เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะมีประสบการณ์เพาะเลี้ยงเชื้อในจานเพาะเชื้อมาบ้าง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการที่เราจะเลี้ยงเชื้อเนี่ยเราต้องพยายามทะนุถนอมประหนึ่งไข่ในหิน ต้องทำให้จานเพาะเชื้อสะอาดที่สุด ต้องไม่เปิดฝานานเกินไป ต้องเก็บไว้ในตู้ที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสมเพื่อที่ในอนาคตอันรุ่งโรจน์ของงานวิจัย (และไม่โดน Advisor หรือ Supervisor กินหัว) แต่ทว่ามนุษย์ย่อมมีความผิดพลาดเชื้อที่โตในจานเพาะเชื้อเราอาจจะเป็นเชื้อชนิดอื่นที่เราไม่ได้สนใจหรือต้องการให้มันซะเท่าไหร่ (เตรียมตัวหูชาได้เลย)
การปนเปื้อนเชื้อที่เราไม่ได้สนใจเนี่ยเราเรียกว่า Contaminate ซึ่งเชื้อที่ปนเปื้อนส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อราเหตุผลเพราะเชื้อรานั้นปล่อยสปอร์ลอยในอากาศ ซึ่งหากคุณเอาจานเพาะเชื้อมาโบกสะบัดรับลมแค่ 10 วินาทีเชื้อราก็สามารถแลนดิ้งลงบนจานเพาะเชื้อและเจริญเติบโต ขยายเผ่าพันธุ์จนเต็มจานเพาะเชื้อในเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

ที่มา : ABC News
ซึ่งเรื่องราวการปนเปื้อนครั้งสำคัญของโลกนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 100 ปีก่อน ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ในจานเพาะเชื้อ ก่อนการลาพักร้อนกับครอบครัว แต่ทว่าห้องแล็บของเค้าในตอนนั้นค่อนข้างที่จะรกและไม่เป็นระเบียบ รวมทั้งตอนนั้นยังไม่มีตู้เพาะเลี้ยงเชื้อที่ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ ดังนั้นการเลี้ยงเชื้อในจานเพาะเชื้อไม่ต่างอะไรกับคุกกี้เสี่ยงทาย (แอบมองเธอออยู่นะจ๊ะ) ว่าจานนี้จะใช้ได้หรือไม่ได้ และใช่ครับทันทีที่เค้ากลับมาที่ห้องแล็บอันแสนรกของเค้าจานเพาะเชื้อบนม้านั่งของเค้าอันหนึ่งมันดัน Contaminate เชื้อราตัวหนึ่งซึ่งตามปกติถ้าเห็นจานเพาะเชื้อไหน ใช้ไม่ได้เราก็ต้องจำใจทิ้งมันไว้แต่ทว่าเค้ากลับสงสัยทำไมเชื้อแบคทีเรียบนจานเพาะเลี้ยงเชื้ออันนั้นทำไมมันตายหมดเลย เค้าเลยลองเอาเชื้อราในจานไปเลี้ยงต่อจนพบว่าเชื้อราชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้หลายชนิด
จานเพาะเชื้อเพียงหนึ่งจานนี้ได้สร้างชื่อให้กับชายผู้นี้ในฐานะผู้คิดค้นยาเพนนิซิลลินหรือยาปฏิชีวนะชนิดแรกของโลก อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ซึ่งยาเพนิซิลินนี้มีบทบาทมากต่อวงการแพทย์ในยุคนั้นเนื่องจากในอดีตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยาฆ่าเชื้อในสมัยนั้นเป็นเพียงการใช้ไลโซไซม์ ซึ่งเป็นสารคัดหลั่งสำหรับยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียซึ่งสามารถป้องกันได้ไม่มาก รวมทั้งทำให้แผลได้รับความเสียหายตามไปด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนกระทั้งการประดิษฐ์เพนนิซิลลินที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรค

ทำความรู้จักเพนนิซิลลิน
เพนนิซิลลินคือยาปฏิชีวนะในกลุ่มของเบต้า-แลคแตมจัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อผนังเซลล์ของแบคทีเรียซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพันธะของสายเปบทิโดไกลแคนซึ่งจะถูกสร้างเป็นผนังเซลล์ของแบคทีเรีย
เกมส์แมวจับหนูของแบคทีเรีย
อย่างที่ทราบกันดีเชื้อแบคทีเรียมีด้วยกัน 2 ชนิดคือ แบคทีเรียแกรมบวกและแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งยากลุ่มเบต้า-แลคแตมของเพนนิซิลลินออกฤทธิ์กับแบคทีเรียแกรมบวกเป็นหลักเนื่องจากมีเป็นกลุ่มเดียวที่มีผนังเซลล์ด้านนอกประกอบด้วยชั้นของเปบทิโดไกลแคน ในขณะที่แบคทีเรียแกรมลบมีเมมเบรนชั้นนอกขวางกั้นทำให้การออกฤทธิ์ของเพนนิซิลลินเป็นไปได้ยากจึงได้สร้างยากลุ่มอะมิโนเพนิซิลลินเพื่อใช้ในกรณีทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ รวมทั้งการสร้างยาปฏิชีวนะอื่น ๆ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
แต่ทว่าในสงครามที่ยาวนานนี้เอง เชื้อแบคทีเรียก็ไม่ได้อยู่เฉย พวกมันต่างหาวิธีที่เอาตัวรอดหรือที่เรียกว่าการดื้อยาขึ้น เช่น การส่งออกตัวยาออกนอกเซลล์ การหลั่งสารเพื่อกำจัดหรือยับยั้งฤทธิ์ของยา สร้างเกราะปกป้องไม่ให้ตัวยาเข้าสู่เซลล์นั้นจึงทำให้มีการผลิตยาตัวใหม่ ๆ ซึ่งพัฒนาจากเพนนิซิลลินตัวเดิม ๆ ทำให้ปัจจุบันนอกจากเพนนิซิลลินแบบดังเดิมและอะมิโนเพนิซิลลินที่ได้กล่าวไว้ข้างบน แล้วยังมียาตัวอื่น ๆ อีกมากมาย
อ้างอิง
Penicillin (เพนิซิลลิน) – รายละเอียดของยา – พบแพทย์ (pobpad.com)