คนเราพยายามทำสิ่งหนึ่งที่ใจรัก โดยไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่าได้นานขนาดไหน?
สิ่งที่ พล–นวพล เชื่อมวราศาสตร์ ทำมาตลอด 8 ปี เขารู้ว่ามันมีประโยชน์ต่อผู้คน แต่ไม่เคยรู้ว่ามันส่งอิทธิพลไปยังผู้คนมากขนาดไหน สิ่งที่จะใช้ชี้วัดการทำงานของเขาคือ ‘ถ้วยรางวัล’ แค่เพียงสักชิ้น ที่จะช่วยการันตีว่า เขาทำหน้าที่เป็น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ที่ดีและประสบความสำเร็จในการสื่อสารความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ไปถึงใจคน
แต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลใหญ่อย่างที่วาดฝันไว้เลยตลอด 8 ปี
จนกระทั่งวันนี้… ที่เขาทำความฝันนั้นให้เป็นจริงได้ จากถ้วยรางวัลแรกของชีวิต
พล SaySci เพิ่งได้รับรางวัล TikTok Awards Thailand 2023 ในสาขา Best of Education ที่การันตีว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับการลงคะแนนเสียงว่าเป็นผู้ที่ให้ความรู้ได้ยอดเยี่ยมที่สุด บนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดฮิตแห่งยุคสมัยนี้
ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการมอบรางวัลแก่ครีเอเตอร์ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่สื่อใหญ่อะไร เพราะคะแนนเสียงในสาขาที่ให้ความรู้อย่างสาขา Best of Education มีจำนวนเสียงมากที่สุดจากทุกสาขา แสดงให้เห็นว่าผู้คนหันมาสนใจการหาความรู้จากโลกออนไลน์กันมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โดยพล เจ้าของช่อง TikTok ‘SaySci’ ที่มียอดคนติดตามเกิน 1 ล้านคน ก็สึกดีใจกับความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งแรกของเขามาก ที่สามารถยืนยันการส่งอิทธิพลด้านความรู้ให้คนอื่นได้จริง ๆ สมกับที่เป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ และยังทำให้คนที่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ หันมารักมันได้จริง ๆ สมกับที่เป็น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’
เริ่มต้นเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จริง ๆ เมื่อไหร่
ต้องย้อนความกลับไปนานเลย ปกติเรามักพูดว่าเราทำสื่อสารวิทยาศาสตร์มา 8 ปี แต่ความจริงเรื่องมันยาวกว่านั้นอีกนะ เอาจริง ๆ ก่อน 8 ปี เราก็เคยอยากทำคอนเทนต์ออนไลน์ เพราะในสมัยนั้นเราเห็น VRZO อะเนอะ ฉะนั้นคงต้องย้อนกลับไปตอน ม.2 เลย เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่เราอยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ออนไลน์
ถ้านับว่าลงมือทำคือ 8 ปี แต่ถ้านับว่าเริ่มฝันว่าจะทำคือ 12 ปี
ใช่ ตอนนั้นเราเห็นเมืองนอกเขาทำกันเยอะ ยกตัวอย่างในยุคนั้นมันก็จะเก่า ๆ หน่อย (หัวเราะ) เช่น Ray William Johnson คราวนี้เราอยากทำบ้าง เพราะเราชอบ เราก็เลยเรียนตัดต่อด้วยตัวเอง ใช้โปรแกรม Window Movie Maker จนเริ่มคล่อง ตอนที่อยากตัดต่อวิดีโอเป็นตอนนั้นคือ ม.2 เรานั่งเรียนตัดต่อด้วยตัวเอง ลองทำเอง ใช้เครื่องมือนู่นนี่นั่นเป็น จนขึ้น ม.3 เราก็เริ่มทำคอนเทนต์ ยุคนั้นเราแคสต์เกม Minecraft เล่นกับเพื่อน มีคนเข้ามาดูประมาณ 1-2 คน สักพักก็เลิกทำไป เพราะมันก็ไม่ได้สำคัญอะไรกับชีวิตในตอนนั้น
พอลองย้อนคิดดู เพื่อนคนหนึ่งที่เล่นเกม Minecraft มาด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ไปเป็นโปรเพลเยอร์ E-Sport แล้ว คนอื่นก็แยกย้ายกันไปเติบโต บางคนก็ไม่รู้แล้วว่าไปอยู่ไหน
หลังจากปิดไปก็มีเปิดใหม่ จนถึงช่วงระหว่าง ม.6 ไปเป็นนิสิตปี 1 ตอนนั้นมีเวลาว่างประมาณ 8 เดือน เราเลยคิดว่า “อยากทำเว้ย” แต่ก็ยังไม่ลงมือทำสักที จนกระทั่งได้เข้ามาเรียนใน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกชมรมชื่อ ‘ชมรมสื่อและประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘SCIREN’ ซึ่งชมรมก่อตั้งโดยรุ่นพี่ 5 คนแรก เราเข้าไปเป็นรุ่นที่ 2 ของชมรม
ด้วยความที่เป็นชมรมใหม่ ยังไม่มีผลงานชัดเจน ก็ต้องหาผลงานให้กับชมรมอยู่เรื่อย ๆ ตอนแรกก็ทำหนังสั้นส่งคณะ ทำไปเรื่อย ๆ จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาทำเว็บไซต์ให้เขียนบทความวิทยาศาสตร์ชื่อเว็บไซต์ว่า soscity.co เราเลยมีโอกาสได้เขียนบทความให้เขาด้วย จำได้เลยว่าบทความแรกเขียนถึงตัวละคร ‘Toad’ จากเกม Super Mario Bros ที่มีลักษณะเป็นตัวละครหน้าตาน่ารัก มีหัวเป็นเห็ด แต่เรารู้ได้ยังไงว่าเห็ดที่ครอบอยู่บนหัวเป็นของ Toad จริง ๆ เขาอาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่ถูกควบคุมสมองโดยเชื้อราที่ชื่อว่า Cordyceps ก็ได้ เราเอาเรื่องนี้มาจาก YouTube ช่องหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Game Theory’ เห็นว่าน่าสนใจดี แต่ยังไม่มีใครในไทยทำ เราก็เลยเอามาทำ
(สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://soscity.co/life/play/toad-in-mario-is-cordyceps/)
งานสื่อสารวิทยาศาสตร์งานแรกที่ทำให้ตั้งต้นนับเวลา 8 ปี คืองานเขียนชิ้นนี้
ถูกต้อง เราเขียนบทความตั้งแต่ปี 1 แล้วเว็บไซต์เคยถูกปิดตัวไป เพิ่งกลับมาเปิดตัวใหม่ อาจจะเห็นว่าบทความในเว็บไซต์ถูกเผยแพร่ในปี 2018 แต่ความจริงมันเก่ากว่านั้น
หลังจากเขียนบทความนั้นไปแล้ว เราก็ลองทำอย่างอื่นบ้าง สมัยนั้นมีสิ่งที่เรียกว่าห้องติว เราได้ไอเดียมาจากห้องติวแล้วลองนำไปเสนอเพื่อน ๆ ว่า ถ้าพวกเราทำสิ่งที่อยู่ในห้องติวให้กลายเป็นวิดีโอจะเป็นยังไง วิดีโอเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์แบบสั้น ๆ ก็เลยได้ทำขึ้นมาจริง ๆ ชื่อรายการว่า soscity TV ตอนนั้นมีเรากับเพื่อนอีกคนเป็นผู้ดำเนินรายการ รูปแบบรายการก็คล้ายกับ SaySci ในปัจจุบันนั่นแหละ แต่แบ่งเป็นสองช่วงคือ soscity TV คือช่วงที่เราพูดสาระ และมีช่วง soscitips ที่มีเพื่อนอีกคนเขาจะทำ Tips & Tricks เล็ก ๆ น่ารัก ๆ ด้วย จำได้แม่นเลยว่าตอนแรกสุดของรายการนี้พูดเรื่อง น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลหวานได้ไง? พูดเรื่องสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น แอสปาแตม อะไรแบบนี้
(สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/WV2akd7U7SU?si=-2UentwfhTJiCtsi)
พอทำตอนแรกออกไปปรากฏว่า จ่าพิชิตแชร์ แล้วอ.เจษฎ์ (รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์) ก็แชร์อีก มันก็เลยบูมในระดับหนึ่งตั้งแต่ออกตอนแรกเลย พอมันเป็นแบบนั้นพวกเราเลยทำต่อกันมา แต่ทำไปได้ไม่กี่ตอนได้ไปคุยกับทางคณะ เขาอยากให้เราทำงานใหม่อีกงาน เป็นรายการแนะนำภาควิชาในคณะวิทยาศาสตร์
เราเลยมีไอเดียผุดขึ้นมา แล้วไปบอกเพื่อนว่า “ไอเดียนี้จะบ้าเลยนะ” เพราะไอเดียที่ว่าเป็นรายการชื่อ วิ่งสู้วิทย์ – SCI RUNNERS สไตล์คล้ายรายการ Running Man คือเป็นเกมวิ่งไล่จับเพื่อดึงป้ายชื่อข้างหลังคนอื่น พอคิดได้แบบนั้นก็รวมทีมเลย มีพิธีกรรายการ 7 คน แล้วพิธีกรแต่ละคนต้องมีตากล้องเดินตามรวมแล้วอีก 7 คน และต้องมีตำแหน่งที่เราเรียกว่า PD เป็นทีมงานช่วยประสานระหว่างพิธีกรอีก 7 คน มี Main PD ตรงกลางอีก มีแขกรับเชิญอีก ถ่ายครั้งหนึ่งต้องมีคนประมาณ 20-30 คน
ใช้คนเยอะแบบนี้ มีคนร่วมทำพอไหม แล้วผลตอบรับเป็นอย่างไร
คนร่วมทำรายการพอนะ ตั้งแต่เอาไอเดียนี้ไปบอกเพื่อน เราวางแผนกันตั้งแต่ตอนปี 1 แล้วได้เริ่มทำจริงตอนประมาณปี 2 ตอนแรก ๆ ที่ถ่ายก็จะดึงน้องปี 1 มาช่วยบ้าง ดึงรุ่นพี่มาทำบ้าง ดึงรุ่นเพื่อนมาบ้าง ได้คนจากชมรมฟุตบอลอะไรแบบนี้มาช่วยด้วย ทำไปจนได้ถึง 14 ตอน ครบตามจำนวน 14 ภาควิชา พบว่ามันมีตอนที่ผลตอบรับปังมาก ๆ เช่น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่เล่นใหญ่ เขาให้เราไปถ่ายที่แสมสารเลย เราก็ตกใจว่าทำได้ขนาดนั้นเลยเหรอ ให้เราใช้ได้ทั้งสถานที่ ใช้ได้ทั้งห้องแล็บที่ปกติใช้เป็นห้องเรียนเอาไว้ให้พวกเราไปถ่ายรายการวิ่งไล่จับกันในนั้น แต่สุดท้ายมันสนุกมาก ยอดรับชมก็อยู่ที่หลักพัน เกือบ ๆ แตะหลักหมื่น คนที่ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย อย่างน้อง ๆ นักเรียนก็เริ่มรู้จักและกดติดตามมา จนเรารู้สึกว่า “รายการนี้มันดีมากเลยว่ะ”
