เมื่อนึกถึงเอกภพที่กว้างใหญ่ไพศาล มีดวงดาวอยู่นับล้านดวง ระบบดาวอีกนับล้านระบบ ย่อมมีความเป็นได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวดวงใดดวงหนึ่งที่ห่างออกไปนอกโลกของเรา ทว่ากลับยังไม่เคยมีหลักฐานการมาถึงของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลกที่เชื่อถือได้สักชิ้น ที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาว หรือที่เรียกว่า ‘เอเลี่ยน’ มาที่โลกแล้วจริง ๆ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ความน่าสนใจของการศึกษาหาความรู้ด้านดาราศาสตร์ต้องหมดสนุกไป เพราะวันนี้เราอยากจะแนะนำให้คุณได้รู้จักกับระบบดาวแห่งหนึ่งในเอกภพเดียวกับเรา ที่มีดาวเคราะห์หินลักษณะคล้ายโลก อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนนั้นได้ ระบบดาวที่จะเล่าถึงนี้มีชื่อว่า ‘เคปเลอร์ 62’

เคปเลอร์ 62 (Kepler 62) มีดาวฤกษ์ที่ตั้งอยู่ห่างจากโลกสีน้ำเงินเล็ก ๆ ของเราออกไปประมาณ 1,200 ปีแสง แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากเรามองท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยตาเปล่า เราก็กลับไม่สามารถมองเห็นดาวเคปเลอร์ 62 ได้เลย ซึ่งรวมถึงดาวฤกษ์อีกหลายแสนล้านดวงในดาราจักรทางช้างเผือก (Milkyway Galaxy) เนื่องจากดาวฤกษ์บางดวงนั้นส่องแสงสลัวเกินไป บ้างก็อยู่คนละระนาบกับโลกของเรา หรือไม่ก็อยู่กันคนละฟากของดาราจักรทางช้างเผือกที่มีกลุ่มแก๊สหนาแน่นบริเวณแกนกลางดาราจักรขวางกั้นอยู่
องค์การนาซาจึงได้สร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler Space Telescope) ขึ้นมาและส่งออกไปนอกอวกาศ ณ จุดลากรางจ์ที่ 2 สถานที่เดียวกันกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb SpaceTelescope, JWST) อยู่ในปัจจุบัน เพื่อค้นหาศึกษาดาวฤกษ์ห่างไกลที่อาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกที่โคจรล้อมรอบอยู่ โดยกล้องเคปเลอร์นั้นได้ปฏิบัติภารกิจอยู่ในอวกาศนานถึง 9 ปี ระหว่าง ค.ศ. 2009 ถึง 2018 ซึ่งหนึ่งในการค้นพบของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์นั้นก็คือดาวฤกษ์เคปเลอร์ 62 ที่ได้ชื่อมาจากกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์นี้เอง
ในปี ค.ศ. 2013 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ค้นพบว่ามีดาวเคราะห์อยู่อย่างน้อย 5 ดวงกำลังโคจรล้อมรอบดาวฤกษ์เคปเลอร์ 62 อยู่ ซึ่งนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อรหัสดาวเคราะห์กลุ่มนี้ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยเริ่มจากดวงที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มากที่สุด ได้แก่ เคปเลอร์ 62b , 62c , 62d , 62e และ 62f
โดยความน่าสนใจอยู่ที่ว่าดาวเคราะห์เคปเลอร์ 62e กับ 62f นั้นเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 1.5 เท่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโกลดิล็อคส์ (Goldilocks) หรือ เขตแดนที่ไม่ใกล้หรือไม่ไกลเกินไปจากดาวฤกษ์เคปเลอร์ 62 มากนัก ทำให้น้ำสามารถดำรงอยู่ในสถานะของเหลวได้ ซึ่งเอื้อต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตในรูปแบบที่เรารู้จักเป็นอย่างมาก แถมดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ยังมีโอกาสเป็นดาวเคราะห์ที่มีพื้นหินแข็งคล้ายกับโลกของเราอีกด้วย
อย่างไรก็ดีข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับ ดาวเคราะห์เคปเลอร์ 62e และ 62f ที่อยู่ในเขตโกลดิล็อกส์นั้นยังคงขาดเรื่ององค์ประกอบของชั้นบรรยากาศอยู่ ซึ่งต้องรอคอยกล้องอวกาศรุ่นใหม่อย่าง เจมส์เวบบ์ วิเคราะห์กันต่อไปเพื่อหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต (Biosignature) อย่างเช่น แก๊สออกซิเจน ที่เป็นผลผลิตจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของสิ่งมีชีวิต
ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ทำได้แค่เพียงนำข้อมูลเบื้องต้นของดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ที่ได้มาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ไม่ว่าจะเป็น มวล ขนาด และ ระยะห่างจากดาวแม่ มาจำลองสภาพแวดล้อมในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อหาความเป็นไปที่พื้นผิวของดาวเคราะห์กลุ่มนี้จะมีศักยภาพในการรองรับสิ่งมีชีวิตมากแค่ไหนกันแน่
โดยผลที่ออกมานั้นระบุว่า ดาวเคราะห์เคปเลอร์ 62e ที่อยู่ใกล้ดาวแม่มากกว่านั้นอาจมีน้ำอยู่บนพื้นผิว แต่ไม่ถึงกับมีมากเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความน่ากังวลอยู่ที่ว่าระยะห่างจากดาวแม่ที่ค่อนข้างใกล้นี้อาจทำให้พื้นผิวดาวเคปเลอร์ 26e นั้นร้อนเกินไป ขึ้นอยู่กับปริมาณแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนผ้าห่มกักเก็บความร้อน แต่ถ้าหากดาวดวงนี้ประสบปัญหาเดียวกับดาวศุกร์ของเราที่กำลังเผชิญกำลังสภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ (Runaway Greenhouse Effect) อยู่ ซึ่งทำให้อุณหภูมิของดาวศุกร์พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 400 องศาเซลเซียส ก็อาจทำให้ความเป็นไปได้ในการรองรับสิ่งมีชีวิตลดต่ำลงตามไปด้วย
ในขณะที่ดาวเคราะห์เคปเลอร์ 62f ที่อยู่ห่างออกไปกลับคาดว่าดาวดวงนี้อาจถูกเติมเต็มไปด้วยมหาสมุทรกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาไปทั่วทั้งดาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยที่เป็ฯตัวตัดสินสำคัญก็ยังคงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศอีกเช่นเคย เนื่องจากหากดาวดวงนี้ปราศจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำที่มีอยู่ก็อาจจะแข็งตัวกลายเป็นน้ำผืนน้ำแข็งกว้างใหญ่แทน คล้ายกับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะของเรา

ทีนี้ได้เวลาย้อนกลับมาดูตัวดาวฤกษ์เคปเลอร์ 62 ที่ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของระบบนี้กันบ้าง ซึ่งเคปเลอร์ 62 นั้นเป็นดาวฤกษ์ประเภทแคระส้ม (Orange Dwarf) ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเรา และมีอายุราว 7,000 ล้านปี ในขณะที่ดวงอาทิตย์ของเรามีอายุน้อยกว่าที่ 4,600 ล้านปี โดยการที่เคปเลอร์ 62 มีอายุมากกว่า 2,400 ล้านปีนั้น ได้บอกใบ้ว่า หากมีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาบนดาวเคราะห์สักดวงหนึ่งในระบบนี้ไม่นานหลังจากที่ดาวฤกษ์ก่อตัว กระบวนการวิวัฒนาการที่นำไปสู่สิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนสูงก็อาจถือกำเนิดขึ้นมาก่อนโลกเช่นกัน
โดยระบบดาวเคปเลอร์ 62 ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ได้เฝ้าสังเกตนั้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของดาราจักรทางช้างเผือกของเราเท่านั้น ตามภาพที่เห็นข้างบนนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ได้ทำการสังเกตดาวฤกษ์กว่า 530,506 ดวง ค้นพบดาวเคราะห์กว่า 2,662 ดวง กล้องเคปเลอร์ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าในดาราจักรทางช้างเผือกของเรานั้น ดาวเคราะห์มีจำนวนมากกว่าดาวฤกษ์เสียอีก ประมาณการได้ว่าดาราจักรทางช้างเผือกของเรามีดาวฤกษ์กว่า 4 แสนล้านดวง และไม่แน่ว่าบนดาวเคราะห์สักดวงหนึ่งนั้นอาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่ได้จ้องมองดวงดาราและถามคำถามเดียวกับเราว่า พวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวในจักรวาลหรือไม่
