เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมานี้ ทาง The Principia ได้รับเกียรติจากทาง mu Space ในฐานะสื่อด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปรับฟังการบรรยายจาก CEO และ CTO ของ mu Space Corp คุณเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง รวมทั้งการบรรยายแขกผู้มีเกียรติอีกสองท่าน คือ คุณ Olivier Chalvet, Head of South East Asia (North) Defence and Space activities จากบริษัท AIRBUS และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ Executive Director จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรืออีกชื่อว่า GISTDA ซึ่งพวกเราที่เป็นสื่อมือใหม่จากวงการการสื่อสารวิทยาศาสตร์ อาจจะมีบางเรื่องที่ตกหล่นโดยเฉพาะเรื่องของคำในวงการธุรกิจ ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ หากท่านใดชี้แนะ จะเป็นการช่วยพวกเราและหลาย ๆ ท่านเป็นอย่างมาก
โดยแบ่งเป็นการบรรยาย 4 ช่วง
- หัวข้อ: เปิดแผน 10 ปีในการสร้าง Space Supply Chain โดย คุณเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง
- หัวข้อ: บทบาทและการมีส่วนร่วมของ Airbus กับการสร้าง Space Supply chain ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย คุณ Olivier Chalvet
- หัวข้อ: ความร่วมมือของภาครัฐไทยที่มีต่อการสร้าง Space Supply Chain ในประเทศ โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์
- ช่วงถาม-ตอบ โดยวิทยากรทั้ง 3 คน
เปิดแผน 10 ปีในการสร้าง Space Supply Chain
การบรรยายโดยคุณเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ทำให้มองเห็นภาพความพยายามในการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกลสร้างและคิดค้นเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งแผนที่คุณเจมส์พูดนั้นสอดคล้องกับความพยายามเป็น Space Supply Chain ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยเริ่มตั้งแต่
- การออกแบบการสร้างเทคโนโลยี
- การได้ลองสร้างต้นแบบเพื่อการพัฒนา
- การทดสอบขีดจำกัด
- การผลิตออกมาเป็นสินค้า
- การขนส่งและจัดจำหน่าย
- ลูกค้าผู้ซื้อผลผลิตจากเทคโนโลยี
ซึ่งทาง mu Space ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2017 ได้วางหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ ครอบคลุมไปถึงเรื่องการจัดหาทรัพยากรใหม่จากนอกโลก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ Rare Earth Material หรือธาตุที่หายากในโลก เช่น Lithium หรือ Molibdinum โดยพุ่งเป้าในช่วงแรกไปที่ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายในระยะสั้น
สาเหตุที่ mu Space ให้ความสนใจกับ Space Supply Chain นั่นก็เพราะว่า
- ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจด้านอวกาศกันมากขึ้น
- การแข่งขันการส่งจรวดออกไปนอกโลกค่อย ๆ ลดค่าใช้จ่ายลงทุกปี หากย้อนไปเมื่อปี 1990 ค่าขนส่งอยู่ที่ 100,00 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม ในขณะที่วันนี้อยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม และจากแนวโน้ม เราคาดว่าจะได้เป็น 10 ดอลลาร์สหัฐ ต่อ 1 กิโลกรัมในปี 2030 การมาถึงของจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ที่ใช้ได้จริงจาก SpaceX ก็เป็นส่วนผลักดันให้การขนส่งถูกลงอย่างมาก
- มีความต้องการในการสร้างเทคโนโลยีการสร้างดาวเทียม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย กำลังของ mu Space เอง ภายใต้ความช่วยเหลือของภาครัฐ (GISTDA) และเอกชน (Airbus) เป็นต้น
- ในเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศทำให้ได้ผลผลิตด้านอื่น ๆ ออกมาด้วยเช่นกัน ไม่วาจะเป็น การขยาย bandwidth ของสัญญาณการสื่อสาร และความมั่นคงของประเทศ
มาดูสิ่งที่ทาง mu Space ได้ทำไปเกี่ยวกับโครงการดาวเทียมกันบ้าง ซึ่งทาง mu Space ทำได้ตั้งแต่การการจัดการกับวัตถุดิบจนไปถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาให้
- การประกอบดาวเทียม Cube Satelite ขนาด 10 kg
- การประกอบดาวเทียมขนาดเล็ก 200 – 500 kg
เรามาดูแผนในในแต่ละระยะของทาง mu Space
- ระยะเริ่มแรก: คือช่วงที่ผ่านมาใน 5 ปีนี้ เป็นช่วงของการทำวิจัยและพัฒนาหรือ R&D Phase
- โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าด้านอวกาศ
- การเพิ่มอายุการทำงาน
- การลดเพดานต้นทุน
- การขยายตัวในแนวดิ่งหรือ Vertical Integration หรือการควบรวมกิจการต้นน้ำปลายน้ำ
- ระยะที่สอง: เป็นช่วงเวลาปัจจุบันลากยาวไปอีกห้าปี หรือ Production Phase
- เพิ่มการลงทุนให้เกิดเป็น Supply Chain ที่ต่อเนื่อง
- สร้าง Ecosystem Suppliers, Service, and Logistic System
- เพิ่มความสามารถในการผลิตและคุณภาพ
- ระยะที่สาม: Growth Phase
- การขยายตัวโดยมุ่งเน้นไปที่ B2B หรือหมายความว่าแทนที่จะเน้นไปขายให้กับลูกค้าเป็นรายบุคคล แต่เน้นไปขายให้กับองค์กรรายใหญ่แทน
ซึ่งแน่นอนว่าจากแผนดังกล่าวที่ทาง mu Space ได้วางไว้ย่อมส่งผลให้เกิดโอกาสในการพัฒนา เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การศึกษา และการจ้างงาน ขึ้นให้กับคนไทย และคุณเจมส์ยังได้ทิ้งท้ายไว้อีกว่า จริง ๆ แล้วการเข้ามามีส่วนร่วมใน mu Space ขอแค่คุณอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือเพียงมีไอเดียใหม่ ๆ ก็สามารถมาเริ่มต้นด้วยกันได้ อย่างเด็ก ๆ น้องหน้าใหม่ที่อยากคว้าโอกาสมาฝึกงานหาประสบการณ์ ถ้ามีใจจริงก็เรียนเชิญเข้ามาได้ เพราะทุกคนควรได้รับโอกาส (ติดต่อหา mu Space Corp คลิกที่นี่เลย)
บทบาทและการมีส่วนร่วมของ Airbus กับการสร้าง Space Supply Chain ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท Airbus คือบริษัทที่ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ผลิตและขายอากาศยาน เฮลิคอปเตอร์ เทคโนโลยีการป้องกันและอวกาศ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะคุ้นกับเครื่องบินพาณิชย์ที่ผลิตโดย Airbus จากรุ่น A320 หรือ A321 ที่ถูกใช้ในเครื่องบินต้ำทุนต่ำในไทย แต่จริงๆ แล้วทาง Airbus ได้เริ่มโครงการด้านอวกาศมากว่า 50 ปี เริ่มต้นจากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคไปยังระบบสื่อสาร ดาวเทียมด้านวิทยาศาสตร์ การสร้างลูกเรืออวกาศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการส่งยานอวกาศไปยังดาวต่างๆ แม้ว่าช่วงต้นจะเป็นการสร้าง Space Supply Chain และประสบความสำเร็จในฝั่งยุโรป
โดย Airbus ได้มุ่งเน้นนโยบาย 3 ด้านเกี่ยวกับด้านอวกาศ ได้แก่
- ทุนสนับสนุนพัฒนา
- ด้านวิชาการเพื่อพัฒนาและต่อยอด
- การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
นั่นทำให้ Airbus ได้พยายามจะขยายฐาน Space Supply Chain ไปยังพื้นที่บริเวณอื่นในโลกด้วย และในช่วงปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยได้มีนโยบายสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอวกาศ จึงดึงดูดความสนใจให้กับบริษัท Airbus ได้แต่งตั้ง คุณ Olivier Chalvet มาเป็นหัวหน้าดูแลด้านเทคโนโลยีการป้องกันและอวกาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ด้านเหนือ) และยื่นข้อเสนอเข้ามาลงทุนและแบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจอวกาศกับบริษัทในไทยอย่าง mu Space Corp