แสดงว่าเริ่มเป็นที่รู้จักจากคนนอกวงการครั้งแรกเพราะรายการ วิ่งสู้วิทย์ – SCI RUNNERS
ใช่ ถึงขั้นที่พิธีกรรายการคนหนึ่งกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แล้วเจอรุ่นน้องทักว่า “เพิ่งรู้นะว่าพี่อยู่ในรายการนี้ด้วย เพราะดูอยู่ตลอดเลย” ซึ่งน้องเขาไม่ได้ดูเพราะมันเป็นรายการวิทยาศาสตร์ แต่เขาดูเพราะมันเป็นเกมวิ่งไล่จับ ก็เลยคิดว่า “หรือสิ่งที่เราทำมันจะเวิร์กวะ”
จากนั้นก็เลยเสนอชมรมต่อว่าอยากทำซีซัน 2 เพราะมันมีคนที่เขารอดูอยู่ แต่เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้มันมีความขัดแย้งกันในชมรมเลย มันมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะมันต้องใช้ทรัพยากรเยอะอะเนอะ แต่ในตอนนั้นเรายังไม่โตขนาดนั้น ความคิดยังเป็นเด็ก แล้วก็ใจร้อนด้วย พอเกิดความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้น เราก็ตัดสินใจลาออกจากชมรม ตอนนั้นมีแค่เรากับอีกคนที่ตัดต่อกันเองด้วยนะ เราก็ทำรายการให้มันจบตามที่คณะขอมา พอครบแล้วเราก็ออกเลย ช่วงนั้นปี 2017 อยู่ปี 2 ขึ้นปี 3 พอดี
หลังจากนั้นยังอยู่ในวงการสื่อสารวิทยาศาสตร์หรือเปล่า หรือว่าหยุดพักไปก่อน
เรายังทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ตลอดนะ เพราะวันที่เราลาออก ถุงแป้ง ที่เป็นเพื่อนเราและเป็นหนึ่งในพิธีกร SCI RUNNERS เขาก็โทรมาบอกว่า เขาไปเห็นโครงการหนึ่งมาชื่อว่า ‘โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (YTSA)’ แล้วยุคนั้นแข่งเป็นคู่
ถุงแป้งเลยอยากให้เราไปคู่เขาเพื่อที่จะได้ลงแข่งในโครงการนี้ เพราะเห็นว่าเราทำได้ เราก็คิดว่า “เอาวะ ลองดู” ก็เลยตั้งทีมว่า วิ่งสู้วิทย์–SCI RUNNERS แม้ว่าเราจะออกจากชมรมมาแล้ว แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราสองคนมาเจอกัน พอได้ชื่อทีมแล้วก็สมัครเข้าร่วม ขั้นแรกต้องทำคลิปส่งไป สบายอยู่แล้วอันนี้ พอเข้ารอบต่อมาต้องไปเข้าค่ายกับเขาที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จังหวัดปทุมธานี แล้วทำการคัดเลือกจาก 25 ทีมให้เหลือ 10 ทีม เพื่อไปแข่งรอบชิงชนะเลิศอีกทีในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผลปรากฏว่าเราเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งทั้ง 10 ทีมจะได้เงินมาทีมละ 3,000 บาทเพื่อนำไปพัฒนาผลงาน
ปีนั้นได้รับโจทย์เป็น ‘มหาวิกฤติภัยดาวโลก (Mega Crisis)’ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่อยู่ใต้โจทย์นี้ที่เขาให้มาคือ ‘น้ำขาดแคลน’ เราเลยใช้เงิน 3,000 บาทที่เขาให้มา เติมเงินตัวเองเข้าไปอีกนิดหน่อย เพื่อบินไปดูพิพิธภัณฑ์ชื่อ ‘NEWater Visitor Centre’ ที่ประเทศสิงคโปร์
เราสนใจที่เขาสามารถกรองน้ำจากห้องน้ำให้กลายมาเป็นน้ำดื่มสะอาดใส่ขวดได้ เรามองว่าที่ต้องไปถึงขั้นนั้นเพราะประเทศสิงคโปร์เป็นแค่เกาะ ๆ หนึ่ง ไม่มีแหล่งน้ำจืด แต่เขาต้องทำให้น้ำดื่มเพียงพอกับประชากรของเขา สภาวการณ์เขาร้ายแรงกว่าประเทศเราเยอะ เราเลยไปถึงที่นั่นแล้วไปถ่ายวิดีโอมาเพื่อใช้นำเสนอในวันแข่งรอบชิงชนะเลิศ กรรมการเขาก็ว้าวนะ ว่าเวลาที่ให้ไป 2-3 เดือนกับเงินอีก 3,000 บาท คุณไปไกลถึงสิงค์โปร์ ในขณะที่ทีมอื่นเอาเงินไปทำพร็อปนู่นนี่นั่น แต่เราเล่นใหญ่กว่านั้นเลยดูโดดเด่น
สรุปว่ามีทีมที่ชนะ 2 ทีม คือทีมเรา กับอีกทีมที่ทำเรื่องเผาตอซัง ฟางข้าว แล้วลงพื้นที่จริงเหมือนกัน ทั้งสองทีมที่ชนะเลยดูโดดเด่นเพราะไปลงพื้นที่จริงเหมือนกัน ก็เลยได้รับรางวัล ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม’ ในปีนั้นมา
ก่อนหน้านั้นรู้จักคำว่า ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ มาก่อนไหม
