Hilight
- บล็อกเชน คือรูปแบบการบันทึกข้อมูลดิจิทัลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ แต่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ มันจึงมีความปลอดภัยและโปร่งใสในคราวเดียวกัน
- เมื่อพูดถึงบล็อกเชน มักคิดถึงบิตคอยน์ เพราะบิตคอยน์เป็นแอปพลิเคชั่นแรกที่ถูกสร้างขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน
- มีการประยุกต์ใช้บล็อกเชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการเงิน การเมือง การแพทย์ การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ และระบบเมตาเวิร์ส
- บล็อกเชนเป็นการมาถึงของอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือเรียกว่า เว็บ 3.0 จากระบบกระจายอำนาจศูนย์กลาง และการที่ผู้ใช้สามารถส่งต่อมูลค่าผ่านระบบดิจิทัลได้
พูดถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน หลายคนมักจะนึกถึงบิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลชื่อดังที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมากจากวันที่มันถือกำเนิดขึ้นมา หรืออาจจะนึกถึงสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่มีอยู่อีกมากมาย แต่หลายคนยังไม่รู้ว่าพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชน มีความสามารถมากกว่าการเป็นสมุดบันทึกธุรกรรมการเงิน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น การแพทย์ อสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม การศึกษา หรือแม้กระทั่งวงการศิลปะ แล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนมันคืออะไรกันแน่?
รู้จักกับ “บล็อกเชน”
บล็อกเชน คือรูปแบบการบันทึกข้อมูลดิจิทัลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ มีการนำมาใช้ในการเก็บข้อมูล เช่น เอกสารต่าง ๆ หรือการนำมาใช้ทำธุรกรรมได้หลากหลาย เช่นการเดินบัญชีเหมือนที่ธนาคารทำ โดยจะเก็บข้อมูลทีละชุด หนึ่งชุดจะถูกเรียนเป็นบล็อก แต่ละบล็อกบรรจุข้อมูลสำคัญเอาไว้ 3 อย่าง อย่างแรกคือลักษณะของธุรกรรมที่เกิดขึ้น เช่น นาย ก. โอนเงินให้นาย ข. เป็นจำนวน 200 บาท อย่างต่อมาคือโค้ดอ้างอิงของบล็อกนั้น ๆ เรียกว่า “แฮช” (hash) ใครที่นึกไม่ออกว่าแฮชหน้าตาเป็นยังไง ให้คิดภาพตัวเลขและตัวอักษรที่เรียงต่อกันสะเปะสะปะยาว ๆ อ่านไม่ออก โดยแฮชเหล่านี้จะถูกคอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาพร้อมกับบล็อก เปรียบเสมือนลายนิ้วมือของแต่ละบล็อก ที่จะระบุความจำเพาะของธุรกรรมในแต่ละบล็อกที่เกิดขึ้น หากแฮชถูกเปลี่ยนแปลงรหัสไปแม้แต่ตำแหน่งเดียว ข้อมูลในบล็อกนั้นทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมต่อได้ และอย่างสุดท้ายที่ถูกบรรจุไว้ในบล็อกคือ แฮชของบล็อกก่อนหน้า ที่จะระบุว่าบล็อกนี้เชื่อมต่อมาจากบล็อกไหน โดยบล็อกก่อนหน้าก็จะถูกเชื่อมต่อมาจากบล็อกที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอีกที เรียงต่อกันคล้ายกับสายโซ่เส้นยาว นี่จึงเป็นที่มาของคำว่าบล็อกเชน
