รางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prizes) ดูจากชื่อก็รู้กันอยู่ว่าที่มาของมันคือการตั้งใจล้อเลียนงานประกาศรางวัลโนเบล รางวัลอันยิ่งใหญ่ในแวดวงของวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว นอกจากรางวัลอิกโนเบลจะทำมาเพื่อล้อเลียนและสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้คน งานวิจัยที่ได้รับรางวัลในทุก ๆ ปีก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความรู้และแนวความคิดใหม่ ๆ ที่บางทีก็มีประโยชน์เหมือนกัน ตามแนวคิดของผู้มอบรางวัลอิกโนเบลที่ว่า จะมอบรางวัลให้กับงานวิจัยที่ “เริ่มฟังแล้วขำ แต่ก็ทำให้คิด”
การประกาศผลรางวัลอิกโนเบลประจำปี 2022 นี้ ผู้มอบรางวัลกล่าวไว้ว่าปีนี้เป็นการประกาศผลรางวัลในธีมของ “ความรู้” หรือ “Knowledge” ถึงขนาดที่ว่า ถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะในแต่ละสาขานั้นคือ “กล่องเก็บความรู้” รูปทรงกระบอก ที่ทำจากกระดาษปรินต์มาม้วนพับอีกที เอาเป็นว่า ถ้าใครอยากรู้แล้วว่าความรู้จะมากน้อยแค่ไหน ไปติดตามผลรางวัลทั้ง 10 สาขาภายในบทความนี้กัน

ที่มา Improbable Research
สาขาหทัยวิทยาประยุกต์ (The Applied Cardiology Prize)
รางวัลในสาขาหทัยวิทยาประยุกต์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสาขาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ตกเป็นของงานวิจัยในหัวเรื่อง “หลักฐานแสดงว่า คู่เดตที่พบกันครั้งแรก และมีแรงดึงดูดต่อกัน จะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ตรงกัน” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Physiological synchrony is associated with attraction in a blind date setting)
การที่ไปออกเดตกับใครสักคนครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนัดบอด หรือนัดเจอคู่เดตจากออนไลน์ ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักกันมาก่อน วิธีการที่จะบ่งบอกว่าอีกฝ่ายมีใจให้เราหรือไม่จะดูได้อย่างไร? แต่จากงานวิจัยพบว่า การสบตากัน การแสดงออกทางใบหน้า การแสดงออกทางภาษากาย เหงื่อที่รินไหลโซมกาย หรือแม้กระทั่งอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่สามารถบ่งบอกความดึงดูดระหว่างคู่เดตอย่างแน่นอน แต่มันอาจจะมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ตื่นเต้น หรือการเตรียมตัวมาอย่างดี
สิ่งที่บ่งบอกได้จริง ๆ ว่าระหว่างคู่เดต ทั้งสองคนมีแรงดึงดูต่อกันหรือไม่ นั่นก็คืออัตรการเต้นของหัวใจที่ตรงกัน ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการศึกษาที่พบว่าคู่แต่งงานมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ตรงกัน ไม่ว่าจะต้องมีความสุขด้วยกัน หรือตอนทะเลาะกันก็ตาม นี่จึงเป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจมากว่า เพียงเจอกันครั้งแรก อัตราการเต้นของหัวใจก็เต้นตรงกัน ใกล้เคียงกับการศึกษาก่อนหน้าที่กล่าวไป
นักวิจัยตั้งใจจะต่อยอดการศึกษาดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงอัตราการเต้นของหัวใจที่ตรงกัน กับพฤติกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ รวมถึงความรู้สึกนึกคิด เช่น ความเชื่อใจคู่รัก และอาจจะต่อยอดไปยังการหาความเชื่อมโยงระหว่างการหาคู่และอัตราการเต้นของหัวใจในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ด้วย