เชื่อไหม ตอนทำชมรม เราก็ยังไม่รู้จักคำนี้เลย เราเพิ่งมารู้จักตอนเข้าร่วมกิจกรรมทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยนี่แหละ ถึงได้ย้อนความคิดกลับมาได้ว่า “อ๋อ ที่เราทำมาตลอดปีสองปีนั่นเรียกว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์เหรอ” เป็นเพราะรางวัลใหญ่สุดจากโครงการนั้นชื่อว่า รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมเลย เราก็เลยเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มายาว ๆ แล้วย้อนกลับมาระหว่างรอบรองกับรอบชิงชนะเลิศที่เราต้องทำวิดีโอ เรามีความรู้สึกว่า “ฉันคิดถึงการทำวิดีโอแบบนี้” เพราะเราก็ทำชมรม SCIREN มาตั้งปีกว่า เราคิดถึง อยากมาทำงานแบบเดิมอีกครั้ง ก็เลยคิดว่า “จะลองทำวิดีโออีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย” เราจึงได้ทำตามความฝันที่อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตั้งแต่ ม.2 อีกครั้ง แล้วเราก็ได้เปิดช่องที่ชื่อว่า SaySci ขึ้นมา
ก่อนไปถึงเรื่อง SaySci อยากรู้ว่าทำไมถึงตัดสินใจเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ คณะที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์
เอาจริง ๆ ตอน ม.4-5 อาจารย์เคยถามว่า “พลอยากเข้าคณะอะไร?” ตอนนั้นก็ตอบไม่ได้นะ เพราะเราไม่รู้ แต่ก็คิดว่าไม่เอาคณะวิทยาศาสตร์แน่ ๆ คณะวิศวกรรมศาสตร์นี่ก็ก้ำกึ่ง ส่วนเรียนหมอเราก็รู้ตัวว่าไม่ได้เก่งขนาดนั้น แต่มั่นใจมากว่าคณะวิทยาศาสตร์ไม่เอาแน่ ๆ ล่ะ นอกจากนี้ที่สนุกคือเราไม่ชอบคณิตศาสตร์เลยด้วย หลังจากนั้นได้มาคุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่กำลังจะจบ ม.6 เราถามพี่ไปว่าจะเรียนต่อคณะอะไร พี่เขาบอกว่ากำลังดู ๆ วิทยาการคอมพิวเตอร์อยู่ เพราะอย่างเขียนโปรแกรม อะไรแบบนั้น เราก็คิดว่า “เออ เราก็ชอบทำคอมตั้งแต่เด็กเนอะ น่าสนใจจัง” เพราะเราก็เล่นคอมมาเองเลยอะ ก็ลองถามพี่เขาว่า “ชื่อคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ใช่ไหม” สรุปว่าไม่ใช่ มันคือสาขาวิชา ที่อยู่ใน ‘คณะวิทยาศาสตร์’ แล้วยังบังเอิญอยู่ในภาควิชา ‘คณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์’ เละตุ้มเป๊ะเลย (หัวเราะ) แต่ก็ตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะนี้นะ มันก็สนุกอะ เราชอบทำอะไรที่มันท้าทายเราอยู่แล้ว สุดท้ายมันก็เลยทำให้เราชอบวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
แล้วจุดเริ่มต้นของช่อง ‘SaySci’ ได้ชื่อนี้มาได้ยังไง
วันนั้นจำภาพได้แม่น เรากำลังรอแท็กซี่อยู่ที่ป้ายรถเมล์ เราคิดว่าจะทำเรื่องวิทย์ที่เล่าเรื่องวิทย์ เล่าเรื่องด้วยการพูด “พูด Say วิทย์ Sci เป็น SaySci” ง่าย ๆ แบบนั้นเลย
เข้าใจว่าจุดตั้งต้นคืออยากกลับมาทำวิดีโอ แล้วทำไมถึงเลือกที่จะเล่าวิทยาศาสตร์แทนที่จะเป็นแนวอื่น
เราเริ่มต้นมาจากช่องเกมเนอะ ตอนที่เราอยากทำช่องเองหลังลาออกจากชมรม เราก็สามารถทำไปในแนวทางความบันเทิงได้แหละ ตอนนั้นเคยทำอีกช่องขึ้นมาสำหรับบ่นอะไรไปเรื่อย ชื่อช่องว่า ‘พลบ่น’ แต่เราก็ไม่ได้ทำต่อ มันเหมือนเรายังหาทางที่ทำแล้วเข้ากับตัวเรายังไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ใช่คนที่สามารถเอนเตอร์เทนจ๋าได้ขนาดนั้น เล่นเกมก็เล่นไม่เก่ง ก็เลยคิดว่าจะทำอะไรที่คนไทยยังไม่ทำกัน ทำที่เมืองไทยยังขาดอยู่
เราเลยมองย้อนกลับมาแล้วพบว่าสื่อในเมืองไทยยุคนั้นไม่มีช่องวิทยาศาสตร์ใน YouTube เลย ก็เลยเอาวะ ไหน ๆ เราก็เรียนคณะนี้มาแล้ว ก็ขอลองทำดูเสียหน่อย แถมตอนนั้นเราได้วิชาจากการเข้าร่วมทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยมาด้วย ได้รู้จักคำว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์แล้วด้วย ก็เลยลองสนุกไปกับมันดู
ความจริงตั้งแต่เริ่มเปิดช่อง SaySci มา สิ่งที่เราอยากทำที่สุดคือเอารายการ SCI RUNNERS กลับมานะ เราทำใหม่แล้วเรียกมันว่า ‘SciRun!’ เพราะตอนนั้นเรารู้สึกค้างเติ่ง แต่พอทำโดยที่ไม่มีชมรม ทุกอย่างมันยากไปหมดเลย จะหาคนยังไง จะหาอุปกรณ์ยังไง จะหานู่นนี่นั่นยังไง เราก็เลยทำรายการเล่าเรื่องวิทย์ไปก่อน ก็ลองทำเลย คลิปแรกทำเรื่อง ‘เล่นสมาร์ทโฟนทีไร ทำไมตื่นทุกที?’
(สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=G2zXbb8WZAM)
พอได้ตอนที่ 1 มาแล้ว ตอนที่ 2 3 4 5 ก็ตามมาเรื่อย ๆ เนอะ คนดูก็ไม่ได้เยอะแยะมากมายอะไร หลักสิบ หลักร้อย มันก็เป็นเรื่องปกติของช่องใหม่เนอะ แต่ถ้าเป็นยุคนี้พอเปิดช่องใหม่ เราเห็นบางคนทำวันเดียวก็ได้ผู้ติดตามร้อยคนแล้วนะ บางคนผู้ติดตามถึงแสนคนภายในเดือนเดียวก็เป็นไปได้ ส่วนของเราใช้เวลา 3 เดือน จนสะสมผู้ติดตามได้เป็นหลักร้อยคน ตอนนั้นดีใจมากเลยนะ ที่มีคนติดตามตั้งหลักร้อย แต่คราวนี้โชคชะตาฟ้าลิขิตอีกครั้ง เพราะตอนนั้นเราชนะโครงการ YTSA แล้วเราต้องไปประเทศเยอรมนี ช่วงก่อนที่จะได้ไปมีงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์พอดี เราเลยลองอุปกรณ์ที่จะไปถ่ายที่เยอรมนีด้วยว่ามันจะเป็นยังไง ก็เลยทำเป็น Vlog สอนความรู้เรื่องพิกเซลที่ซ่อนในการแปรอักษร ให้คนรู้ว่าการแปรอักษรข้างบนสแตนด์เกิดอะไรขึ้นบ้าง ผลปรากฏว่าคนดูหลักแสนครั้งแรกในชีวิตเลย
(สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=o51WrV4cDYo)
แล้วมันเป็นหลักแสนใน YouTube สำหรับเรามันยากมาก แต่ได้คนดูเยอะที่สุดเลยในคลิปนี้ เราก็ดีใจ เพราะผลจากการลงคลิปนั้นไปทำให้มีผู้ติดตาามเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยกว่ามาเป็น 2,500 คน เพิ่มแบบพรวดพราดนะ แต่มันคือปกติของการทำคอนเทนต์นะ คนดูเรา 1 คอนเทนต์ไม่ได้แปลว่าจะตามดูตลอดไป มันก็กลับมาเป็นแบบเดิม ก็เลยคิดว่าเราคงต้องทำแบบเดิมนั่นแหละมั้ง
ทำไปทำมาเริ่มมีคำถามเข้ามาในหัวว่า “เราทำไปทำไมวะ” เพราะตอนนั้นมันไม่ได้มีการสนับสนุนมากพอ รวมกับตอนนั้นเราไปแข่งพูดวิทยาศาสตร์ใน 3 นาทีกับโครงการ FameLab Thailand 2018 แล้วตกรอบรองชนะเลิศมาด้วย ทำให้เราเกือบจะรู้สึกเฟลแล้ว แต่บังเอิญมีโทรศัพท์สายหนึ่งโทรเข้ามาพอดี เป็นสายจาก ‘National Geographic Thailand’ เขามาขอให้เราไปทำคลิปให้ วันนั้นไปคุยกันที่สำนักงานเขาเลย ได้คุยกับ พี่เจ–เจรมัย พิทักษ์วงศ์ เขาบอกว่า “เฉียบ! พี่ชอบผลงานพลมาก” หลังจากนั้นก็เลยได้ร่วมงานกัน
เขารู้จัก SaySci ได้ยังไง
เขาแค่พิมพ์ว่าวิทยาศาสตร์ใน YouTube แล้วก็มาเจอกับช่องเรา ด้วยความเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เจ้าเดียวในไทยยุคนั้น เพราะเจ้าอื่นเขามีแต่การทดลอง ไม่ค่อยมีช่องเล่าเรื่องความรู้วิทยาศาสตร์ ทั้งที่วิทยาศาสตร์มันมีมากกว่าการทดลอง
ตอนนั้นพ็อดแคสต์ก็ยังไม่ปัง มีพ็อดแคสต์วิทยาศาสตร์อย่าง ‘WiTcast เกิดขึ้นมาก่อนเราแล้วนะ แต่เขาอยู่ในเว็บไซต์ตัวเอง ไม่ได้ลองแพลตฟอร์ม YouTube แบบเรา พอทีมงาน National Geographic Thailand เห็นผลงานเรา เขาก็เลยดึงมาทำงานด้วยอะเนอะ ตอนนั้นเราก็รวมทีมเลย มีคนเขียนบท มีคนทำซับไทเทิล ส่วนเราตัดต่อเอง แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราโปรขนาดนั้นนะ ยุคนั้นเรายังพูดตะกุกตะกักอยู่เลย จนเขาขอหยุดไว้ที่ประมาณนึงก่อน เราก็โอเค โล่งใจ ไม่ต้องทำต่อแล้ว ถึงจะเสียดายทีมงานนะ แต่มันก็คงดีกว่าที่จะแยกย้ายกันไปเติบโต ส่วนเราก็ทำช่องของตัวเองต่อไป
เห็นว่ามีช่วงเวลาท้อใจหลายครั้ง แล้วเหตุการณ์ไหนที่จดจำได้แม่นยำที่สุด
ปีแรกที่ทำ SaySci เลย ตอนนั้นทำมาได้สามเดือน เราได้ยินคำสบประมาทที่ว่า “ทำช่องวิทย์ให้คนไม่สนใจวิทย์มาสนใจวิทย์ มันทำไม่ได้หรอก”
เขาบอกว่ามันไม่มีทางบูมหรอก จะทำยังไงให้คนไม่สนใจวิทย์หันมาสนใจวิทย์ได้ คนไม่สนใจเขาก็ปิดผ่านกันหมดแหละ เขาบอกอีกว่าทำอย่างนี้ไม่มีทางดัง รางวัลก็ไม่น่าได้หรอก แล้วนอกจากคนที่พูดกับเราแบบนี้ ยังมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย ที่ถามเราว่ามีผู้ติดตามเท่าไหร่แล้ว เราบอกไปว่า 4-5 พันคน อาจารย์เขาบอกกลับมาว่านึกว่าจะเป็นหลักหมื่นหลักแสน “ทำช่องวิทย์ก็แบบนี้แหละ ไม่ดังหรอก” ซึ่งเราไม่ชอบเลยที่บริบทช่องวิทยาศาสตร์ในไทยคนสนใจน้อยมาก แต่มันก็น้อยจริง ๆ ยุคนั้นแทบไม่มีคนสนใจเลย Pop Science ในไทยก็ยังไม่บูมด้วยซ้ำ
