดตัว กระแสของ AI ก็ยิ่งโด่งดังมากขึ้น
- AI ช่วยเขียนงานวิจัยได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นแหล่งข้อมูล เพราะไม่น่าเชื่อถือมากพอ เคยมีการใส่ชื่อ ChatGPT เป็นหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย แต่ภายหลังก็ถูกถอดออก
- แม้ในปัจจุบันจะมีคนใช้ประโยชน์จาก AI ทำงานมากมาย แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากต่อต้านการทำงานของ AI หากฝ่ายบริหารและผู้พัฒนาไม่ให้ความสำคัญกับจริยธรรม
ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่คนเรียกกันติดปากว่า เอไอ (AI, Artificial Intelligence) เข้ามาผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรามานานแล้ว แต่จู่ ๆ ก็มีกระแสของเอไอโด่งดังขึ้นมา รวมถึงยังเกิดความตระหนักถึงพัฒนาการอันรวดเร็วจนบางคนหวาดกลัวกันด้วย ซึ่งผู้ที่นำกระแสนั้นมาให้โด่งดังคือ Generative AI ที่มีชื่อ ChatGPT แชตบอตฉลาดล้ำ ที่คิดคำตอบให้แก่คำถามของเราได้จริง ๆ จากข้อมูลที่มันศึกษาไว้จากทั่วอินเทอร์เน็ตมานานเป็นปี ๆ ซึ่งข้อมูลคำตอบของ ChatGPT แม้ว่าจะไม่น่าเชื่อถือ ระดับที่อ้างอิงไม่ได้เลย แต่หลายครั้งก็มีประโยชน์ในแง่ของการออกไอเดีย หรือการช่วยตรวจภาษาเขียนได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นเราจึงอยากชวนคุยว่า ผ่านมา 1 ปีนับตั้งแต่ ChatGPT เปิดตัวมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 วงการเอไอตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว และความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อเอไอเป็นอย่างไรบ้าง
กำเนิด ChatGPT
เมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2023 เพิ่งมีข่าวรายงานว่า แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI บริษัทผู้พัฒนา ChatGPT ถูกคณะกรรมการบริหารไล่ออกจากบริษัท ด้วยเหตุผลว่าเขาสื่อสารแบบไม่ตรงไปตรงมา ทำให้เสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของเขา แต่ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แซม อัลต์แมน ถูกเชิญกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมของเขา เพราะการไล่ออกครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ทั้งสำหรับวงการเทคโนโลยี บริษัทผู้ลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงพนักงานในบริษัท เขาจึงต้องกลับมาทำหน้าที่เป็นแกนนำหลักในการพัฒนาเอไอชื่อดังตัวนี้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ตอนนี้ OpenAI กลายเป็นบริษัทที่มีผลกระทบต่อสังคมสูงมากแล้ว ในปัจจุบัน เกี่ยวเนื่องไปจนถึงเอไอที่พวกเขาพัฒนาก็เป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
OpenAI เริ่มต้นจากการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในตอนแรกตั้งแต่ปี 2015 และกลายมาเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไรในปี 2019 โดยบริษัทดังกล่าวได้เปิดให้ใช้งาน ChatGPT แบบฟรี ๆ ในฐานะงานวิจัยชิ้นตัวอย่างตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2022 แต่ด้วยความสามารถของ ChatGPT ที่ก้าวล้ำมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่าย และไม่เสียเงิน จนทำให้ช่วงแรก ๆ บางคนคิดว่า ChatGPT อาจมาแทน Google เลยก็ได้ ทำให้ความนิยมพุ่งสูงปรี๊ด และมีผู้ใช้งานครบ 1 ล้านคนตั้งแต่ 5 วันแรก และผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปถึง 1 พันล้านคนภายในเวลาแค่ 3 เดือน
