ตั้งแต่เกิดขึ้นมาจนเติบโตเป็นเราวันนี้ ทุกคนที่อ่านบทความนี้อยู่คงจะเคยอาศัยอยู่เพียงแค่บน “โลก” ดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เท่าที่เรารู้ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกใบนี้จึงเป็นเรื่องราวน่าหลงใหล และชวนให้เราค้นหาคำตอบของปริศนาที่อยู่ในห้วงอวกาศนั้น ซึ่งปัจจุบันการหาข้อมูลความรู้ด้านอวกาศเป็นไปได้ง่ายมากขึ้นแล้ว อาจเพราะโลกใบนี้มีมนุษย์หลายกลุ่มที่พยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวนอกโลก และอยากเผยแพร่ชุดความรู้เหล่านี้ให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนได้รับรู้ไปพร้อมกัน เช่น การทำงานขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA ที่มีข้อมูลใหม่ ๆ จากพื้นที่กว้างใหญ่ในอวกาศนั้น เผยแพร่ให้พวกเราดูอยู่ทุกวัน
แต่ถ้าหากมองมาที่ประเทศไทยของพวกเราเอง กลุ่มคนที่ศึกษาหาความรู้จากอวกาศนั้น ยังมีน้อยนัก คนไทยรุ่นใหม่ที่สนใจในการศึกษาต่อ หรือทำงานในด้านดาราศาสตร์ จึงมีหนทางไปไม่มากเท่าไหร่ หรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีหนทางไหนที่จะทำให้พวกเขาได้ใกล้ชิดกับสิ่งที่พวกเขาหลงใหลได้บ้าง
SPARC เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดงาน Open House ให้กับทุกคนที่สนใจในเรื่องราวของอวกาศ ได้รู้จักกับผู้ที่ทำงานด้านอวกาศตัวจริงเสียงจริง ทั้งในด้านของการศึกษา และอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงยังมีการประชุม และเสวนาความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยสร้างเสริมความเข้าใจในการทำงานเกี่ยวกับอวกาศในปัจจุบัน และยังช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจได้อีกด้วย
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากทราบว่างาน SPARC เป็นอย่างไร? ภายในงานมีอะไรบ้าง? เราจะให้คำตอบคุณภายในบทความนี้เอง
“SPARC” คืองานอะไร?
SPARC เกิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีความชื่นชอบและสนใจในเรื่องอวกาศ จึงมีความมุ่งมั่นในการจุดไฟแห่งแรงบันดาลใจให้คนไทยที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน และนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ รวมถึงโอกาสในการทำงาน งาน SPARC หรือที่มีชื่อเต็มว่า Space Pioneer Accelerating Regional Convention จึงเกิดขึ้น
SPARC ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นงาน Open House ด้านอวกาศ ที่ไม่ได้มีแค่อวกาศเท่านั้น เพราะภายในงานยังมีกิจกรรมสนุก ๆ นิทรรศการที่น่าสนใจ และเวทีเสวนาเทคโนโลยีอวกาศ ที่จะมาอัปเดตเทรนด์อวกาศ ไปจนถึงศิลปะในอวกาศ พร้อมผู้ร่วมจัดกิจกรรมโดยหน่วยงานระดับประเทศและนานาชาติ กับโอกาสในการศึกษา ต่อยอด และทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง

งาน SPARC กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2023 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา ชั้น 5 โดยผู้จัดมีความตั้งใจให้กิจกรรมภายในงาน สามารถเข้าร่วมได้แบบฟรี ๆ ทุกคน ทั้งการเที่ยวชมนิทรรศการ เวทีเสวนา รวมถึงบูธต่าง ๆ ของตัวจริงในด้านอวกาศ โดยภายในงานจะมีการจัดพื้นที่โซนต่าง ๆ แบ่งออกได้เป็น 3 โซนใหญ่ ๆ ดังนี้
โซน Workshop
เต็มอิ่มไปกับการลอง เล่น และลงมือ ไปกับการเวิร์กชอปสุดพิเศษทั้ง 3 กิจกรรม ที่ถูกเตรียมไว้ให้ทุกคนได้ทดลองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศไปด้วยกัน โดยมีตั้งแต่กิจกรรมบอร์ดเกม ออกแบบตราสัญลักษณ์ภารกิจอวกาศ ไปจนถึงการสำรวจทรัพยากรโลกมาใช้ทำภารกิจ โดยกิจกรรมเวิร์กชอปทั้งสาม แบ่งได้ดังนี้
1. Open Mind Space
ปัญหาในการทำงานด้านอวกาศล้วนมีความแตกต่างกันไปตามงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสารอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ การบังคับการที่โลก และการปฏิบัติการของนักบินอวกาศที่นอกโลก ซึ่งการทำภารกิจในอวกาศของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ล้วนต้องใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ และได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรม “Open Mind Space” จะได้สวมบทบาทสมมุติเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบภารกิจด้านอวกาศ ผ่านการเล่นบอร์ดเกม และต้องใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่รอคอยอยู่ในบอร์ดเกม โดยการเล่นแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 30 นาที