ที่มา Improbable Research
สาขาวรรณกรรม (The Literature Prize)
สาขาวรรณกรรมที่มีการใช้ภาษาที่หลากหลายในการสื่อสารกับผู้อื่น ในปีนี้รางวัลตเป็นของงานวิจัยเกี่ยวกับ “การวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้เอกสารทางกฎหมายอ่านแล้วเข้าใจยากเกินเหตุ” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Poor writing, not specialized concepts, drives processing difficulty in legal language)
เอกสารทางกฎหมายขึ้นชื่อเรื่องความอ่านยาก ด้วยศัพท์แสงอลังการและเฉพาะทางมากเสียจนคนทั่วไปเข้าไม่ถึง รวมถึงวิธีการเรียงประโยคที่ไม่เหมือนกับการใช้ภาษาในเอกสารอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไป นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันข้ามข้อตกลงต่าง ๆ เวลาสมัครใช้งานเว็บไซต์ออนไลน์ก็ได้ เพราะมันอ่านเข้าใจยากจริง ๆ
จากการศึกษาของทีมนักวิจัยที่ได้รับรางวัล พบว่าเอกสารที่ใช้ภาษากฎหมายนั้น เข้าใจยากกว่านิยายที่มีเนื้อหาซับซ้อน ข่าวในหนังสือพิมพ์ บล็อกของใครสักคนที่เขียนแบบส่ง ๆ หรือแม้แต่บทความวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เสียอีก ซึ่งความยากนี้แสดงออกมาผ่านผลการศึกษาที่มีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่อ่านเนื้อหาด้วยภาษากฎหมาย กับกลุ่มที่อ่านเนื้อหาฉบับปรับปรุงคำศัพท์ให้เป็นสากลมากขึ้นโดยไม่เสียความหมายเดิม พบว่าการอ่านเอกสารด้วยภาษากฎหมาย ส่งผลถึงความเข้าใจที่แย่กว่า รวมถึงการจดจำเนื้อหาก็แย่กว่า การอ่านภาษาทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
ลักษณะของภาษาทางกฎหมายที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก มีทั้งการใช้คำศัพท์โบราณที่คนทั่วไปไม่ค่อยใช้กัน การใช้คำศัพท์เฉพาะทาง และการใช้ไวยากรณ์ที่มีลักษณะกำกวม เอื้อต่อการตีความได้กว้าง ๆ นั่นเอง

ที่มา Improbable Research
สาขาชีววิทยา (The Biology Prize)
รางวัลในสาขาชีววิทยาในปีนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเอาตัวรอดของสัตว์ชนิดหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะรางวัลตกเป็นของงานวิจัยเกี่ยวกับ “การศึกษาว่าอาการท้องผูกของแมงป่องมีผลต่อโอกาสในการหาคู่อย่างไร” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Short- and long-term effects of an extreme case of autotomy: does “tail” loss and subsequent constipation decrease the locomotor performance of male and female scorpions?)
วิวัฒนาการในการเอาตัวรอดของสัตว์บางชนิด มันยอมที่จะเสียสละชิ้นส่วนของร่างกายไป เพื่อแลกกับชีวิต เช่น แมงมุมและแมลงบางชนิดจะยอมสละขาตัวเอง หรือจิ้งจกที่จะสลัดหางตัวเองทิ้งได้ รวมถึงแมงป่องชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ที่มีชื่อว่า Ananteris balzani ก็สลัดหางทิ้งเพื่อเอาชีวิตรอดเช่นกัน
ลักษณะพิเศษของแมงป่อง Ananteris balzani คือเมื่อมันสลัดหางออกไป รูทวารของมันยังคงอยู่ในตำแหน่งของหางที่หลุดไป ส่วนแผลที่อยู่กับโคนหางของมันก็จะสมาน และไม่มีการต่อคืนหรืองอกใหม่ได้อีก ส่งผลกับระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของแมงป่องชนิดนี้ เพราะมันจะมีอาการ “ท้องผูก” ไปตราบจนชีวิตจะหาไม่
เมื่อการสลัดหางเพื่อหนีผู้ล่าของแมงป่องชนิดนี้ ทำให้มันต้องท้องผูกถาวร ไม่สามารถขับถ่ายของเสียได้ และต้องไม่มีหางตลอดไป ทีมนักวิจัยจึงทำการศึกษาว่ามันจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของแมงป่องชนิดนี้อย่างไร ซึ่งผลคือแมงป่องชนิดนี้จะล่าสัตว์ตัวใหญ่ไม่ได้ เพราะไม่มีเข็มพิษสุดร้ายกาจที่ปลายหางอีกต่อไป นอกจากนี้การเคลื่อนที่ของพวกมันยังช้าลง แต่ในเรื่องของการหาคู่ แมงป่องชนิดนี้ยังสามารถหาคู่และมีลูกได้ดังเดิม แม้ไม่มีหาง แต่มีผลข้างเคียงเพียงแค่จำนวนของลูกแมงป่องที่เกิดใหม่จะมีน้อยกว่าลูกของแมงป่องที่มีหางยาวครบสมบูรณ์ สาเหตุก็มาจากของเสียในตัวแมงป่องที่ไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ กินพื้นที่ภายในตัวของแมงป่องตัวเมียไปเยอะจนไม่มีที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยของพวกมัน

ที่มา Improbable Research
สาขาการแพทย์ (The Medicine Prize)
รางวัลสาขาการแพทย์ในปีนี้มีความสำคัญกับผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมาก และเป็นเรื่องที่หวานมากเช่นเดียวกัน นั่นคือการศึกษาเรื่องของ “การใช้ไอศกรีมแทนวิธีการดั้งเดิม ในการป้องกันความทุกข์ทนทรมานจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Ice-cream used as cryotherapy during high-dose melphalan conditioning reduces oral mucositis after autologous hematopoietic stem cell transplantation)
ปกติแล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะท้าย ๆ หลายคน จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่าการทำคีโม (มาจาก Chemotherapy) ซึ่งการทำคีโมอาจส่งผลข้างเคียงตามมา เช่น การทำลายเยื่อบุทางเดินอาหารของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการเยื่อบุในช่องปากอักเสบ และทำให้เกิดการติดเชื้อง่าย ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บภายในช่องปาก เหงือก หรือลิ้น นอกจากนี้อาจมีผลกับน้ำลายและเมือกในลำคอที่มีมากขึ้น ทำให้กลืนอาหารลำบาก และถ้าอาการหนักมากอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย
วิธีการป้องกันผลข้างเคียงที่จะตามมาจากการทำคีโม เช่น เยื่อบุในช่องปากอักเสบ หมอจะให้ผู้ป่วยใช้ความเย็นจากการอมน้ำแข็งไว้ในปากเป็นเวลานานหลักชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะปฏิบัติตาม โดยเฉพาะในเด็ก เพราะคงไม่มีใครอยากอมน้ำแข็งเย็น ๆ ทิ้งไว้ในปากเป็นชั่วโมงหรอก
แต่จากการศึกษาพบว่า ไอศกรีมสามารถใช้ทดแทนการอมน้ำแข็งได้ โดยทีมนักวิจัยมีการศึกษาย้อนหลังผู้ป่วย 74 รายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีคีโม โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็นผู้ป่วยที่ได้รับไอกรีม 3 โดส และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับไอศกรีมเลย ผลการทดลองพบว่ามีเพียง 28.87% จากผู้ป่วยที่ได้รับไอศกรีมทั้งหมด ที่เกิดปัญหาเยื่อบุในช่องปากอักเสบ ต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับไอศกรีมเลย ซึ่งมีจำนวนผู้ที่เกิดปัญหาเยื่อบุในช่องปากอักเสบมากถึง 59%
การศึกษาที่พบว่าสามารถใช้ไอศกรีมที่หาได้ง่าย ๆ จากโรงอาหารในโรงพยาบาล หรือร้านค้าทั่วไป ทำให้ความทุกข์ใจของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาดีขึ้น ทั้งในเรื่องของร่างกาย และจิตใจ ถือว่าสร้างได้ทั้งประโยชน์ และความอร่อย ภายในการศึกษาเดียว

ที่มา Improbable Research
สาขาวิศวกรรม (The Engineering Prize)
รางวัลสาขาวิศวกรรม ตกเป็นของนักออกแบบลิตภัณฑ์ ที่ทำการศึกษาเรื่องปุ่มหมุนที่ใช้งานบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป สำหรับการปรับเพิ่มลดค่าต่าง ๆ เช่น เพิ่มลดระดับเสียงลำโพง หรือเพิ่มลดระยะเวลาการอุ่นอาหารในไมโครเวฟ โดยการศึกษาที่ได้รับรางวัลนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้นิ้วมือของผู้คนให้เหมาะสมกับการหมุนปุ่ม” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: How to Use Fingers during Rotary Control of Columnar Knobs)
การศึกษาปุ่มหมุนที่ว่า เน้นไปในการศึกษาปุ่มหมุ่นที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกเท่านั้น ซึ่งถ้าเกิดว่าขนาดของปุ่มมีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาดเล็ก ปกติเราจะใช้สองนิ้วในการหมุนตามสัญชาตญาณทันที ทีมนักวิจัยจึงเชื่อมโยงระหว่างขนาดของปุ่มหมุนที่ไม่เท่ากัน กับจำนวนนิ้วที่เหมาะสมในการหมุนปุ่ม เพื่อนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีการศึกษาเชิงสถิติ และได้คำตอบว่า คนเราจะเปลี่ยนจำนวนนิ้วมือ เมื่อปุ่มหมุนมีขนาดเท่าไหร่บ้าง
- ขนาดปุ่มทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 – 11 มิลลิเมตร คนเราจะเปลี่ยนจากการใช้ 2 นิ้วเป็น 3 นิ้ว
- ขนาดปุ่มทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 23 – 26 มิลลิเมตร คนเราจะเปลี่ยนจากการใช้ 3 นิ้วเป็น 4 นิ้ว
- ขนาดปุ่มทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 45 – 50 มิลลิเมตร คนเราจะเปลี่ยนจากการใช้ 4 นิ้วเป็น 5 นิ้ว