ChatGPT เป็นเอไอที่เรียกกันเต็ม ๆ ว่า Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสรรค์สร้างข้อมูลชนิดใหม่ขึ้นมาได้เอง จากข้อมูลที่มันมี เช่น สร้างรูปภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกจากข้อความสั้น ๆ หรือการเขียนบทความที่ไม่เคยมีในโลกด้วยการถามคำถามไม่กี่คำ ซึ่ง ChatGPT ทำงานในรูปแบบเดียวกับตัวอย่างหลังคือ การทำหน้าที่เป็นแชตบอต (Chat Bot) โต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ โดยเริ่มต้นมีลักษณะการตอบเป็นข้อความเท่านั้น แต่ในเวอร์ชั่นใหม่สามารถสร้างรูปภาพได้ด้วย แต่การใช้งานหลักของคนทั่วไปยังเป็นการสั่งให้มันสร้างข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ออกมามากกว่า เช่น ให้เอไอตัวนี้ช่วยเขียนพล็อตนิยาย ให้เอไอช่วยนำเสนอเกมสำหรับประกอบกิจกรรมนอกสถานที่ ไปจนถึงให้เอไอช่วยแนะนำการทำงานบางอย่างได้ในระดับผู้เชี่ยวชาญ
ก่อนหน้าที่จะมี ChatGPT โลกนี้ก็เคยมีแชตบอตที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่นกัน รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท Meta เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook หรือบริษัท Alphabet เจ้าของเสิร์ชเอนจิน Google แต่เอไอของพวกเขากลับไม่ปัง เหมือนกับที่ ChatGPT ทำได้ อาจเป็นเพราะพวกเขาชะล่าใจและพัฒนาผลงานนี้อย่างอิสระ จนความสามารถที่เอไอของพวกเขาทำได้ไม่อาจก้าวตาม ChatGPT ได้ทัน ทั้งความถูกต้องและแม่นยำในการให้ข้อมูล การควบคุมความหยาบคาย หรือการอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
ยกตัวอย่างแชตบอตจาก Microsoft ที่ชื่อว่า Tay เปิดตัวในปี 2016 บนทวิตเตอร์ สามารถสนทนากับผู้ใช้ได้จริง และเก็บข้อมูลจากข้อความต่าง ๆ ที่อยู่ในทวิตเตอร์ หลังจากเปิดตัวไม่กี่ชั่วโมง Tay ก็เริ่มปรับสำนวนตัวเองกลายเป็นหญิงสาวปากแจ๋วมากขึ้น โดย 16 ชั่วโมงหลังการเปิดตัว มีการเก็บข้อมูลพบว่า 95,000 ทวีตที่มาจาก Tay เต็มไปด้วยการเหยียดเชื้อชาติ ข้อความสร้างความเกลียดชัง และข้อความที่หยาบคาย โดยเกิดจากการเก็บข้อมูลของคนที่เข้ามาปั่นป่วน (เกรียนคีย์บอร์ด) แบบไม่หยุดหย่อน จนทำให้ Tay เสียศูนย์ และถูกปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย
ปลายปีเดียวกันนั้นเอง Microsoft จึงแก้มือด้วยการปล่อยแชตบอตตัวใหม่ที่ชื่อว่า Zo ซึ่งมีมาตรการป้องกันการใช้ภาษาหยาบคาย การอิงการเมือง และเรื่องละเอียดอ่อนต่าง ๆ แต่สุดท้าย Zo ก็กลายเป็นแชตบอตที่พูดจาเลอะเทอะ ให้ข้อมูลได้ไม่ดี และยังบูลลี่ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft เองด้วย เมื่อประสิทธิภาพยังไม่ถึงขั้น Zo จึงถูกพับโครงการตามไปในปี 2019
แต่ Microsoft เป็นบริษัทที่มองการณ์ไกล และถือหุ้นของบริษัท OpenAI มาตั้งแต่ปี 2019 แล้วด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อพบว่าตัวเองไม่สามารถทำเอไอได้เก่งเท่าเขา Microsoft จึงลงทุนเพิ่มใน OpenAI เป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.4 แสนล้านบาท และนำเทคโนโลยีจาก ChatGPT มาใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของตนเอง เช่น เสิร์ชเอนจิน Bing ที่ทุกวันนี้สามารถสร้างข้อความได้เหมือนกับเอไอแชตบอตอื่น ๆ รวมถึงสามารถสร้างรูปภาพจากข้อความได้แบบฟรี ๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้งาน ChatGPT ร่วมกับ Microsoft 365 และ Azure Cloud อีกด้วย
