การศึกษาล่าสุดของ Caltech ระบุว่า น้ำไม่ได้เป็นส่วนประกอบสำคัญในระยะแรกของการเกิดโลก แต่เป็นกระบวนการทางความร้อนของวัตถุที่ปราศจากความชื้น โดยพบสารที่สามารถระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ในช่วงระยะหลังของการเกิดโลก ซึ่งส่งผลต่อทฤษฎีการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์
หลายพันล้านปีก่อน หินและฝุ่นมากมายโคจรรอบดวงอาทิตย์ของเรา และรวมตัวกันทำให้เกิดเป็นดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ รวมไปถึงอุกกาบาตและเศษซากที่เราสามารถพบเจอได้ในปัจจุบันอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามที่จะศึกษากระบวนการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์ต่อไปโดยศึกษาจากกระบวนการเกิดโลก

วิธีที่จะศึกษากระบวนการเกิดของดาวเคราะห์ได้ คือการตรวจสอบแม็กมาที่ปะทุขึ้นมาจากภายในของดาวเคราะห์ ซึ่งจากการตรวจสอบสมบัติทางเคมีจะบ่งบอกถึงช่วงเวลาที่เกิดขึ้นและธรรมชาติของวัตถุในยุคแรกเริ่มของดาวเคราะห์ คล้ายกับการที่ฟอสซิลทำให้เราสามารถย้อนเวลากลับไปในยุคบรรพกาลได้
Caltech (California Institute of Technology) รับรองว่า โลกในยุคแรกเริ่มเต็มไปด้วยความร้อนและวัตถุที่ปราศจากความชื้น ซึ่งนั่นหมายความว่า น้ำที่เป็นปัจจัยที่สำคัญและเป็นส่วนประกอบหลักของสิ่งมีชีวิตนั้น เกิดขึ้นภายหลังการก่อตัวของโลกใบนี้
จากข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการเกิดโลก นำไปสู่การวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งดำเนินการวิจัยขึ้นในห้องปฏิบัติการของ Francois Tissot ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเคมีธรณี ร่วมกับ Yigang Zhang จาก University of Chinese Academy of Sciences โดยงานวิจัยของพวกเขาถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances
ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถลงไปตรวจสอบเนื้อโลกได้โดยตรง แต่นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาชั้นหินใต้โลกได้จากลาวาที่ปะทุขึ้นมาและทิ้งเศษตะกอนของแข็งไว้บนผิวโลก โดยลาวาที่ปะทุขึ้นมาบ้างก็มาจากเนื้อโลกชั้นบนซึ่งอยู่ลึกลงไปประมาณ 15 กิโลเมตร และทอดยาวลึกลงไปอีกประมาณ 680 กิโลเมตร บ้างก็มาจากเนื้อโลกชั้นล่างที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 700 กิโลเมตร และลึกลงไปจนถึงแก่นโลก ซึ่งระดับความลึกอยู่ที่ประมาณ 2,900 กิโลเมตร
นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาสมบัติทางเคมีธรณีของเนื้อโลกชั้นต่าง ๆ ได้จากแม็กมาที่ระดับความลึกแตกต่างกัน โดยการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของชั้นต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนของสารที่แตกต่างกันในแต่ละชัั้นของเนื้อโลก
การวิเคราะห์ทางเคมีของเนื้อโลกชั้นล่างและชั้นบนให้ข้อมูลที่ต่างกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการก่อตัวของโลก เนื่องจากการก่อตัวของโลกไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่เกิดจากการสะสมและทับถมของวัตถุต่าง ๆ หลายล้านปี โดยจากการศึกษาเนื้อโลกชั้นล่างพบว่ามีสารระเหย เช่น ไอโอดีน หรือน้ำอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยมาก แต่จากการศึกษาเนื้อโลกชั้นบนกลับพบว่ามีสารระเหยในอัตราส่วนที่สูงกว่าชั้นล่างถึง 3 เท่า
จากอัตราส่วนทางเคมีขององค์ประกอบเนื้อโลก Weiyi Liu นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจาก Caltech ผู้มีส่วนร่วมในการตีพิมพ์งานวิจัยนี้ ได้สร้างแบบจำลองที่แสดงให้เห็นถึงการที่โลกกำเนิดมาจากกระบวนการทางความร้อน และการทับถมกันของหิน ซึ่งจากแบบจำลองพบว่า “น้ำ” สารที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุด เกิดขึ้นในช่วง 15% สุดท้ายของการเกิดโลก
การศึกษานี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อทฤษฎีการเกิดของดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิทยาศาสตร์มานานนับทศวรรษ อีกทั้งยังทำให้สามารถคาดการณ์ถึงองค์ประกอบทางธรรมชาติของดาวเคราะห์อย่างดาวพุธและดาวศุกร์ ที่น่าจะมีกระบวนการก่อกำเนิดคล้ายโลกได้อีกด้วย
Tissot กล่าวว่า “การศึกษาดาวเคราะห์ชั้นนอกนั้นสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะดาวเคราะห์ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบมีแนวโน้มว่าสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์จะอาศัยอยู่ได้ แต่ก็ไม่ควรละเลยที่จะศึกษาดาวเคราะห์ชั้นใน” เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว ที่ไม่มีภารกิจอวกาศใดไปสัมผัสพื้นผิวของดาวศุกร์ และไม่เคยมีภารกิจใดเลย ที่ได้ไปสัมผัสพื้นผิวของดาวพุธ อีกทั้งเขายังทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวว่า “พวกเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาดาวเคราะห์เหล่านั้น เพื่อเข้าใจและอธิบายถึงการก่อกำเนิดของโลก”