หากพูดถึงกิจกรรมเวลาไปทะเลก็คงจะไม่มีใครที่ไม่นึกถึงการก่อปราสาททราย ในตอนที่เราพยามยามก่อปราสาทหลังน้อยในฝันจากทรายริมหาดพอผ่านไปซักช่วงเวลาหนึ่งสิ่งที่เราจะกลัวมากที่สุดก็คงเป็นในตอนที่คลื่นทะเลซัดเข้าฝั่งมาแล้วซัดเอาปราสาททรายของเราให้มลายหายไปในพริบตาหรือหากเป็นในฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรง คลื่นน้ำมหาศาลนี้ได้ซัดเอาทรายจำนวนมหาศาลออกไปจากหาดส่งผลทำให้พื้นที่หาดหายไปได้ดังนั้นเองมนุษย์จึงเลือกที่จะสร้างผนังกันหรือแผงกันเพื่อป้องกันการกัดเซาะและคงพื้นที่ของชายหาดที่ต้องการไว้
กำแพงกันคลื่นคือนวัตกรรมที่มนุษย์ใช้เพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายหาดโดยการเอาวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทานตั้งขวางทิศทางของคลื่น เพื่อป้องกันแนวหาดหลังกำแพงโดยกำแพงกันคลื่นเป็นนโยบายของรัฐมาตั้งแต่อดีตไม่ต่ำกว่า 30 ปีโดยจากการสำรวจพบว่าตลอดแนวชายฝั่งของทุกจังหวัดของไทยล้วนมีการตั้งแนวกันคลื่นไว้เสมอ
ซึ่งเหล่าชาวบ้านบางส่วนและภาครัฐต่างเชื่อกันว่ากำแพงกั้นคลื่นนี้จะแก้ปัญหาการกัดเซาะของชายหาดในช่วงฤดูมรสุมได้ซึ่งจะส่งผลกับครัวเรือนโดยรอบหากไม่มีการสร้างแนวกั้นคลื่นแต่ทว่าเหล่านักวิชาการหลายท่าน ภาคประชาสังคม และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งมองว่า กำแพงกันคลื่นที่ภาครัฐสร้างเกลื่อนชายหาดอาจช่วยลดแรงปะทะของคลื่นลมได้ แต่ในอีกด้าน มันคือตัวการที่ทำให้หาดหายไป (Dead of the Beach) เป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดเซาะ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และทำลายระบบนิเวศบนชายหาด
กำแพงกันคลื่นคืออะไร
กำแพงกันคลื่นคือโครงสร้างแข็ง (Hard Structure) ที่ถูกนำมาวางริมทะเล ทำขึ้นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำแพงจะทำหน้าที่ลดพลังงานของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง ทำให้พื้นที่ด้านหลังกำแพงไม่ถูกกัดเซาะโดยที่ถูกใช้ในประเทศไทยมีด้วยกัน 6 ประเภทดังนี้
แบบที่ 1 กระสอบทราย (sandbag) คือการนำกระสอบทรายมาวางกันคลื่น วิธีนี้สะดวกและเรียบง่ายแต่ในระยะยาวนั้นเมื่อพลาสติกเสื่อมสภาพจะทำให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้
แบบที่ 2 แนวหินทิ้ง (Riprap) คือการนำก้อนหินมาวางเรียงบนหาดแล้วใช้ตาข่ายลวดมาหุ้มก้อนหินเอาไว้ เรียกว่า เกเบียน (Gabion) ข้อเสียของแบบนี้คือสูญเสียทัศนียภาพและการใช้ประโยชน์จากชายหาด
แบบที่ 3 กำแพงทะเล (Seawall) คือกำแพงคอนกรีตที่วางอยู่บนหาดขนานไปกับชายฝั่ง โครงสร้างนี้จะทำให้หาดทรายด้านหน้าของแนวกำแพงถูกกัดเซาะ
แบบที่ 4 เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) คือโครงสร้างแข็งที่อยู่กลางน้ำนอกชายฝั่งในแนวขนานกับชายฝั่ง มักมีลักษณะเป็นกองหินขนาดใหญ่ เขื่อนกันคลื่นประเภทนี้จะทำให้หาดทรายมีลักษณะโค้งเว้าเป็นเสี้ยว