ส่วน Google ที่เป็นคู่แข่งคนสำคัญของ ChatGPT แท้จริงแล้วบริษัทต้นสังกัดก็มีการพัฒนาเอไอขึ้นมาเช่นกันในชื่อว่า BERT (Bidirectional Encoder Representations from Transformer) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อทำความเข้าใจภาษามนุษย์ และใช้เป็นส่วนหนึ่งใน Google Search แต่เมื่อจะหันมาทำเอไอแชตบอตบ้างในชื่อ Bard ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะขยับตัวช้าเกินไป ทำให้แสงทั้งหมดส่องลงไปที่ ChatGPT จนแทยไม่เหลือพื้นที่ให้กับ Bard เลย โดยในปัจจุบันจุดเด่นของ Bard ในสังคมไทยเราคือ มันสามารถตอบข้อมูลภาษาไทยได้ดีกว่า ChatGPT แต่เรื่องความแม่นยำของข้อมูลยังถือว่าตามหลัง ChatGPT อยูู่บ้าง
ถึงแม้ว่า ChatGPT จะเก่งสักแค่ไหน แต่อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่า เอไอพวกนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้ในระดับที่เอาไปอ้างอิงจริงจัง (แม้ว่าจะมีการเอา ChatGPT ไปทำงานวิจัยแล้วก็ตาม)
ความน่าเชื่อถือของ AI กับการเขียนงานวิจัย
ในแง่ของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีการนำ AI มาใช้เพื่องานวิจัยจริงแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา โดยบทความงานวิจัยชิ้นแรกอย่างเป็นทางการ ที่ใช้ ChatGPT ในการช่วยเขียน และมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความครั้งแรกที่สามารถค้นหาได้ในรายการรวบรวมวารสารวิชาการ ScienceDirect คือหัวข้องานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Open artificial intelligence platforms in nursing education: Tools for academic progress or abuse?’ ที่ถูกตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 2023 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเอไอในการศึกษาด้านพยาบาลศาสตร์ ว่าเทคโนโลยีชนิดนี้ให้ประโยชน์หรือให้โทษกันแน่ โดย ChatGPT มีส่วนสำคัญกับงานวิจัยนี้อย่างมาก นักวิจัยเจ้าของผลงานอย่าง เชอวาน โอคอนเนอร์ (Siobhán O’Connor) จึงได้ใส่ชื่อ ChatGPT เป็นผู้เขียนคนที่สองไว้ด้วย
แต่ทว่า สำนักพิมพ์ Elsevier ต้นสังกัดผู้จัดพิมพ์บทความวิจัยหัวข้อดังกล่าวได้ตัดสินใจ ลบชื่อของ ChatGPT ออกในภายหลัง เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติการเป็นผู้เขียน ตามคู่มือวารสารสำหรับผู้เขียน และนโยบายจริยธรรมการตีพิมพ์ของ Elsevier เอง ChatGPT จึงอยู่ในกิตติกรรมประกาศเพื่อกล่าวถึงการมีส่วนสนับสนุนงานวิจัยนี้เพียงเท่านั้น และผู้วิจัยจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบ แก้ไข และรับผิดชอบต่อเนื้อหาสิ่งพิมพ์เองอย่างเต็มที่ นี่จึงเป็นการแสดงให้เห็นการควบคุมการใช้งานเอไอให้อยู่ในขอบเขตจำกัดมากยิ่งขึ้น ป้องกันความกังวัลเรื่องเอไอจะมาแย่งงานมนุษย์ หรือความไม่น่าเชื่อถือของเอไอในงานวิจัยออกไป