ความคับข้องใจกับการที่บอกว่า “ไม่น่าได้รางวัล” แล้วทำไมต้องอยากได้รางวัล
ต้องเล่าก่อนว่า เราทำช่อง SaySci มาจนถึงจุดหนึ่งในปี 2019 เราก็ไปแข่ง FameLab Thailand มาอีกครั้ง ครั้งเราเข้ารอบชิงชนะเลิศ แล้วได้รางวัลกลับมา ได้เป็นที่ 3 คนก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้น เพราะเราคอสเพลย์ขึ้นไปพูดวิทยาศาสตร์บนเวที
พอมันมีคลิป คนเริ่มแชร์เยอะ มันก็เข้าไปถึงกลุ่มคนคอสเพลย์ กลุ่มคนเล่นเกม ที่เขาแบบ “โห นี่มันคนคอสเพลย์ ที่พูดเรื่องวิทย์ในเกมบนเวทีใหญ่เลยเหรอเนี่ย” ซึ่งมันขัดกับภาพจำเรา ที่พูดถึง FameLab เรามักจะนึกถึงภาพงานวิจัยล้ำ ๆ ซึ่งมันไม่ผิดนะ เพราะคนที่พูดเกี่ยวกับงานวิจัยล้ำ ๆ เขาก็ได้รางวัลชนะเลิศแหละ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ไปเพื่อเอาชนะ เราไปเพื่อสร้างซีนบางอย่าง สิ่งที่เราอยากทำที่สุดในการขึ้นเวทีอะไรสักเวทีหนึ่งคือ เราอยากส่งข้อความบางอย่างออกไปว่า…
“วิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่งานทดลองหรืองานวิจัย แต่มันอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน มันอยู่ในหนัง มันอยู่ในเกม และนี่มันโคตรจะเป็น SaySci เลย”
นอกจากเวที FameLab Thailand แล้ว เรารู้จักน้องคนหนึ่งจากโครงการ FameLab นั่นแหละ ชื่อมัสมั่น มาชวนเราไปพูดบนเวที TEDxKhonkaenU เมื่อปี 2021 ช่วงที่ยังฮึดทำ YouTube อยู่ เราพูดเรื่องการคอนเทนต์นั่นแหละ แต่โยงเข้ากับเรื่องตัวเลข เพราะตอนนั้นเราเห็นคนสนใจตัวเลขแต่ไม่ได้ตีความหมายจากมันอะ เราเลยยกตัวอย่างจากการทำช่อง YouTube ว่ายอดการรับชมน้อย นู่นนี่นั่นมันน้อย แต่มันได้อะไรมากกว่านั้น มันมากกว่าแค่ตัวเลข แล้วช่วงที่ Clubhouse มันกำลังดัง เราเคยเข้าไปคุยกับ YouTuber คนดังคนหนึ่งว่าเรากำลังทำช่องสายวิทยาศาสตร์อยู่นะ แต่ยังไม่โตสักที เขาก็ตอบกลับมาว่าการทำช่องสายสาระ บางทีผลลัพท์มันไม่ใช่ยอดการรับชมนะ เขาพูดแบบไม่ทำร้ายจิตใจเท่าที่เราเล่าไปก่อนหน้านี้นะ แต่ทุกคนก็มองคอนเทนต์วิทยาศาสตร์เป็นแบบนี้หมดเลย แม้กระทั่งคนทำสื่อเจ้าใหญ่ ๆ ตอนนั้นเราก็พูดถึงเรื่องนี้บนเวที TEDx
(สามารถรับชมได้ที่: https://youtu.be/DjxztducnLM?si=k8yfJ9cgizjWOVQ8)
พอตัวเลขที่มันเยอะขึ้น เราจะกลายเป็น Influencer เนอะ ซึ่งมันเป็นคำที่เรายึดมั่นมาตลอดเลยว่าถ้าเราเป็น Influencer อะ แปลว่าเราจะสามารถ Influence หรือชักจูงจิตใจคนได้ เราจะสามารถเปลี่ยนให้คนที่ไม่สนใจวิทย์ ให้หันมาสนใจวิทย์ให้ได้
ตอนนั้นได้รางวัลแล้วหายเหนื่อยกับการทำคอนเทนต์สาระที่ ‘คนดูน้อย’ บ้างหรือเปล่า
มันยังมีความอัดอัดในใจเรานะ
หลายคนมาชมว่างานเราดีมากเลย แต่ทำไมยอดวิวน้อยจัง บางคนพูดว่า “ทำช่องสาระดีแล้วแหละ แต่ต้องรู้ไว้นะว่ายอดวิวจะไม่สูง” มันเกิดเป็นคำถามในใจเราว่า “ทำไมวะ”
หลังจากนั้นเราก็ทำต่อมาเรื่อย ๆ โดยที่ยังหวังว่าจะเปลี่ยนคนไม่สนใจวิทย์ให้หันมาสนใจวิทย์ แต่วันหนึ่งเรารู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว ทำไปก็ไม่ได้อะไร เก็ตปะ สปอนเซอร์ก็ไม่เข้า ทำคลิปต่อไปคนดูก็น้อยแบบนี้เหมือนเดิม เป็นใครก็คงมีคำถามแหละว่าเราจะทำไปทำไม เอาเวลาไปนั่งเล่นเกมแบบคนอื่นเขา เอาเวลาไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ดีกว่าต้องมานั่งตัดต่อหน้าจอทุกวันเลยหรือเปล่า จนเราได้มาเจอคำตอบว่า ที่จริงเราไม่ได้ชอบเที่ยวหรอก เราชอบทำคลิปนี่แหละ
