หากพูดถึงเรื่องหนองใน เราก็คงนึกถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ทว่าหนองในนั้นไม่ได้เกิดแค่ในอวัยวะเพศเท่านั้น แต่หนองในยังสามารถเกิดในทวารหนัก ภายในลำคอ และแม้แต่ในดวงตาได้ด้วย
- โรคหนองในหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้เป็นหมันและท้องนอกมดลูกได้
- เพศหญิงที่ติดเชื้อกว่า 50% ไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ กว่าจะรู้ตัวก็ปัสสาวะติดขัด ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีหนองในช่องคลอด
- ไม่ใช่แค่การเพศสัมพันธ์เท่านั้น ยังสามารถแพร่ผ่านการใช้ของร่วมกัน จูบ
ทำความรู้จักกันซะหน่อย
โรคหนองใน (Gonorrhoea) คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็น Gram-negative diplococci bacteria หรือแบคทีเรียแกรมลบที่มีรูปร่างเป็นทรงกลมและอยู่เป็นกันเป็นคู่ พบได้มากในสารคัดหลั่งของมนุษย์ นอกจากนั้นยังพบได้ในบริเวณดวงตา ทวารหนัก และคอหอย (Nasopharyngeal ที่เราใช้แหย่ก้านสำลีตรวจ ATK) โดยเจ้าเชื้อพวกนี้ไม่ได้ก่อความเสียหายทางร่างกายได้โดยตรง แต่เป็นภูมิคุ้มกันของเราต่างหากที่พยายามทำลายพวกมันซึ่งจะคงเหลือเป็นหนองซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ตายจากการพยายามฆ่าเชื้อพวกนี้
- Neisseria spp. นอกจาก N. gonorrhoea ยังมี N. meningitidis ซึ่งก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคไข้กาฬหลังแอ่น
- เนื่องจาก N. gonorrhoea สามารถพบได้ในช่องคลอดจึงมักพบการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกตอนคลอดส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีอาการหนองในที่ตา
ของแท้ต้องข้น ๆ
การเกิดหนองในนั้นนอกจากเกิดได้จาก N. gonorrhoea แล้วยังสามารถเกิดจากเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น Chlamydia Trachomatis , Ureaplasma Urealyticum รวมทั้งเชื้อไวรัส โปรโตซัวและเชื้อรา ได้ด้วยซึ่งสิ่งที่แตกต่างระหว่างหนองในจาก N. gonorrhoea และหนองในเทียมจากเชื้อชนิดอื่น ๆ คือการเกิดหนองข้นซึ่งเป็นพยาธิสภาพบ่งบอกโรคของหนองในแท้ โดยหนองในที่ไม่พบหนองข้นเราจะเรียกว่า หนองในเทียม (Non-gonococcal Urethritis)
ค่อย ๆ ไหลออกมา
อาการของโรคหนองในนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณติดเชื้อ โดยจะแสดงพยาธิสภาพของโรคเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1-14 วันหลังได้รับเชื้อโดยพยาธิสภาพของผู้ชายและผู้หญิงจะแตกต่างกันดังนี้
สำหรับคุณผู้ชาย หนองสีขาวขุ่นข้น ๆ สีเหลืองหรือสีขาวไหลออกมาจากบริเวณที่ติดเชื้อ ในกรณีที่เป็นการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ รอบรูอวัยวะเพศเป็นสีแดง หากทิ้งไปนาน ๆ จะทำให้เป็นหมันได้ในที่สุด
สำหรับคุณผู้หญิง หากเป็นการติดเชื้อในช่องคลอด จะมีหนองไหลออกมาจากช่องคลอด เจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน ประจำเดือนมาผิดปกติ รวมทั้งมีอาการตกขาวมากกว่าปกติ (เช่นปริมาณมากกว่าปกติ สีที่เปลี่ยนไป เช่นสีเหลือง หรือสีเขียว มีมูกหนอง มีกลิ่นเหม็น) หากปล่อยไว้จะลามไปที่มดลูกและท่อนำไข่ได้ ทำให้มีโอกาสเป็นหมันหรือกระดูกเชิงกรานอักเสบได้
วิธีการรักษา
ตามปกติแล้ววิธีการรักษาคือการให้ยาปฏิชีวนะตามอาการของผู้ป่วยโดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ภาวะ
ภาวะไม่มีอาการแทรกซ้อน
ให้ยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่มีการติดเชื้อแต่สำหรับผู้ติดเชื้อที่ดวงตาแล้ว จำเป็นต้องล้างตาด้วยน้ำเกลือให้สะอาดจนหนองจากตาแห้งสนิท
ภาวะมีอาการแทรกซ้อน
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complicated Gonorrhoea) เช่น ฝีที่อวัยวะเพศ อัณฑะอักเสบ ต่อมและท่อในระบบปัสสาวะอักเสบ จะใช้วิธีการแบบไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่จะกินเวลาประมาณ 2 วันขึ้นไป
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนแพร่กระจาย (Disseminated Gonococcal Infection) ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามหลังจากรักษาอาการหนองในแท้แล้ว ควรตรวจหาเชื้อซ้ำเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำและเชื้อดื้อยา นอกจากนี้โรคหนองในแท้มักมีเชื้อหนองในเทียมแฝง ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องรักษาโรคหนองในเทียมร่วมด้วย
อย่าลืมพาคู่นอนมาตรวจด้วย
สำหรับบุคลทั่วไป : ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ใช่แค่โรคหนองในเท่านั้นยังรวมไปถึงโรคอื่น ๆ เช่น HIV เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วย : ไม่ควรรีดหนองเองเนื่องจากทำให้เกิดอาการอักเสบจนเกิดภาวะแทรกซ้อนและพาคู่นอนมาตรวจด้วย
งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ทุกประเภท รวมทั้งการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองจนกว่าจะรักษาหายเพื่อลดการแพร่ระบาด
อ้างอิง
โรคหนองใน (Gonorrhoea) – สาเหตุ อาการ และการรักษาโรค | Raksa (doctorraksa.com)
Neisseria gonorrhoeae host adaptation and pathogenesis (nature.com)
Gonorrhea – Symptoms and causes – Mayo Clinic