จุดเด่นของบล็อกเชนคือแก้ไขได้ยาก ป้องกันการแฮ็ก หรือโจรกรรมข้อมูลได้เป็นอย่างดี จุดเด่นเหล่านี้มาจากลักษณะเฉพาะของบล็อกเชน คือเมื่อแฮชของบล็อกหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป จะกระทบกับบล็อกก่อนหน้าและบล็อกถัดไป สายโซ่เส้นนี้ทั้งระบบจะไม่สามารถบันทึกธุรกรรมต่อได้ทันที นั่นทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงบล็อกเชนถูกเชื่อมต่อเอาไว้ด้วยอินเทอร์เน็ต ที่ผู้คนทั่วโลกร่วมป็นพยานรู้เห็นการดำเนินธุรกรรมบนบล็อกเชนได้ ด้วยการที่ระบบสำเนาสายโซ่ข้อมูลนี้ไปให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบ หากจะแก้ไขธุรกรรมที่เกิดขึ้น ต้องแก้ไขในคอมพิวเตอร์ของทุกคน ซึ่งเป็นไปแทบไม่ได้เลย อีกจุดเด่นหนึ่งของบล็อกเชนคือ การกระจายอำนาจศูนย์กลาง หรือ decentralized เพราะข้อมูลในระบบสามารถจัดการกันเองได้ด้วยความร่วมมือของทุกคนในระบบ เหมือนกับประชาชนที่ดูแลกันเอง จึงไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่คอยควบคุมการดำเนินการของธุรกรรม
ประวัติศาสตร์ของ “บล็อกเชน”
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในปีค.ศ. 1991 แนวคิดเกี่ยวกับบล็อกเชน เกิดขึ้นครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์สองคนที่ชื่อว่า สจ๊วต ฮาร์เบอร์ (Stuart Haber) และสก็อตต์ สตอร์เน็ตตา (Scott Stornetta) พวกเขาเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ข้อมูลดิจิทัลนั้นถูกแก้ไขได้ง่ายกว่าข้อมูลสิ่งพิมพ์ในสมัยนั้น จึงต้องการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถเก็บเอกสารและสิทธิบัตรต่าง ๆ ของบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่ โดยที่ข้อมูลต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือหากมีการแก้ไขจะมีหลักฐานแสดงในระบบทุกครั้ง วิธีการของพวกเขาคือเข้ารหัสเอกสารในรูปแฮช และต้องรับรองการมีอยู่ของเอกสารในรูปแฮชนั้น ด้วยการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Time Stamping Service (TSS) และเมื่อมีเอกสารอื่นใดที่ได้รับการรับรองหลังจากนั้น จะถูกนำไปแขวนต่อกับเอกสารที่ถูกรับรองไปก่อนหน้า โดยจะมีลิงก์ของเอกสารก่อนหน้าปรากฎขึ้นด้วย แต่เนื่องจากการรับรองด้วยระบบ TSS เพียงระบบเดียว ยังไม่ปลอดภัยมากเพียงพอต่อการถูกดัดแปลงแก้ไข หรือโจรกรรมข้อมูล เหมือนกับมีพยานเพียงแค่คนเดียว ทั้งสองคนจึงเกิดแนวคิดที่จะแจกจ่ายความไว้วางใจให้กับคนอื่น ๆ สามารถเป็นผู้รับรองเอกสารของพวกเขาได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการกระจายอำนาจศูนย์กลาง หรือ decentralized (สามารถอ่านเปเปอร์ของ ฮาร์เบอร์และสตอร์เน็ตตา ได้ที่นี่)
ถัดมาในปีค.ศ. 2004 ฮาล ฟินนี่ย์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัสข้อมูล ได้คิดค้นระบบที่เรียกว่า Reusable Proof of Work หรือการยืนยันข้อมูลด้วยการทำงาน ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นระบบต้นแบบให้กับระบบที่ใช้งานในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง “การขุดเหรียญคริปโต” หลักการทำงานของมันก็คือ เมื่อมีธุรกรรมการเงินเกิดขึ้น เช่น นาย ก. โอนเงินให้นาย ข. เป็นจำนวน 200 บาท ธุรกรรมนี้จะเข้าสู่สถานะรอการยืนยัน แล้วขั้นตอนหลังจากนี้ “นักขุด” มีหน้าที่ในการใช้เครื่องมือ เช่น การ์ดจอคอมพิวเตอร์ ในการเดาสุ่มแฮชของแต่ละบล็อกนั่นเอง เมื่อมีคอมพิวเตอร์ที่เดาสุ่มแฮชถูกต้องจะถือว่าเป็นการยืนยันการทำธุรกรรมนั้น เจ้าของคอมพิวเตอร์ที่สามารถสุ่มแฮชสำเร็จจะได้รับรางวัลไป เช่น การขุดบิตคอยน์ ก็จะได้เงินสกุลบิตคอยน์ไปเป็นรางวัลสำหรับการยืนยัน นั่นทำให้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าการ์ดจอคอมพิวเตอร์มีราคาแพงขึ้นเพราะการขุดเหรียญคริปโต
