อวกาศถือเป็นเขตแดนหรือพรมแดนใหม่ของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยช่องว่างที่มากเพียงพอที่จะให้เราเสาะแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยในปัจจุบันเราพยายามสร้างเครื่องมือ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อเติมเต็มช่องว่างของภาพใหญ่ สำหรับความเข้าใจด้านอวกาศของพวกเรา โดยศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่จะเติมเต็มช่องว่างนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยเพียงดาราศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่อวกาศคือพื้นที่ที่ศาสตร์ทุกแขนงสามารถมีส่วนร่วมในการเติมเต็มชิ้นส่วนที่ขาดหายไปของภาพใหญ่ภาพนี้ เราตั้งคำถามถึงความเป็นไปของดวงดาวบนท้องฟ้า จนทำให้เราเริ่มประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังที่สุดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของดวงดาวนับล้านดวงที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย เราเคยใฝ่ฝันถึงภาพของการใช้ชีวิตบนอวกาศและการเดินทางระหว่างดวงดาว ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เราเริ่มต้นโครงการอาร์ทิมิส ที่จะพาพวกเราเหล่ามนุษยชาติให้เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวของโลกที่อาศัยอยู่บนดวงดาวมากกว่าหนึ่งดวง
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2023 พวกเรา The Principia ได้เข้าไปร่วมงาน Future of Space Movement in 2060 ซึ่งพูดถึงภาพอนาคตในปี 2060 หรืออีก 40 ปีต่อจากนี้วงการอวกาศจะไปในทิศทางไหนได้บ้าง โดยความร่วมมือระหว่างสื่อออนไลน์ SPACETH.CO ร่วมกับ FutureTales Lab by MQDC ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยคาดการณ์อนาคต (Future Study) โดยงานจัดขึ้นที่ชั้น 7 บริเวณ Town Hall L ของ True Digital Park โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 50-60 คน จากแวดวงอวกาศ ส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะต้องมีบทบาทสำคัญต่อวงการอวกาศในปี 2060
ภายในงานประกอบด้วยสองหัวข้อใหญ่สำคัญดังนี้
- การนำเสนองานวิจัย ขั้นตอนกระบวนการ และผลของการวิจัยนำโดยคณะวิจัย
- คุณสุณัฏฐา พงษ์เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ
- คุณวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ
- คุณณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ สเปซทีเอช
- คุณชยภัทร อาชีวระงับโรค บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ สเปซทีเอช ผู้แปลหนังสือภารกิจพิชิตดาวพลูโต (Chasing New Horizons) และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Creatorsgarten
- งานเสวนาพูดถึงอนาคตของวงการอวกาศไทยและโอกาสของคนรุ่นใหม่ (โดยใช้เนื้อหาจากงานวิจัย) ซึ่งดำเนินรายการโดย คุณชยภัทร อาชีวระงับโรค ประกอบไปวิทยากรดังนี้
- ผศ.ดร. ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช, ที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (อาจารย์ต้น)
- ปริทัศน์ เทียนทอง, ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้ดูแลความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และไทย (คุณเบ้ง)
- วสันชัย วงศ์สันติวนิช, ประธานกรรมการบริหารบริษัท บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด (คุณวิว)
- ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์, อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, มหาวิทยาลัยการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (อาจารย์เกีย)
โดยทางเราได้สรุปใจความหลักของเสวนาข้างต้นมาให้ดังนี้
อนาคตของวงการอวกาศในอีก 40 ปีข้างหน้า
