หลายคนคงจะรู้จักแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กเรียวยาวสีดำสลับส้มที่มีพิษ เป็นดั่งพ่อพระเอกในข่าว ที่ไม่ว่าช่องไหนช่วงใดก็จะไม่พ้นพ่อคุณคนนี้ นั่นก็คือ ด้วงก้นกระดก (Rove beetle)
ก่อนอื่นเลยคงต้องมาเกริ่นเกี่ยวกับด้วงตัวนี้ ด้วยลักษณะที่ใช้จำแนกตามอนุกรมวิธานก่อนนั้นก็คือ ด้วงก้นกระดก ถูกจัดว่าเป็นแมลงในกลุ่มของด้วง หรืออันดับ (Order) Coleoptera โดยมาจากภาษากรีกโบราณ 2 คำ นั่นคือคำว่า koleos ที่แปลว่า เปลือก หรือของหุ้ม กับคำว่า ptera ที่แปลว่าปีก ดังนั้นแมลงในกลุ่มด้วงจะมีลักษณะเด่นคือ ปีกคู่หน้าจะต้องปกคลุมหรือห่อหุ้มปีกคู่หลังเอาไว้ แล้วด้วงก้นกระดกมีหรือเปล่า?
แน่นอนว่าต้องมี ไม่อย่างนั้นคงไม่ถูกเรียกและจัดว่าอยู่ในกลุ่มด้วง ดังภาพ
โดยสีดำ ๆ ที่มีเข็มปักนั่นแหละคือ ปีกคู่หน้า และปีกคู่หลัง ที่บางใสโดยปกติจะถูกพับเก็บไว้ด้านใต้ปีกคู่หน้านั่นเอง
ปีกที่มีลักษณะแข็งแบบนี้ เรียกว่า Elytra และปีกที่เป็นแผ่นบางใสเรียกว่า Membrane และด้วงก้นกระดกถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ (Family) Staphylinidae โดยจะมีลักษณะปีกคู่หน้าที่สั้นไม่ปกคลุมส่วนท้อง หรือปกคลุมได้ไม่หมดจะเห็นส่วนท้องของแมลงโผล่ออกมาอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ลำตัวจะเรียวยาวหรือเป็นรูปกระสวย
มาถึงเนื้อหาหลักของเรากันดีกว่า ด้วงก้นกระดกที่เราเรียกมันว่าก้นกระดกเนื่องจากมีพฤติกรรมคือ ชอบโก่งก้นโชว์ขึ้นมาเราเลยเรียกว่าก้นกระดก
ที่จริง ด้วงก้นกระดกเป็นคำเรียกรวม ๆ ของด้วงในกลุ่มนี้ เพียงแต่ดาวเด่นของเราที่เรียกว่า “ด้วงก้นกระดก” จะมีหน้าดำ ๆ สลับส้มลอยมาเป็นพ่อพระเอกของเรา เนื่องจากพ่อคนนี้มีพิษที่สามารถทำอันตรายกับคนได้ โดยลักษณะของมันจะมีหัว ปีกคู่หน้า และปลายท้องเป็นสีดำ ส่วนอก และท้องเป็นสีส้ม โดยที่เราเห็นว่าเป็นสีดำสลับส้มเนื่องจากว่าตรงอกปล้องที่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของปีกคู่หน้า มีปีกสีดำปกคลุมอยู่ จึงทำให้เราเห็นเป็นสีดำสลับกับส้มนั่นเอง
ด้วงก้นกระดกดำ ๆ ส้ม ๆ ที่มีพิษเนี่ยมีหลายชนิดมาก มาก มาก มากกกกกกก แต่รวม ๆ มักจะอยู่ในสกุล Paederus spp. โดยประเทศไทยจะพบชนิด Paederus fucipes เป็นส่วนมาก คำว่า Paederus มาจากชื่อสารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งเป็นจากสารพิษที่เป็นอันตรายกับมนุษย์ ซึ่งนั่นคือสารพีเดอริน (Paederin)
ผู้ที่สัมผัสกับสารนี้มักจะเกิดอาการระคายเคือง และเป็นรอยไหม้ โดยร่องรอยบาดแผลจากด้วงชนิดนี้คือ จะมีรอยเป็นรอยอักเสบสีแดงลากยาวเป็นขีด ๆ ตามแนวที่ไถล หรือถูสัมผัสกับด้วง อาจเกิดเกิดตุ่มน้ำพอง ระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน และเป็นรอยไหม้ในที่สุด จากพิษของด้วงชนิดนี้
ส่วนใหญ่จะพลาดพลั้งตามข้อพับหรือรอยย่นจากผิวหนังเช่นคอทำให้สารพิษสัมผัสกับผิวเป็นวงกว้าง