สิ่งหนึ่งที่คุณ Olivier ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศนั่นคือ เทคโนโลยีด้านนี้สามารถเป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศเหล่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นที่ยากจน แต่ด้วยทางรัฐบาลในสมัยนั้นได้เล็งเห็นถึงแผนการพัฒนาในระยะยาว จึงได้เริ่มโครงการเทคโนโลยีอวกาศ และทุกวันนี้ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นเบอร์หนึ่งในพื้นที่ที่ส่งจรวดอวกาศและผลิตขายเทคโนโลยีให้กับพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เราได้เรียนรู้เทคโนโลยีอื่น ๆ เพิ่มเติมและสามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับบริษัทเอกชนในระดับรายย่อยและอุตสาหกรรมได้อีกด้วย อย่างเช่น แอร์ปรับอากาศก็เป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความพยายามของนักวิทยาศาสตร์นาซ่าที่จะทำระบบอากาศหมุนเวียนให้กับนักบินอวกาศในกระสวย
คุณ Olivier ยังได้เสริมอีกว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศกำลังเติบโต แม้จะมีปัญหาจากปัญหาเรื่อง COVID-19 อุตสาหกรรมด้านนี้ก็ได้รับผลกระทบไม่หนักมาก แต่แน่นอนว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ค่อนข้างสร้างความหนักใจ เพราะแท่นปล่อยกระสวย รวมทั้งเทคโนโลยีบางส่วนได้ถูกปิดกั้นจากยุโรป จึงทำให้ไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจให้กับอุตสาหกรรมนี้ โดยทางรัฐไทยได้ทำการเซ็นสัญญา MOU กับทาง Airbus ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นั่นทำให้ในช่วง 10 ปีที่กำลังจะมาถึง อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในไทยจะได้รับความนิยมมากขึ้น เกิดการจ้างงานกลุ่มคนที่เป็น นักวิจัย วิศวกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 10,000 ตำแหน่ง
ความร่วมมือของภาครัฐไทยที่มีต่อการสร้าง Space Supply Chain ในประเทศ
ในเรื่องของ Space Supply Chain เราได้พูดถึงในภาคเอกชนในไทยและต่างประเทศแล้ว ฟันเฟืองที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ตัวแทนจากรัฐบาล ซึ่งในงานนี้นำโดย GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีตัวย่อว่า “สทอภ.” และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) – GISTDA เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชนซึ่งมุ่งเน้นการบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ทาง GISTDA ได้ให้ความสำคัญกับ Space Supply Chain เป็นอย่างมากและได้ออกแผนแม่บทเพื่อให้การสนับสนุน Space Supply Chain ในไทยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทาง ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ Executive Director จาก GISTDA ได้ให้ความเห็นเป็นไปในทางเดียวกันกับคุณเจมส์และคุณ Olivier ว่าเทคโนโลยีด้านอวกาศมีความต้องการในท้องตลาดโลกสูงขึ้นทุกวันเนื่องมาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ
- การปล่อยดาวเทียมถูกขึ้นทุกปี
- ประสิทธิภาพของจรวดดีขึ้นในทุกปี
- การเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน
- มีผู้เล่นซึ่งหมายรวมถึง ผู้ผลิตหน้าใหม่ เทคโนโลยีแบบใหม่ที่ใช้ได้จริง ประเทศน่าใหม่ที่ให้ความสนใจและมีเงินทุนสนับสนุน เกิดขึ้นแทบทุกปี
สิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการที่ไทยได้ทำ Space Supply Chain มีอะไรบ้าง สิ่งนี้ทุกคนมักจะมองว่าไกลตัวเนื่องจาก ภาพของอวกาศมันไกลตัวเราไปเยอะ มักจะมองในมุมมองของการไปดวงดาวอื่น ๆ การไปตั้งรกรากใหม่ แต่จริง ๆ มันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
