ทุกวันนี้การค้นพบหลุมดำอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาในวงการดาราศาสตร์ไปเสียแล้ว แต่เราก็คงใช้วลีนี้ไม่ได้กับเจ้า GNz7q ซึ่งเป็นหลุมดำขนาดยักษ์ที่กำลังกลืนกินมวลสารทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างรวดเร็วในอัตรามวลที่เพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ 1,600 ดวงในแต่ละปี โดยนักดาราศาสตร์ได้ยืนยันว่าเจ้าหลุมดำตัวนี้อาจเป็นกุญแจที่จะเชื่อมประวัติศาสตร์ที่หายไปในช่วงแรกเริ่มของเอกภพได้
ทั้งนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าช่วงระยะเวลาหลังจากบิ๊กแบงไม่กี่ร้อยล้านปีนั้น จักรวาลก็ไม่ต่างอะไรไปจากห้องโล่ง ๆ ที่มืดสนิทและเต็มไปด้วยแก๊สยุคแรกเริ่มอย่างไฮโดรเจนและฮีเลียม ก่อนที่ต่อมาดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์ทั้งหลายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและตายจากไป ซึ่งส่วนมากจะลงเอยด้วยการกลายเป็นหลุมดำ หลังจากนั้นหลุมดำเหล่านี้ก็จะกลืนกินมวลสารอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Hole) ที่พร้อมจะกลายเป็นแกนกลางของกาแล็กซี่ในที่สุด ซึ่งก็รวมไปถึงหลุมดำมวลยิ่งยวดที่อยู่ใจกลางทางช้างเผือกของเราเช่นกัน
โดยความพิเศษของหลุมดำ GNz7q อยู่ที่ว่าเราสามารถยืนยันได้จริง ๆ ว่ามันถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 750 ล้านปีหลังจากปรากฏการณ์บิ๊กแบงเพียงเท่านั้น เรียกไ้ด้ว่ามันเป็นฟอสซิลที่มีชีวิตดี ๆ นั่นเอง อีกทั้งข้อมูลยังเปิดเผยให้เราเห็นอีกว่าหลุมดำ GNz7q นั้นแทบไม่มีคลื่นแสงเอ็กซ์เรย์ปรากฏให้เราเห็นเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่หลุมดำทั่วไปจะสังเกตได้โดยง่าย ซึ่งเป็นการบ่งบอกที่ชัดเจนว่าบริเวณโดยรอบหลุมดำยังคงมีฝุ่นควันปริมาณมหาศาล ปกคลุมล้อมรอบอยู่จริง ๆ
ซึ่งกลุ่มแก๊สเหล่านี้ถือว่าเป็นสสารตั้งต้นที่สำคัญสำหรับการก่อกำเนิดดวงดาวนับล้านดวงในอนาคต แต่ทว่าแก๊สบางส่วนก็ได้ร่วงหล่นลงไปในหลุมดำ จนเกิดการปลดปล่อยคลื่นพลังงานสูงหรือที่นักดาราศาสตร์เรียกว่าเควซาร์ (Quasar) พุ่งออกไปไกลในอวกาศหลายสิบปีแสง นักดาราศาสตร์จึงเรียกช่วงก่อกำเนิดกาแล็กซี่ยุคแรกเริ่มนี้ว่าสตาร์เบิร์ส (Starburst galaxy)
ดังนั้นการค้นพบหลุมดำ GNz7q จึงถือว่าเป็นการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญของการวิวัฒนาการของเอกภพ ซึ่งอาจช่วยให้เราเข้าใจจักรวาลที่เราอยู่อาศัยได้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการค้นพบครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในตำนานของเรานั่นเอง
อ้างอิง
Hubble Site | Hubble Sheds Light On Origins Of Supermassive Black Holes
Nature | A dusty compact object bridging galaxies and quasars at cosmic dawn