เชื่อว่าใครหลายคนน่าจะรู้จัก พืชและแมลงกันอยู่แล้ว เพราะมันคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์จะเกิดขึ้นมาอีก แถมเราสามารถพบเจอได้ทั่วไปด้วย แต่เคยสงสัยไหมว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดนี้มันเกี่ยวข้องกันมากขนาดไหน จากการที่มันอยู่ร่วมกันมานานหลายสิบล้านปีมันสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกคนไปหาคำตอบร่วมกัน
พืชและแมลงคือสิ่งมีชีวิตที่มีความหลายมากที่สุดในโลก และมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งจากปัจจัยที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเป็นเวลานับล้านปี ในปัจจุบัน พบว่า พืชที่ขึ้นอยู่บนดิน (terrestrial plant) มีมวลชีวภาพคิดเป็นประมาณ 80% ของมวลชีวภาพรวมบนโลก ในขณะที่มวลชีวภาพของแมลงก็เป็นสัดส่วนหลักของมวลชีวภาพในสัตว์ ทำให้ทั้งพืชและแมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจระบบนิเวศบนพื้นดินและการผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตสองชนิดนี้อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างที่เกิดขึ้นบนโลกของเราในปัจจุบันได้
เมื่อไม่นานมานี้ มีทีมวิจัยนำโดยคุณ Lauren Azevedo-Schmidt จาก University of Maine ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการโจมตีของแมลงต่อพืชทั้งในด้านความถี่และรูปแบบของการโจมตี โดยเปรียบเทียบกันระหว่างฟอสซิสของใบไม้ตั้งแต่ในช่วงยุคครีเทเชียส (Creataceous) หรือประมาณ 66.8 ล้านปีที่แล้ว ไปจนถึงยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือประมาณ 2.06 ล้านปีที่แล้ว และยุคปัจจุบันโดยศึกษาไปจนถึงช่วงปี 1955 พวกเขาศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างฟอสซิลของใบไม้ที่อยู่ตามป่า จากนั้นก็วัดร่องรอยการโจมตีโดยแมลงและบันทึกค่าเป็นเปอร์เซ็นที่ถูกโจมตี และรวบรวมข้อมูลเอาไว้
จากการศึกษาพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป เปอร์เซ็นการถูกโจมตีโดยแมลงต่อใบไม้ของพืชมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทางทีมวิจัยได้กล่าวไว้ว่า สิ่งที่น่าสนใจของการศึกษานี้คือ ถึงแม้จำนวนแมลงจะน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งแมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิ แต่ความถี่ในการโจมตีพืชกลับมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในอดีต

ที่มา Lauren Azevedo-Schmidt
จากผลการศึกษาดังกล่าง ทางทีมนักวิจัยได้เสนอไว้ว่า เนื่องจากสภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นในยุคปัจจุบัน อาจส่งผลต่อการจู่โจมพืชโดยแมลงมากขึ้น เพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลต่อการเร่งวงจรชีวิตของแมลงรวมไปถึงพฤติกรรมการกินของมัน ส่งผลให้แมลงต้องมีการแข่งขันเพื่อแก่งแย่งอาหาร ซึ่งนั่นก็คือพืชนั่นเอง นอกจากนั้น การเข้ามาของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน (invasive species) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แมลงโจมตีพืชได้มากขึ้นอีกเช่นกัน
นอกจากนั้น ทางทีมวิจัยยังกล่าวอีกว่า การขยายตัวของเมืองอาจจะนำไปสู่การเกิดความหลายของแมลงในบริเวณป่าไม้ที่ศึกษามากขึ้น เพราะแมลงจะอพยพไปกระจุกตัวอยู่บริเวณนั้นแทน ในขณะเดียวกัน การทำการเกษตรก็มีส่วนทำให้จำนวนแมลงลดลงแต่พืชเองก็หันมาแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อล่อแมลงให้มาผสมเกสร ซึ่งทั้งหมดนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การกระทำของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้จะมีผลระยะยาวต่อพืชและระบบนิเวศป่าไม้อย่างไร ยังต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันอีกในระยะยาว แต่ที่แน่นอนก็คือ เราได้เข้าใจโลกและสิ่งมีชีวิตของเรามากขึ้นมาอีกก้าวนึงแล้ว
อ้างอิง
Insect herbivory within modern forests is greater than fossil localities | PNAS
Insects Are Feasting on Plants Like Never Before, And The Consequences Are Unknown : ScienceAlert