เมื่อพูดถึงบิตคอยน์ ต้องพูดถึงบุคคลผู้ให้กำเนิดบิตคอยน์ เขามีนามสมมุติว่า ซาโตชิ นากาโมโต้ เขาคือผู้เนรมมิต บล็อกเชน ให้เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ และมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยตัวตนของเขายังคงเป็นความลับจวบจนทุกวันนี้ โดยในปี ค.ศ. 2008 เขาเคยเผยแพร่เปเปอร์เกี่ยวกับบิตคอยน์เป็นครั้งแรก (อ่านได้ที่นี่) และทำการสร้างระบบบล็อกเชนขึ้นมาให้สามารถใช้งานได้จริง โดยข้อมูลบล็อกแรกของบล็อกเชนบิตคอยน์ ถูกบันทึกข้อมูลในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2009 และมีการพัฒนาระบบบล็อกเชนจนกระทั่งปี ค.ศ. 2011 นายซาโตชิก็ได้หายตัวไป แต่ระบบบล็อกเชนที่เขาสร้างขึ้นมายังคงถูกใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสกุลเงินดิจิทัลชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2016 ด้วย
ทำไมพูดถึง “บล็อกเชน” ต้องคิดถึง “บิตคอยน์”
ปรับความเข้าใจกันก่อน ว่าบิตคอยน์ไม่ใช่บล็อกเชน แต่บิตคอยน์เป็นแอปพลิเคชั่นหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาบนเทคโนโลยีบล็อคเชน ซึ่งบิตคอยน์นับว่าเป็นแอปพลิเคชั่นแรกที่ถูกผลิตออกมาบนบล็อกเชน ด้วยจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้การเงินนั้นไร้ศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่มีใครสามารถควบคุมเงินสกุลนี้ได้ เขาจึงได้เลือกเทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากอย่างบล็อกเชนในการสร้างมันขึ้นมา นี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เวลาพูดถึง “บล็อกเชน” ต้องคิดถึง “บิตคอยน์” แต่บิตคอยน์ไม่ใช่ระบบการเงินเดียวบนโลกของบล็อกเชน และโลกของบล็อกเชนก็ไม่ได้มีแอปพลิเคชั่นแค่เรื่องของการเงินด้วย
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ระบบบล็อกเชนถูกสร้างขึ้นโดยซาโตชิ นากาโมโต้ ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ขึ้น เขารู้สึกไม่ไว้วางใจในระบบการเงินที่มีศูนย์กลางอำนาจอย่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนเงินในระบบได้ดั่งใจ เขาจึงได้สร้างสกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อว่าบิตคอยน์ขึ้นมาบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย ยากต่อการโจรกรรม และยากต่อการควบคุมโดยศูนย์กลางอำนาจอย่างรัฐบาล รวมถึงเขายังทำให้จำนวนของบิตคอยน์มีอยู่อย่างจำกัดเพียงแค่ 21 ล้านบิตคอยน์เท่านั้น และเมื่อสินทรัพย์ชนิดนี้มีอย่างจำกัด ไม่สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนได้ตามอำเภอใจ ระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการเงินชนิดนี้จึงเป็นไปตามความเป็นจริง ด้วยระบบอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัยในยุคนี้ ทำให้การโอนเงินแก่กันโดยไม่อาศัยศูนย์กลางอย่างธนาคารเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากขึ้น และเมื่อไม่มีธนาคาร ผู้ตรวจสอบธุรกรรมจึงต้องเป็น “ทุกคน” ในระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยข้อมูลบนบล็อกเชนเป็นข้อมูลที่เปิดเผยอย่างโปร่งใส ใครก็สามารถเข้ามายืนยันธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากบิตคอยน์ได้ และแรงจูงใจที่ทำให้คนอยากจะยืนยันธุรกรรมให้กับผู้อื่นคือ เงินรางวัลที่ผู้ยืนยันสำเร็จจะได้รับไปเป็นสกุลเงินบิตคอยน์ ทุกวันนี้บิตคอยน์ที่ปรากฎทั่วโลกยังมีจำนวนไม่ถึง 21 ล้านบิตคอยน์ จึงเป็นสาเหตุให้ทั่วโลกมีการสะสมเพื่อเก็งกำไร และเก็บบิตคอยน์ไว้ใช้ในอนาคต จนเกิดกระแสที่มาแรงอย่างยิ่ง
