“FameLab จะกลับมาอีกครั้ง อพวช. เป็นแม่งาน” นี่คือข้อความจากรุ่นพี่ FameLabber ที่ผู้เขียนเคารพรักท่านหนึ่ง ส่งมาให้ผู้เขียนเป็นการส่วนตัว ก่อนที่จะมีงานแถลงข่าวนี้เกิดขึ้น
ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า FameLab คือโครงการการแข่งขันเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษภายใน 3 นาที ที่เดิมทีจัดโดย British Council เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะจากทั่วโลกเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในระดับ International ที่งาน Cheltenham Science Festival ซึ่งเป็นงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ โดยโครงการนี้ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2007 (ประเทศไทยเริ่มนำโครงการนี้เข้ามาตั้งแต่ปี 2015) และได้ประกาศสิ้นสุดโครงการลงในปี 2021 ถือเป็นการยุติการเดินทางตลอด 15 ปีอันยาวนาน ที่ได้สร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ไฟแรงมากมายเพื่อสื่อสารเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้ผู้คนจากทั่วโลก
ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งใน FameLabber ที่เคยผ่านเข้าไปถึงรอบ 10 คนสุดท้าย ในปี 2018 และต้องยอมรับว่ารู้สึกใจหายเป็นอย่างมาก เมื่อได้ยินว่าปีที่แล้วจะเป็นปีสุดท้ายที่จะมีการแข่งขันนี้
จนกระทั่ง สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ และได้นำโครงการนี้มาจัดขึ้นอีกครั้งโดยได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ British Council Thailand จนเกิดเป็นโครงการแข่งขัน “FameLab Thailand 2022” ในที่สุด เพื่อให้นิสิต นักศึกษา นักวิจัย ครู อาจารย์ ผู้ที่ทำงานหรือสนใจในด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, and Math) และมีความสนใจที่อยากจะเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ให้ทุกคนได้รับรู้ มาเข้าร่วมในการแข่งขันนี้ จนนำมาสู่งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ FameLab Thailand 2022 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งใน FameLabber alumni ที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวในครั้งนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและตื่นเต้นในขณะเดียวกัน ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ๆเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องในโครงการที่มีความสนใจในการสื่อสารวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เหมือนจุดไฟนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในตัวผู้เขียนให้ลุกโชนมากขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมากจนยากที่จะลืมเลือนได้เลย
งานแถลงข่าวเริ่มต้นขึ้นด้วยการกล่าวเปิดงานโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท่านได้สร้างความประทับใจตั้งแต่ตอนเริ่มขึ้นเวทีด้วยความกระฉับกระเฉงและได้ถ่ายทอดถึงความหลงใหลในด้านวิทยาศาสตร์ของท่านผ่านถอยคำที่ฟังดูเรียบง่าย ท่านได้เล่าย้อนไปถึงความสงสัยใคร่รู้ในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการตั้งคำถามที่มาจากการสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว จนไปถึงวัยที่เติบโตขึ้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆในอนาคต ท่านกล่าวว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการสำคัญในการให้ข้อมูลความรู้ สร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจต่อสาธารณชน ความสามารถในการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ประกอบด้วยการค้นคว้าความรู้ที่ต้องสื่อสาร ความเข้าใจในกระบวนการสร้างความรู้ดังกล่าว และผลกระทบของการสื่อสารในสังคมวงกว้าง ความเข้าใจในความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จะช่วยให้สาธารณชนนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุผล มีคุณธรรม และยังอำนวยให้เกิดการดูแลรักษาและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ท่านที่สองที่มาร่วมกล่าวเปิดงานก็คือ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่เป็นแม่งานในการจัดโครงการในปีนี้ ท่านได้กล่าวถึงภารกิจที่สำคัญของทาง อพวช. ที่จะต้องส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมปลูกฝังและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน และประชาชนในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยสนับสนุนเรื่องการพัฒนาบุคลากรและศักยภาพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของคนไทย และท่านได้กล่าวอีกว่า หวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมและพร้อมจะสร้างบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยและโลกของเราในอนาคต
