องค์การ Nature in Focus ได้ประกาศรางวัลภาพถ่ายประจำปี 2021 ซึ่งคณะกรรมการไม่ได้ประกาศภาพชนะเลิศอันดับหนึ่ง เนื่องจากทุกภาพที่ได้รับรางวัลต่างมีคุณค่าในรูปแบบที่แตกต่างกัน มีทั้งในเรื่องของพฤติกรรมสัตว์หายาก รวมไปถึงเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เราไปดูกันว่าแต่ละภาพมีเรื่องเล่าอะไรบ้าง

ภาพจาก: Prikanya Rahut
เสือดาว (Leopard) มักอาศัยอยู่บนต้นไม้ มันสามารถกระโดดไปมาตามต้นไม้ได้อย่างว่องไว ในขณะที่เสือดาวตัวเมียตัวนี้นอนอยู่บนกิ่งไม้ มันก็ได้ยินเสียงกระรอกที่กำลังส่งเสียงร้องเตือนภัยให้กระรอกตัวอื่น ๆ อยู่ เสือดาวตัวนี้จึงตื่นขึ้นมาซุ่มจับ ตะปบกระรอกยักษ์มาลาบาร์ (Malabar giant squirrel) แล้วลากขึ้นไปกินบนกิ่งไม้
เสือดาวมีกล้ามเนื้อและกรามที่แข็งแกร่งมาก มันสามารถงับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันเองถึงสองเท่า แม้แต่ลูกยีราฟที่มีขนาด 100 กิโลกรัม มันก็สามารถลากขึ้นไปกินบนกิ่งไม้อย่างสงบได้

ภาพจาก: Shashwat Mohapatra
นกกะลิงเขียด (Rufous Treepie) มีมิตรภาพที่น่าสนใจกับเพื่อนสัตว์มีกีบ (Ungulate) อย่างเช่น กวาง (Deer) นกกะลิงเขียดมักเกาะอยู่ตามตัวกวาง เพื่อจิกกิน หมัด (Flea) และปรสิตที่อาศัยอยู่นอกร่างกายของโฮสต์ (Ectoparasite) แม้แต่บริเวณบั้นท้าย เจ้ากวางก็ยินดีให้นกตัวนี้เข้าไปจิกกินตามสบาย มันหายคันดี

ภาพจาก: Lakshitha Karunarathna
นกหัวขวานปากเหลือง (Yellow-billed oxpecker) เกาะบนจมูก ควายน้ำแอฟริกัน (African water buffalo) เพื่อกินแมลงและปรสิต เรียกได้ว่าตามตัววัวและควาย เปรียบเสมือนมีบุฟเฟ่ต์ให้นกกินได้ไม่หยุด วัวและควายก็จะได้หายคันจากบรรดาเห็บ (Ticks) ดูดเลือดที่อยู่ตามตัวมัน

ภาพจาก Lakshitha Karunarathna
ผีเสื้อจักรพรรดิ (Monarch butterfly) สีสันสลับลาย ละลานตาอยู่บนต้นสนเฟอร์โอยาเมล (Oyamel fir tree) บนภูเขาในประเทศเม็กซิโก ในสภาพอากาศที่หนทวเย็นบนภูเขา ร่มเงาจากต้นไม้สูงแบบนี้ทำหน้าที่เสมือนผ้าห่ม ให้ผีเสื้ออาศัยอยู่บนต้นไม้ได้ โดยที่อุณหภูมิไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

ภาพจาก: Jackson Johnson
แมลงปอบ้านแผ่นปีกกว้าง (Globe skimmers) ถือว่าเป็นแมลงที่สามารถบินทางไกลได้อึดที่สุดในโลก สมกับชื่อภาษาอังกฤษของมัน เพราะทุก ๆ ปี แมลงปอบ้านแผ่นปีกกว้างจะอพยพกันเป็นฝูง ข้ามระหว่างทวีปเอเชียและแอฟริกา ทั้งฝูงสามารถเดินทางด้วยกันกว่า 18,000 กิโลเมตร แมลงปอบ้านแผ่นปีกกว้างตัวเดียวสามทรถเดินทางไกลได้ถึง 6,000 กิโลเมตร และสามารถบินได้สูงถึง 6,200 เมตร

ภาพจาก: Shuvam Sadhukhan
ตั๊กแตนตำข้าว (Mantis) สามารถซุ่มอำพรางตัวได้อย่างแนบเนียน แล้วใช้แขนหน้าเข้าตะปบเหยื่ออย่างรวดเร็ว ตั๊กแตนตำข้าวเป็นแมลงนักล่าที่กินได้หลากหลาย กินได้ทั้ง จิ้งหรีด ผีเสื้อ หนอน และแม้แต่พวกเดียวกันเอง บางครั้งในขณะผสมพันธุ์ ตั๊กแตนตำข้าวต้วเมียอาจกินตัวผู้เป็นอาหารด้วย

ภาพจาก: Magnus Lundgren
หมึกสายมหัศจรรย์ (Wonderpus) เป็นสัตว์รักสันโดษ อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้น บริเวณหมู่เกาะมาเลย์ มันสามารถเปลี่ยนสี พรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือทำตัวให้คล้ายสัตว์อื่น เช่น ปลาสิงโต งูสมิงทะเล หรือแม้แต่หมึกสายเลียนแบบ (Mimic octopus) ญาติของมัน หมึกสายมหัศจรรย์มีหนวดที่สามารถสลัดทิ้งได้ หนวดสามารถงอกใหม่ได้

ภาพจาก: Prathamesh Ghadekar
สปอร์ (Spore) จาก เห็ดรา (Fungus) เกิดเป็นสีสันขึ้นมาเมื่อโดนแสงแฟลชจากกล้อง ซึ่งช่างภาพได้บังเอิญผ่านไปเห็นเห็ดราที่เติบโตอยู่บนขอนไม้ เมื่อลมพัดพาสปอร์ของเห็ดราลอยขึ้นไปในอากาศ เขาจึงได้ภาพสีสันสวยงามนี้มา

ภาพจาก: Muhammad Murad
ช่างภาพใช้เวลากว่าสองเดือนในการติดตามถ่ายทำพฤติกรรมของครอบครัวหมาจิ้งจอกอาหรับสีแดง (Arabian red fox) ใกล้ ๆ รังของมันในเมืองคูเวต

ภาพจาก Karamjeet Singh
สุนัขที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ กำลังเห่าไล่หมีหิมาลายันสีน้ำตาล (Himalayan brown bear)

ภาพจาก Devendra Chauhan
จระเข้ (Crocodile) มักจะนอนอาบแสงอาทิตย์ เพื่อปรับอุณหภูมิร่างกายของมัน ภาพนี้เผยให้เห็นจระเข้นอนอาบแดดท่ามกลางกองขยะพลาสติก
อ้างอิงจาก:
Nature in Focus. 2021. Nature in Focus Photography Contest 2021 the Winners. https://www.natureinfocus.in/environment/nature-infocus-photography-contest-2021-the-winners