ซาโตชิ นากาโมโต้ ผู้พัฒนาบิตคอยน์แสนลึกลับคนนี้ได้หายตัวไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 มีคนพยายามตามหาตัวเขาอยู่หลายครั้ง เนื่องจากผู้ริเริ่มระบบเทคโนโลยีที่ปลอดภัยที่สุดในยุคดิจิทัลนี้ อาจเป็นผู้ที่เหมาะสมกับการให้คำแนะนำสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดแนวทางให้กับการเงินดิจิทัลในโลกใบนี้ด้วย แต่อีกหลายคนก็คิดว่าการหายตัวไปของซาโตชิเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งในด้านความปลอดภัยของเขา ผู้สร้างระบบที่ทำให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถตรวจสอบได้ จนกระทบต่อผู้ที่ต้องการมีอำนาจควบคุมระบบการเงินกลุ่มต่าง ๆ หรือในด้านผลกระทบของมูลค่าเงินดิจิทัล หากคนสำคัญอย่างซาโตชิพูดถึงอะไรเพียงเล็กน้อย อาจกระทบกับมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลทุกชนิดในบล็อกเชนได้ การหายตัวไปของเขาจึงถือเป็นการเสียสละ เพราะแทนที่เขาจะมีชื่อเสียงจากการสร้างสิ่งนี้ เขากลับเลือกทำให้บิตคอยน์โดดเด่นยิ่งกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่นเป็นไหน ๆ เพราะมันไม่มีใครสามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง แม้แต่ตัวซาโตชิเอง
แต่การเปิดเผยตัวของผู้สร้างบล็อกเชนก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย เพราะสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ นอกจากบิตคอยน์ มีการเปิดเผยผู้สรรค์สร้างมันขึ้นมาทั้งนั้น และพวกเขายังคงทำหน้าที่พัฒนาระบบบล็อกเชนของพวกเขาให้เดินหน้าต่อไปไม่มีหยุด ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชั่นอื่นนอกเหนือจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เกิดขึ้นได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในโลกของบล็อกเชน ส่วนหนึ่งก็มาจากการพัฒนาอย่างไม่หยุดของนักพัฒนาบล็อกเชนเหล่านี้ ตัวอย่างสกุลเงินดิจิทัลบนบล็อกเชนนอกเหนือจากบิตคอยน์ เช่น อีเธอร์ สกุลเงินที่มีชื่อเสียงมากเป็นอันดับที่สองรองจากบิตคอยน์ เป็นสกุลเงินหลักที่ถูกใช้บนบล็อกเชนที่ชื่อว่า อีเธอเรียม ซึ่งเงินสกุลอีเธอร์นั้นถูกใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนซื้อขายในแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บนอีเธอเรียม เช่น เกม ระบบแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ผลงานศิลปะในรูปของ NFT นั่นเอง
การประยุกต์ใช้บล็อกเชน ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มีทั้งข้อจำกัดให้ต้องปรับปรุงอีกหลายอย่าง และยังมีข้อดีที่สามารถนำไปประยุกต์ในงานอื่นได้อีกหลายด้านด้วย เช่น
ด้านการเงิน และ NFT