แบบที่ 5 คันดักทราย (Groin) คือโครงสร้างแข็งที่วางตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง มักมีลักษณะเป็นกองหินขนาดใหญ่ ทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนที่ขนานกับชายฝั่งเกิดการทับถมที่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะถูกกัดเซาะจนเว้าแหว่ง
แบบที่ 6 กำแพงปากแม่น้ำ (Jetty) คือการขุดลอกตะกอนบริเวณปากแม่น้ำแล้ววางโครงสร้างแข็งระหว่างรอยต่อของแม่น้ำกับทะเล เพื่อทำให้เรือเล็กและเรือใหญ่สามารถสัญจรเข้าออกระหว่างทะเลกับแม่น้ำได้สะดวกโดยไม่มีตะกอนปากแม่น้ำมาขวางกั้น
ต้นตอที่แท้จริงของทะเลไร้หาด
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างแข็งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งกลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหานี้ยิ่งหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม หลาย ๆ คนน่าจะคิดว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อน หาดถล่มหรือแม้แต่การคอรัปชั่นของภาครัฐที่ไม่ต้องการแก้ปัญหาที่แท้จริง โดยสมาธิ ธรรมศร นักวิชาการอิสระด้านฟิสิกส์ประยุกต์และโลกศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยกับนิตยสาร Way magazine ว่าสาเหตุหลักจริง ๆ ของทะเลไร้หาดเกิดจากการพังทลายของ สมดุลตะกอน
ปกติแล้ว ทรายเป็นวัสดุที่แข็งและไม่ค่อยยึดเกาะกัน แต่เมื่อพวกมันมากองรวมกันเป็นหาดทราย หาดทรายจะเป็นบริเวณที่อ่อนนุ่ม แต่พอเราเอาหินหรือคอนกรีตไปวางทับ การสะสมตัวและการกัดเซาะตามธรรมชาติของหาดทรายจะเปลี่ยนแปลงไปจึง ทำให้หาดทรายหายไป
สมาธิ ธรรมศร – Way magazine
กล่าวได้ว่าเมื่อคลื่นเคลื่อนตัวจากเขตน้ำลึกมายังเขตน้ำตื้น คลื่นจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่เนื่องจากแรงเสียดทานของพื้นทะเล ทำให้อัตราเร็วและความยาวคลื่นลดลง คลื่นจึงยกตัวขึ้น ก่อนจะแตกสลายบริเวณหาดทรายที่กว้างและมีความชันน้อยๆ โดยการแตกสลายของคลื่นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น ความลึกของน้ำ ความสูงของคลื่น ความยาวของคลื่น คาบของคลื่น และความชันของหาด
ต่อมาเมื่อมีการสร้างแนวกั้นขึ้นบนชายหาดทำให้เกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรงของคลื่น ทำให้ตะกอนทรายที่ฐานของโครงสร้างแข็งถูกกัดเซาะออกไปจนเหลือเพียงกองหินหรือกำแพงคอนกรีต ชายฝั่งที่เต็มไปด้วยวัสดุแข็งจึงถูกเรียกกันว่า ชายฝั่งสวมเกราะ (Coastal Armoring)
สมดุลที่พังทลายไม่ได้เริ่มจากที่ชายหาดแต่เริ่มจากต้นน้ำ
เปลือกโลกของเราส่วนใหญ่เป็นหินแข็งซึ่งถูกกัดกร่อนจากทั้งลมและน้ำเกิดเป็นตะกอน ซึ่งในที่นี้เรากำลังพูดถึงตะกอนที่ไหลมาตามเส้นทางน้ำแขนงเล็ก ๆ ก่อนจะรวมเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลและเป็นส่วนหนึ่งของตะกอนในมหาสมุทรและถูกคลื่นทะเลพัดมาสะสมบริเวณริมชายหาดหรือป่าชายเลน กระบวนการนี้เราเรียกว่าการปรับความสมดุลของพื้นผิวโลก (Denudation)