ปัจจุบันก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเอไอพัฒนามาจนมีความสามารถมากขนาดนี้ งานวิจัยในช่วงปีที่ผ่านมาจึงมีการใช้เอไอช่วยในการเขียนงานวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ใช้ ChatGPT เป็นแหล่งข้อมูล แต่ในเบื้องต้นสามารถใช้ ChatGPT ช่วยสร้างไอเดีย ให้คำแนะนำ ทำแบบสอบถาม และประเมินผลงานได้ โดยถ้าหากต้องการใช้ ChatGPT ช่วยในระดับที่มากขึ้น อาจใช้เพื่อการคำนวณทางสถิติ หรือวิเคราัห์ข้อมูลแล้วสรุปคร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยนำไปเรียบเรียงอีกที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวอร์ชั่นใหม่ของ ChatGPT อย่าง GPT-4 สามารถอัปโหลดบทความวิจัยเพื่อให้มันอ่าน และช่วยสรุปใจความที่น่าสนใจ สำหรับเขียนบทความวิจัยในหัวข้อทบทวนวรรณกรรม และช่วยเขียนอ้างอิงให้ได้ด้วย แต่ก็ควรใช้มันเป็นแค่เหมือนพี่เลี้ยงการทำวิจัยที่ช่วยชี้นำแนวทางต่อไปก็พอ
เรื่องความไม่น่าเชื่อถือของเอไอนั้นมีมานานแล้ว ถึงขั้นที่มีคำศัพท์ว่า “Hallucination” ไว้สำหรับเรียกอาการ “หลอน” ของเอไอที่มั่วคำตอบขึ้นมาในบางครั้ง ยังไม่พอ ยังมีคำศัพท์ว่า “Stochastic parrots” เพื่อเปรียบเทียบอาการพูดไปเรื่อยเปื่อยของนกแก้ว กับเอไอที่แถตอบคำถามอย่างมั่นหน้ามั่นใจโดยที่ให้ข้อมูลไม่ถูก สามารถเห็นตัวอย่างได้จากกระแสโซเชียลมีเดียก่อนหน้านี้ ที่นำชื่อของตนเอง หรือศิลปิน ใส่ลงไปใน ChatGPT เพื่อถามว่ารู้จักไหม มันกลับตอบว่ารู้จัก แต่อธิบายอาชีพ การงาน หรือบางครั้งเพศสภาพ ที่ผิดไปจากความเป็นจริงได้อย่างยาวเหยียด นี่จึงเป็นเหตุผลที่เอไอแชตบอตบางตัวจำเป็นต้องจำกัดคำถามอยู่ที่ประมาณครั้งละ 20 คำถาม เมื่อเกินนั้นต้องตัดเป็นบทสนทนาใหม่ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เอไอรับหรือส่งข้อมูลผิด ๆ มากจนเกินไป
ความจริงแล้ว AI อยู่รอบตัวเรามานานแล้ว
ก่อนความโด่งดังของ ChatGPT ปะทุ รู้ไหมว่าชีวิตประจำวันของเรามีเอไอช่วยในการดำเนินชีวิตอยู่นานหลายปีแล้ว ในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราใช้โดยอาจไม่เคยเอะใจ เราจะยกตัวอย่างให้คุณได้รู้จักเอไอบางอย่างที่คุณอ่านแล้วต้องร้อง “อ๋อ!”
อย่างแรกที่อุปกรณ์ที่ใกล้ตัวกับทุกคนมากที่สุดนั่นคือ ‘โทรศัพท์มือถือ’ หรือสมาร์ตโฟน รุ่นใหม่ ๆ มักจะเห็นว่ามีการปลดล็อกหน้าจอด้วยการสแกนใบหน้า (Face ID) ซึ่งในเทคโนโลยีนี้มีการซ่อน AI เข้าไปเพื่อช่วยในการจดจำใบหน้า และช่วยตัดสินว่าคุณเป็นเจ้าของมือถือจริงไหม ทั้งในวันที่ใส่หน้ากากอนามัย วันที่ไม่แต่งหน้า หรือวันที่ขอบตาดำเพราะอดนอน AI ก็สามารถวิเคราะห์ใบหน้าเพื่อช่วยยืนยันตัวตนของคุณได้ โดยระบบสแกนใบหน้าที่คุ้นเคยกันดีอย่าง Apple Face ID สามารถเก็บรายละเอียดใบหน้าได้มากถึง 30,000 จุด และใช้การเปรียบเทียบใบหน้าเรากับรูปถ่ายที่เก็บไว้ในเครื่องด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของคุณคือ ระบบสั่งการด้วยเสียง ไม่ว่าจะพูด “Hey, Siri”, “OK, Google” หรือ “Alexa” ก็ล้วนตอบรับได้จาก Machine Learning ของ AI ในการจดจำเสียงมนุษย์ และแยกคำศัพท์ต่าง ๆ ด้วยระบบประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing, NLP) เพื่อให้สามารถทำงานตามที่เสียงมนุษย์สั่งได้ นอกจากที่จะนำมาใช้ในการค้นหาสิ่งต่าง ๆ ในโทรศัพท์มือถือแล้ว แน่นอนว่าบางยี่ห้อยังสามารถใช้การสั่งการด้วยเสียงร่วมกับระบบสมาร์ตโฮม เพื่อสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในบ้านได้อีกด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นอีกหนึ่งระดับ