ช่วงหนึ่งเลยลองเปลี่ยนคอนเทนต์ เปลี่ยนชื่อรายการเป็น ‘จุดรวมพล’ ทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์บ้าง แต่สุดท้ายทำไปทำมาเราก็แทรกสาระวิทยาศาสตร์เข้าไปอยู่ดี เราคิดว่า “เราไม่สามารถทำอย่างอื่นได้แล้วว่ะ” ตอนนั้นเลยคุยกับผู้ดูแลช่องว่ากลับมาเป็น SaySci เลยดีกว่า รีแบรนด์แล้วทำเหมือนเดิม แล้วลองลง TikTok ด้วย ตอนนั้นเขากำลังบุกเบิก #TikTokUni ที่เป็นสายความรู้อยู่พอดี เราก็เลยลองเข้าไป
เราเข้าไปช่วงแรก ๆ เลย สมัยที่ TikTok มีแต่ความบันเทิง เราทำคลิปสาระลงไปบ้าง สัปดาห์ละคลิปสองคลิป ไม่ได้ทำทุกวันเหมือนตอนนี้นะ ทำแค่ให้มีคลิปส่งเขา ตอนนั้นยอมรับว่ายังไม่เข้าใจแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นมากพอว่ามันคืออะไร ทำให้เราทำแล้วไม่ถนัด แต่ถึงอย่างนั้นคลิปแรกใน TikTok ของเราก็ได้ยอดคนดูเป็นหลักแสนเลยนะ ก็เลยทำต่อก็ได้วะ จนผู้ติดตามขยับตามมาเป็นหลักหมื่น แต่พอต้องทำคนเดียวทั้ง TikTok และ YouTube มันเหนื่อย เราเลยตัดสินใจไม่ลงคลิปใน TikTok แล้วกลับมาโฟกัสกับ YouTube เหมือนเดิม กลับมาทำเยอะด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดระบาด ต้องอยู่แต่บ้าน
แล้วกลับมาทำ TikTok จนมีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้งเมื่อไหร่
เราเริ่มเข้า TikTok รอบหลังวันที่ 23 มกราคม 2022 ทำมาเกือบ ๆ 2 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อเนอะ แต่ก่อนหน้านั้นที่เลิกทำ TikTok ไป มีคนมาบอกเราว่าลองทำ TikTok ดูสิครับ เราตอบไปด้วยความมั่นใจในตอนนั้นว่า “คงไม่ทำอะครับ มันไม่ใช่ทาง” แต่ตอนนี้เป็นยังไงก็คงเห็นกัน (หัวเราะ) มันเป็นเพราะความไม่เข้าใจแพลตฟอร์มจริง ๆ จะทำคอนเทนต์อะไรเราต้องเข้าใจแพลตฟอร์มที่ลงไปทำก่อน แล้วมันจะเวิร์กมาก ๆ
ตอนช่วงปลายปี 2021 เราเหนื่อย หมดไฟ ไม่ค่อยอยากทำ ก็เลยไม่ได้ลงคลิปใน YouTube เลย แต่ช่วงที่คิดว่าคงจบแล้วแหละ ปรากฏว่าคลิปสั้นกลับมาเป็นที่นิยม YouTube Short ก็เข้ามา เราก็เลยคิดว่า คลิปมันสั้นกว่า ตัดต่อง่ายกว่า น่าจะทำวันละคลิปไหว ก็เอาวะ เฮือกสุดท้าย เฮือกสุดท้ายอีกแล้ว แต่เราคิดตอนนั้นว่าเป็นเฮือกสุดท้ายจริง ๆ ของ SaySci ทำเท่าที่ทำไหว ถ้าหมดไฟอีกรอบจะไม่ทำอีกแล้ว
ตอนนั้นเราลงคลิปใน TikTok ด้วย ผลปรากฏว่ารอบนี้ลงคลิปไปไม่กี่คลิป ยอดการรับชมแตะหลักแสนอีกครั้งใน TikTok คอมเมนต์ก็เริ่มชื่นชม บอกว่าดี อยากให้ทำต่อไป คนก็เริ่มตามมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยคิดว่า “เฮ้ย มันเวิร์กว่ะ ทำต่อดีกว่า” โดยเราเก็บความเป็น SaySci ไว้ แต่ฝึกพูดให้เร็วขึ้น ตัดคลิปให้กระชับขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราทำใน YouTube จะมีช่วงหยุดหายใจที่เราไม่ตัดออกเพราะไม่อยากให้คนดูเหนื่อย แต่พอมันเป็นวิดีโอสั้น มันต้องตัดโชะ ๆ พอเราทำความเข้าใจมันมากขึ้นอะเนอะ อัลกอริทึมก็อัลกอริทึมเหอะ แป๊บเดียวคนติดตามก็ถึงหลักแสน เราตื่นเต้นมาก คนติดตามหลักแสนคนเลยนะเว้ย เป็น YouTube ได้โล่ไปแล้ว แต่ TikTok ไม่มีโล่ให้ เราเลยคว้าถ้วยมาเลย (หัวเราะ)
TikTok ให้ข้อคิดอะไรบ้าง สำหรับการสื่อสารวิทยาศาสตร์
เราเห็นว่าคนสนใจคอนเทนต์ด้านสาระมากขึ้นจริง ๆ นะ แล้วการรับชมคอนเทนต์สาระมันต้องมีวิจารณญาณที่มากหน่อย ต้องสงสัยว่าคอนเทนต์ไหนจริงหรือไม่จริง ความจริงแล้วทุกแพลตฟอร์มจะมีคอนเทนต์สาระความรู้ที่ให้ข้อมูลถูกต้องกับข้อมูลผิด ๆ ปะปนกันไปนะ เพียงแต่ตอนนี้ TikTok เป็นตัวโดน บางคนมองว่า “ถ้าความรู้ที่แชร์มาจาก TikTok ขอไม่เชื่อ” ซึ่งเราไม่ชอบคำพูดพวกนี้เลย ในเมื่อทุกแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ใครสามารถลงอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ชวนเข้าใจผิดมีทุกแพลตฟอร์มแหละ จะโทษแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งมันก็ไม่ถูก
