ปัจจุบัน จำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งสังคมมนุษย์ก็ส่งผลกระทบกับสังคมของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ต้องการเพิ่มจำนวนประชากรเช่นกัน แต่กลไกธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรอย่างไร้ขีดจำกัดได้ สุดท้ายจะต้องมีสิ่งมีชีวิตอื่นคอยทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสิ่งมีชีวิตไม่ให้เยอะเกินไป เช่น ผู้ล่าอย่าง เสือ ไล่กิน กวาง เพื่อไม่ให้มีประชากรกวางเยอะเกินไป
แต่สำหรับมนุษย์ สิ่งที่ควบคุมประชากรไม่ใช่สิงโตที่มีกรงเล็บแหลมคม ไม่ใช่งูที่มีพิษสงปะปนในคมเขี้ยว แต่กลับเป็นเมลงตัวเล็ก ๆ ที่สามารถทิ้งโรคภัยอันตรายจนถึงแก่ความตายให้กับมนุษย์ได้ รวมแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนจากทั่วโลก แมลงที่ว่านั่นคือ “ยุงลาย”

ที่มา statista
ยุงลายที่กินเลือดก็มีแค่ยุงลายตัวเมีย แถมยุงลายตัวนิดเดียว กินเลือดก็แค่หน่อยเดียว ตลอดทั้งช่วงชีวิตตั้งแต่เป็นไข่จนเติบโตมาเป็นยุงที่บินเสียง “หึ่ง ๆ” อยู่ข้างหู มันก็กินเลือดมนุษย์แค่เพียงครั้งเดียว แค่ประมาณ 0.005 มิลลิลิตรเท่านั้น หลายคนคงสงสัยว่าทำไมยุงกัดแต่นี้ถึงกับเสียชีวิตได้?
แต่สาเหตุการเสียชีวิตจากยุงลาย ไม่ได้มาจากตัวยุงโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่พ่วงตามมาจากการกัดของยุง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจากปรสิต เช่น เท้าช้าง มาลาเรีย หรือโรคจากไวรัส เช่น ไข้ริฟต์วาลเลย์ ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้เหลือง ไข้ซิก้า ไข้สมองอักเสบ ไข้เวสต์ไนล์ รวมถึงหนึ่งในโรคที่ประเทศไทยให้ความสำคัญไม่น้อยอย่าง โรคไข้เลือดออก ซึ่งในแต่ละปีทางกรมควบคุมโรคของประเทศไทยจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกเพื่อเฝ้าระวังให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลงจากการติดไข้เลือดออกลดน้อยลง
ยุงที่เป็นพาหะของไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) ซึ่งวิธีการแยกอย่างง่ายที่สุดคือ ดูอกปล้องแรกด้านบน (scutum) ยุงลายบ้านจะมีลายรูปเคียวสีขาวขนาบข้างขีดสีขาวด้านบนกลางอกปล้องแรกทั้งสองเส้น ส่วนยุงลายสวนจะไม่พบลายรูปเคียวสีขาว

ที่มา OECD iLibrary
ยุงลายทั้งสองชนิดจะมีวงจรชีวิตแบบสมบูรณ์ (complete metamorphorsis) หรือประกอบไปด้วย 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และยุง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน เพื่อโตเป็นยุงตัวเต็มวัยที่พร้อมออกตามหาเหยื่อ และดื่มด่ำกับเลือดที่เป็นอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงให้เหล่าลูกยุงเกิดและเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุด
ยุงลายจะวางไข่ไว้ตามขอบภาชนะที่ใกล้แหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งเมื่อไข่ได้รับน้ำก็จะฟักตัวออกมาเป็นลูกน้ำตัวน้อย แต่ถ้าไข่ไม่โดนน้ำมันจะต้องตายอย่างแน่นอน ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นั่นหมายถึงว่าตลอดระยะเวลา 365 วัน ไข่เหล่านี้รอโอกาสที่จะสัมผัสกับน้ำได้ตลอด โดยเฉพาะฤดูฝนที่มีโอกาสสูงที่น้ำจะสัมผัสกับไข่ของยุง
ช่วงที่ไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกจะแทรกซึมและใช้ยุงเป็นยานพาหนะเพื่อพุ่งเป้าไปหาคน จะแฝงตัวเป็นพาหะสะสมอยู่ในต่อมน้ำลาย เมื่อยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกไปกัดคน จะมีการปลดปล่อยน้ำลายที่มีไวรัสเจือปนอยู่แพร่กระจายเข้าสู่ร่างกาย
ช่วงระยะเวลาที่ไวรัสถูกบ่มเพาะเลี้ยงในโรงงานผลิตที่เรียกว่าร่างกายมนุษย์ หากมียุงลายตัวอื่นมาดูดกินเลือดคน ๆ นั้น ยุงลายตัวนั้นจะเป็นพาหะให้กับโรคไข้เลือดออกวนบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเป็นวัฎจักร

ที่มา wj-99
ผลกระทบจากไข้เลือดออกคือบริเวณหลอดเลือดฝอยจะเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้น้ำในเลือดน้อยลง ความเข้มข้นเลือดสูงขึ้น เกล็ดเลือดถูกทำลายทำให้มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำลง และมีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ โดยอาการจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
1. ระยะไข้สูง คนไข้จะมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นเฉียบพลันระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ อาจมีอาการชักร่วมกับใบหน้าแดง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน ตับบวมขึ้นและเจ็บเมื่อถูกกดสัมผัสบริเวณนั้น มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
2. ระยะเลือดออกหรือระยะช็อก ประมาณ 3-6 วันหลังจากพบอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ลดลง แต่อาการยังไม่ทุเลา มีการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องมาก อาจมีเลืออดออกในทางเดินอาหารจนทำให้อาเจียนหรือขับถ่ายออกมาเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
3. ระยะฟื้นตัว อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสัปดาห์ที่สอง
สำหรับการป้องกันนั้น ควรรีบดำเนินการแต่ต้นโดยการกำจัดแหล่งเพาะยุงคือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง หรือหากต้องการขังน้ำไว้ตามขาโต๊ะควรใส่สารกำจัดลูกน้ำยุงลาย ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดใช้สเปรย์ไล่ยุงฉีดพ่น หรือครีมทาป้องกันยุง หากพบยุงเป็นจำนวนมากกว่าปกติควรติดต่อทางผู้ดูแลชุมชนให้มีการฉีดพ่นสารกำจัดยุงอย่างเร่งด่วน
อ้างอิง
Medical and Veterinary Entomology
Deadliest animals worldwide by annual number of human deaths as of 2022