ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ผู้กำกับ เจมส์ กันน์ ทำให้แก่จักรวาลภาพยนตร์ยอดมนุษย์ที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่างจักรวาล Marvel Cinematic Universe เป็นเรื่องราวภาคที่สามของทีมนักสู้ผู้พิทักษ์จักรวาล Guardian of the Galaxy ซึ่งในภาคนี้ ตัวละครหลักชื่อว่า “ร็อกเก็ต” ซึ่งเป็น แรคคูน (แม้ว่าเขาจะไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่) จะถูกเปิดเผยความลับในอดีตว่าก่อนมาเป็นทีมผู้พิทักษ์จักรวาล เขาถูกนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำโดยตัวร้ายอย่าง ดิ ไฮ อีโวลูชันนารี (The High Evolutionary) ทำการทดลองเขาอย่างสาหัสขนาดไหน ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ของภาพยนตร์ทำให้เราหวนนึกถึงโลกแห่งความจริงว่า การทดลองของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้สัตว์โลกต้องทุกข์ทนทรมานบ้างหรือเปล่า แล้วใครเป็นคนควบคุมการใช้สัตว์ทดลองบ้าง
แน่นอนว่าโลกแห่งความจริงของเรา มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายที่จำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งผลลัพธ์นำมาสู่คุณูปการทางด้านความรู้ เช่น ทางด้านชีววิทยา หรือด้านการแพทย์ แต่ผู้ใช้สัตว์ทดลองจำนวนไม่น้อย หลงลืมไปว่าในการทดลองแต่ละครั้งต้องสูญเสียชีวิตสัตว์ไปมากขนาดไหน อาจลืมนึกถึงวิธีการทดลองว่าจะสร้างความเจ็บปวดต่อสัตว์หรือไม่ อาจละเลยความกดดันที่สัตว์ได้รับจากการถูกกักขังเป็นเวลานาน หรืออาจมองข้ามการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าบางชนิด องค์กรต่อต้านการทรมานสัตว์ และองค์กรพิทักษ์สัตว์ต่าง ๆ จึงมีการต่อต้านการใช้สัตว์ทดลองที่ไม่คำนึงถึงคุณธรรมอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้ผู้ใช้สัตว์ทดลองอยู่ภายใต้มาตรการควบคุม
สภาองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Council for International Organization of Medical Science หรือ CIOMS) ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างผู้ใช้สัตว์ทดลอง และกลุ่มผู้คัดค้านจากทั่วโลก ที่นครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1985 และได้จัดทำข้อสรุปเป็นแนวทางการฏิบัติในการใช้สัตว์เพื่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (International Guiding Principles for Biomedical Research Involving Animals) หลายประเทศจึงนำไปปรับใช้เพื่อกำหนดจรรยาบรรณควบคุมการใช้สัตว์ทดลองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแนวทางปฏิบัติดังกล่าวยังนำไปสู่การพัฒนาการเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระบบ การพัฒนาเทคนิคในการปฏิบัติต่อสัตว์แต่ละชนิดเพื่อลดความทรมานลง รวมถึงยังมีการพัฒนาวิธีการด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และการทดลองด้วยระบบ In vitro เพื่อลดจำนวนการใช้สัตว์ลงในบางกรณีเท่าที่เป็นไปได้
ในประเทศไทยเองก็มีการเล็งเห็นว่า ควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการใช้สัตว์ทดลองเช่นกัน เพราะวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเราก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้บางการทดลองมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สัตว์ทดลอง สภาวิจัยแห่งชาติจึงกำหนด “จรรยาบรรณการใช้สัตว์” ขึ้นเพื่อให้ผลงานวิจัยของไทยอยู่ในมาตรฐานระดับสากล สามารถใช้สัตว์ทดลองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์กับสัตว์อย่างแท้จริง
จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลองในไทย
จรรยาบรรณการใช้สัตว์ หมายถึง หลักเกณฑ์ที่ผู้ใช้สัตว์และผู้เลี้ยงสัตว์เพื่องานวิจัย งานทดสอบ งานสอน และงานผลิตชีววัตถุ ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสาขา ยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม คุณธรรม มนุษยธรรม และหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติ มีการกำหนดสิ่งที่ผู้ใช้สัตว์ควรตระหนักถึงอยู่ประมาณ 5 ข้อ ได้แก่
1. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์
ผู้ใช้สัตว์ต้องใช้เฉพาะในกรณีที่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นสูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ หรือพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยที่ไม่มีวิธีอื่นเหมาะสมเท่าหรือเหมาะสมกว่า เพื่อให้ผู้ใช้สัตว์ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต โดยก่อนการใช้สัตว์ ผู้ใช้ต้องศึกษาข้อมูลที่มีอยู่แล้วประกอบการพิจารณา เพื่อให้การใช้สัตว์มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ โดยปกติของงานวิจัยแล้ว เมื่อทำการทดลองเสร็จจะต้องการุณยฆาตสัตว์ทดลอง เพื่อไม่ให้ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสัตว์ทดลองแพร่กระจายไปในธรรมชาติ แต่ถ้าผู้ใช้สัตว์ต้องการให้สัตว์มีชีวิตอยู่ต่อไป ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูสัตว์เองโดยไม่ใช้สถานที่และทรัพย์สินขององค์การ รวมถึงหากมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหรือมีการเลี้ยงดูต่อไป ต้องมีการพิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น การแพร่กระจายขยายพันธุ์ การแพร่กระจายโรค และการขาดประสบการณ์ที่จะอยู่รอดในธรรมชาติของสัตว์
2. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงความแม่นยำของผลงาน
เพื่อให้มีการใช้สัตว์ในจำนวนน้อยที่สุด โดยได้รับผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด ผู้ใช้สัตว์ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติทางพันธุกรรม ชนิด สายพันธุ์ และระบบการเลี้ยงของสัตว์ที่จะนำมาใช้ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการใช้สัตว์ ซึ่งผู้ใช้สัตว์ควรเลือกใช้สัตว์จากแหล่งเพาะขยายพันธุ์ที่มีประวัติการสืบสายพันธุ์และมีคุณสมบัติทางพันธุกรรมคงที่ รวมถึงพร้อมให้บริการได้ทุกรูปแบบของชนิด สายพันธุ์ เพศ อายุ น้ำหนัก และจำนวนสัตว์ นอกจากนี้เมื่อได้รับสัตว์ที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ต้องการในงานวิจัยแล้ว ควรเลือกใช้วิธีศึกษาที่ถูกต้องทั้งทางเทคนิคและสถิติด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ และลดการใช้สัตว์ทดลองซ้ำอีก
3. การใช้สัตว์ป่าต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า
การนำสัตว์ป่ามาใช้ ต้องใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นต่อการศึกษาวิจัยโดยไม่สามารถใช้สัตว์ประเภทอื่นทดแทนได้เท่านั้น และการใช้สัตว์ป่าจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยผู้ใช้สัตว์ป่าในการศึกษาวิจัยจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด
4. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์
ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวดและมีความรู้สึกตอบสนอกต่อสภาพแวดล้อมไม่ต่างกันกับมนุษย์ การปฏิบัติต่อสัตว์จึงต้องมีความระมัดระวังในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขนส่ง การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยง เทคนิคการเลี้ยง และการปฏิบัติต่อสัตว์ที่ไม่ก่อให้เกิดความเครียด ความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทนทรมาน นอกจากนี้ผู้ใช้สัตว์ควรเรียนรู้เทคนิคพื้นฐานการปฏิบัติต่อสัตว์ให้มีความชำนาญทั้งในการจับและควบคุมสัตว์, การทำเครื่องหมายบนตัวสัตว์, การแยกเพศ, การให้สารทางปาก ผิวหนัง กล้ามเนื้อ หรือเส้นเลือด, การเก็บตัวอย่างเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ หรือชิ้นเนื้อ, การทำให้สัตว์สลบ, การทำให้สัตว์ตายอย่างสงบ, และการชันสูตรซากสัตว์
5. ผู้ใช้สัตว์ต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน
ผู้ใช้สัตว์ต้องปฏิบัติต่อสัตว์ตรงตามวิธีการที่เสนอไว้ในโครงการ และต้องจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างละเอียด ครบถ้วน ทั้งที่มาของสัตว์ วิธีการเลี้ยง ระบบการป้องกันการติดเชื้อ และสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยงสัตว์ พร้อมที่จะเปิดเผยหรือชี้แจงได้ทุกโอกาส
กระแสรณรงค์ “หยุดใช้สัตว์ทดลองเพื่อเครื่องสำอาง”
เมื่อปี 2021 ทั่วโลกมีกระแสที่ชื่อว่า #SaveRalph จากคลิปหนึ่งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2021 ในช่อง YouTube ที่ชื่อว่า The Humane Society of the United States ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลกจาก Humane Society International ที่มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์การเลิกใช้เครื่องสำอางที่นำสัตว์มาเป็นตัวทดลอง โดยในคลิปวิดีโอดังกล่าว (ซึ่งสามารถรับชมได้เพียงคลิกตรงนี้) เป็นแอนิเมชั่นความยาวเกือบ 4 นาที ที่แสดงให้เห็นถึงกระต่ายซึ่งเป็นตัวละครเอกที่ชื่อว่า ราล์ฟ (Ralph) ออกมาเล่าถึงความโหดร้ายจากการทดลองที่ต้องเจอ เช่น การฉีดสารต่าง ๆ ทางดวงตา การถูกจับโกนขนเพื่อทดลองเครื่องสำอาง หรือความตายของเพื่อนและครอบครัวของราล์ฟ โดยในตอนจบมีข้อความขึ้นไว้ว่า “No animal should suffer and die in the name of beauty” (ไม่ควรมีสัตว์ตัวไหนทุกข์ทนทรมานและตายจากไปในนามของความงาม) พร้อมกับขอให้ทุกคนช่วยกันแบนเครื่องสำอางที่ทดลองในสัตว์ ทำให้ทั่วโลกออนไลน์มีการพูดถึงเรื่องนี้ในวงกว้าง รวมถึงเครื่องสำอางแบรนด์ไทยต่าง ๆ ก็ออกมารณรงค์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
โดยปกติแล้ว เครื่องสำอางที่มีการใช้สัตว์ทดลอง จะใช้ในการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า Animal Testing ซึ่งผลิตภัณฑ์จะมีทั้งการทดสอบการระคายเคืองต่อผิว (Skin Irritation Test), ความเป็นพิษเมื่อเจอแสง (Photo Toxicity Test), การระคายเคืองต่อดวงต่อ (Ocular Irritation Test), และการทดสอบความสามารถในการซึมซาบสู่ผิวหนัง (Transdermal Permeability Test) ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วจึงจะถูกนำไปใช้กับร่างกายมนุษย์ได้โดยตรง โดยสัตว์ที่ถูกนำมาใช้ทดลองจะต้องมีผิวหนังที่ตอบสนองไวใกล้เคียงกับมนุษย์ และต้องเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น หนู กระต่าย แมว และสุนัข
ที่เรื่องของ Animal Testing ถูกพูดถึง และมีการรณรงค์ให้ยุติการทดลองในสัตว์ เพราะสัตว์ทดลองสำหรับการทดสอบต่าง ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาจทำให้เกิดความทรมานแก่สัตว์ได้อย่างมาก เช่น การทดลองความปลอดภัยต่อผิวหนัง จะมีการโกนขนสัตว์ทดลองและทาสารเคมีลงไปที่ผิวหนังโดยตรง หรือการทดสอบกบัดวงตา จะมีการหยดสารทดลองเข้าไปในดวงตาสัตว์ทดลองเป็นเวลาประมาณ 28 – 90 วัน จนสัตว์บางตัวต้องตาบอด และเจ็บปวดจากการได้รับสารเคมี