อย่างที่ได้พูดไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ ระบบการเงินที่ใช้งานในบล็อกเชน มีความสะดวกสะบายในการโอนแก่กัน และมีความปลอดภัยในการเก็บรักษาทรัพย์สินอย่างมาก และเมื่อมันเป็นการเงินแล้ว ก็ต้องเกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยแอปพลิเคชั่นที่โดดเด่นที่สุดในการจับจ่ายใช้สอยคงหนีไม่พ้นระบบ NFT หรือ Non-fungible token มันคือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามรถเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ คล้ายกับการสร้างบิตคอยน์ลงบนเทคโนโลยีบล็อกเชน คือการแปลงข้อมูล เช่น ภาพผลงานศิลปะ ให้กลายเป็นแฮช และนำแฮชเหล่านี้ที่เหมือนกับ “สัญญาแสดงความเป็นเจ้าของ” ไปทำการซื้อขายบนบล็อกเชนอีกที หลายคนอาจสงสัยว่า รูปภาพสมัยนี้สามารถเปิด Google แล้วคลิกขวา กด Save as ก็สามารถเป็นเจ้าของได้แล้ว ทำไมผู้คนต้องการจะซื้อรูปภาพเหล่านั้นด้วยเงินดิจิทัล คำตอบก็คือ ภาพเหล่านั้นสามารถถูกคัดลอกและส่งต่อได้จริง แต่สิ่งที่ทำไม่ได้เหมือน NFT คือการส่งต่อมูลค่า เราสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง NFT ได้ว่าสินทรัพย์ที่เราซื้อมาเป็นของแท้หรือไม่ เคยมีราคาเท่าไหร่ ใครเคยเป็นเจ้าของบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างมูลค่าให้กับผู้เป็นเจ้าของ NFT เหล่านั้นนั่นเอง
ด้านการแพทย์
ปกติเวลาที่เราไปหาหมอที่โรงพยาบาล มักจะต้องถูกซักถามข้อมูลส่วนตัวคนไข้ ทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา สิทธิในการใช้บริการด้านสุขภาพต่าง ๆ และอีกมากมาย ซึ่งจำเป็นต่อการบันทึกข้อมูลในระบบของโรงพยาบาล แต่เมื่อเราย้ายสถานที่รักษาจากโรงพยาบาลหนึ่ง ไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง การซักถามข้อมูลส่วนตัวจะต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากคำตอบที่เราเคยส่งไปอยู่ในระบบของโรงพยาบาลเก่า และข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาลนั้นไม่ได้เชื่อมต่อถึงกัน แต่จะดีไหม ถ้าเราบันทึกข้อมูลไว้บนเทคโนโลยีที่เผยแพร่ข้อมูลได้โปร่งใสมากอย่างบล็อกเชน และโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถตรวจสอบข้อมูลของเราบนบล็อกเชนเดียวกัน การตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติการแพ้ยา เป็นเรื่องที่สะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้การรักษาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว รักษาชีวิตผู้คนได้ไวกว่าเดิม นอกจากนี้ การตรวจสอบที่มาของยาแต่ละชนิดยังง่ายขึ้น จากการดูข้อมูลย้อนหลังบนบล็อกเชนนั่นเอง
ด้านอสังหาริมทรัพย์
นอกจากการที่คุณจะสามารถซื้อขายที่ดินด้วยสกุลเงินดิจิทัลบนบล็อกเชนแล้ว ยังสามารถแบ่งความเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้วยการแบ่งเป็น NFT หลายชิ้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ การเก็บรักษาเอกสาร โฉนด และหลักฐานต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส และเรียกใช้ได้สะดวกสบายเมื่อจำเป็นต้องใช้
ด้านการเมือง
จะดีไหม หากการเลือกตั้งไม่สามารถ “โกง” ได้ ความจริงแล้วการโกงไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งนักการเมืองด้วยแล้ว ผู้คนต้องการความโปร่งใสอย่างมาก และการมาของเทคโนโลยีบล็อกเชนอาจช่วยในจุดนี้ได้ เมื่อข้อมูลที่ถูกบันทึกลงบล็อกเชน เช่น ผลคะแนนของพรรคการเมืองที่ประชาชนแต่ละคนเลือก มันจะไม่สามารถถูกดัดแปลงหรือแก้ไขภายหลังได้ นอกจากนี้ มันยังทำให้ผลการเลือกตั้งถูกนับได้รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม ทำให้ไม่มีปัญหาบัตรเสีย บัตรหาย หรือบัตรเขย่ง รบกวนระบบการเมืองอีกต่อไป