หลายสิบปีมานี้ ไทยมีการสร้างเขื่อน ฝายกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำเพื่อใช้สำรองน้ำในการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรมและผลิตกระแสไฟฟ้า โครงการด้านชลศาสตร์เหล่านี้นอกจากอรรถประโยชน์ข้างต้นยังต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ประชาชนจำวนมากไม่รับรู้นั้นคือการที่ตะกอนที่ควรไหลลงสู่ปากแม่น้ำกลับไปสะสมบริเวณก้นของฝายชะลอน้ำ
กล่าวคือหากเราสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งทำให้น้ำไหลช้าลงหรือไม่ไหลเลยทำให้ดินตะกอนตกตะกอนที่ด้านล่างของฝายดังนั้นจึงควรสร้างฝายชั่วคราวซึ่งทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ในช่วงหน้าแล้งและในช่วงหน้าน้ำหลากควรถอนฝายออกเพื่อป้องกันน้ำป่าไหลหลากจะเข้าทำลายฝายและก่อให้เกิดอันตรายหากวัสดุก่อสร้างของฝายถูกพัดลงมากับน้ำป่า หรือการทำประปาภูเขา ใช้โอ่งเก็บน้ำ ขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำดีกว่าการสร้างฝายถาวรเหมือนที่เราทำกัน
นอกจากนี้การสร้างฝายถาวรนอกจากทำให้น้ำท่วมบริเวณป่าต้นน้ำแล้ว ยังทำให้ต้นไม้ตายเพราะรากต้นไม้จมน้ำ แล้วบางทีเมื่อน้ำมันนิ่งจากการถูกกัก พวกใบไม้ก็จะหล่นลงมาสะสมในน้ำแล้วก็จะเน่า ทำให้สัตว์น้ำตาย
จากองค์ความรู้นี้ได้ถูกนำมาแก้ไขการหายไปของชายหาดแถบแม่น้ำเอลวาของสหรัฐอเมริกาที่เดิมมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำเอลวา (Elwha River)เมื่อต้นทศวรรษที่ 1900 เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงโรงงานทำไม้ โดยเขื่อนแห่งนี้ได้ทำลายเส้นทางอพยพของปลาแซลม่อนและยังดักและสะสมตะกอนทำให้ตลอดมาชายหาดบริเวณปากแม่น้ำถูกกัดเซาะจนหายไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากมรสุมของอเมริกามีความรุนแรงมากจนกระทั้งเมื่อ 30-40 ให้หลังรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่เขื่อนได้ทำขึ้นทำให้มีคำสั้งให้ทุบทำลายเขื่อนส่งผลให้ดินตะกอนที่สะสมบริเวณเขื่อนถูกไปเติมบริเวณชายหาดและสามารถฟื้นฟูสภาพของชายหาดได้ภายใน 2 ปี ต่อจากนั้นเองอเมริกาจึงได้มี United States Geological Survey เพื่อทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบของเขื่อนหากพบเขื่อนไหนที่เก่าและมีผลเสียเยอะก็จะมีคำสั้งให้ทำการลื้อเขื่อนทิ้ง
แม่น้ำโขงสีครามแต่ไร้ซึ่งชีวิต