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
และต่อมาก็ได้มาถึงก็คือไฮไลท์ที่สำคัญของงาน คือการจำลองการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ใน 3 นาที เป็นภาษาอังกฤษ โดยผู้ชนะการแข่งขัน FameLab Thailand 2021 ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเป็นเจ้าของช่องวิทยาศาสตร์ AJ ICE ใน TikTok ที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 2.6 ล้านคน ครั้งนี้ ดร.สิรวิชญ์ ได้เล่าในหัวข้อที่มีชื่อว่า “Big impact from small difference” โดยได้เริ่มต้นการเล่าเรื่องด้วยการหยิบปากกาคู่หนึ่งขึ้นมาพร้อมกับคำถามที่ว่า คิดว่าปลายปากกาทั้งสองด้ามนี้มันอยู่ห่างกันไหม ซึ่งคำตอบมันก็เห็นได้ชัดด้วยตาว่าไม่ห่างกันเท่าไหร่ แต่ถ้าเราให้ปลายปากกามันยาวขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดนึงปลายทั้งสองด้ามนี้มันจะห่างกันเยอะมากเลยทีเดียว ดร.สิรวิชญ์ ได้พูดถึงข้อมูลนึงที่น่าสนใจว่า เชื่อไหมว่าที่เราแต่ละคนดูต่างกันขนาดนี้ แท้จริงแล้วเรามีความแตกต่างทางพันธุกรรมเพียงแค่ 0.01% เท่านั้น ใช่แล้วครับ เราต่างกันแค่ 0.01% จริงๆ และท้ายสุดแล้ว ดร.สิรวิชญ์ ได้สรุปไว้อย่างน่าประทับใจว่า เราควรที่จะเปิดใจยอมรับความหลากหลาย เพราะแท้จริงแล้วเราทุกคนต่างกันเพียงแค่ 0.01% เท่านั้นเอง
ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล ผู้ชนะ FameLab Thailand 2021
ปิดท้ายด้วยการเสวนาจาก FameLab alumni ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ ผู้ชนะ FameLab Thailand คนแรก นักวิจัยจาก BIOTEC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเป็น CEO บริษัทสตาร์ทอัพ ReLife คุณวีณา เนาวประทีป STEM Ambassador นักสื่อสารคณิตศาสตร์ และเป็นนักวิจัยประจำ SageFox Consulting Group ประเทศสหรัฐอเมริกา ปิดท้ายด้วย คุณนวพล เชื่อมวราศาสตร์ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 FameLab Thailand 2019 และเป็นเจ้าของช่อง TikTok ด้านวิทยาศาสตร์ SaySci ที่มีผู้ติดตามกว่า 5 แสนคน ดำเนินรายการช่วงเสวนาโดย คุณณภัทร ตัณฑิกุล ผู้ชนะ FameLab Thailand 2019 และเป็นนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์
ในช่วงต้นของการเสวนา ดร.ข้าว กล่าวว่า ไม่อยากให้มองโครงการนี้เป็นแค่การสื่อสารวิทยาศาสตร์ แต่เรามาอัพสกิลการสื่อสารเลย การสื่อสารเป็นทักษะที่เราได้ใช้ตลอดชีวิตไม่ว่าเราจะทำงานในวงการวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม แต่เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เราต้องเล่าให้คนในวงการฟังว่าเรากำลังทำงานอะไรและได้ผลยังไง เพื่อต่อยอดความร่วมมือในอนาคต ดร.ข้าวได้ยกตัวอย่างวัคซีนในช่วงโควิด ที่นักวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญมากในการสื่อสารความรู้ให้กับประชาชน ดร.ข้าว ได้แนะนำวิธีในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่าให้ จินตนาการว่าคนที่ฟังเราเป็นเด็ก เป็นคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวของเรา ที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสามารถเล่าให้คนเหล่านั้นเข้าใจได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ต่อมา คุณวีณา ได้พูดถึงประเด็นในเรื่องของการศึกษา โดยกล่าวว่าวิธีสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ในตัวเด็กนักเรียน เราจะต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้ (Curiousity) ขึ้นมาก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเกิด Aha Moment ขึ้นมา แล้วเด็กจะรู้สึกอยากเรียนรู้ทันทีว่า มันเป็นอย่างนั้นไปได้อย่างไร พอถึงตอนนั้นเราค่อยใส่วิทยาศาสตร์เข้าไป ซึ่งสิ่งที่คุณวีณาได้กล่าวถึงนั้น มาจากส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเรียนรู้จริงๆ และถือว่าเป็นความท้าทายของบุคลากรด้านการศึกษาว่าทำอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic motivation) ถ้าสามารถทำได้ ผู้เรียนจะกระหายอยากที่จะเรียนรู้กับผู้สอนได้ทันที