การศึกษา
สิ่งที่วงการการศึกษาต้องเหนื่อยหน่ายกันอยู่เป็นประจำคือเรื่องของเอกสาร ทั้งเรื่องของการจัดเก็บเอกสารจำนวนมาก การเก็บเอกสารไม่ดีอาจสูญหายและเสียหายได้ รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารเพื่อนำไปหาผลประโยชน์ ดังนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ เช่น การจัดเก็บผลการเรียน ใบรับรองผลการเรียน หรือเกียรติบัตรต่าง ๆ ที่รับรองว่าแต่ละคน ผ่านการอบรมจากสถาบันการศึกษามาแล้วจริงหรือไม่ จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง และยังช่วยให้การค้นหาเอกสารง่ายกว่าการจัดเก็บในลิ้นชักอีกด้วย
ด้านการค้าปลีก
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารสดที่คุณซื้อในห้างสรรพสินค้านั้นสดจริง หรืออาหารออร์แกนิกที่คุณหยิบจับขึ้นมาดูนั้นผ่านกระบวนการที่ออร์แกนิกจริงหรือไม่ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการบันทึกที่มาของผลผลิตแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ หรือแม้กระทั่งสินค้าที่ไม่ใช่อาหารอย่างเสื้อผ้า เพื่อตรวจสอบย้อนหลังว่ากระบวนการผลิตมีจริยธรรมหรือไม่ ผู้ผลิตมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ รวมถึงรายละเอียดที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์เป็นความจริงหรือไม่ ทำให้เรามั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดเพื่อดูข้อมูลในบล็อกเชนเท่านั้นเอง
ด้านเมตาเวิร์ส
อย่างที่เราเห็นกันว่า เทคโนโลยีเมตาเวิร์ส กำลังเข้ามาใกล้พวกเรามากขึ้นทุกที หลายบริษัทพยายามที่จะเข้าไปเก็บเกี่ยวโอกาสใหม่ ๆ บนโลกเสมือนอย่างเมตาเวิร์สมากขึ้น ซึ่งมีคนมากมายคาดการณ์ว่าระบบการเงินที่จะใช้จ่ายกันบนโลกดิจิทัลอย่างเมตาเวิร์ส ย่อมจะต้องเป็นสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาบนบล็อกเชนจนถึงขั้นที่สามารถใช้งานกันได้ในขนาดประชากรที่ใหญ่ขึ้น ทางผู้พัฒนาอีเธอเรียมได้เปิดเผยว่า พวกเขาตั้งใจพัฒนาบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัลของพวกเขา เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอยู่ตลอด รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์ส ก็มีราคาที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่มีข่าวและกระแสเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส นั่นแสดงถึงความสนใจของผู้คนที่มีต่อระบบการเงินบนโลกเสมือนอย่างเมตาเวิร์ส
เทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่พร้อมใช้งานแล้ววันนี้
การมาถึงของบล็อกเชน เรียกได้ว่าเป็นการมาถึงของอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือที่เรียกกันว่า เว็บ 3.0 โดยที่แต่ละยุคของอินเทอร์เน็ต เกิดการโต้ตอบกับข้อมูลบนโลกออนไลน์นี้ที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น ๆ โดยรายละเอียดของอินเทอร์เน็ตในแต่ละยุคเป็นดังนี้