อย่างต่อมาที่ใกล้ตัวไม่แพ้กันเลยคือ โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เช่น Facebook, Instagram, TikTok หรือ YouTube จะมีการใช้ AI ในการตรวจสอบสิ่งที่คุณน่าจะสนใจ ทั้งจากสิ่งที่คุณโพสต์ จากตำแหน่งบนหน้าจอที่คุณจิ้ม จากสายตาที่คุณมองบนจอ และระยะเวลาที่คุณใช้กับคอนเทนต์แต่ละประเภท โดยบางทีอาจมีการแนะนำเพื่อนที่คุณอาจรู้จัก หรือการกรองคอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้อง เช่น ข่าวปลอม สื่อลามก ข้อความสร้างความเกลียดชัง หรือสแปมได้อีกด้วย
อีกแอปพลิเคชันหนึ่งที่มีผู้ใช้จำนวนมากอย่าง Netflix ที่มีทั้งซีรีส์และภาพยนตร์ที่น่าสนใจให้ได้ดูเพียบ จนหลายครั้งเรามักเลือกไม่ถูกว่าจะดูเรื่องไหน เพราะน่าสนใจไปหมด ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนใจคอนเทนต์จำนวนมากบน Netflix เพราะมีการใช้ AI ทำการศึกษาว่า ภาพปกแบบไหนดึงดูดคนได้ดีที่สุด ควรเป็นนักแสดงคนไหน ยืนตำแหน่งไหน สีอะไร รวมไปถึงมีการเก็บข้อมูลการเข้าชมของผู้ใช้งาน ทั้งจากรายชื่อนักแสดง ระยะเวลาที่ดู หรือประเภทของคอนเทนต์ที่ดู ทำให้เวลาเข้าไปไถหน้าแรกของ Netflix ทีไร เป็นปัญหาโลกแตกเสมอจากการเลือกดูคอนเทนต์ไม่ค่อยถูก
สุดท้ายที่อยากยกตัวอย่างคือแอปพลิเคชันที่ขาดแทบไม่ได้แล้วในการเดินทางทุกวันนี้ นั่นคือแอปพลิเคชันนำทางอย่าง Google Maps หรือ Apple Maps ซึ่งมีการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์สภาพการจราจรและสภาพอากาศที่สามารถเปลี่ยนไปได้ในทุกนาที เพื่อให้สามารถคำนวณเส้นทางที่ประหยัดเวลามากที่สุดให้แก่ผู้ใช้งาน รวมถึงระบบนำทางยังมีพัฒนาต่อยอดให้กับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ จนกลายเป็นรถยนต์ไร้คนขับ ที่ใช้ AI ประเมินสภาพการจราจรระยะใกล้และโดยรวม ซึ่งช่วยสร้างความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ผู้คนคิดเห็นอย่างไรกับ AI
กระแสส่วนใหญ่ที่พูดถึงเอไอมักมีแต่ในเชิงลบ และสร้างความตื่นตระหนก แต่ความจริงแล้ว เอไอก็ถูกใช้งานในเชิงบวกมากทีเดียว เช่น เอไอที่ช่วยแพทย์วินิจฉัย และค้นหาวิธีรักษาโรค, เอไอที่ช่วยทำนายรูปร่างโปรตีนเพื่อการวิจัยทางชีวเคมี, เอไอที่เข้ามาดูแลเรื่องการจัดการเงิน, เอไอที่ช่วยให้การทำงานและการประชุมเป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น รวมถึงเอไอที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
การมาถึงของเอไอที่มีประสิทธิภาพนี้น ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราง่ายยิ่งขึ้น สบายขึ้น จนบางคนอาจมีความคิดเห็นว่าเอไอจะทำให้มนุษย์ทำงานน้อยลงและใช้ชีวิตมากขึ้น เหมือนตอนก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม แม้เราไม่อาจตัดสินได้ว่าความคิดเห็นดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย
สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกับเอไอในยุคปัจจุบันคือการ ‘ปรับตัว’ พวกเราต้องยอมรับและทำความเข้าใจว่า เทคโนโลยีใหม่กำลังจะมาแทนที่เทคโนโลยีเดิม และมันจะมาสร้างประโยชน์จากความสามารถของมันให้กับมนุษย์อย่างพวกเรา แต่สิ่งที่เราอาจทำโดยไม่จำเป็นคือ ‘การต่อต้าน’ เนื่องจากภาวะความหวาดหลัวต่อเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “Technophobia” เป็นอาการกลัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรายังไม่รู้จักมันดีพอ และอาการนี้เกิดขึ้นกับผู้คนหลายยุคหลายสมัยแล้ว