ก่อนอื่นทางผู้บรรยายได้เล่าถึงภาพรวมของโครงการอวกาศในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อมองภาพการพัฒนาของอวกาศตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ที่ชาติมหาอำนาจสองชาติคือ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ส่งจรวดพามนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศนับตั้งแต่ยูริ กาการิ นักบินอวกาศคนแรกของโลก ไปจนถึงการเหยียบดวงจันทร์ในภารกิจอพอลโล 11 ในช่วงนั้นอวกาศคืออำนาจซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างแสดงความสำเร็จเพื่อผลประโยชน์ในการเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่จะเป็นผู้นำโลก ในยุคนี้นั้นรัฐบาลของทั้ง 2 มหาอำนาจต่างทุ่มเงินและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปกับอวกาศ จนกระทั่งสหภาพโซเวียตประสบกับปัญหาภายใน ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกในยุคต่อมา ซึ่งผลผลิตของยุคนี้นอกจากองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดแล้ว นวัตกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น เครื่องกรองอากาศ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ล้วนพัฒนาต่อยอดมาจากการสำรวจอวกาศในยุคนี้ จนกระทั่งในยุคต่อมา อวกาศได้กลายเป็นเรื่องราวของความร่วมมือระหว่างประเทศ และแล้วสถานีอวกาศนานาชาติก็ได้ถูกสร้างขึ้นในปี 1998 และยังมีการก่อตั้งหน่วยงานด้านอวกาศอื่น ๆ ในแต่ละประเทศซึ่งแสดงให้เห็นว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องของชาติมหาอำนาจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุกประเทศสามารถมีส่วนขับเคลื่อนและผลักดันไปพร้อม ๆ กัน ก่อนที่ในปี 2011 ได้เริ่มต้นยุคสมัยของยานอวกาศเพื่อการพาณิชย์ซึ่งถูกผลิตโดยบริษัทเอกชนทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัย Start-up ด้านอวกาศต่าง ๆ กลายเป็นยุคที่อวกาศไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของภาครัฐอีกต่อไป แต่เป็นยุคที่อวกาศเป็นเรื่องของทุกคน โดยเราจะมองเห็นการมีส่วนร่วมของทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านภารกิจอาร์ทิมิสที่เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีทั้งจากองค์กรของรัฐและเอกชน
โดยในปัจจุบันทิศทางอวกาศของขับเคลื่อนไปใน 5 ทิศทางคือ
- เศรษฐกิจอวกาศและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
- การสำรวจอวกาศ
- ขอบเขตใหม่ของการศึกษาและสำรวจอวกาศ
- ภูมิรัฐศาสตร์อวกาศ
- พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ
นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงได้แก่ การปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ความสำเร็จในการผลิตออกซิเจนในดาวอังคารหรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ฯลฯ ซึ่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อแนวโน้ม (Trend)และความไม่แน่นอน (Critical Uncertainty) ซึ่งเราสามารถสรุปได้เป็นฉากทัศน์ได้ 4 รูปแบบดังภาพด้านล่างนี้
ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) กล่าวว่าแนวทางของอวกาศในอนาคตขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอน 2 อย่างคือ
- การเป็นผู้นำ
- Government Dominance หรือการนำโดยภาครัฐในการสนับสนุนและขยายขอบเขตการวิจัยและสำรวจอวกาศ
- Private Dominance หรือบทบาทของเอกชนต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมอวกาศซึ่งจะมีส่วนช่วยภาครัฐในการดำเนินงาน
- อิทธิพลของทรัพยากรในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ
- In-Situ Resources Utilization การสร้างทรัพยากรจากอวกาศ
- Earth Supply Resources การพี่งพาทรัพยากรจากโลก
จากฉากทัศน์ที่แสดงนี้เราจะเห็นการตัดกันของแกนทั้งสองทำให้แบ่งฉากทัศน์เป็นสี่ส่วนเท่ากันหรือ 4 จตุรภาคดังนี้
- Next Polarizing Race การขับเคลื่อนอวกาศผ่านกลไกด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐและขั้วทางการเมืองทำให้เกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากรเช่นการปักปันเขตแดนของแต่ละประเทศในดวงจันทร์และดาวอังคารซึ่งจะเป็นอาณานิคมในอนาคต
- The Multi-Planetary Voyage การขับเคลื่อนด้วยเอกชน เช่นบริษัทการทัวร์บนอวกาศ เริ่มมีการวางรากฐานการเดินทางระหว่างดวงดาวด้วยเอกชน
- The New Horizon Endeavor การที่รัฐทุ่มทุนงบประมาณในการศึกษาอวกาศ เพื่ออำนาจและเศรษฐกิจนำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆและความเข้าใจด้านดาราศาสตร์ที่มากขึ้น
- Super-terrestrial Circulation ระบบเศรษฐกิจใหม่บนอวกาศ ทำให้เกิดการค้าขายระหว่างโลกกับดวงจันทร์ซึ่งยังต้องพึ่งพาในแง่นโยบายและทรัพยากร
