ถ้าเกิดคุณเจอซากวาฬขนาดใหญ่เกยตื้นอยู่ คิดว่าควรจัดการกับมันยังไง?
“ระเบิดซากมันทิ้ง” เป็นวิธีการสุดท้ายที่ใครก็ตามควรทำ
ระเบิดวาฬ ณ โอเรกอน (Oregon’s Exploding Whale)
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1970 ที่ชายหาดแห่งหนึ่งในรัฐ Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา มีวาฬหัวทุย (Sperm whale) ตัวหนึ่งเกยตื้นขึ้นมาอยู่ที่บริเวณนั้น ขนาดตัวของมันใหญ่โต มีความยาวประมาณ 14 เมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 8 ตัน ในยุคสมัยนั้นผู้คนคงยังไม่รู้วิธีจัดการกับเจ้าซากสัตว์ยักษ์ตัวนี้ จะผลักมันลงทะเลก็หนักเกินไป จะขุดหลุมฝังมันก็ดูจะใช้หลุมขนาดใหญ่มากจนนึกเสียเวลา หรือจะปล่อยให้ย่อยสลายเองคนแถวนั้นก็คงต้องบ่นกับความเหม็นของซากนี้ไปอีกแสนนาน
ผ่านไปแค่ 3 วัน คนที่อยู่แถวนั้นก็เริ่มทนรำคาญความเหม็นของซากวาฬตัวนี้ไม่ไหว Oregon State Highway Division หรือ ODOT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลชายหาดในรัฐแห่งนี้จึงต้องเร่งหาวิธีจัดการ และสุดท้ายจบลงที่ว่า พวกเขาจะใช้วิธีการ “ระเบิดซากมันทิ้ง”
พวกเขาใช้ระเบิดไดนาไมต์ปริมาณครึ่งตัน ด้วยความตั้งใจจะระเบิดวาฬตัวนี้ซะ โดยหวังว่าหลังจากซากวาฬเกยตื้นที่กระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะกระเด็นตกลงไปในทะเล เพื่อเป็นอาหารให้แก่ปลาตัวอื่นในน้ำ หรือแม้แต่ที่กลายเป็นซากบนชายหาด ก็จะกลายเป็นอาหารของนกนางนวล และปูตามชายหาด เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศต่อไป ส่วนชิ้นที่ใหญ่ ๆ ก็สามารถทำการขนย้ายซากเหล่านั้นไปฝังกลบที่อื่นได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ด้วยความตั้งใจดีแบบนี้ พวกเขาคาดหวังว่างานนี้จะผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี ติดที่ว่า ระเบิดครึ่งตันดูจะเป็นปริมาณที่เยอะไปเสียหน่อย
ระเบิดถูกฝังไว้ใต้ซากวาฬตัวนั้นเป็นที่เรียบร้อย พร้อมจุดระเบิด ผู้คนโดยรอบต่างยืนลุ้นร่วมเป็นพยานให้แก่วินาทีประวัติศาสตร์ที่ผู้คนจะจดจำไปอย่างยาวนาน และแล้วเวลา 15.45 น. ระเบิดถูกจุดขึ้น ทรายบริเวณเดียวกับตำแหน่งระเบิดฟุ้งกระจายสูงขึ้นกว่า 30 เมตร ที่ลอยสูงขึ้นไปพร้อม ๆ กันคือซากของวาฬเกยตื้นผู้โชคร้ายตัวนั้น ซึ่งเป็นไปตามแผน แต่ที่เกินไปกว่าแผนคือ เมื่อซากวาฬตกกลับลงมายังพื้นโลก มันมีปริมาณเยอะเหลือเกิน ที่ตกลงมามากมายราวกับห่าฝนในคืนพายุคลั่ง ผู้คนที่รอดูอยู่โดยรอบต้องวิ่งหนีกันชุลมุนเพื่อเอาชีวิตรอดจากซากปลาที่ร่วงหล่นจากฟ้า เพราะนอกจากมันจะเยอะแล้ว บางชิ้นมันไม่ได้เล็กอย่างที่คิดด้วย!