ในประวัติศาสตร์โลก มนุษย์กลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก ในศตวรรษที่ 19 ผู้คนกลัวการมาถึงของไฟฟ้า โดยเฉพาะกริ่งหน้าประตูบ้าน กลัวว่าถ้าหากวันหนึ่งมันมีปัญหาจะเกิดไฟฟ้าช็อก (หรือที่เราเรียกกันว่าไฟช็อต), ผู้คนกลัวพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า GMO ทั้งที่ผลไม้ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมาจากยุคอดีตแทบทั้งหมดแล้ว, หรือการศึกษาความเสี่ยงโรคมะเร็งเนื่องจากสัญญาณ Wi-Fi ยังคงมีการวิจัยมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนมีมุมมองแง่ร้ายต่อเอไอมาโดยตลอด และด้วยพัฒนาการที่รวดเร็วของมันยิ่งทำให้ผู้คนไม่ไว้ใจ ซึ่งตั้งแต่ก่อน ChatGPT จะโด่งดังเป็นพลุแตก ผู้คนก็หวาดกลัวการมาถึงของเอไออยู่แล้ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะภาพลักษณ์ของหุ่นยนต์และเอไอในภาพยนตร์ไซไฟ มักจะออกมาในรูปของตัวร้าย เช่น T-1000 จากคนเหล็ก, อัลตรอน จากอเวนเจอร์ส หรือซันนี่ จากไอ โรบอท ทำให้หลายคนกลัวมาก ๆ ว่าเอไอจะมาครองโลก ถึงขนาดที่ผู้พัฒนาหุ่นยนต์และเอไอหลาย ๆ คนต้องยึดเอา ‘กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์’ ที่ตั้งขึ้นโดย ไอแซค อาซิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์และเอไอจริง ๆ
กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ ประกอบไปด้วย
- หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้
- หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก
- หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง
ฉะนั้น เมื่อเรามีกฎให้กับหุ่นยนต์และเอไอแล้ว การครองโลกของพวกมันคงดูไกลตัวขึ้นไปอีกเยอะ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่เกรงกลัวพลังของเอไอในช่วงยุคหลังนี้ ที่สามารถสร้างข้อมูลที่สมจริงจนบางทีมนุษย์ก็ไม่สามารถแยกออกได้ว่า เป็นฝีมือมนุษย์ หรือฝีมือเอไอ ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น ถ้าเกิดมิจฉาชีพใช้เอไอสร้างใบหน้าปลอมเพื่อหลอกลวงคนอื่นจะทำอย่างไร? ถ้ามีการใช้สื่อจากเอไอจะจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ได้ไหม? หรือถ้ามันสร้างผลงานได้ดีมากแล้วอาชีพที่เราทำอยู่ยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า?
หลายคนอาจคงเคยเห็นตามข่าว ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในช่วงนี้อาจมีการใช้เทคโนโลยี Deepfake สร้างหน้าตำรวจปลอมขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้โชคร้ายให้โอนเงินให้ ซึ่งเป็นมุมมืดของเทคโนโลยีเอไอที่ถูกใช้จริงในสังคมแล้ว รวมถึงภาพจากเอไอที่ถูกใช้ในหลายสื่อ ทั้งที่ข้อมูลในกระบวนการ Machine Learning นั้นมีภาพที่ถูกขโมยมาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ เพื่อฝึกให้เอไอทำภาพเก่งขึ้น แล้วถ้าความสามารถและการใช้งานของเอไอถูกยกระดับไปมากกว่าทุกวันนี้ จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าควรจะสนับสนุนเอไอ?