แม่น้ำโขงถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญและใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด โดยปกติแล้วน้ำในแม่น้ำโขงจะมีความขุ่นมัวเหมือนโคลนเนื่องจากตะกอนที่ถูกพัดมาจากต้นน้ำและแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่ทว่าในปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการสร้างเขื่อนจำนวนมหาศาลตลอดแนวของแม่น้ำโขงและประเทศริมฝั่งโขงโดยรอบก็สร้างเขื่อนขึ้นทั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาอื่น ๆ ทำให้ตะกอนจากต้นน้ำไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ทำให้แม่น้ำโขงในปัจจุบันน้ำมีสีฟ้า ซึ่งบ่งบอกถึงตะกอนและโคลนที่หายไปเป็นจำนวนมากหรือที่เราเรียกว่า “น้ำหิว” (Hungry Water Effect) โดยปกติแล้วแม่น้ำจะใช้พลังงานส่วนหนึ่งใช้เพื่อโอบอุ้มตะกอนเมื่อตะกอนส่วนใหญ่ถูกดักทำให้ค่าการกระเจิงของแสงและดูดกลืนแสงของน้ำจึงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำมีสีเขียวใสอมฟ้าและมีพลังงานคงเหลือมากเพียงพอที่จะกัดเซาะริมตลิ่งทำให้ริมตลิ่งของแม่น้ำโขงถูกกัดเซาะ ทำให้ตลิ่งเกิดการพังทลาย
ในขณะเดียวกันบริเวณปลายแม่น้ำมีการสร้างกำแพงปากแม่น้ำเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางเรือของมนุษย์ทำให้ตะกอนถูกพัดไกลจากชายฝั่ง ทำให้คลื่นลมและคลื่นน้ำก็ไม่สามารถนำพาตะกอนกลับมายังชายฝั่งได้ง่ายขึ้นทำให้บริเวณชายฝั่งเกิดการกัดเซาะมากขึ้นเนื่องจากไม่มีตะกอนมาเติม
การจัดการของรัฐไทยต่อปัญหาการกัดเซาะ
ก่อนอื่นเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจให้ตรงกัน เราจำเป็นต้องนิยามให้ตรงกันระหว่างคำว่าหาดกับฝั่งเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดและเข้าใจตรงกัน หาด(Beach) คือบริเวณที่มีการสะสมของตะกอนซึ่งได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลซึ่งเริ่มนับตั้งแต่เขตน้ำลงต่ำสุดไปจนถึงจุดสูงสุดที่น้ำสามารถเคลื่อนไปได้มีความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ในขณะที่ฝั่ง(Coast) คือบริเวณที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของน้ำทะเล เป็นบริเวณแผ่นดินที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
ในการสร้างบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง คนเรามักเลือกที่จะสร้างโดยไปรุกล้ำพื้นที่ของหาดเดิมทำให้เมื่อมีการสร้างกำแพงกันคลื่นจึงต้องสร้างให้รุกล้ำพื้นที่หน้าหาดและส่งผลทำให้หาดมีขนาดเล็กลงแต่ทว่าการเคลื่อนตัวของคลื่นยังเท่าเดิมทำให้คลื่นเคลื่อนตัวมาปะทะกับกำแพงกันคลื่นซึ่งมีความชันมากทำให้เกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรงของคลื่น ความรุนแรงของคลื่นนี้ได้พัดพาเอาตะกอนและทรายออกสู่ทะเลมากขึ้นจนทำให้หาดถูกกัดเซาะหนักขึ้นเรื่อย เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าปรากฏการณ์หาดบาง (Beach Thinning Effect) หรือปรากฏการณ์หาดต่ำลง (Beach Lowering Effect)
จากรูปทั้ง 2 เราจะเห็นได้ว่าหาดที่ไม่มีกำแพงกันคลื่นคลื่นจะไม่รุนแรงกว่าหาดที่มีกำแพงกันคลื่นเนื่องจากลักษณะของหาดที่มีความชันต่ำทำให้เมื่อคลื่นเคลื่อนตัวจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่ ในขณะที่หาดที่มีกำแพงกันคลื่นนั้นคลื่นเข้าปะทะกับกำแพงโดยตรง โดยไม่มีการสูญเสียพลังงาน
