แม้เราจะเห็นว่าความรู้ของเฮเลนิสติก (Hellenistic) หรือกรีก (Greeks) ด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาจะเติบโตรุ่งเรืองอย่างมากในช่วง 600 ถึง 300 ปีก่อนคริสตกาล ยุคนักปรัชญาได้วางรากฐานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียนมากมาย รวมถึงรับเอาองค์ความรู้ของอารยธรรมอื่น ๆ เช่น เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia), บาบิโลน (Babylon) และอียิปต์ (Egypt) แต่อารยธรรมอื่น ๆ ในฟากตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปอร์เซีย และบริเวณตะวันออกของซีเรีย ก็มีการเติบโตด้านวิทยาการความรู้เช่นกัน
หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ในช่วงศตวรรษที่ 5 วิทยาการตะวันตกดูเหมือนจะเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ แต่ถึงกระนั้นวิทยาการตะวันออกกำลังเจริญรุ่งเรืองจากสิ่งที่หลงเหลือจากตะวันตก นักวิชาการตะวันออกจัดตั้งศูนย์ศึกษาภาษากรีกเพื่อศึกษางานเขียนเหล่านี้ องค์ความรู้ของชาวกรีกจึงแพร่สู่พื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว
ในช่วงค.ศ. 622-750 ชนเผ่าในอาหรับสามารถรวมเป็นหนึ่งภายใต้ร่มเงาของอิสลาม ชนกลุ่มใหม่ยกทัพและครอบครองพื้นที่ในซีเรีย เปอร์เซีย อียิปต์ สเปน ตลอดถึงบางส่วนทางเหนือของแอฟริกา การขยายอำนาจของอิสลามมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางความรู้ของโลกมุสลิม ตำราปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของกรีกถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ จนกลายเป็นรากฐานให้วิทยาศาสตร์อาหรับ (Arabic Sciences) ในที่สุด
พัฒนาการที่สำคัญของวิทยาศาสตร์อาหรับคือ การทดลองและทดสอบเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นต้นทางให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในสมัยต่อ ๆ มา จนกระทั่งศตวรรษที่ 10-13 โลกอาหรับได้สร้างความรู้เป็นของตนไม่ว่าจะเป็นด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการแพทย์ รวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุที่เคยเล่าไว้ในบทความก่อนหน้า การศึกษาเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทางการกำเนิดวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาในยุคหลัง จากองค์ความรู้ที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานและต่อยอดโดยชาวมุสลิม เราถึงกับขนานนามว่ายุคนี้เป็นยุคทองของโลกอิสลาม (Islam Golden Age) กระแสการเปลี่ยนแปลงทางความคิดนำไปสู่อีกหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คือการสร้างอุปกรณ์และชุดการทดลองเพื่อหาคำตอบกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมขาติ ตามวิถีของวิทยาศาสตร์สายทดลอง (Experimental Science) รวมถึงการสร้างห้องปฏิบัติการในการศึกษาวิทยาศาสตร์ ก็มีอิทธิพลจากแนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมา
ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 6 ในยุโรป เหล่านักวิชาการเช่น Boethius และ Cassiodorus พยายามรักษาความรู้ของชาวกรีกไว้ แต่น่าเสียดายที่เอกสารและต้นฉบับหลายชิ้นสูญหาย ถึงกระนั้นที่อารยธรรมตะวันออกได้รักษาองค์ความรู้โบราณไว้ไม่มากก็น้อย ทั้งยังพัฒนาแนวคิดไปอีกขั้น เหล่านักวิชาการในช่วงศตวรรษที่ 11 เช่น Gerard แห่ง Cremon และ Adelard แห่ง Bath ได้แปลความรู้เหล่านี้จากภาษากรีกและอาหรับเป็นภาษาละตินและนำความรู้ทั้งหมดกลับเข้ามาสู่ยุโรป เชื่อมโลกแห่งศาสตร์ทั้งตะวันออกและตะวันตกเข้าหากัน
อีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนกระแสธารความรู้ตะวันออกและตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 13 คงหนีไม่พ้น Fibonacci หรือ Leonardo of Pisa เมื่อวัยหนุ่มฟีโบนักชีเคยศึกษาที่แอลจีเรีย จึงได้รับการสอนคณิตศาสตร์แบบอาหรับมา จึงถือว่าเขาเป็นผู้จุดประกายในด้านคณิตศาสตร์แบบอาหรับมา จึงถือว่าเขาเป็นผู้จุดประกายในด้านคณิตศาสตร์และตัวเลขให้กับตะวันตก ผ่านผลงานมากมายไม่ว่าจะเป็น การหาความสัมพันธ์ของจำนวนลูกหลานจากการผสมพันธุ์กระต่าย ที่มีรูปแบบของลำดับทางคณิตศาสตร์ รู้จักกันในชื่อ ลำดับฟีโบนักชี เขียนได้ว่า 0, 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21,… ฟีโบนักชีไม่เพียงแต่ดึงเอาความรู้คณิตศาสตร์ด้านเรขาคณิตของยูคลิดและคณิตศาสตร์แบบอาหรับมาใช้เท่านั้น แต่ยังนำพีชคณิตของ Diophantus แห่ง Alexandria มาอีกด้วย เรียกว่าฟื้นฟูความรู้คณิตศาสตร์ของตะวันตกอีกครั้งก็คงไม่ผิด
การค้นพบแนวคิดจักรวาลวิทยาแบบอริสโตเติล ได้ท้าทายนักคิดในยุคกลางที่ติดหล่มกับแนวคิดที่ว่า ดาราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวไสยศาสตร์และเวทย์มนต์ การกำเนิดอีกครั้งของดาราศาสตร์ที่เน้นการสังเกตการณ์และข้อมูลจากอิทธิพลแนวคิดตะวันออก แต่กระนั้นชาวอาหรับเองก็หมกมุ่นในเรื่องเหนือธรรมชาติของดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ไม่ต่างจากชาวยุโรป จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1080 ที่เริ่มมีการสร้างตารางทางดาราศาสตร์จากข้อมูลการสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวที่เมือง Toledo และ Córdoba ในประเทศสเปน วางระเบียบแบบแผนให้ดาราศาสตร์ในยุคต่อ ๆ มา
ในช่วงศตวรรษที่ 12 นักวิทยาการชาวอิตาเลียนนามว่า Gerard แห่ง Cremona ได้แปลผลงานการแพทย์จากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน เช่น Book of Medicine for Mansur เขียนโดย Abu al-Razi หรือ Rhazes ที่เขียนในปี 903 เพื่อถวายแด่เจ้าแห่งเปอร์เซีย และ Canon of Medicine เขียนโดย Avicenna หนังสือทั้งสองเล่มถือเป็นตำราการแพทย์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแพทย์อิสลามและยุโรป
ในยุคกลางที่ความเชื่อศาสนาคริสต์ครอบงำคนส่วนมากและเป็นสาเหตุของการใช้เครื่องมือกำจัดคนเห็นต่าง ความเชื่อเรื่องพระเจ้าและสวรรค์เป็นสิ่งคู่กันที่แยกออกมิได้ ศีลธรรมและปรัชญาที่ศาสนจักรสร้างเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสมาทานอย่างไร้ข้อสงสัย กระแสคิดจากอาหรับกำลังตั้งคำถามกับความเชื่อนี้ พวกเขาเริ่มถกเถียงเรื่องอนันต์และความว่างเปล่า การโจมตีจากโลกมุสลิมทำให้ชาวคริสต์ต้องออกโรงปกป้องแนวคิด โดยในศตวรรษที่ 14 Bradwardine แห่ง Oxford รับมือกับการโจมตีโดยใช้เครื่องมืออย่างคณิตศาสตร์ในการพิสูจน์ว่าพระเจ้าสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่อนันต์ได้ อีกคนคือ Nicole Oresme ได้อธิบายแนวคิดเรื่องกฎการเคลื่อนที่โดยใช้คณิตศาสตร์ผ่านรากฐานแนวคิดแบบเพลโตนิก และงานอีกชิ้นที่จัดทำถวายแด่พระเจ้าชาร์ลที่ 5 แห่งฝรั่งเศส (Charles V of France)
ศตวรรษที่ 14 นี้เองที่เหล่านักคิดเกิดขึ้นมากมาย จากที่เล่าไปข้างต้นว่าความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่ากรีกหรืออาหรับต่างเข้ามาในยุโรปดุจน้ำที่ไหลเชี่ยว บังเกิดเป็นยุคทองของยุโรปที่รู้จักกันในชื่อ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์เติบโตในกลุ่มนักคิดตะวันตก เปลี่ยนผ่านยุคมืดที่ศาสนจักรครอบงำสู่ยุคแห่งความรู้และการศึกษา งานเขียนมากมายด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และการแพทย์เกิดที่ยุคนี้ ส่งต่อสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ในศตวรรษที่ 17
พลวัตทางสังคมส่งผลถึงการเปลี่ยนผ่านทางปัญญา ความรู้เป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อจากอดีตถึงปัจจุบัน เราสร้างวิทยาการใหม่ ๆ เพื่อหวังว่าวันหนึ่งความรู้ทั้งหมดจะส่งให้คนรุ่นถัดไป
อ้างอิง
Leiden University | Medieval Calculator
Wikipedia | Islam Golden Age