ที่มา Improbable Research
สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ (The Art History Prize)
รางวัลสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะน่าสนใจมาก เพราะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของชนเผ่ามายาซึ่งมีอยู่จริงในสมัยศตวรรษที่ 6 – 9 ผ่านภาพเขียนโบราณบนเครื่องปั้นดินเผานานาชนิด โดยการศึกษาที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับ “พิธีกรรมและกิจกรรมการสวนทวาร ผ่านภาพเขียนบนเครื่องปั้นดินเผาชนเผ่ามายา” (อ่าเพิ่มเติมได้ที่: A multidisciplinary approach to ritual enema scenes on ancient Maya pottery)
เครื่องปั้นดินเผาของชนเผ่ามายาหลายชิ้น ที่พบได้ในหลายประเทศทางทวีปอเมริกาใต้ มีหลักฐานของการสวนทวารอยู่ ซึ่งหลักฐานบ่งบอกว่ามันเป็นพิธีกรรมที่ดำเนินการในที่สาธารณะได้ เพราะปรากฎทั้งภาพการสวนทวารด้วยตนเอง และการสวนทวารโดยมีผู้อื่นทำให้ โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีการศึกษาในทำนองเดียวกันที่ว่า มีหลักฐานบันทึกว่าชนเผ่ามายาสวนทวารกันเพื่อพิธีกรรมและเพื่อนันทนาการ
การสวนทวารในปัจจุบัน อาจมีเหตุผลในการดูแลสุขภาพ เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ หรือการดีท็อกซ์ผ่านการสวนทวาร แต่ในสมัยศตวรรษที่ 6 – 9 การสวนทวารเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ร่างกายรับของมึนเมาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
จากหลักฐาน การสวนทวารที่พบภาพตามเครื่องปั้นดินเผา ทำไปเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งรวดเร็วกว่าการกินหรือดื่ม โดยการสวนทวารที่ว่าอาจจะใช้แอลกอฮอล์ หรือพืชที่มีผลทำให้มึนเมา เช่น ดอกลิลลี่ หรือเมล็ดผักบุ้งนั่นเอง