การปฐมพยาบาลให้ชะล้างด้วยน้ำสบู่ หรือใช้น้ำเกลือล้างแผลไหลผ่าน หรือถ้าไม่มีจริง ๆ ก็น้ำเปล่าล้างเลย เพื่อชะสารเคมีออกจากบริเวณที่สัมผัส อาการต่าง ๆ สามารถหายเองได้ ซึ่งอาจต้องมีการทายาร่วมด้วย แต่ถ้าหากไม่มั่นใจ หรือมีอาการรุนแรง เป็นผื่น หอบ หายใจไม่ออก ให้รีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลจะดีที่สุด
สำหรับการป้องกันให้หมั่นสำรวจร่อง รู ช่อง ตามหน้าต่าง ประตู หากพบให้อุดปิดและแก้ไข อาจจะต้องหายางหรือสักหลาดรองใต้ประตู เพราะด้วงก้นกระดกมีขนาดเล็กสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้แม้เพียงช่องเล็ก ๆ ก็ตาม
โดยปกตินังทัวร์ดีเหล่านี้จะพบมากในช่วงฤดูฝน มันจะมาเล่นไฟในตอนกลางคืน โดยเฉพาะแถวไหนมีพื้นที่รกร้างยิ่งควรระมัดระวัง
ด้วงก้นกระดกมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ คือ มี 4 ระยะได้แก่ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
ไข่จะถูกวางโดยแม่ ๆ ด้วงก้นกระดกตามพงหญ้าสูง ๆ โขดหิน ซากท่อนไม้ที่ชื้น ๆ แล้วฟักมาเป็นหนอนด้วงตัวน้อย ๆ เดินหาอาหารเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเท่าที่จะสามารถถูกมันจับและกินได้ หลังจากนั้นพวกมันจะซุกตัวตามโพรงไม้หรือขุดดินเพื่อเข้าดักแด้ และสุดท้ายพวกมันจะออกมาเป็นด้วงก้นกระดกอย่างที่เราเห็นกัน ซึ่งนางก้นกระดกก็จะหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกินนี่แหละ แต่ที่เราเจอตอนกลางคืนเนื่องจากไฟตอนกลางคืนเป็นดั่งกองไฟค่ายลูกเสือเรียกรวมพลบรรดาแมลงให้มาชุมนุม และนี่คือสาเหตุที่นางมาตามไฟเพื่อเปิบอาหารมื้อใหญ่แบบไม่อั้นดุจกินบุฟเฟต์
เคยมีใครตั้งคำถามนี้กันบ้างไหมว่า ความอันตรายของด้วงก้นกระดกมีจริง และพวกเราก็รู้กันดีว่ามันมีพิษ แต่ทำไมผู้คนถึงยังโดนมันเล่นงานได้?
คำตอบง่ายมาก เนื่องจากมันจะมาเล่นไฟกลางคืนแล้วบินเข้าบ้านเรา ซึ่งอาจจะทำให้เราแจ็กพ็อตรับรางวัลขนาดจิ๋วนี้ได้ ด้วยขนาดตัวของมันที่เล็กมาก บางทีบางครั้งอาจจะหลุดเข้ามาในบ้านตามขอบพื้น หรือหน้าต่างซึ่งเราปิดเอาไว้ แต่ดั๊นมีช่องเล็ก ๆ ให้แทรกตัวเข้ามา แล้วถ้าเผอิญที่เข้ามาเป็นห้องนอนตอนเรานอน เราคงไม่มีนิมิตบอกได้ว่า โชคดีอันนี้จะมาถึงเราได้ไวและใกล้ตัวขนาดนี้ เราก็นอนไป ส่วนน้องก็เดินมา หรืออาจบินมาหาเราตามความร้อน เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์เลือดเย็นเข้าหาที่อุ่น ก็มาจอดยานบนร่างเรา พอเราเกา ทับ หรือเอาเหนียงไปบี้น้อง พิษก็จะโดนผิวหนังเรา ถึงคราวบันเทิง
ที่จริง กว่าจะโดนพิษมันไม่ใช่เพียงแค่โดนหรือสัมผัสตัวก้นกระดก แต่ต้องทำให้ตัวก้นกระดกแตกถึงจะได้รับพิษ เนื่องจากสาร paederin มันอยู่ในตัวของก้นกระดก โดยจะอยู่ในเลือดของมัน นั่นแปลว่าด้วงก้นกระดกไม่สามารถปล่อยพิษออกมาได้ แต่ต้องกามิกาเซ่ตัวเองถึงจะปล่อยพิษออกมาได้ โดยพิษของด้วงก้นกระดกจะถูกผลิตมากับเพื่อนร่วมบุญร่วมกรรมอย่างแบคทีเรียแกรมลบที่ดำรงชีวิตและอาศัยแบบพึ่งพาอาศัยกับด้วงก้นกระดกนั่นเอง
ดังนั้นหากมีด้วงก้นกระดกมาอยู่บนมือหรือบนตัวเรา อย่าไปตีหรือบี้เด็ดขาด ให้เป่าไล่ไปเพื่อไม่ให้ตัวแตกแล้วปล่อยพิษออกมา โปรดระวังตัวเองในยามค่ำคืนเอาไว้ให้ดี
อ้างอิง
Medical and Veterinary Entomology (Thrid Edition)