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังเช่นฉากทัศน์ที่ปรากฎเพียงอันใดอันหนึ่ง แต่ทั้งหมดสามารถเกิดได้อย่างทับซ้อนกันการประกอบสร้างนี้ เพื่อให้เราสามารถมองเห็นแกนสำคัญของปัจจัยความไม่แน่นอน (Critical Uncertainty) เพื่อดำเนินนโยบาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การค้า สังคม วัฒนธรรมได้อย่างระมัดระวังถึงผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถร่วมสร้างอนาคตในแบบที่เราต้องการได้
โดยงานวิจัยของงาน Future of Space Movement in 2060 มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อ
- ประชาชนทั่วไป สามารถนำเอาความสนใจของตัวเองมาสร้างเป็นกลุ่มก้อน องค์กร ชมรมที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านการทำงานอวกาศได้
- ภาคธุรกิจและการลงทุน ค้นหาและศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ การลงทุน
- ภาครัฐบาล และการเมือง ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจด้านอวกาศ ว่าไม่ได้อยู่แค่เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง เช่น วิศวกรรมศาสตร์ หรือดาราศาสตร์ แต่จะมีความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่จากกิจกรรมทางอวกาศเกิดขึ้นกับโลก เหมือนกรณี 50 ปีก่อนที่โครงการอะพอลโล (Apollo) ได้ผลักดันให้เกิดอุตสาหกกรรมไอทีขึ้นในสหรัฐฯ เป็นจุดเริ่มต้นของยุคคอมพิวเตอร์และไมโครโปรเซสเซอร์
อนาคตของวงการอวกาศไทย
ในช่วงสุดท้ายของงานได้มีการเปิดเสวนาโดยผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับอวกาศไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนซึ่งได้พูดถึงอนาคตและโอกาสในวงการอวกาศไทย โดยวิทยากรท่านหนึ่งได้กล่าวว่าจากฉากทัศน์ซึ่งปรากฎในเสวนาก่อนหน้านี้คือการคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ถ้าหากรัฐบาลและเอกชนจับมือกันเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมอวกาศซึ่งจำเป็นต้องใช้การระดมทุนและทรัพยากรจำนวนมาก รวมทั้งต้องใช้เวลาที่มากเพื่อออกผลซึ่งผลประโยชน์ที่ได้นี้ อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาหรือเสนอแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาโดยวิทยากรได้ยกตัวอย่างโครงการ Keeta ที่เป็นโครงการของไทยที่เคยไปแข่งในนาซา โดยเป็นการแปรรูปแมลงให้เป็นอาหารของนักบินอวกาศ ซึ่งผลผลิตของโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดแนวทางของเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงมนการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศเท่านั้น แต่นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ได้สามารถนำมาต่อยอดเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมคุณภาพและลดต้นทุนได้ในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้พี่เบ้งตัวแทนจากสวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ได้กล่าวถึงความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนไทยในการด้านอวกาศเช่นการหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านอวกาศหรือการที่ภาครัฐมีความสัมพันธ์กับองค์กรอวกาศในระดับนานาชาติ เช่น องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยในการส่งโครงการต่าง ๆ ของไทยไปทดลองหรือทดสอบจริงในอวกาศ
โดยทั้งนี้วิทยากรทุกคนได้เน้นย้ำว่านอกจากทรัพยากรและเงินทุนจะเป็นส่วนสำคัญในวงการอวกาศไทยแล้ว ทรัพยากรบุคคลก็มีส่วนสำคัญเนื่องจากอวกาศเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ดังนั้นเองบทบาทของสื่อต่าง ๆ ในไทยในการนำเสนอถึงความสำคัญของอวกาศต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตโดยอาศัยความถูกต้องข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการผลักดันวงการไทยให้ก้าวต่อไปได้ โดยวิทยากรท่านหนึ่งเชื่อว่าทรัพยากรบุคคลด้านอวกาศของไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนอวกาศไทยได้เพียงแต่ขาดพื้นที่แห่งการทดลอง ลองผิดลองถูกเพราะสำหรับวิทยาศาสตร์แล้วความล้มเหลวคือเส้นทางหนึ่งของความสำเร็จและการเรียนรู้