ในหาดบางแห่งมีการสร้างกำแพงกันคลื่นขึ้นกลางน้ำหรือกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) ซึ่งให้ผลไม่ต่างกันเนื่องจากคลื่นที่พัดพาตะกอนเข้าสู่หาดไม่สามารถเดินทางเข้าสู่หาดได้เนื่องจากกำแพงที่แข็งและหนากำลังขวางกั้นอยู่ คงเหลือไว้เพียงบริเวณรอยต่อของแนวกำแพงที่คลื่นสามารถเดินทางมาได้และเกิดเป็นหาดโค้งเว้ารูปเสี้ยวพระจันทร์ โดยเราเรียกหาดที่ยังไม่ชนกำแพงว่าซาเลียนต์ (Salient) ส่วนหาดที่งอกออกมาชนกับหลังกำแพงเรียกว่า ทอมโบโล (Tombolo) ทำให้ดูเหมือนเราสามารถรักษาหาดไว้ได้แต่ทว่าในความจริงหาดที่งอกออกมาชนกำแพงอาจไปขัดขวางทิศทางการไหลของกระแสน้ำและตะกอนที่ไหลขนาบกับฝั่ง
โดยในสภาวะปกติที่สมดุลของตะกอนยังอยู่ในภาวะสมดุล ในช่วงฤดูมรสุมตะกอนจะถูกพัดพาออกไปนอกทะเลทำให้หาดเหมือนถูกกัดเซาะแต่พอหมดฤดูมรสุมแล้วคลื่นจะเป็นตัวนำพาตะกอนกลับมายังหาด แต่การสร้างกำแพงกันคลื่นกลับทำให้คลื่นไม่สามารถนำพาตะกอนกลับมายังหาดเดิมได้ส่งผลให้หาดถูกกัดเซาะมาเรื่อย ๆ โดยไม่มีอะไรมาเติมเต็มส่วนที่ถูกกัดเซาะ
การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
หาดแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยข้อมูลหลาย ๆ ด้านและเก็บรวบรวมในระยะเวลาที่นานเพียงพอ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา
โดยข้อมูลที่ผู้ที่จะลงมือแก้ไขต้องทราบมีดังนี้
หนึ่ง — ลักษณะของหาดทรายและชายฝั่ง ตะกอน คลื่น กระแสน้ำ และภูมิอากาศ ในระยะเวลาที่ยาวเป็นสิบๆ ปี ของพื้นที่นั้นๆ เพื่อทราบพลวัตของหาดว่าตลอดระยะเวลามีกระบวนการเป็นอย่างไร
สอง — ข้อมูลของสิ่งมีชีวิตบนหาดและในน้ำ เช่น ผักบุ้งทะเล หญ้าทะเล สาหร่ายทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา เต่า ดาวทะเล ฯลฯ
สาม — ข้อมูลจากภาครัฐ การรับมือกับปัญหาชายหาดและชายฝั่งและการให้ความสำคัญกับข้อมูลภาคประชาชน โดยข้อมูลนั้นต้องมีความทันสมัยและทันต่อโลก
ข้อมูลทั้งสามนี้จะช่วยให้เราสามารถเลือกใช้วิธีการในการแก้ปัญหาของแต่ละหาดได้อย่างตรงจุดและคงอยู่ถาวร
ซึ่งจะนำมาสู่คำถามที่ว่าหากไม่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นแล้วควรแก้ไขปัญหาอย่างไรดี โดยอาจารย์สมาธิ ธรรมศรได้ยกตัวอย่างนวัตกรรม 4 รูปแบบซึ่งถูกนำมาใช้แก้ปัญหาในต่างประเทศและใช้แล้วในบางพื้นที่ของประเทศไทย
แบบที่ 1 รั้วไม้แบบแห้ง (Dry Sand Fence) หรือการนำรั้วไม้มาปักบนหาด เพราะลมที่พัดมานั้นหอบทรายมาด้วย เมื่อลมชนกับรั้วไม้ ทรายที่ลมพัดมาด้วยก็จะตกสะสมทำให้เกิดเป็นสันทรายหรือที่เรียกว่ารั้วไม้ดักทราย
แบบที่ 2 รั้วไม้แบบเปียก (Wet Sand Fence) คือการนำรั้วไม้มาปักลงในหาดที่น้ำทะเลขึ้นมาถึง เมื่อคลื่นและกระแสน้ำพาตะกอนเข้ามาปะทะกับรั้วไม้ พลังงานของคลื่นและกระแสน้ำจะลดลง ทำให้ตะกอนตกลงบนหาด หรือที่เรียกว่า ‘รั้วไม้ดักทรายจากคลื่น’ วิธีนี้มักใช้ร่วมกับการเติมทราย