ในปัจจุบัน นอกจากการทดสอบความปลอดภัยด้วย Animal Testing แล้ว อาจเปลี่ยนมาเป็นวิธีการทดสอบโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือสร้างอวัยวะทดแทนจากสเต็มเซลล์ (Stem cell) ซึ่งเป็นการเลียนแบบการทำงานของอวัยวะที่ต้องการได้ โดยไม่ทำให้สัตว์ต้องเจ็บปวดทรมาน ซึ่งเครื่องสำอางหลายแบรนด์ก็เลือกใช้วิธีการทดสอบความปลอดภัยโดยไม่จำเป็นต้องมีการใช้สัตว์ทดลอง ถ้าหากว่าใครสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ความงามที่ไม่มีการใช้สัตว์ทดลองสามารถดูข้อความที่ระบุไว้บนฉลากตามนี้ได้
- Cruelty Free
- No Animal Testing
- Not Tested on Animals
- We Never Tested on Animals
PETA ยกให้เป็นหนังสิทธิสัตว์ยอดเยี่ยมแห่งปี
กลับมาสู่ Guardian of the Galaxy Vol.3 ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เราหยิบยกเรื่องการใช้สัตว์ทดลองมาพูดถึง แม้ว่าเรื่องราวของตัวละคร “ร็อกเก็ต” และเพื่อน ๆ จะต้องถูกทรมานจากการทดลองแปลกประหลาดของตัวร้ายหลักในเรื่อง จนทำให้หลายคนที่ได้รับชมถึงกับเสียน้ำตา แต่รายละเอียดหลาย ๆ จุดในภาพยนตร์ก็ทำให้ผู้คนเห็นภาพและเข้าใจความโหดร้ายทารุณที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้สัตว์ทดลอง ทำให้บางคนอาจหันมารณรงค์ในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน
องค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ซึ่งออกมาเรียกร้องเรื่องราวเกี่ยวกับภาพความรุนแรงต่อสัตว์ในวงการบันเทิงหลายครั้ง หันมายกย่องภาพยนตร์เรื่อง Guardian of the Galaxy Vol.3 ให้เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ยอดเยี่ยมแห่งปี แถมยังเป็นการพูดถึงการทดลองในสัตว์ที่ทรงพลังมากเสียด้วย เพราะมันทำให้คนดูไม่ลืมว่าสัตว์ก็มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่แค่สิ่งของที่มีรอยสักตัวเลขไว้บนตัวเฉย ๆ งานนี้ทำให้ PETA มอบรางวัล “Not a Number Award” ให้กับผู้กำกับอย่าง เจมส์ กันน์ ไปครอบครอง
ตัวอย่างรายละเอียดในภาพยนตร์ที่ใกล้เคียงกับการใช้สัตว์ทดลองในโลกแห่งความจริง และมีส่วนช่วยให้คนดูเกิดความตระหนักมากยิ่งขึ้นมีดังนี้
- สัตว์ทดลองของจริงก็มีตัวเลขไม่ต่างกับร็อกเก็ต ซึ่งถูก ดิ ไฮ อีโวลูชันนารี เรียกว่า 89P13 แทนชื่อจริง ๆ
- ตัวเลข ID ส่วนมากจะเป็นการสักลงบนตัวหรือไม่ก็ด้านในใบหู
- กรงขังสัตว์ทดลองในความเป็นจริงจะเล็กมาก ๆ และข้างในไม่มีอะไรเลยเหมือนกับในภาพยนตร์
- สภาพของร็อกเก็ตที่ถูกตรึงร่างกายไว้ในขณะที่ถูกทำการทดลอง เป็นท่าตรึงแบบเดียวกันกับการทดลองกับลิงในโลกความจริง
- การทดลองในโลกความจริงบางครั้งก็ทำเพียงเพราะความสงสัย ไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความรู้ หรือคุณภาพชีวิต
จะเห็นได้ว่า แม้การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถยกเลิกการทดลองในสัตว์ได้แบบ 100% แต่เราสามารถปฏิบัติได้ภายใต้แนวทางที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความทรมานกับร่างกายสัตว์ทดลองน้อยลง รวมถึงยังลดจำนวนการใช้สัตว์ทดลองได้ อยู่ที่ว่าผู้ใช้สัตว์ทดลองจะทำตามอย่างเคร่งครัดมากขนาดไหน ถ้าหากผู้ใช้สัตว์ทดลองสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ได้ ก็จะทำให้คุณค่าของทุกชีวิตในโลก สร้างประโยชน์ให้แก่กัน และทำให้อีกหลายชีวิตในอนาคตอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
แคมเปญ #SaveRalph : แอนิเมชั่นรณรงค์ “หยุดใช้สัตว์ทดลอง” เครื่องสำอาง
Animal Testing ความสวยงามและปลอดภัย ที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด
PETA Hails ‘Guardians of the Galaxy Vol. 3’ for ‘Unflinching Advocacy’ of Animal Rights