Highlights
- พบผู้ป่วยปีละประมาณ 200-300 ล้านคนทั่วโลก
- มีสถิติการตายจากมาเลเรียประมาณ 1 ล้านคนต่อปี
- การระบาดของมาลาเรีย พบได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ท่ามกลางป่าฝนชุ่มชื้นที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกนั้น เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ถึงกระนั้นดินแดนแห่งนี้มิใช่สรวงสวรรค์ที่ปูพรมแดงรอคอยเรา แต่กลับเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ ที่พร้อมจะพรากชีวิตเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ หนึ่งในนั้นคือภัยเงียบที่คล้ายกับเงื้อมมือของมัจจุราชที่พร้อมจะพรากวิญญาณเราไปในทุกเมื่อ นั่นคือ “มาลาเรีย”

ที่มา Scientific Reports
ยอดนักฆ่าตัวน้อย
มาลาเรีย (Malaria) นั้นมีการระบาดทั่วทั้งโลก ถือเป็นโรคระบาดที่สำคัญต่อประชากรในแถบเขตร้อน พาหะนำโรคคือ ยุงก้นปล่องหรือยุงเสือ (Anopheles) โดยเฉพาะยุงก้นปล่องเพศเมียที่ต้องการเลือดของสัตว์อื่น ๆ เช่น เลือดของมนุษย์ เพื่อนำไปสร้างไข่สำหรับดำรงเผ่าพันธุ์ ตามเจตนารมณ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงที่ต้องการที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ แต่ทว่าภายในน้ำลายของยุงก้นปล่องนั้นมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วอาศัยอยู่ เป็นโปรโตซัวปรสิตในสปีชีส์ ‘Plasmodium‘ เจ้าเพชรฆาตตัวน้อยนี้แอบแฝงและซ่อนเร้นอยู่ในต่อมน้ำลาย รอคอยมนุษย์ผู้ที่ร่างกายจะเป็นกลายบ้านหลังใหม่ของพวกมัน

ที่มา European Centre for Disease Prevention and Control
โปรโตซัวปรสิต Plasmodium จัดเป็น Intracellular protozoa ที่มี Apical complex ส่วนหน้าสุดเพื่อใช้เจาะทะลวงเข้าสู่เซลล์โฮสต์คล้ายกับไวรัส แตกต่างตรงที่พวกมันไม่จำเป็นต้องอาศัยเซลล์โฮสต์ในการแบ่งจำนวน แต่กลับใช้เพื่อเป็นบ้าน และหลบหนีจากเหล่าภูมิคุ้มกันที่พร้อมฆ่าพวกมันทันทีที่พบเจอ

