ถ้าพูดถึงสถานที่พักผ่อนที่ดีและยอดเยี่ยมสำหรับมนุษย์คือห้องนอนและการหลับบนเตียงนุ่ม ๆ อาจจะนอนเล่นกลิ้งไปมา หรือการนอนหลับพักผ่อนซึ่งเป็นพื้นที่ที่สบายและรู้สึกปลอดภัย แต่หาได้เป็นแบบที่เราคิดไม่ เนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ๆ 6 ขา ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่มองเห็นได้ยาก ซึ่งอาจจะซุกซ่อนอยู่บนเตียงของคุณ สิ่งนั้นคือตัวเรือดที่จะมาดูดเลือดคุณบนเตียงนั่นเอง
ตัวเรือด (Bed bug) เป็นแมลงขนาดเล็กในอันดับ Hemiptera ซึ่งรวมมวน เพลี้ย จักจั่น เอาไว้ด้วยในกลุ่มนี้ แต่จะถูกแยกย่อยไปกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งตัวเรือดจะไปรวมกลุ่มกับมวน ตัวเรือดถูกแยกออกมาในวงศ์ Cimicidae ตาเป็นแบบตารวม (Compound eyes) ไม่พบตาเดี่ยว (Oceli) มีปากแบบเจาะดูด (Piercing-sucking type) ขาแบบเดิน (Walking leg) โดยขามีความแข็งงแรงทำให้เคลื่อนที่ได้เร็วและยังใช้เป็นการเคลื่อนที่เดียวที่ตัวเรือดจะทำได้ เนื่องจากตัวเรือดวิวัฒนาการให้ลดรูปปีกจนทำให้ไม่มีปีกในการเคลื่อนที่

ภาพที่ 1 ภาพวาดจำลองของตัวเรือด
ที่มา https://www.fhi.no/en/op/skadedyrveilederen/bedbugs/bed-bugs-/
วงจรชีวิตของตัวเรือดเป็นแบบไม่สมบูรณ์ (Noncomplete metamorphosis) แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
1.ไข่ (Egg) หลังจากตัวเรือดเพศเมียได้รับการผสมพันธุ์ประมาณ 3-6 วันจะทำการวางไข่ไว้บริเวณที่มันอยู่หรือก็คือแหล่งอาหารของมัน
2.ตัวอ่อน (Nymph) เมื่อไข่ฝักออกมาเป็นเหล่าโขยงตัวเรือด เหล่าหมู่มวลกองทัพกระหายเลือดพวกนี้มีความอดทนสูงมากโดยพวกมันหลังออกจากไข่หรือหลังลอกคราบสามารถอดอาหารหรือก็คือเลือดของสัตว์ได้นาน 5-6 เดือนเลย เรียกว่าเป็นการ IF ชั้นดีคือกิน 1 มื้ออดไปอีกเป็นเดือนซึ่งมนุษย์เดินดินขา 2 ข้างก็ไม่อาจหาญทำได้ มันจะลอกคราบทั้งหมด 3 ครั้งเพื่อเป็นตัวเต็มวัย
3.ตัวเต็มวัย (Adult) เมื่อผ่านพ้นวัยเยาว์จนบรรลุนิติภาวะก็ถึงเวลาที่จะเพิ่มจำนวนลูกหลานซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ไม่แปลกถ้ามันเป็นคน แต่มันแปลกตรงมันเป็นแมลงนี้แหละ เพราะว่าตัวเรือดเพศผู้จะฉีดเสปิร์มผ่านช่องท้องของตัวเรือดเพศเมีย ซึ่งโดยปกติทั่วไปแมลงจะสืบพันธุ์โดยใช้อวัยวะสอดใส่ แต่ตัวเรือดมีความซาดิสเลยต้องแทงผ่านแผ่นใต้ท้อง (Scutum) จากรูปที่ 2 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะแทงท่อนำเสปิร์มและฉีดเข้าไปผ่านเส้นเลือด ซึ่งเลือดตรงนั้นเป็นตำแหน่งที่จะต้องส่งไปเลี้ยงรังไข่ของตัวเรือดอยู่แล้ว จากภาพที่ 3 หลังจากได้รับการผสมพันธุ์แล้ว 3-6 วันตัวเรือดเพศเมียก็เตรียมพร้อมที่จะสร้างกองทัพของตัวเองต่อไป