แบบที่ 3 กำแพงไม้ริมทะเล (Wood Revetment) คือการสร้างกำแพงไม้แนวเฉียงที่มีช่องให้น้ำและลมไหลผ่าน โดยในช่วงมรสุมอาจจะวางหินเพิ่อเสริมความแข็งแรงเมื่อพายุหมดก็เอาหินออก
แบบที่ 4 การเติมทราย (Beach Nourishment) คือการเติมทรายบนหาด ในกรณีที่หาดทรายถูกกัดเซาะ ตะกอนเสียสมดุล และทรายกลับมาสะสมตัวบนหาดไม่ได้ ภาครัฐจึงไปขุดทรายจากที่ที่ทรายงอก แล้วนำมาถมบนหาดที่ถูกกัดเซาะ โดยทรายที่นำมาถมจะต้องมีลักษณะเหมือนกับทรายบนหาดเดิม
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูสังคมพืชบนหาด (Beach Forest) ซึ่งวิธีนี้จะดีต่อระบบนิเวศมากกว่ารั้วไม้ เพราะป่าชายหาด หรือ ‘สังคมพืชหาด’ จะใช้ลำต้นและรากของพืชในการดักทราย และลดการกัดเซาะได้ตามธรรมชาติ
ข้อควรระวังคือ ในหลายๆ พื้นที่พยายามสร้างป่าชายหาดโดยการปลูกต้นไม้ แต่ในทางนิเวศวิทยานั้น ป่าจะหมายถึงสังคมพืชที่เกิดขึ้นเองตามกระบวนการทางธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะเป็นตัวคัดเลือกว่าพืชชนิดไหนจะขึ้นบนหาด พืชแต่ละชนิดขึ้นกี่ต้น พืชชนิดไหนขึ้นก่อนหรือขึ้นหลัง และพืชเหล่านั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร นั่นหมายความว่า ธรรมชาติจะเป็นผู้เลือกสรรได้ดีที่สุด
อย่างไรก็กระบวนการฟื้นฟูนี้จำเป็นต้องอาศัยทั้งการอพยพบ้านเรือนและชุมชนพร้อมกับทุบทำลายฝายหรือเขื่อนที่ไร้ประโยชน์ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยมาตรการตั้งแนวถอยร่นและเงินภาษีจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งขอความร่วมมือให้ชุมชนย้ายถิ่นฐานขึ้นไปอาศัยบนฝั่งและเวนคืนพื้นที่หาดให้เป็นดังเดิม
นอกจากวิธีการข้างต้นแล้วในหลายประเทศได้คิดนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหาดบางซึ่งได้รับความสนใจในหลายประเทศดังนี้
หนึ่ง – ทุ่นลอยน้ำกันคลื่น (Wavebrake) ด้านบนคือทุ่นลอยน้ำ ด้านล่างของทุ่นคือกำแพง ช่วงไหนที่มีพายุมรสุม เราสามารถลากทุ่นลอยน้ำมาไว้ที่หน้าหาด โดยทุ่นจะเปรียบเสมือนกำแพงลอยน้ำ ส่วนช่วงไหนที่คลื่นลมสงบ เราสามารถลากทุ่นเก็บได้
สอง – ตัวรักษาทราย (Sandsaver) กำแพงบล็อกเจาะรู ทำมาจากพอลิเมอร์ (Polymer) มีน้ำหนักเบาและขนย้ายสะดวก ประโยชน์คือเมื่อเรานำตัวรักษาทรายไปตั้งไว้ที่ชายหาด เมื่อมีคลื่นเข้ามาปะทะ คลื่นจะมีพลังงานน้อยลง และน้ำบางส่วนจะไหลผ่านรูเพื่อพาทรายมาตกที่หาดทราย เมื่อหมดช่วงมรสุมก็สามารถยกเก็บได้
สาม – ปริซึมหาด (Beach Prisms) จะมีลักษณะคล้ายตัวรักษาทราย (Sandsaver) แต่ปริซึมหาดจะมีช่องที่ใหญ่กว่า ทำจากคอนกรีต แต่มีขนาดเล็กกว่ากำแพงกันคลื่นที่เรามักเห็นในประเทศไทย การติดตั้งหรือรื้อถอนทำได้โดยการนำสายคล้องมาผูกกับรถแบ็คโฮแล้วยกเก็บยกตั้งได้ โดยนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถรับมือกับพายุแรงๆ ได้ดีกว่า ตัวรักษาทราย (Sandsaver) อีกด้วย