เว็บ 1.0 คือ ยุคสมัยที่เกิด “เวิลด์ ไวด์ เว็บ” ขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งมันถูกสรรค์สร้างโดยนักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษชื่อว่า ทิม เบิร์นเนอร์ส-ลี ซึ่งมันทำให้ผู้คนสามารถรับข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ โดยในยุคนั้น เว็บไซต์ถูกสร้างขึ้นมาด้วย HTML ซึ่งทำได้เพียงนำเสนอข้อมูลแบบคงที่ เพื่อให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถรับข้อมูลได้อย่างเดียวเท่านั้น ทั้งการอ่านเรื่องราวต่าง ๆ หรือการติดตามการถ่ายทอดสดกีฬา เป็นต้น
เว็บ 2.0 คือ ยุคสมัยที่มีเว็บบล็อก และโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถโต้ตอบกับผู้อื่นในโลกออนไลน์ได้ เกิดการคอมเมนต์ เกิดการสนทนาในห้องแชทออนไลน์ และผู้ใช้งานทุกคนสามารถเขียนข้อมูลของตัวเองลงไปบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงแก้ไขเนื้อหาได้อย่างที่อินเทอร์เน็ตยุคที่ 1 ทำไ่ม่ได้มาก่อน นอกจากนี้ เมื่อมีการเขียนและแก้ไขข้อมูลได้ ทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลดิจิทัลมากมาย คุณสามารถคัดลอกภาพใดก็ได้ เพื่อทำสำเนาส่งต่อให้เพื่อน ๆ หรือนำภาพไปแต่งเติมเพิ่มได้ดั่งใจต้องการ โดยที่ข้อมูลทั้งหมดที่ถูกทำสำเนาขึ้นมายังคงมีอยู่จริงทุกชิ้น
และเว็บ 3.0 คือ ยุคที่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต สามารถส่งต่อมูลค่าได้ ข้อมูลบางชนิดถูกออกแบบให้ไม่สามารถทำสำเนาเพิ่มได้ รวมถึงการจัดการข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่จำเป็นจะต้องถูกควบคุมโดยอำนาจจากศูนย์กลาง ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือก ออกแบบ และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งหลายคนคิดว่าการมาของทั้งเทคโนโลยี “บล็อกเชน” และ “เมตาเวิร์ส” คือการมาถึงของอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ หรือเว็บ 3.0 นั่นเอง
เมื่อจุดกำเนิดของเทคโนโลยีบล็อกเชน กลายเป็นการมาถึงของยุคใหม่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต การปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ จะทำให้เรามองเห็นโอกาสได้มากกว่า และอาจจะทำให้เราสะดวกสบายกับการใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้นอีกด้วย ทั้งการจัดเก็บข้อมูลบนบล็อกเชน การใช้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย และโปร่งใสอย่างมาก แต่เทคโนโลยีก็ยังมีข้อจำกัดอีกมากมายหลายอย่าง จากจุดเด่นที่มันตรวจสอบข้อมูลไม่ได้ ทำให้มีคนฟอกเงินบ้าง เรียกค่าไถ่ด้วยบล็อกเชนบ้าง หรือแม้กระทั่งมีคนใช้ความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีของผู้อื่นมาเอาเปรียบ เราทุกคนจึงมีความจำเป็นในการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจพื้นฐานของเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อป้องกันตัวเองจากคนเหล่านี้ด้วย ใช้มันให้ถูกทาง สร้างโอกาสให้ตัวเอง แล้วเราจะใช้ชีวิตบนโลกที่ดำเนินพร้อมระบบบล็อกเชนไปด้วยกัน
อ้างอิง
Blockchain คืออะไร? ทำงานอย่างไร? มีบทบาทในตลาดแบบไหน?
Blockchain คืออะไร บล็อกเชนทำอะไรได้บ้าง นอกจากแค่ cryptocurrency /bitcoin
Blockchain คืออะไร Cryptocurrency จะมาจริงไหม เข้าใจที่เดียวจบ
บล็อกเชนที่เป็นมากกว่าบิตคอยน์
Blockchain คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรต่ออสังหาฯ
Blockchain นั้นถือกำเนิดขึ้น 20 ปีก่อนที่จะมี Bitcoin เกิดขึ้นมา