แต่อย่างที่บอกว่าคนยุคนี้ชอบดูคอนเทนต์สาระมากขึ้น เราเห็นได้จากรางวัล TikTok Awards Thailand ที่มีอยู่ 6 สาขา สำหรับปีนี้หลายคนคาดว่าคะแนนสาขา Best of Education จะน้อยที่สุด ผลปรากฏว่าในฝั่ง Hall of Fame คะแนนรวมกันของสาขา Best of Education เยอะที่สุดเลย ถึงจะไม่รวมคะแนนโหวตของเรา (ประมาณ 3 ล้านกว่าคะแนนโหวต) สาขานี้ก็ยังเป็นสาขาที่คนลงคะแนนเสียงรวมกันเยอะเป็นอันดับต้น ๆ อยู่ดี ทั้งที่ทุกคนมีคะแนนเสียงเท่ากัน แล้วต้องจัดสรรการลงคะแนนแต่ละสาขาเอาเอง
เรารู้สึกดีใจนะที่เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยผลักดันการทำคอนเทนต์ด้านความรู้ และได้มีโอกาสไปพูดบนเวทีว่า “ผมมีความฝันว่าผมอยากเห็นคนไทยหันมาสนใจวิทย์มากขึ้น” และรางวัลนี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญเลย ว่าการได้ขึ้นมาพูดบนเวทีนี้ การได้รับรางวัลในครั้งนี้ เราคิดว่านี่เป็นรางวัลสาย Influencer ครั้งแรกที่เป็นสายวิทยาศาสตร์เป็นผู้รับรางวัล เราว่ามันไม่เคยมีสายวิทยาศาสตร์ได้รางวัลแบบนี้เลย แม้กระทั่งรางวัลสำคัญของวงการ Influencer รายการอื่น ๆ ก็ยังไม่เห็นมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนไหนที่ถูกมองเห็นและได้รับรางวัล การที่ SaySci ได้เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้แตะรางวัลสายเอนเตอร์เทนเมนต์ มันคือความว้าวสำหรับเรานะ ที่ทำได้ขนาดนี้ และสุดท้ายเรามองว่าผู้คนในอนาคตหลังจากนี้จะไม่ได้มีแค่เราแล้วที่อยากทำคอนเทนต์วิทยาศาสตร์ เพราะเขาเห็นแล้วว่าวิทยาศาสตร์มันพาคนมารับรางวัลใหญ่ขนาดนี้ในไทยได้แล้ว
อนาคตมีเป้าหมายอะไรอีกบ้าง
ตอนนี้เราสื่อสารวิทยาศาสตร์จนได้รับการยอมรับจากสังคมแล้ว ผู้คนมองเห็นว่าเราเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แล้ว เป้าหมายต่อไปคือการผลิตนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เราต้องการเผยแพร่ทักษะ ความรู้ และแพสชันของเรา ส่งต่อไปยังคนที่เขาดูเราหลักแสนหลักล้านคน เราหวังว่ามันจะต้องจุดประกายใครสักคน ให้หันมาทำสื่อให้ความรู้แบบเรา
เขาอาจจะต้องล้มลุกคลุกคลานแบบเรา หรือประสบความสำเร็จเร็วกว่าเราหลายเท่าตัวก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้คำว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คอนเทนต์ที่ “คนดูน้อย” อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหน
เราอยากให้วิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่คนสนใจได้ ที่เราอยากได้รางวัลนู่นนี่เป็นเพราะว่า เราอยากทำลายกำแพงออกไปให้คนเห็นว่า คอนเทนต์วิทยาศาสตร์ไม่ได้ทำไว้ดูกันเอง แต่คอนเทนต์วิทยาศาสตร์ก็แมสได้ เรามองว่าการได้รับรางวัลทั้งหลายจะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกคนอื่นได้ว่า คอนเทนต์วิทยาศาสตร์ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งจากเวที จากทุกคะแนนโหวต และจากสายตาของคนในสังคม เราเลยมองว่ารางวัลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรามาตลอดการทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้ เพื่อให้คนเห็นว่าวิทยาศาสตร์ทำได้ พอคนเห็นสิ่งที่เราพยายาม พวกเขาจะต้องมี Key to Action ต่อไป
“เราไม่อยากให้ใครที่อยู่ ๆ อยากลุกขึ้นมาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ต้องมาลำบาก 8 ปีแบบเราอีกแล้วว่ะ”
นวพล เชื่อมวราศาสตร์ (พล SaySci)