การแข่งขันเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ใน 3 นาทีแบบ “FameLab” เป็นโครงการที่ทำให้ผู้คนได้ฝึกการเล่าเรื่องในเวลาอันสั้น แต่ยังเก็บใจความไว้ได้ครบถ้วน รวมถึงต้องสร้างความน่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้ฟังให้ได้ ซึ่งการแข่งขัน FameLab ถูกจัดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย (ทำความรู้จักโครงการ FameLab Thailand ได้เพียงคลิก ที่นี่)
การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศของแต่ละประเทศ ต้องเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาที ด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น เพื่อที่จะคัดผู้ที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และความสามารถในการสื่อสารให้คนทั่วโลกฟัง ในการแข่งขัน FameLab International ที่จะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ชนะเลิศของแต่ละประเทศ
ในปี 2022 นี้ ผู้ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน FameLab International คือ ทักษ์ นุติ หุตะสิงห นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อว่า TUCK the CHEF – เชฟทักษ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ทางอาหารอย่างมาก

รางวัลจากเวที FameLab International
ผลการแข่งขัน FameLab International ในปีนี้ รางวัลชนะเลิศตกเป็นของ Nehemiah Latolla จากแอฟริกาใต้ ผู้ที่ศึกษาด้านพฤกษเคมี หรือ Phytochemistry ที่ศึกษาเรื่องสารเคมีในพืช และมานำเสนอการใช้ทรัพยากรที่สมบูรณ์ จากความหลากหลายทางชีวภาพของทวีปแอฟริกา ในการเฟ้นหาสารเคมีจากพืชที่มีความปลอดภัย ราคาถูก และมีประสิทธิภาพสูง ในการรักษาโรคเบาหวาน ซึ่ง Nehemiah Latolla ทำการนำเสนอออกมาได้น่าฟัง และน่าสนใจมาก

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ Eliška Jandová จากสาธารณรัฐเช็ก ที่เล่าเรื่องวิธีการทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งปกติแล้วการรักษาโรคมะเร็งจำเป็นจพต้องใช้การรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด หรือ Chemotherapy ซึ่งเซลล์รอบข้างในร่างกายก็มักจะได้รับผลข้างเคียง ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวด แต่วิธีการที่ Eliška Jandová นำเสนอคือการมุ่งเป้าไปที่ข้อมูลพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ซึ่งปกติแล้วคงเป็นการยากที่จะรู้ว่ารหัสพันธุกรรมในดีเอ็นเอเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งมันผิดปกติตรงไหน แต่วิธีการที่เธอนำเสนอคือ การตรวจสอบดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งที่ตายแล้วจากเลือดผู้ป่วยมาวิเคราะห์ ซึ่งดีเอ็นเอจากเซลล์มะเร็งที่อ่อนแอจนตายไปนี้ มีโอกาสที่จะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างตรงจุดในระดับพันธุกรรมได้ แม้การศึกษาดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการวิจัย แต่เป็นเรื่องราวที่ให้ความหวังกับมนุษยชาติอย่างดี

ส่วน เชฟทักษ์ ตัวแทนจากประเทศไทย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากการอธิบายวิธีการลดน้ำตาลในเค้กด้วยการทำเค้กเป็นชั้น ๆ และใส่ปริมาณน้ำตาลที่ไม่เท่ากัน แต่ยังคงรสชาติเดิมเอาไว้ด้วยการห่อด้านนอกด้วยน้ำตาลที่เยอะกว่าด้านใน ทำให้ลิ้นของคนที่กินได้สัมผัสความหวานก่อน ชั้นต่อไปของเค้กจึงสามารถสลับเป็นชั้นเค้กปริมาณน้ำตาลน้อยลงได้ การเล่าเรื่องเค้กนี้ ทำเพื่อคนที่รักความอร่อยและยังรักสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งเชฟทักษ์เล่าด้วยความชอบ และความรู้จริงที่ศึกษามา ทำให้มีความน่าสนใจ และได้รับรางวัลมาครอบครอง

แต่นั่นไม่ใช่รางวัลเดียวของ เชฟทักษ์ เพราะเขายังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการโหวตของคนดู หรือ Audience Winner ซึ่งเหมาะสมกับการเล่าเรื่องที่ฉะฉาน และการจัดอุปกรณ์ประกอบ พร้อมกับฉากต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
นอกจาก เชฟทักษ์ แล้ว เราก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. ด้วย ที่ช่วยสรรค์สร้าง เนรมิตฉากต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายวิดีโอเพื่อส่งไปแข่งกับผู้เข้าแข่งขันชาติอื่น ๆ ได้สมศักดิ์ศรี ซึ่งอพวช. ได้ทำหน้าที่ในการผลักดันการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับคนทั่วไปอย่างน่าสนใจได้สมบูรณ์แบบมากในโครงการ FameLab International ครั้งนี้

หวังว่าในปีถัดไป คนไทยจะสามารถคว้ารางวัลจากเวทีการสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลกได้อีก แล้วเจอกันใน FameLab ปีหน้าครับ