เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ใครที่ได้ติดตาม BNK48 วงไอดอลสัญชาติไทยน่าจะพอเป็นที่ทราบกันดีว่าสมาชิกของวงอย่าง ‘เฌอปราง’ และ ‘มายยู’ ได้เดินทางไปเข้าร่วมค่าย Space Camp ที่ U.S. Space and Rocket Center, Nasa Visitor Center ที่ประเทศอเมริกา อีกฟากฝั่งทะเลของประเทศญี่ปุ่น ดินแดนอาทิตย์อุทัยที่เป็นจุดต้นกำเนิดของวัฒนธรรมไอดอลอย่าง 48Group ที่เฌอปรางและมายยูสังกัดอยู่นั้น ทำให้เกิดความร่วมมือของศิลปินกับบริษัทอุตสาหกรรมอวกาศขึ้น
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 องค์กรเอกชนชื่อ Space BD. บริษัทอวกาศพาณิชย์ของญี่ปุ่นภายใต้การอนุญาตขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency หรือ JAXA) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเป็น ‘one-stop service’ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ได้ประกาศแต่งตั้งให้ JO1 วง Global boy band ภายใต้สังกัด Lapone entertainment เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เฟสที่ 2 ของโครงการ Space Delivery Project -RETURN TO EARTH- ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกของวงการบันเทิงญี่ปุ่นที่ใช้อวกาศเป็นสื่อในการโปรโมทผลงานของตัวศิลปินและตัวโครงการเอง
ด้านบริษัทเปิดเผยว่าโครงการนี้ เกิดขึ้นเพื่อทดสอบโลหะที่จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต โดยจะส่งโลหะ (ExBAS) ที่มีภาพหน้าปกอัลบั้ม Kizanu จำนวน 4 แผ่นไปพร้อมจรวดและเข้าประกอบกับโมดูลคิโบ (Kibo module) โมดูลอวกาศของญี่ปุ่นบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) และจะโคจรรอบโลกเป็นเวลา 6 เดือนที่ระดับความสูง 400 กิโลเมตรจากพื้นโลกพร้อมกับถ่ายทอดสดตลอดการทดสอบ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลหะทดสอบ ก่อนจะนำกลับมาศึกษาต่อยังโลก
ห้องปฎิบัติการลอยฟ้า
เหนือฟากฟ้าขึ้นไป 400 กิโลเมตรจากพื้นโลก สิ่งก่อสร้างที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกกำลังโคจรรอบโลกด้วยความเร็ว 7.66 กิโลเมตรต่อวินาที สถาปัตยกรรมราคาแพงนี้ไม่ได้เกิดจากความร่วมมือของชาติใดชาติหนึ่ง แต่เกิดจากความร่วมมือในระดับนานาชาติ เหล่าประเทศที่มีเทคโนโลยีอวกาศที่ก้าวล้ำต่างส่งสถานี นักบินอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์ ขึ้นมาบน ‘สถานีอวกาศนานาชาติ’ สถานที่ที่เปรียบเสมือนโลกอีกใบของเราในอวกาศ
โมดูลคิโบ (Kibo module) คือโมดูลด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พัฒนาขึ้นโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เป็นโมดูลของสถานีอวกาศนานาชาติแบบโมดูลเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชื่อของโมดูลนั้นมีความหมายว่า ความหวัง (きぼう) โมดูลคิโบถูกใช้ในการทดลองหลาย ๆ ด้านมาตั้งแต่อดีต ได้แก่
- ชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences)
- การแพทย์ในอวกาศ (Space Medicine)
- ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาวะไร้น้ำหนัก (Microgravity Science)
- เทคโนโลยีอวกาศที่มีมนุษย์เข้าร่วม (Manned Space Technology)
- การสังเกตุการณ์ทางดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยา (Astronomical Observations and Cosmology)
ในอดีตนั้น ประเทศไทยเคยใช้ประโยชน์จาก ‘โมดูลคิโบ’ โดย สวทช. และ GISTDA ในโครงการความร่วมมือกับ JAXA ผ่านโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศ เช่น โครงการ National Space Exploration, โครงการ Asian Try Zero-G และโครงการ Space Seeds เป็นต้น
‘โมดูลคิโบ’ นี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการทดลองหลากหลายรูปแบบ ทั้งการทดลองในความดันบรรยากาศเท่ากับพื้นโลกที่ส่วนยานปฎิบัติการ (Pressurized Module) หรือการทดลองในสภาวะสุญญากาศอย่าง ส่วนทำการทดลองภายนอกยาน (Exposed Facility) และคลังการทดลองภายนอก (Experiment Logistics Module Exposed Section) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการสำหรับทำการทดลองที่ติดต่อกับภายนอกในสภาวะสุญญากาศ และมีแขนกล (Remote Manipulator Syetem) คอยแลกเปลี่ยนอุปกรณ์จากคลังการทดลองภายนอกกับส่วนทำการทดลอง
โดย ‘แผ่นโลหะทดสอบ’ ที่จะส่งขึ้นไปนั้นจะถูกยึดติดกับส่วนทำการทดลองภายนอกยานพร้อมกล้องถ่ายทอดสดการเปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารสูงสุดของ Space BD คุณ Hiraga Genki รู้สึกยินดีที่ JO1 มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์โครงการ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แฟนคลับวัยรุ่นมีความสนใจในตัวโครงการมากขึ้น โดยกำหนดการปล่อยจรวดจะมีขึ้นภายในปี 2022 นี้
อ้างอิง
Space BD | SPACE COMPANY | JAXA Business Development and Industrial Relations Department