และมาที่ท่านสุดท้าย คุณนวพล ได้พูดถึงช่วงเวลาที่ได้ลงแข่ง FameLab Thailand 2019 ในรอบ 10 คนสุดท้าย ซึ่งใครที่ได้เคยชมงานในปีนั้น คุณนวพลได้สร้างโมเมนต์ที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างมากด้วยการกระโดดเอาเข่าลงพื้นเหมือนท่าลงพื้นของซูเปอร์ฮีโร่ และแต่งตัวเป็นตัวละครจากวิดีโอเกม Detriot: Become Human โดยสาระสำคัญของการเล่าในครั้งนั้นคือวิดีโอเกมอาจจะไม่ใช่ตัวร้ายของการศึกษาอย่างที่หลายคนคิด เพราะมันมีแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจให้ไปต่อยอดอีกมากมาย จากนั้นคุณนวพล ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงบทเรียนวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจภายในเวลาอันสั้นในแบบฉบับของ TikToker โดยพยายามหยิบเรื่องราวรอบตัวมาเล่าให้เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย คุณนวพลได้กล่าวในช่วงสุดท้ายว่า วิทยาศาสตร์มันใกล้ตัวเรากว่าที่คิด มันอาจจะสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนที่ฟังอยู่ เป็นประกายไฟเล็กๆที่จุดขึ้นมาในตัวเค้า แล้ววันหนึ่งคนที่ฟังเราจากที่ไม่เคยสนใจในวิทยาศาสตร์เลย อาจจะหันมาสนใจวิทยาศาสตร์แล้วสร้างสรรค์งานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตได้
จากซ้ายไปขวา คุณณภัทร ตัณฑิกุล, ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์, คุณวีณา เนาวประทีป และ คุณนวพล เชื่อมวราศาสตร์ที่มา NSM
และในส่วนของรูปแบบการแข่งขันในปีนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องใช้เวลา 3 นาที ในการถ่ายทอดนำเสนอเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ชัดเจน น่าสนใจ และมีข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถเลือกภาษาในการนำเสนอรอบ VDO audition โดยสามารถเลือกภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเพียง 1 ภาษาเท่านั้น ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 5 คนของแต่ละประเภท ทั้งไทยและอังกฤษ รวมทั้งหมด 10 คน จะเป็นผู้ผ่านเข้าสู่รอบ Semi-Final Competition ต่อไป และได้รับการอบรมเทคนิคการสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรหรือที่เรียกกันว่า MasterClass เพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ก่อนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศต่อไป สำหรับผู้ชนะ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก Cheltenham Science Festical ณ สหราชอาณาจักร
ผู้เขียน ในฐานะ FameLabber alumni อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านให้เข้ามาร่วมการแข่งขันในรายการนี้ เพราะนอกจากจะได้พัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์แล้ว เรายังจะได้พบกับมิตรภาพดีๆตลอดช่วงเวลาการแข่งขัน และสิ่งที่เป็นโมเมนต์ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ก็คือการฝ่าฟันให้เข้าไปสู่การอบรม MasterClass ให้ได้ เพราะความรู้ที่จะได้รับจากวิทยากรนั้น หลายอย่างไม่สามารถหาได้จากการอบรมทั่วไป และสามารถนำไปต่อยอดในงานที่เรากำลังทำอยู่ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ที่มา NSM
โครงการ FameLab Thailand 2022 เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ – 10 กันยายน 2565
สมัครเข้าร่วมการแข่งขันและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nsm.or.th/nsm/famelab
อ้างอิง
NSM | อพวช. เปิดตัวโครงการแข่งขัน “FameLab Thailand 2022” เวทีเฟ้นหานักสื่อสารวิทย์ระดับประเทศ พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก ณ สหราชอาณาจักร
British Council Thailand | About FameLab Thailand