เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2023 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมมือกับ The Principia ในการจัดงานบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในชื่อว่า “โครงการส่งเสริมการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มืออาชีพ” เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านของทักษะการสื่อสาร ด้านความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงด้านเส้นทางการประกอบอาชีพสำหรับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย
โครงการดังกล่าวถูกจัดขึ้นที่ ห้องประชุมสุมินทร์ 341 ชั้น 3 อาคาร 45 ปี (SC45) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 12.30 น. ไปจนถึง 16.00 น. ของวันที่จัดโครงการ โดยการบรรยายถูกแบ่งออกเป็นสี่ช่วงวิทยากร ประกอบไปด้วย นครินทร์ ฉันทะโส, ถกล ตั้งผาติ, วัชรินทร์ อันเวช, และธนกฤต ศรีวิลาศ โดยที่มี ผศ.ดร. จริน โอษะคลัง รองคณบดีฝ่ายบริการการศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการส่งเสริมการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มืออาชีพ รวมถึงยังเป็นผู้ดำเนินรายการหลักตลอดการจัดงานอีกด้วย

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงบรรยากาศภายในโครงการส่งเสริมการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มืออาชีพ รวมถึงอธิบายเนื้อหาคร่าว ๆ เกี่ยวกับการบรรยายในแต่ละหัวข้อของวิทยากรทั้งสี่ท่าน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจบรรยากาศโดยรวมภายในงาน ซึ่งผู้ที่สนใจฟังเนื้อหาทั้งหมดของโครงการดังกล่าว สามารถเข้าไปรับชมวิดีโอย้อนหลังการถ่ายทอดสดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ อัลบั้มภาพกิจกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มก.
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร?

วิทยากรท่านแรกที่บรรยายในหัวข้อ “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร?” คือ นครินทร์ ฉันทะโส (อาร์ต) ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารของ The Principia ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สังกัดกองส่งเสริมการเรียนรู้ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
“Nothing in science has any value to society if it is not communicated”
Anne Roe, 1952
“ไม่มีสิ่งใดในวิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคม หากไม่ได้รับการสื่อสาร” เป็นคำกล่าวของแพทย์และนักวิจัยที่ชื่อว่า แอน โร (Anne Roe) ผู้เขียนหนังสือ The Making of a Scientist ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1953 ซึ่งความหมายนั้นตรงตัว เมื่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิจัยดั้นด้นค้นหามันจนพบ ไม่ถูกนำมาสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจด้วย มันก็ไม่ได้มีคุณค่าต่อสังคมเท่าไรนัก
ตัวอย่างที่ดี ที่เกี่ยวข้องกับคำกล่าวข้างต้นคือ การที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ “กาลิเลโอ กาลิเลอี” ออกมาป่าวประกาศการค้นพบว่า โลกมิใช่ศูนย์กลางจักรวาลอย่างที่ทุกคนเคยเชื่อกัน แต่โลกนั้นหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งการประกาศกร้าวในครั้งนั้น ส่งผลให้เขาต้องรับโทษเนื่องจากมีความคิดขัดแย้งต่อคริสตจักรในยุคนั้น แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านมาประมาณ 340 ปี หลักฐานต่าง ๆ ปรากฏชัดว่ากาลิเลโอเป็นฝ่ายที่พูดถูก องค์ความรู้ใหม่ของโลกได้รับการยอมรับ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจความจริงตามที่ควรจะเป็น

ความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์นั้นมีมากมายนัก ทำให้ทุกวันนี้มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ใช้สื่อต่าง ๆ ในการทำคอนเทนต์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปของหนังสือ บทความ พ็อดแคสต์ คลิปวิดีโอ หรือรายการโทรทัศน์ รวมถึงยังมีการมอบรางวัลให้กับผู้ที่สื่อสารวิทยาศาสตร์ได้อย่างโดดเด่นจากหลายหน่วยงาน เช่น รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้อาชีพการสื่อสารวิทยาศาสตร์ กลายเป็นที่จับตามอง ในฐานะคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ และยังเหลือพื้นที่ในการผลิตคอนเทนต์ด้านนี้อีกจำนวนมากนั่นเอง
ความถูกต้องของเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์
วิทยากรที่ทำหน้าที่บรรยายในหัวข้อ “ความถูกต้องของเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์” คือ ดร.ถกล ตั้งผาติ (กล) นักวิจัยด้านฟิสิกส์พลังงานสูง และหนึ่งในนักเขียนจาก The Principia ซึ่งมาอธิบายความสำคัญของการตรวจสอบความถูกต้องในเนื้อหาคอนเทนต์ด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงผลกระทบจากวิทยาศาสตร์แบบผิด ๆ ที่มีให้เห็นไม่น้อยตามข่าวสำนักต่าง ๆ

ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์จอมปลอม หรือ Pseudoscience ยังคงวนเวียนอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งที่ตั้งใจ และทั้งที่เข้าใจผิด เช่น ข่าวเรื่องการใช้เครื่องมือตรวจจับระเบิด GT200, เนื้อหาการดื่มมะนาวโซดารักษามะเร็ง, หรืออย่างล่าสุดที่มีข่าวเรื่องสายชาร์จโทรศัพท์หลอกดูดเงิน ซึ่งวิทยาศาสตร์จอมปลอมยังคงอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์ในสื่อต่าง ๆ ใช้วิธีการเล่นกับความกลัวหรือความกังวล โดยจงใจทำให้เรื่องราวซับซ้อนและออกคอนเทนต์ถี่ ๆ ทำให้คนที่ไม่มีเวลาได้ตรวจสอบ เผลอแชร์โดยที่ไม่รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการช่วยแก้ไขความเข้าใจผิด โดยนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ มาเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปเข้าใจ และไม่หลงกลกับวิทยาศาสตร์จอมปลอม แต่นอกจากนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ยังมีบุคลากรจากอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการทำงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ครูอาจารย์ หมอ ตำรวจ ทนายความ หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ วิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้ติดตัวเอาไว้

การสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดี
วัชรินทร์ อันเวช (น็อต) ผู้ที่เป็นทั้งนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นทั้งติวเตอร์ และยังเป็นหนึ่งในบรรณาธิการบริหารของ The Principia รับหน้าที่บรรยายในหัวข้อ “การสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดี” โดยมีทั้งเรื่องราวทฤษฎีการสื่อสารให้เข้าถึงใจคน และประสบการณ์ ในฐานะที่วิทยากรเคยมีประสบการณ์มากมาย นอกจากผลงานในฐานะทีมงาน The Principia แล้ว ก็ยังมีประสบการณ์ทั้งจาก ค่ายทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (YTSA), การเข้าแข่งขันสื่อสารวิทยาศาสตร์ในโครงการ FameLab Thailand 2018, และการเป็นผู้ดำเนินรายการ The Science Shot Podcast

การสื่อสาร แน่นอนว่าต้องมีองค์ประกอบหลักสี่อย่าง ได้แก่ ผู้ส่งสาร, สาร, สื่อ, และผู้รับสาร โดยสำหรับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ ถือเป็นสารที่ต้องการส่งไปยังผู้รับ ผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เกม, ภาพยนตร์, หนังสือ, เพลง, หรือแม้กระทั่งการบรรยายแบบที่เห็นในโครงการส่งเสริมการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มืออาชีพ ซึ่งในยุคที่อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน การสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ นั้น เป็นใครก็สามารถทำได้ แต่การจะสื่อสารให้ดี ควรมีการใช้เทคนิค 3Cs เข้าช่วย
C ที่ 1 คือ Content หรือ เนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอจะต้องมีความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ และถ้าเลือกหัวข้อในทำนองที่มีความขัดแย้งหรือความไม่แน่นอน จะต้องเสนอข้อมูลในมุมมองตรงข้ามด้วย ดังนั้นหัวข้อที่ดีควรจะเลือกให้เหมาะสมกับผู้รับสาร
C ที่ 2 คือ Clarity หรือ ความชัดเจน เพราะว่าความชัดเจนจำเป็นสำหรับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงสร้างในการนำเสนอนั้นควรจะง่ายในการติดตามและการทำความเข้าใจสำหรับผู้รับสารในประเด็นที่นำเสนอ
C ที่ 3 คือ Charisma หรือ ความน่าสนใจ โดยผู้รับสารควรจะทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องง่าย มีความสนุกสนาน น่าตื่นเต้น และไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่สามารถสื่อสารวิทยาศาสตร์ แต่ไม่สามารถแบ่งปันความน่าหลงไหลไปยังผู้อื่นได้
การสื่อสารด้วยวิธีการ “พูด”
การสื่อสารด้วยวิธีการพูด ยังคงได้ วัชรินทร์ อันเวช (น็อต) เป็นวิทยากร ที่มาเล่าข้อดีว่า การสื่อสารด้วยการพูดนั้นเป็นวิธีเชื่อมความสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดี สร้างความเข้าใจได้ง่าย และยังพิสูจน์ได้ทันทีว่าสิ่งที่พูดไปนั้น ได้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ แต่การสื่อสารด้วยการพูดในหลาย ๆ กรณีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การฝึกซ้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก
การพูดที่ดี ไม่ใช่แค่ปล่อยให้คำพูดไหลออกมาจากปากเท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ช่วยให้การพูด เป็นการสื่อสารที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ, ภาษากาย, ความช้า-เร็ว, ความดัง-เบา, การเน้นคำ, รวมถึงการเป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อใช้เรื่องราวที่ฟังมาสานต่อ เชื่อมเรื่องราวในการพูดให้ไหลลื่นมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องเน้นย้ำอีรกรอบว่า การพูดเพื่อสื่อสารนั้นไม่ง่าย ดังนั้นต้องฝึกซ้อมให้มาก ๆ ก่อนที่จะสื่อสารกับใครในเรื่องสำคัญ