กลิ่นที่ตลบอบอวลจากซากเครื่องในวาฬ ยังไม่ร้ายแรงเท่าเศษซากขนาดใหญ่เท่าล้อรถบรรทุกของวาฬตัวนั้น ที่ตกใส่อาคารและหลังคารถที่จอดอยู่โดยรอบในระยะไม่ไกลมาก สร้างความเสียหายทางทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และที่ไม่เป็นไปตามแผนเลยอีกหนึ่งเรื่องคือ นกนางนวลที่คาดว่าจะมาช่วยกำจัดเศษซากวาฬกลับไม่เลือกที่จะอยู่รอกินบุฟเฟต์มื้อใหญ่ เพราะพวกมันตกใจกลัวและบินหนีหายไปตั้งแต่ได้ยินเสียงระเบิดแล้ว และไม่มีวี่แววว่าจะกลับมาในบริเวณนั้นอีกเลย
เมื่อเหตุการณ์สงบลง ไม่มีซากวาฬตัวใดหล่นลงมาจากฟากฟ้าเพิ่มอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้ามากวาดเศษซากริมชายหาดลงท้องทะเล เก็บชิ้นส่วนเท่าที่ทำได้เพื่อเตรียมการไปฝังกลบ และที่สำคัญต้องเคลียร์ใจกับชาวบ้านบริเวณโดยรอบที่ได้รับความเสียหาย เหตุการณ์ครั้งนี้จึงกลายเป็นความอัปยศอดสู จากความไม่รู้ สู่บทเรียนที่ผู้คนจดจำกันยาวนานมามากกว่า 50 ปีแล้ว
สามารถรับชมเหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านคลิปการรายงานข่าวที่ลิงก์นี้: https://youtu.be/xBgThvB_IDQ?si=Owy7WDq5oNeBYaYM
ไม่ต้องวางระเบิด วาฬก็ระเบิดได้
ความจริงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระเบิดไดนาไมต์ วาฬเกยตื้นก็อาจจะเกิดระเบิดเองได้ตามธรรมชาติอยู่ดี เนื่องจากซากสัตว์ที่ตายแล้วมีการสะสมแก๊ส เช่น มีเทน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และแอมโมเนีย ปริมาณมากอัดแน่นอยู่ภายในร่างกาย ในขณะที่เซลล์ผิวหนังเริ่มเสื่อมสลายลงทุกนาที แรงดันจากแก๊สภายในร่างกายจึงเป็นเหมือนระเบิดเวลา ที่รอคอยเพียงแค่เซลล์ของร่างกายสัตว์ตัวนั้นจะทนรับแรงดันไม่ไหว และกลายเป็นระเบิดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
สัตว์หลายชนิดที่ตายลง สามารถระเบิดได้ แต่กับวาฬยิ่งรุนแรงและเห็นได้ชัด เพราะขนาดตัวของมันที่ใหญ่มาก แต่กลับมีช่องระบายแก๊สเล็ก ๆ แค่เพียงไม่กี่ช่อง ได้แก่ ปาก จมูก และรูทวาร รวมถึงถ้าเทียบอัตราส่วนระหว่างขนาดตัวโดยรวมของมันกับพื้นผิวหนังมันแล้ว คงมีเซลล์ที่รอรับแรงดันมากมายจากแก๊สที่อยู่ภายในร่างกายไม่ได้มากขนาดนั้น โดยเฉพาะส่วนท้องที่อัดพองจนเกิดการระเบิดได้ง่าย และอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมเครื่องในไหลออกมากอง ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ไม่ต่างอะไรมาก จากเหตุการณ์แรกที่มนุษย์เป็นผู้วางระเบิดด้วยตัวเอง
เคยมีเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อปี 2004 ที่เมืองไถหนาน ในประเทศไต้หวัน เจ้าหน้าที่รัฐขนซากวาฬเกยตื้นขนาดความยาว 17 เมตร หนัก 60 ตัน ขึ้นรถบรรทุก เพื่อหวังจะนำไปฝังกลบอย่างถูกต้อง แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อซากวาฬที่มีแก๊สสะสมปริมาณมาก และมีความอ่อนไหวต่อการขยับแม้เพียงเล็กน้อย เกิดอ่อนไหวมากเสียจนมันระเบิดออกมาก ทำให้บ้านเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้องรับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากความเหม็นคาวเครื่องในวาฬที่ไหลทะลักออกมาทั่วพื้นถนน
วาฬเกยตื้นเกิดจากอะไร? และควรจัดการอย่างไร?
หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า มีข่าววาฬเกยตื้นบ่อยขนาดนี้ แล้ววาฬเกยตื้นเพราะอะไร? คำตอบก็คือมีหลายเหตุผลมาก
เหตุผลแรกที่ทำให้วาฬเกยตื้น อาจเป็นเพราะวาฬที่กำลังป่วย บาดเจ็บ ติดเชื้อ ติดเครื่องมือประมง อายุมาก หรือเพิ่งตายใหม่ ๆ แล้วไม่สามารถว่ายน้ำได้อย่างปกติ มันอาจถูกกระแสน้ำพัดพามาจนคลื่นฝั่งโดยที่มันไม่ตั้งใจ แต่หลายครั้งที่มีวาฬเกยตื้นจำนวนมากกว่าหนึ่งตัว เหตุการณ์แบบนี้อาจมีสาเหตุจากการส่งเสีนงร้องขอความช่วยเหลือของวาฬที่เกยตื้นตัวแรก วาฬตัวอื่นในฝูงจึงมุุ่งหน้ามาช่วยในบริเวณน้ำตื้น ทำให้ต้องเกยตื้นไปพร้อม ๆ กัน
เหตุผลต่อมาคือ บางทีวาฬอาจไม่ได้กำลังเจ็บป่วย แต่มันกำลังหนีภัยร้ายบางอย่างจนออกนอกเส้นทางตามปกติ เช่น หลบหนีสัตว์ผู้ล่า หลบหนีความอดอยากมาหาอาหารในถิ่นใหม่ หรือแม้แต่หลบหนีปัญหาน้ำเสียอย่าง การปนเปื้อนน้ำมันดิบในทะเล หรือปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ (Plankton Bloom) ก็ทำให้วาฬผู้โชคร้ายต้องออกนอกเส้นทาง และมาพบกับจุดจบบนหาดทรายได้
อีกเหตุผลที่ทำให้วาฬเกยตื้น อาจเป็นเพราะพวกมันเจอสัญญาณรบกวน เคยมีงานวิจัยที่หมู่เกาะบาฮามา ในทะเลแคริเบียน ที่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการออกนอกเส้นทางของวาฬ และการใช้เรือดำน้ำปล่อยคลื่นโซนาร์ใต้น้ำในบริเวณใกล้เคียง เมื่อทั้งสองเหตุการณ์มีความสัมพันธ์กันจึงเป็นไปได้ว่า คลื่นโซนาร์จะไปรบกวนระบบนำทางตามธรรมชาติของวาฬ จึงส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องจนศาลสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้คลื่นโซนาร์ในกิจการทหารเรือมาแล้ว
เหตุการณ์วาฬเกยตื้น หรืออาจเรียกว่าเป็นการเกยตื้นของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ที่นับเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่สุด เกิดจากวาฬเพชฌฆาตแคระ (Pygmy Killer Whale) จำนวน 835 ตัวขึ้นมาเกยตื้นตายในเวลาเดียวกัน บนชายหาดในเมือง Mar del Plata ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี 1946
คราวนี้มาตอบอีกคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยบ้างว่า ควรจัดการกับวาฬเกยตื้นด้วยวิธีการใดกันแน่? คำตอบขออ้างอิงจากแนวทางการปฏิบัติในเหตุการณ์วาฬเกยตื้นกว่า 300 ตัวในประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2017 ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่พบซากวาฬบวมอืดอยู่เต็มชายหาดย่านโกลเดน เบย์ บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จึงทำการ “เจาะซากวาฬ” เพื่อระบายแก๊สที่อยู่ในร่างกายของซากวาฬเหล่านั้นออกให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการระเบิด หลังจากนั้นจึงขนย้ายซากวาฬทั้งหมดไปฝังกลบในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป
แต่ถ้าหากเราเองเป็นคนพบสัตว์น้ำขนาดใหญ่เกยตื้นที่ยังมีชีวิตอยู่ และเราต้องการช่วยเหลือพวกมันเบื้องต้น ให้ขุดทรายบริเวณใต้ครีบอกและลำตัวของสัตว์แล้วเติมน้ำลงไปเพื่อช่วยลดแรงกดจากน้ำหนักตัวของพวกมันเอง แล้วช่วยควบคุมฝูงชนให้อยู่ห่างจากตัวสัตว์ เพื่อลดความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกมัน เพราะความเครียดของสัตว์เกยตื้นที่มากเกินไปอาจทำให้พวกมันตายได้ หลังจากนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและสัตว์ตัวนั้นร่างกายแข็งแรงเพียงพอ สามารถใช้เปลยกตัวสัตว์ขึ้นมา โดยจัดท่าให้ครีบอกไม่บิดหรืออยู่ผิดตำแหน่ง แล้วพามันไปส่งในทะเลในระดับความลึกที่เหมาะสมได้
แต่สำหรับพวกเราคนธรรมดา ถ้าพบเห็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่เกยตื้นและต้องการความช่วยเหลือ ทางที่ดีควรแจ้งไปที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเพื่อประสานหน่วยงานมาที่กรม ทช. ในแต่ละพื้นที่ต่อไป
อ้างอิง
The Exploding Whale remastered: 50th anniversary of legendary Oregon event
Dead blue whale ‘might explode’ in Newfoundland town
Thar she blows! Dead whale explodes
Why Do Whales Beach Themselves?
นิวซีแลนด์เร่งกำจัดซากวาฬเกยตื้นกว่า 300 ตัว