ที่มา Improbable Research
สาขาฟิสิกส์ (The Physics Prize)
รางวัลในสาขาฟิสิกส์ของปีนี้ เกิดจากงานวิจัยชิ้นเก่าซึ่งถูกตีพิมพ์ขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน และงานวิจัยต่อยอดที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปีทีแล้วนี้เอง โดยเรื่องราวที่ว่านั้นคือ “การพยายามทำความเข้าใจการจัดการแถวและวิธีว่ายน้ำของลูกเป็ดกับแม่เป็ด” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Energy Conservation by Formation Swimming – Metabolic Evidence From Ducklings และ Wave-riding and wave-passing by ducklings in formation swimming)
นักปั่นจักรยานยังมีวิธีในการปั่นจักรยาน โดยโน้มตัวลงเพื่อให้ลู่ลม จะช่วยลดแรงต้านอาการได้ 38% และลดการใช้กำลังในการขับขี่ได้ถึง 35% แล้วพวกสัตว์ในธรรมชาติมีวิธีการเคลื่อนที่ ที่สามารถประหยัดการใช้พลังงานแบบตัวอย่างที่กล่าวถึงไปได้บ้างไหม?
คำตอบคือ มีสัตว์ที่สรรหาวิธีการเคลื่อนที่ที่ช่วยให้ประหยัดการใช้พลังงานได้จริง ๆ สัตว์ชนิดนั้นคือ แม่เป็ดกับลูกเป็ด โดยมีการศึกษาเป็ดอายุ 1 ขวบ 7 ตัวจำนวน 12 ฝูงในการวัดอัตราการใช้ออกซิเจนเพื่อเปรียบเทียบการสูญเสียพลังงาน รวมถึงการใช้เรือจำลองเป็นแม่เป็ดและลูกเป็ดในการดูลักษณะของคลื่นน้ำที่มีผลกับการว่ายน้ำของฝูงเป็ด
ผลการศึกษาพบว่า แม่เป็ดตัวใหญ่และนำหน้าลูก ๆ ช่วยว่ายน้ำต้านคลื่นให้ลูกเป็ดที่ตามมาเป็นแถวตรงด้านหลัง และยิ่งลูกเป็ดว่ายน้ำตามแม่เป็ดเป็นแถวตรงมากแค่ไหน เป็ดตัวท้ายแถวยิ่งสบาย ว่ายน้ำได้ประหยัดพลังงานมากขึ้น เพราะคลื่นน้ำที่เกิดจากแม่เป็ดที่เรียกว่า wave-riding จะถูกส่งต่อไปยังลูกเป็ดตัวที่อยู่ใกล้แม่เป็ดมากที่สุด เพื่อให้ลูกเป็ดโต้คลื่น และเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องออกแรงเยอะ ซึ่งการโต้คลื่นของเป็ดตัวหัวแถว จะทำให้เกิดการส่งต่อของคลื่นที่เรียกว่า wave-passing ทำให้เกิดแรงดึงเปิดตัวข้างหลังให้โต้คลื่นตามน้ำมา ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกแรงในการว่ายน้ำเยอะเช่นกัน ซึ่งคล้ายกับนักปั่นจักรยานที่ขี่ลู่ลม คันหน้าสุดจะทำหน้าที่แหวกอากาศ ทำให้คันต่อไปไม่โดนแรงต้านอากาศมาก แถมคันที่ตามมายังมีแรงดึงจากคันข้างหน้าที่ทำให้จักรยานเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นด้วย

ที่มา Improbable Research
สาขาสันติภาพ (The Peace Prize)
รางวัลในสาขาสันติภาพปีนี้ มอบให้แก่ารศึกษาเกี่ยวกับ “การพัฒนาอัลกอริทึม ช่วยบอกพวกขี้เมาท์ว่าตอนไหนควรพูดโกหก และตอนไหนควรพูดความจริง” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Honesty and dishonesty in gossip strategies: a fitness interdependence analysis)
การเมาท์ หรือการซุบซิบนินทา มักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมการเข้าสังคมเชิงลบ แต่ที่จริงมันสามารถเป็นได้ทั้งเชิงบวกและลบ เพราะการเมาท์ถึงคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวงสนทนา สามารถช่วยให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคลี่คลายลงได้บ้าง แต่การเมาท์ในวงสนทนาก็อันตรายและก่อให้เกิดความอคติได้ หากเนื้อหาที่พูดไม่ใช่ความจริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนในวงสนทนาที่เราควรจะพูดความจริง 100% อีก
ทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขึ้นมา และสร้างสถานการณ์ขึ้นมา โดยกำหนดให้คู่สนทนาเป็นคนที่เราต้องการผลประโยชน์ หรือไม่ต้องการผลประโยชน์จากเขาด้วย เพราะมันเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเมาท์ คือถ้าพูดความจริงกับคู่สนทนา อาจแสดงควมเป็นมิตรกับผู้ฟังมากขึ้น แต่กลับทำร้ายเจ้าของเรื่องมากขึ้นด้วย หรือการโกหกคู่สนทนาเพื่อรักษาน้ำใจเจ้าของเรื่อง ก็อาจถูกมองไม่ดีจากคู่สนทนาได้ แบบจำลองของทีมนักวิจัยจึงวิเคราะห์ และให้ผลลัพธ์สำหรับสถานการณ์การเมาท์มอย ว่าตอนไหนควรพูดเรื่องจริง และตอนไหนควรพูดเรื่องโกหกไว้ว่า ถ้าเกิดเราจับคู่สนทนากับคนที่เราจะได้รับลประโยชน์จากเขา หรือเรียกว่า Perfect match ให้พูดความจริงกับเขาเท่านั้น แต่ถ้าเจอกับคนที่เราไม่คิดจะเสวนาพาทีด้วยอยู่แล้ว หรือเรียกว่า Mismatch ให้โกหกไปเท่านั้น ส่วนคนที่ให้ประโยชน์กับเราได้บางส่วน จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักเองว่าควรเก็บผลประโยชน์จากคนพวกนี้ในเรื่องใด และขนาดไหน

