ก่อนอื่นทางเราขอเล่าเรื่องคุณลุงคนหนึ่งที่กำลังประหม่าอยู่ในร้านอาหารที่เซี่ยงไฮ้ ลุงเค้าประหม่าอยากเข้าไปจีบผู้หญิงที่นั่งอยู่บนโต๊ะจนกระทั้งพนักงานต้องทำหน้าที่กามเทพสื่อรักทักไปหาหญิงสาวคนนั้นแต่ทว่าผู้หญิงคนนั้นกลับตอบว่า เธอตกลงเป็นแฟนกับคุณลุงตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนแล้ว เรื่องราวที่ดูจะคิมิโนโตะนี้มีอะไรแฝงอยู่ภายในนั้นคือคุณลุงเป็นโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักกันดีผ่านสื่อต่าง ๆ เช่นภาพยนตร์ ละคร โดยในวันที่ 21 กันยายนถือเป็นวันอัลไซเมอร์โลก
อัลไซเมอร์คืออะไร
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) คืออาการเสื่อมของเซลล์สมองซึ่งไม่ใช่การเสื่อมโดยธรรมชาติแต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้าอะไมลอยด์ (Beta Amyloid) ไปจับตัวอยู่ที่เซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย ส่งผลโดยตรงกับการทำงานของสมอง จนเกิดอาการอัลไซเมอร์ เช่น ความทรงจำ ความคิด การใช้ภาษา การตัดสินใจ ซึ่งโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม
ที่มา : (2) Normal and Alzheimer’s brains dataset comparison. – YouTube
การปกป้องที่แน่นหนา
สมองถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายโดยสมองถือเป็นศูนย์รวมของการทำงานทั้งหมดกล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะต่าง ๆ ระดับของสารเคมีในร่างกาย ดังนั้นเองการปกป้องสมอง อวัยวะที่มีละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากที่สุดจึงต้องมีความแน่นหนาและรัดกุมเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา : FigX5.gif (722×966) (benbest.com)
การป้องกันชั้นแรกคือกระโหลกศีรษะที่ปกป้องสมองจากแรงกระทบกระเทือนทางกายภาพทั้งหมด การป้องกันชั้นที่สองคือของเหลวที่เรียกว่าน้ำไขสันหลัง หรือ cerebrospinal fluid (ที่ใช้ส่งต่อพลัง Titan ใน Attack on titan) น้ำไขสันหลังนี้เป็นของเหลวที่ไหลไปมาระหว่างสมองและไขสันหลังและชั้นสุดท้ายคือชั้นที่เรียกกันว่า Blood-brain barrier หน้าที่ของ blood-brain barrier คือป้องกันไม่ให้สารแปลกปลอมเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางหรือสารในระบบประสาทส่วนกลางแพร่ออกนอกระบบประสาทส่วนกลาง (นั้นคือสมองไม่ได้สัมผัสหลอดเลือดโดยตรง)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์
จากที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าสมองได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีจากกระโลหกศีรษะที่แข็งแรงมาก การไม่สัมผัสแลกเปลี่ยนสารโดยตรงกับหลอดเลือด สมองจึงไม่น่าจะได้รับตวามเสียหายได้ง่าย ๆ แน่ ๆ ดังนั้นอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การปกป้องอันแข็งแกร่งนี้มีข้อผิดพลาดกันละ
อายุ
อายุที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายโดยจากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
พันธุกรรม
ความผิดปกติของพันธุกรรมส่งผลต่อกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโค้ดคำสั้งของโปรแกรมของร่างกาย ความผิดปกติของพันธุกรรมสามารถทำให้เกิดการสังเคราะห์สารบางชนิดออกมาเกินความจำเป็นหรืออาจสังเคราะห์สารเคมีผิดชนิดเลยก็ได้ จากการศึกษาพบว่ามียีนหนึ่งตัวเช่น ApoE4 ที่จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ของยีนซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงของโรคอีกด้วย
ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome)
โรคดาวน์ซินโดรมถือเป็นโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมโดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่น ๆ มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาไม่พบว่าการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
โรคประจำตัวอื่น ๆ
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิต
- โรคซึมเศร้า
- โรคหลอดเลือดสมอง
พฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน
- การขาดการออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอัลไซเมอร์
- ภาวะเคี้ยวหรือกลืนอาหารลำบาก
- ทรงตัวไม่ได้ จนเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ จนบาดเจ็บ เช่น หกล้มศีรษะฟาด
- ไม่สามารถควบคุมลำไส้และกระเพาะปัสสาวะได้
- ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะขาดน้ำ เนื่องจากลืมว่ายังไม่ได้ทานอาหาร
- สำลักอาหารหรือน้ำลงปอด ทำให้ปอดบวมหรือเกิดการติดเชื้อ
- แผลกดทับ สาเหตุมาจากการเดินหรือนั่งไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียง
การป้องกัน
เนื่องจากเรายังไม่สามารถสาเหตุที่แน่ชัดของโรคอัลไซเมอร์ได้ การป้องกันคือการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
- การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง
- รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ
นอกจากนี้ การฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ยังช่วยให้ผู้สูงวัยคุณภาพชีวิตที่มีและมีความสุขอีกด้วย
เมื่อคนที่คุณรักหลงลืมคุณ
- ฝึกให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง โดยมีคนในครอบครัวคอยสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย เช่น ฝึกให้กินข้าว อาบน้ำ ขับถ่าย
- สนับสนุนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว หรือออกไปพบปะสังคมภายนอกตามความเหมาะสม เช่น ร่วมโต๊ะกินข้าวกัน ไปพักผ่อนที่สวนสาธารณะด้วยกัน
- ลดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น เสียงรบกวน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยต่อผู้ป่วย เช่น ดูแลไม่ให้พื้นห้องน้ำลื่น ไม่มีของเกะกะตามทางเดิน มีแสงสว่างเพียงพอ
- ช่วยฟื้นฟูด้านกายภาพ กระตุ้นระบบประสาทสัมผัสโดยการบีบ นวด และฝึกให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอด
- ดูแลเรื่องสุขภาพจิตและพฤติกรรม เช่น การเบี่ยงเบนความสนในผู้ป่วยออกจากเรื่องที่กำลังหงุดหงิดหรือโมโห
อ้างอิง
Alzheimer’s disease – Symptoms and causes – Mayo Clinic
อาการอัลไซเมอร์ ต้นเหตุของภาวะสมองเสื่อม ที่เป็นมากกว่าการหลงลืม (allwellhealthcare.com)