ที่มา National Library of Medicine
เจ้าเชื้อปรสิตก่อโรคมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่
- P. Falciparum (พบได้บ่อยในไทย)
- P. Vivax (พบได้บ่อยในไทย โดยเฉพาะภาคใต้)
- P. Malariae (พบได้เฉพาะในภาคใต้)
- P. Ovale (พบได้น้อยมากในประเทศไทย)
- P. Knowlesi (อาศัย Host ในกลุ่มไพรเมตเท่านั้น)
ชีวิตคือการเดินทางตามหาบ้านหลังใหม่ ๆ
ปรสิต คือความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งแย่งชิงและกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ของตน ในขณะที่อีกฝ่ายกลับสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งการสูญเสียนั้นอาจหมายถึงการโดนแย่งอาหาร หรือความเจ็บป่วยจากชีวิตประจำวันของโฮสต์เพราะเหล่าปรสิตนั้นรุกรานเข้ามา อย่างไรก็ตามเหล่าปรสิตพวกนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ วงจรชีวิตที่ต้องอาศัยโฮสต์ผู้โชคร้าย ซึ่งมีความจำเพาะต่อสายพันธุ์
ในแวดวงของปรสิตวิทยานั้นมีการจัดจำแนกชนิดของโฮสต์เป็น 2 กลุ่ม โฮสต์ที่เหล่าพยาธิต้องการเพื่อดำเนินวัฏจักรชีวิตที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเวลากว่าหลายล้านปี
- Intermediate Host หมายถึง โฮสต์ที่ปรสิตใช้เพื่อนำพาไปหา Definitive host เพื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัย ในบางชนิดอาจมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเพื่อเพิ่มจำนวน ก่อนที่จะเข้าสู่ Definitive host ต่อไป
- Definitive host หรือโฮสต์แท้จริง หมายถึงโฮสต์ที่ปรสิตใช้เพื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัย มีการสืบพันธุ์เพื่อสร้างรุ่นถัดไป และเป็นโฮสต์ที่ปรสิตใช้อาศัยนานที่สุด
ในบางครั้ง โฮสต์ที่ได้รับปรสิตเข้าไป อาจไม่ใช่บ้านที่พวกปรสิตเหล่านี้ต้องการ หรือที่เรียกกันว่า Wrong host ถึงแม้ว่าปรสิตเหล่านี้จะเข้าบ้านผิดหลัง แต่ก็สามารถก่อพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ เช่น การชอนไชไปมาตามร่างกาย โดยพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum)
สำหรับปรสิต Plasmodium วัฎจักรชีวิตนั้นอาศัยยุงก้นปล่องเป็น Definitive host โดยมีมนุษย์หรือไพรเมตอื่น เป็น intermediate host โดยปรสิต Plasmodium knowlesi นั้นติดต่อจากลิงสู่คนได้
แค่การกัดเพียงครั้งเดียว
ทันทีที่ยุงก้นปล่องดูดเลือดเรานั้นเองบรรดา สปอโรซอยต์ (Sporozoite) ในต่อมน้ำลายของยุงก้นปล่องจะเข้าสู่กระแสเลือดของเรา ตรงเข้าสู่เซลล์ตับ เจริญเติบโต และแบ่งตัวแบบไม่อาศัยเพศด้วยกระบวนการ exo-erythrocytic schizogony และปล่อยเซลล์รุ่นใหม่ที่เรียกว่า เมอโรซอยส์ (Merozoite) จนเวลาผ่านไปประมาณ 1-4 สัปดาห์ เซลล์ตับที่เต็มไปด้วยเมอโรซอยส์จะระเบิดออกเหมือนเอเลี่ยนในหนังกำลังแหวกอกออกมาก่อนที่จะพัฒนาเป็น Xenomorph ซึ่งหลังจากการระเบิดของเซลล์ตับ เมอโรซอยส์จำนวนมหาศาลจะถูกปลดปล่อยออกสู่กระแสเลือด ทันทีที่พวกมันเข้าสู่กระแสเลือด เป้าหมายต่อไปที่เจ้าตัวร้ายพวกนี้หมายปองคือ เซลล์เม็ดเลือดแดง พวกมันจะเข้าไปแบ่งตัวและเจริญด้วยกระบวนการ erythrocytic schizogony ซึ่งจะกินระยะเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น เหล่าเมอโรซอยด์จะแปลงสภาพเป็นชิซอนต์ (Schizont) เซลล์เม็ดเลือดแดงผู้โชคร้ายจะแตกออก แล้วชิซอนต์จึงออกไปหาเซลล์เม็ดเลือดแดงอื่น ๆ ต่อไป ในกระบวนการการเติบโตจะมีเมอโรซอยส์บางส่วนที่พัฒนาเป็นแกมมีโตไซต์ ซึ่งไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก แต่จะอาศัยอยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดง และเจริญเป็นระยะติดต่อประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะมียุงจะมาดูดเลือดของผู้ป่วยไป

ที่มา Centers for Disease Control and Prevention
หลังจากยุงดูดเลือดผู้ป่วย เหล่าแกมีโตไซต์ในเม็ดเลือดจะออกมาจากเม็ดเลือดแดงแล้วเจริญเป็นแกมมีตเพศผู้และเพศเมีย เกิดการผสมพันธุ์ได้มาเป็นไซโกต หลังจากนั้นไซโกตจะยืดออกเป็นโอโอไคนีส ไชผ่านผนังกระเพาะยุง สร้างโอโอซีสต์เกาะที่ด้านนอกกระเพาะยุง จากนั้นจะแบ่งตัวเป็นสปอโรซอยด์ ก่อนจะเดินทางไปที่หัวยุง ไชเข้าต่อมน้ำลายยุงก่อนที่จะรอยุงกัดผู้โชคร้ายคนต่อไป ระยะเวลาที่ยุงได้รับเลือดจนถึงระยะติดต่อจะกินเวลาประมาณ 10-14 วัน
พยาธิสภาพ
อาการไข้จับสั่นของผู้ป่วยนั้นมาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก เนื่องจากเหล่าเมอโรซอยด์ที่ออกจากเซลล์ หลังจากเข้าสู่เม็ดเลือดแดงมันจะเปลี่ยนรูปร่างตัวเองเป็นวงแหวน (Ring stage) ก่อนที่จะเจริญเป็นชิซอนต์ ระหว่างการเจริญเติบโตพวกมันจะกินฮีโมโกลบินภายในเซลล์เม็ดเลือดจนเหลือแค่ธาตุเหล็กชนิดฮีมในเม็ดเลือดแดงที่ต่อสายยาว (Hemozoin) หรือ malaria pigment เป็นกากอาหารสีน้ำตาลเนื่องจากมีองค์ประกอบของธาตุเหล็ก
ในขณะเดียวกัน เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อ P. Falciparum จะสูญเสียความยืดหยุ่นบริเวณผิวเซลล์ จนเกิดตะปุ่มตะป่ำเต็มไปทั่วทั้งผิวเซลล์ (Knob) ซึ่งเป็นผลจากการจับกันของเซลล์เม็ดเลือดแดงกับ Plasmodium เพื่อเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือด ซึ่ง Knob มีโปรตีนที่ชื่อ PIEMP 1 ที่สามารถจับกับตัวรับบนผิวของ endothelial cells เช่นผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการอุดตันภายในหลอดเลือดฝอย หากหลอดเลือดฝอยนั้นเป็นหลอดเลือดที่สำคัญ เช่น สมอง ก็จะก่อพยาธิสภาพที่รุนแรง