ภาพที่ 2 แสดงตำแหน่งของท้องที่ตัวเรือดเพศผู้ทำการฉีดเสปิร์มใส่ตัวเรือดเพศเมีย
ที่มา http://dx.doi.org/10.1073/pnas.1904539116

ภาพที่ 3 แสดงตำแหน่งที่ตัวเรือดเพศผู้ฉีดเสปิร์มเข้าไปและตำแหน่งของรังไข่ของตัวเรือดเพศเมียโดย เส้นปะวงกลมคือ ตำแหน่งที่ฉีดเสปิร์มเข้าไป
และ ov รูปด้านขวาแสดงถึงรังไข่ของตัวเรือดเพศเมีย
ที่มา https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0089265
ตัวเรือด ถูกจัดว่าเป็นปรสิตภายนอก (Ectoparasite) มีเจ้าบ้าน (Host) เป็นสัตว์เลือดอุ่นหลายชนิดเช่น นก ไก่ ค้างคาว รวมถึงคน โดยปกติตัวเรือดจะอาศัยอยู่ตามที่มืดแคบ ๆ เช่นรอยแตกผนัง ใต้รังนกที่มีขนนกคลุมพื้นรังอยู่ โดยเฉพาะตามขอบเตียงของมนูษย์ ซึ่งเป็นที่ง่ายต่อการออกมาหาอาหาร หรือก็คือเลือดของคนนั่นเอง โดยในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่พบจะมี 2 ชนิดได้แก่ Cimex lectularius และ Cimex hemipterus ตามภาพที่ 5 โดย C. lectularius แผ่นอกปล้องแรกด้านบน (Protergite) จะขยายออก และ แผ่นอกปล้องแรกด้านล่าง (Prosternum) ขยายแต่น้อยกว่าด้านบน ความกว้างจะยาวน้อยกว่าครึ่งนึงของความยาว แต่ C. hemipterus อกปล้องแรกทั้งด้านบนและล่างจะขยายออกมาใกล้เคียงกัน ความกว้างจะยาวใกล้เคียงหรือเท่ากับครึ่งนึงความยาวของอกปล้องแรก

ภาพที่ 5 แสดงความแตกต่างของตัวเรือดทั้ง 2 ชนิด คือ Cimex lectularius (ซ้าย) และ Cimex hemipterus (ขวา)
ที่มา https://doi.org/10.1016/j.meegid.2020.104536
ซึ่งเมื่อถูกตัวเรือดกัดจะมีอาการคัน เป็นจ้ำแดงไล่ตามแนวยาวลงมา ตามภาพที่ 6 ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะที่จะวินิจฉัยว่าถูกตัวเรือดกัด ซึ่งในประเทศไทยเองก็เคยมีข่าวว่าพบที่โรงแรม ซึ่งการแพร่พันธุ์ของตัวเรือดก็มาจากมนุษย์อย่างเรานี้แหละครับที่มันเกาะติดมาด้วย แล้วก็ไปหล่นตรงที่นอนแล้วก็มากินเลือดเราเอง หรือตามโรงแรมก็มาจากคนที่มานอนก่อนหน้าแล้วทำความสะอาดห้องไม่ทั่วถึง

ภาพที่ 6 แสดงร่องรอยการกัดจากตัวเรือด
ที่มา https://health.clevelandclinic.org/need-know-bed-bugs/
ซึ่งในโชคร้ายที่โดนกัดก็ยังมีโชคดีอยู่เพราะตัวเรือดยังไม่ใช่พาหะนำโรคที่น่ากลัวแต่ก็ควรระวังอยู่ดีเพราะการถูกตัวเรือดกัดนั้นแผลอาจจะมีการคัน อักเสบ หรือติดเชื้อได้ หรือรุนแรงสำหรับคนที่มีอาการแพ้ ดังนั้นทุกคืนก่อนนอนสำรวจเตียงคุณดีรึยังว่าไม่มีเพื่อนตัวน้อยอาศัยในซอกหลืบที่คุณมองพลาดไป
ไม่แน่! คืนนี้คุณอาจเป็นรายต่อไปที่จะโดนดูด…เลือดก็เป็นได้
อ้างอิง
อนุกรมวิธานแมลง โดย ผศ.ดร. ไสว บูรณพานิชพันธุ์
Medical and Veterinary Entomology