การสื่อสารด้วยวิธีการ “เขียน”
การเขียนถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร ที่ได้รับความนิยม และยังคงมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ต่างไปจากการพูด แม้ว่าการพูดผ่านคลิปวิดีโอ หรือพ็อดแคสต์ จะกำลังมาแรงสุด ๆ ในยุคนี้ แต่ก็ไม่เคยทำให้หนังสือและบทความต่าง ๆ ล้มหายตายจากไปได้เลย การเปรียบเทียบนี้มาจาก ธนกฤต ศรีวิลาศ (เต้) วิทยากรคนสุดท้าย ผู้ที่เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารของ The Principia รวมถึงยังทำงานเป็นนักตัดต่อวิดีโอและนักเขียนฟรีแลนซ์เลี้ยงชีพไปด้วย
การเขียน เป็นวิธีการสื่อสารแบบหนึ่งที่ถูกใช้กันมายาวนานแล้ว ทำให้มีพื้นที่สื่อสำหรับการเขียนเยอะแยะมากมาย เช่น หนังสือ วารสาร, ฉลากสินค้า, ป้ายโฆษณา, คู่มือการใช้สินค้า, หรือบทความทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเขียนก็ยังถูกใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ดังนั้นผู้ที่ต้องการสื่อสารผ่านการเขียน จำเป็นจะต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์ในการเขียนของตัวเองคืออะไร โดยวิทยากรได้แบ่งวัตถุประสงค์ในการเขียนออกเป็นห้าข้อได้แก่

การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง ทั้งการเล่าเรื่องจริง อย่างชีวประวัติบุคคล หรือการเล่าเรื่องแต่ง อย่างนิทาน ก็จำเป็นต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้เรื่องเล่าผ่านงานเขียนนั้นน่าติดตาม
การเขียนเพื่ออธิบาย สำหรับงานเขียนที่ต้องการให้คนเข้าใจในเนื้อหา ก็ต้องมีวิธีการอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย เพราะหากต้องการเขียนเพื่ออธิบาย แต่ไม่มีผู้อ่านเข้าใจ ก็จะเป็นการอธิบายที่ไม่ประสบความสำเร็จ
การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น ก็สามารถแบ่งรูปแบบได้ว่าเหตุผลในการแสดงความคิดเห็นนั้นคืออะไร ไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุน, โต้แย้ง, ตั้งข้อสังเกต, หรือเพื่อประเมินค่า
การเขียนเพื่อโฆษณา เป็นการเขียนเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านทำในสิ่งที่ต้องการ เช่น โน้มน้าวให้เข้าร่วมการอบรม, โน้มน้าวให้ซื้อสินค้า, หรือโน้มน้าวให้กดติดตามผ่านหน้าเฟซบุ๊ก
การเขียนเพื่อสร้างจินตนาการ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือการเขียนนวนิยาย ที่จำเป็นจะต้องใส่รายละเอียดต่าง ๆ ให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพเหมือนกับผู้แต่งผ่านตัวอักษรให้ได้ ซึ่งการเขียนเพื่อสร้างจินตนาการ บางครั้งก็ต้องใช้เทคนิคเพื่อเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ, อธิบายเรื่องราวให้ผู้อ่านเข้าใจ, แสดงความคิดเห็นของตัวละคร, และโน้มน้าวให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อ จึงจำเป็นต้องรู้เทคนิคจากวัตถุประสงค์การเขียนข้ออื่น ๆ ไว้ด้วย
งานเขียนถือเป็นภาพอย่างหนึ่งที่ผู้อ่านใช้ประสาทสัมผัสการมองเห็นในการรับสาร วิทยากรจึงบรรยายเรื่องราวต่อไปซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน
การสื่อสารด้วยการใช้ “ภาพ”
ภาพเป็นสิ่งที่สากลที่สุด ที่มนุษย์สามารถบันทึกเพื่อสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ มนุษย์โบราณจึงใช้วิธีวาดรูปบนผนังถ้ำเพื่อจดบันทึกเหตุการณ์ ต่อมาเมื่อมนุษย์คิดค้นตัวอักษรและจดบันทึกลงสมุดได้ รูปภาพก็ยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ, ความบันเทิง, หรือความสนใจในเนื้อหาได้มากขึ้น ธนกฤต ศรีวิลาศ (เต้) ซึ่งเป็นวิทยากร จึงรับหน้าที่บรรยายความสำคัญของการใช้ภาพเพื่อสื่อสาร
ภาพเพียงภาพเดียว สามารถสื่อสารได้เป็นล้านความหมาย ข้อดีของมันคือการใช้ภาพเพื่อสื่อสาร ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรให้เยอะ ผู้รับสารก็สามารถเกิดความเข้าใจได้ แต่ข้อเสียของมันก็คือ ผู้รับสารอาจได้รับสารไม่ตรงกับที่ผู้ส่งสารตั้งใจจะสื่อสารไป เพราะฉะนั้น การใช้ภาพควบคู่ไปกับการบรรยายผ่านตัวอักษร ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกันเสมอมา
รูปแบบของภาพที่ได้รับความนิยมในการสื่อสารวิทยาศาสตร์มากที่สุดในยุคนี้คือ “อินโฟกราฟิก” ซึ่งหมายถึงภาพกราฟิกที่ทำจากคอมพิวเตอร์ ที่มีข้อมูล หรือ information อธิบายอยู่บนภาพเดียวกัน ซึ่งมีประโยชน์ในการอธิบายสิ่งที่เข้าใจยากให้จบได้ภายในภาพเดียว ทำให้มันทั้งง่ายขึ้น และทั้งน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

แต่ก็ยังมีรูปภาพอีกหลายชนิด ที่ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ผู้ที่ต้องการใช้ภาพในการสื่อสารจึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการภาพที่นำมาใช้ ทั้งการบ่งบอกตัวตน ว่ามันสามารถสื่อสารในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ส่งสารได้หรือไม่, การสื่อสารตรงความหมาย ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สื่อสารมากน้อยขนาดไหน, รวมถึงการใช้ภาพที่ทันสมัย ว่ามันเหมาะสมกับกระแสในยุคปัจจุบันหรือไม่ เพราะถ้าใช้การเขียนภาพบนผนังเพื่อสื่อสาร ก็คงจะดูโบราณไปเสียหน่อย
สรุปเรื่องราวการสื่อสารวิทยาศาสตร์
การสื่อสารวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่สำคัญในประเทศไทยปัจจุบัน เพราะมีข่าวคราวมากมายที่ถูกกระจายโดยไม่ได้รับการตรวจสอบแบบเป็นวิทยาศาสตร์ อาชีพนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นทั้งอาชีพที่ต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงเทคนิคในการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือการใช้ภาพ ซึ่งบรรยากาศภายในงาน มีการยกตัวอย่าง และการถาม-ตอบ ระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมได้เป็นอย่างดี
ถ้าหากว่าองค์กรใดสนใจโครงการรูปแบบเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะในระดับโรงเรียนประถมศึกษา, โรงเรียนมัธยมศึกษา, สถาบันอุดมศึกษา, หรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ สามารถติดต่อ The Principia เพื่อร่วมกันจัดโครงการดี ๆ แบบนี้ร่วมกันได้ผ่านอีเมล theprincipia2021@gmail.com