ที่มา American Society for Microbiology
ชนิดของ Plasmodium spp. จะแสดงอาการของโรคที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อวิธีการรักษา
- P. falciparum เป็นสายพันธุ์ที่มีการแบ่งตัวได้รวดเร็วและจำนวนเซลล์สูงสุด ทำให้มักพบอาการมาลาเรียขึ้นสมอง เป็นสาเหตุของการชัก ไตวาย ปอดบวม ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น รวมทั้งเป็นสายพันธุ์ที่พบการรายงานการดื้อยามากที่สุด ทำให้มีอาการไข้กลับซ้ำ (Recrudescence malaria) ได้ง่ายเนื่องจากเชื้อไม่ได้ถูกทำลายจนหมด
- P. vivax และ P. ovale แม้อาการไม่รุนแรงแต่ในระยะแฝงตัวในตับนั้น เซลล์สามารถหยุดการเจริญเติบโตไว้ก่อนจะที่ถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโต หลังผ่านไปหลายเดือน อาจทำให้เกิดไข้กลับซ้ำ แม้ไม่ได้ถูกยุงกัดได้
- P.malariae สามารถก่อพยาธิสภาพที่ไตได้
วิธีการรักษา
ในปัจจุบันเรามียารักษามาลาเรียแล้ว เช่น Chloroquine และ Quinine แต่ปัญหาคือยายังมีราคาแพง จนทำให้ประเทศยากจนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้เพียงพอ ส่งผลให้พบการระบาดและการเสียชีวิตอยู่เสมอ นอกจากนี้ปรสิต Plasmodium spp. ยังเกิดการดื้อยา และมีวงชีวิตที่หลบซ่อนได้ทั้งในเซลล์ตับ เซลล์เม็ดเลือดแดง หรือลอยปะปนในเลือด ซึ่งยังไม่มียาตัวใดสามารถรักษาได้ทั้ง 3 ตำแหน่งพร้อมกันได้
Sickle-Cell anaemia การวิวัฒนาการร่วมของมนุษย์เราและเชื้อร้าย
โรคเม็ดเลือดรูปเคียว หรือ Sickle-cell anaemia คือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงให้มีรูปเคียว การที่เม็ดเลือดแดงเป็นรูปเคียวนี้ทำให้ประสิทธิภาพการขนส่งอ็อกซิเจน (O2 ) มีประสิทธิภาพที่แย่ลง รวมทั้งมีโอกาสอุดตันในหลอดเลือดฝอยได้ง่ายกว่าปกติ แต่ผู้ป่วยโรคนี้ยังสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ หากมีการดูแลรักษาและพบแพทย์อยู่เสมอ

ที่มา National Heart Lung and Blood Institute
ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงนี้พบได้มากบริเวณแถบแอฟริกา เมดิเตอร์เรเนียน และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นความต้องการในการต่อสู้กับโรคมาลาเรียในอดีตของบรรพบุรุษเรา โดยทันทีที่เชื้อเข้าสู่เม็ดเลือดแดงที่มีความผิดปกตินี้ เซลล์เม็ดเลือดจะถูกทำลายตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ทว่าสิ่งที่ต้องแลกมานั้นก็เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียอยู่ดี เนื่องจากผู้ป่วยต้องดูแลและระมัดระวังเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ที่มียีนของ Sickle-cell anaemia แบบ Heterozygous จะได้รับความสามารถในการต้านทานโรคมาลาเรีย แต่ขณะเดียวกันเม็ดเลือดแดงไม่ได้เป็นรูปเคียวเสียทั้งหมดที่จะทำให้ทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ
การป้องกัน
- เมื่อเข้าป่า ควรทายากันยุงทุก 2-4 ชม. สวมเสื้อที่มิดชิด และควรนอนมุ้ง
- หลังออกป่าถ้ามีไข้ ภายใน 1-4 สัปดาห์ให้พบแพทย์ทันที
- ควรกินยาป้องกันให้ครบ ทั้งก่อนเข้าป่า ระหว่างอยู่ในป่า และหลังออกจากป่า
อ้างอิง
Centers for Disease Control and Prevention – Parasites – Malaria
Molecular Aspects of Severe Malaria | Clinical Microbiology Reviews