สี่ – กำแพงกันคลื่นแบบบอลปะการัง (Reef Ball) มีลักษณะคล้ายปะการังเทียมรูปกล่องแล้วตัดครึ่ง จากนั้นเจาะรูแล้วนำมาวางหน้าหาด นวัตกรรมชิ้นนี้สามารถบรรเทากระแสคลื่นแรงได้เช่นกัน
EIA รายงานที่ถูกมองข้ามในการก่อสร้าง
จะเห็นได้ว่าวิธีการในการแก้ไขปัญหาหาด ล้วนแล้วแต่ใช้ต้นทุนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการสร้างกำแพงกันคลื่นที่เราใช้กันในปัจจุบัน แต่รัฐไทยเลือกที่จะเมินเฉยต่อวิธีการที่เหล่านักวิจัยต่างเสนอมาไม่ว่าจะด้วยทั้งการยกเหตุผลทางกฎหมาย โดยเฉพาะภายหลังปี 2556 รัฐบาลในยุคนั้นมีมติเพิกถอนการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ก่อนการทำกำแพงกันคลื่นโดยให้เหตุผลว่าเป็นวาระเร่งด่วน ส่งผลทำให้ต่อจากนั้นมีการสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของกรมโยธาในการสร้างกำแพงกันคลื่นโดยในปีงบประมาณปีพ.ศ. 2559-2560 มีการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 50.635% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี พ.ศ. 2558
เว็บไซต์ Beach For Life เปิดเผยตัวเลขงบประมาณการสร้างกำแพงกันคลื่นต่อหน่วย (กิโลเมตร) ในการสร้างกำแพงกันคลื่น 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง-โครงสร้างเเบบเรียงหิน งบประมาณราว 80 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร สอง-กำแพงกันคลื่นเเบบคอนกรีตเสริมเหล็กขั้นบันได งบประมาณราว 100 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร แต่ทว่าที่ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ประเมินไว้ว่าใช้งบประมาณ 175 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเลที่ราคาสูงที่สุดเท่าที่ Beach Lover เคยสำรวจข้อมูลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งมีราคาที่สูงกว่าราคาที่คาดการ์ณไว้
ซึ่งหากการใช้กำแพงกันคลื่นนี้คือการแก้ไขปัญหาที่รัฐเลือกใช้และเหมาะสมจริง งบประมาณเพื่อการป้องกันชายฝั่งควรลดลงอย่างมีนัยสำคัญและความรุนแรงของการกัดเซาะหาดต้องเบาบางลงแต่ทว่าในความจริงแล้วรัฐมีการตั้งงบประมาณเพื่ิอสร้างกำแพงกันคลื่นในทุกปีและยังคงมีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมาแต่รัฐกลับมีนโยบายเพิกเฉยต่อการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ในอนาคตหากไม่การเรียกร้องที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเราอาจจะไม่มีหาดทรายซึ่งใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรุ่นลูกหลานอีกต่อไป
โดยเมื่อวันที่ (6 มิถุนายน 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีประกาศบังคับให้กำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม(EIA)