ปัจจุบันเห็นเหตุผลกันได้ชัด ๆ ว่า AI มีความเสี่ยงที่ต้องตระหนักมากมาย โดยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากเอไอ ได้แก่
- เอไอจะมาแย่งงานมนุษย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่งานหลายตำแหน่งสามารถถูกแทนที่ได้ด้วย AI (แต่ก็จะเกิดงานควบคุม AI อีกหลายตำแหน่งเช่นกัน)
- เอไอที่ใช้คิดค้นยา ก็อาจใช้สร้างอาวุธเคมี-ชีวภาพได้ ซึ่งเคยมีข่าวแล้วว่าเกิดขึ้นได้จริง (อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่)
- เอไอยานพาหนะไร้คนขับ ที่อาจทำงานผิดพลาดและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้
- ข้อมูลที่เอไอสร้างขึ้นมาแบบผิด ๆ อาจบั่นทอนการตัดสินใจของมนุษย์
- ข้อมูลที่เอไอสร้างขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น เช่น วิดีโอลามกอนาจารจาก Deepfake
- ข้อมูลที่เข้าสู่กระบวนการ Machine Learning เพื่อเพิ่มความสามารถให้เอไอ เช่น การสร้างรูปภาพ เกิดจากการดูดภาพไปใช้แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์ โดยที่เจ้าของภาพไม่ให้คำยินยอม จนเป็นที่โต้เถียงกันทั้งในเรื่องการแย่งงาน ความยุติธรรม และการถือครองลิขสิทธิ์
โดยข้อเสียทั้งหมดที่เกิดจากเอไอนั้น อาจจะต้องรอมนุษย์เป็นผู้หาวิธีจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ควรมีการถกเถียงเรื่องจริยธรรมการใช้งาน, มาตรการควบคุมจากผู้พัฒนา และกฎหมายสำหรับผู้ใช้งานเอไอ ว่าเราควรจะใช้งานอย่างไร ควรศึกษาเฉพาะข้อมูลที่ได้รับการอนุญาตไหม ควรมีบทลงโทษสำหรับผู้ใช้งาน AI ในทางที่ผิดอย่างไร สังคมมนุษย์จะได้อยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างสงบสุข โดยที่ข้อมูลจากเอไอไม่ได้มาจากการเอาเปรียบใคร
ความร้ายกาจของโลกทุนนิยมยุคที่ AI แข่งกันพัฒนาประสิทธิภาพแบบนี้ คงเป็นการลดความสำคัญของมาตรฐานจริยธรรมลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น เพราะสำหรับนายทุนบางคนแล้ว
“ราคาของความพ่ายแพ้เกมนี้มันแพงกว่าราคาของความถูกต้องหลายเท่า”
ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้พัฒนา AI หรือฝ่ายบริหารผู้ออกกฎหมาย หันมาสนใจถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างยุติธรรมกับทุกฝ่าย หวังว่าพวกเราจะไม่ต้องหวาดกลัวเทคโนโลยี และลุกขึ้นสู้เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการใช้งานของเอไอไปด้วยกันให้ได้
อ้างอิง
A Short History Of ChatGPT: How We Got To Where We Are Today
ทำไม ChatGPT ถึงดังกว่าแชทบอทของ Microsoft และ Meta ?
Here we go.. First official research paper by an AI tool: ChatGPT
Open artificial intelligence platforms in nursing education: Tools for academic progress or abuse?
ChatGPT : เครื่องมือเพื่อการวิจัย
Artificial intelligence (AI) คืออะไร ? เครื่องมือไหนบ้างที่ใช้
10 ตัวอย่างของเทคโนโลยี AI ที่ทำให้การใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในด้านต่างๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน
Boo! A brief history of technology scares
ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘AI เสี่ยงทำให้มนุษย์สูญพันธุ์’ เรื่องจริงหรือแค่ตื่นตูม?