ที่มา Improbable Research
สาขาเศรษฐศาสตร์ (The Economics Prize)
รางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ของปีนี้ มอบให้กับงานวิจัยที่ “อธิบายอย่างเป็นคณิตศาสตร์ ว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จที่สุด ไม่ใช่คนที่มีความสามารถมากที่สุด แต่เป็นคนที่โชคดีที่สุดต่างหาก” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: TALENT VERSUS LUCK: THE ROLE OF RANDOMNESS IN SUCCESS AND FAILURE)
ทีมนักวิจัยสร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างคุณสมบัติความสามารถให้กับตัวละครในแบบจำลอง โดยมีการใส่โอกาสในการรับโชคดี และยังใส่อุบัติเหตุร้ายแรงให้ไปแบบสุ่ม ๆ ในระบบด้วย ผลปรากฎว่า ผู้ที่มีความสำเร็จในหน้าที่การงานมากที่สุดคือ ผู้ที่มีความสามารถระดับกลาง ๆ แต่มีความโชคดีมาก ส่วนพวกที่มีความสามารถมากสุดขีด แต่อับโชค มีอัตราความสำเร็จที่ต่ำมาก
แต่คนที่ประสบความสำเร็จจะมีแค่โชคดีอย่างเดียวไม่ได้นะ ยังไงก็ต้องมีความสามารถในระดับหนึ่งด้วย แต่ผลการทดลองก็ยังยืนยันได้อยู่ดีว่า มีโชคช่วย ประสบความสำเร็จได้มากกว่ามีความสามารถที่ปราดเปรื่องเสียอีก

ที่มา Improbable Research
สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย (The Safety Engineering Prize)
สาขาวิศวกรรมปลอดภัยตกเป็นของ “การพัฒนากวางมูสปลอมเพื่อทดสอบการชน” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Moose Crash Test Dummy)
ในประเทศสวีเดน ที่นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลอาศัยอยู่ เป็นประเทศทีมีอัตราการขับรถชนกวางมูสบนท้องถนนอยู่ที 13 ครั้งต่อวัน ซ่งมากกว่าประเทศอื่นแถบใกล้เคียงกัน นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนา และประดิษฐ์กวางมูสจำลองขึ้นมาเพื่อทดสอบการชน เพื่อที่จะนำข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากการชนกวางมูส ว่าเกิดความเสียหายแบบไหน ที่จุดไหน และเกิดอย่างไร ไปใช้ในการพัฒนายานพาหนะที่มีสมรรถภาพดีขึ้นต่อไป

ที่มา Improbable Research
คุยกันท้ายบทความ
อย่างที่บอกไปว่ารางวัลอิกโนเบลนั้น “เริ่มฟังแล้วขำ แต่ก็ทำให้คิด” เพราะงานวิจัยทุกชิ้นสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกนี้ทุกชิ้นเลย เพียงแต่ว่ามันจะถูกนำไปต่อยอดในมุมไหน และจะประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ อาจจะต้องใช้โชคช่วยเสียหน่อย แต่สุดท้ายแล้วงานประกาศผลรางวัลอิกโนเบลประจำปี 2022 ก็ได้มาสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมที่รอติดตามมาตลอดปีได้จริง ๆ แต่อาจจะต้องเสริมข่าวเสียหน่อยว่า ในช่วงท้ายของการไลฟ์ประกาศรางวัลอิกโนเบลประจำปี 2022 ผู้จัดจะไปทำการมอบรางวัล The Heinz Oberhummer Award ที่จะมอบให้ับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดาวรุ่งพุ่งแรง ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ใครที่สนใจสามารถติดตามไลฟ์ได้ผ่านทาง YouTube Channel: Improbable Research หรือติดตามผ่านบทความของ The Principia ก็ได้ครับ รวมถึงบทความอธิบายรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นรางวัลต้นฉบับที่ถูกล้อเลียนมาอีกทีด้วย แล้วเจอกันนะครับ

ที่มา Improbable Research