- การเดินทางข้ามทวีปผ่านจรวดความเร็วสูงที่ยิงไปนอกอวกาศ ปกติเรามีเครื่องบินที่ใช้เดินทางกันอยู่แล้ว แต่ความสูงของเครื่องบินนั้นยังอยู่ในระดับที่มีอากาศซึ่งมาพร้อมกับแรงต้านอากาศ จะดีกว่าไหมหากยานอวกาศขนส่งไม่ต้องหมดพลังงานไปกับแรงต้านอากาศโดยไปร่อนอยู่ในชั้นอวกาศแทน แม้ว่าจะต้องเสียเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ไปกับการขึ้นไปให้ถึงระดับที่ต้องการ แต่ถ้าหากเราสามารถกำจัดปัญหานี้ได้ การเดินทางจากไทยไปอเมริกา อาจจะเร็วกว่าการเดินทางภายในกรุงเทพมหานครเองเสียอีก
- การบริการดาวเทียมในด้านโทรคมนาคม สัญญาณมือถือ อินเทอร์เน็ตหรือโทรทัศน์ดิจิตอล ต่างใช้สัญญาณที่ยิงมาจากดาวเทียม ซึ่งไทยก็ได้มีการปล่อยดาวเทียมของสื่อสารเป็นของเราเพื่อนำไปใช้ด้านนี้แล้ว
- การบริการที่ภาคพื้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อก่อนหน้า การมีดาวเทียมที่ดีก็ต้องมีระบบรับสัญญาณที่ดีบนภาคพื้นเพื่อตอบสองการทำงานให้เต็มประสิทธิภาพ
- การใช้ดาวเทียมทรัพยากรตรวจสอบแร่ธาตุ ทำนายระดับน้ำหรือความรุนแรงของน้ำท่วมในแต่ละปี พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่
สิ่งที่ทาง GISTDA ได้ทำไปแล้วนั่นก็คือการวาง Infrastruture หรือโครงสร้างพื้นฐาน (หมายรวมถึง สิ่งปลูกสร้าง อาคารสถานที่เพื่อการทำงาน เครื่องมือ อุกรณ์ และการสนับสนุนให้ระบบดำเนินต่อไปได้) ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมากับทาง Airbus โดยมีการสร้างปละประกอบดาวเทียม Theos 2A ที่ศรีราชา
โดยแผนแม่บทที่จะเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของเทคโนโลยีอวกาศในไทยในช่วง 15 ปีต่อจากนี้ ได้รับการร่างและกำลังจะเสนอให้กับ ครม. ในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนนี้จะครอบคลุมตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2580 แบ่งออกเป็น 8 ด้านคือ
- สร้างเทคโนโลยีด้านอวกาศเสริมสร้างความมั่นคงให้ประเทศ
- มุ่งเน้นการพัฒนาวิจัยที่ยั่งยืน
- เทคโนโลยีและกิจการที่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
- มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่
- มุ่งเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อกำลังคนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ
- การสร้าง infrastructure เพื่อสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศ
- ขอความร่วมมือจากต่างประเทศเพื่อให้เราก้าวทันเนื่องจากพันธมิตรต่างชาติที่แข็งแกร่งทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
- ส่งเสริมนโยบายให้การพัฒนาที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถดำเนินต่อได้โดยไร้อุปสรรค
พูดคุยกันท้ายบทความ
นับว่าเป็นข่าวดีที่ทาง mu Space ได้มีการจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Airbus และยังได้การสนับสนุนที่จริงใจจากทางภาครัฐผ่าน GISTDA แน่นอนว่าตอนนี้ผลผลิตจากด้านธุรกิจอวกาศจะกำลังอยู่ในช่วงวางรากฐานในไทย แต่ความสำเร็จในการเป็น Space Supply Chain ของทาง mu Space จะเป็นเครื่องยืนยันความสามารถและเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศออกไปอย่างก้าวกระโดด เรามาร่วมให้กำลังใจ หรือจะเข้าไปร่วมพัฒนาในฐานะนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านทาง mu Space หรือช่วยกันวางนโยบายให้กระชับขึ้นผ่านภาครัฐหรือ GISTDA ก็ได้ครับ ถ้าชื่นชอบในบทความวิทยาศาสตร์ทำนองนี้อย่าลืมกดติดตามทั้งในเพจ Facebook ของพวกเรา และเข้ามาอ่านเนื้อหาวิทยาศาสตร์ใน The Principia ได้เรื่อย ๆ นะครับ รอดูกันว่าครั้งต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร เจอกันครับ