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจาก Rabbit Start, Sandboxen Club, และ Mahidol Startup ที่เน้นกระบวนการ Design Thinking เพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมอวกาศในด้านต่าง ๆ ผ่านบอร์ดเกม Round Table จาก Rabbit Start ที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างยั่งยืน
2. Cosmic Sandbox : Earth Observation
โลกก็เป็นดาวดวงหนึ่งที่อยู่ในเอกภพอันกว้างใหญ่ และยังเป็นดวงดาวที่สำคัญที่สุดต่อความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์บนโลกด้วย การศึกษาเรื่องอวกาศจึงหนีไม่พ้นการศึกษาโลกของเราเอง โดยกิจกรรม “Cosmic Sandbox : Earth Observation” จะพาทุกคนไปสำรวจทรัพยากรในโลกผ่านข้อมูลต่าง ๆ และนำทรัพยากรเหล่านั้นมาวิเคราะห์ปัญหาในสังคมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Desgin Thinking
3. Mission Patch Design
หนึ่งในความภาคภูมิใจของนักบินอวกาศ คือการสวมชุดอวกาศ ที่มีตราสัญลักษณ์ประจำภารกิจอยู่นั่นเอง ในทุกภารกิจที่ประสบความสำเร็จ จะมีทั้งหน้าตาลูกเรือและตราสัญลักษณ์ประจำภารกิจ ที่จะได้กลายเป็นภาพจำ และถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ งานครั้งนี้จึงได้จัดกิจกรรม “Mission Patch Design” ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการออกแบบตราสัญลักษณ์ประกอบการทำภารกิจในอวกาศ และทดลองปฏิบัติภารกิจพร้อมตราสัญลักษณ์นั้นด้วยตัวเอง
โดยกิจกรรมนี้จะนำโดยศิลปินด้านศิลปะอวกาศระดับโลกอย่าง MANRVA ที่พกมาทั้งเทคนิคการออกแบบตราสัญลักษณ์ที่ใช้ในภารกิจทางอวกาศ ประวัติศาสตร์ของการออกแบบ รวมไปถึงการเอาแรงบันดาลใจจากอวกาศ และภารกิจนั้น ๆ เพื่อมาใช้ช่วยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนในการออกแบบ
ทั้งสามกิจกรรมภายในโซน Workshop ที่เรากล่าวถึง สามารถเข้าร่วมได้ทั้งวันตลอดจนถึงเวลาปิดงาน
โซน Exhibition
นิทรรศการเป็นส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะอวกาศไม่ใช่สถานที่ที่พวกเราทุกคนจะเคยเห็นกันได้แบบชัด ๆ การจัดนิทรรศการในงานนี้จึงมีความสวยงามอลังการมากมาย ด้วยฝีมือของหน่วยงานทั้งภายในและจากต่างประเทศ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ Space Generation Advisory Council (SGAC) ซึ่งได้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการจัดแสดงนิทรรศการด้านอวกาศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเดินชมได้อย่างเต็มอิ่ม
นอกจากพื้นที่นิทรรศการขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการจัดแสดงบูธขนาดกลาง เช่น บูธของชมรมซียูฮาร์ (Chulalongkorn University High Altitude Research Club – CUHAR) และบูธขนาดย่อย เช่น Space AC จากโรงเรียนอัสสัมชันธนบุรี และชมรม MU Start up and Sandbox จากมหาวิทยาลัยมหิดล
มีพาร์ทเนอร์อีกหลายคน ที่มาเป็นส่วนหนึ่งในงาน SPARC และจะพาผู้ร่วมงานทุกคนได้สัมผัสอวกาศในรูปแบบต่าง ๆ ได้ใกล้ชิดกว่าที่เคย ซึ่งจะมีพาร์ทเนอร์จากองค์กรไหนอีกบ้าง สามารถไปพบเจอเองได้ในวันงาน
โซน Main Stage
เพื่อให้เกิดความรู้และแรงบันดาลใจอย่างสูงที่สุด การฟังเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ที่ข้องเกี่ยวกับงานด้านอวกาศในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมเป็นผลดีอย่างแน่นอน โดยภายในงาน SPARC ทั้งสองวันจะมีหัวข้อการสนทนาบนเวทีที่แตกต่างกันไป แต่น่าสนใจทุกวัน โดยมีวิทยากรรับเชิญจากทั้งหน่วยงานภายในและต่างประเทศ
วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2023
- 10.00 น. : พบกับ SPACETH.CO ในหัวข้อ “Intro to Space อวกาศน่าสนใจอย่างไร จุดเริ่มต้นของการสนใจด้านอวกาศ มองอนาคตของอวกาศเป็นอย่างไร”
- 11.00 น. : พบกับ สุณัฏฐา พงษ์เจริญ จาก FutureTales LAB by MQDC ในหัวข้อ “Space Movement 2060” งานค้นคว้าความเป็นไปได้ของอวกาศ เพื่อคาดการณ์อนาคตของอวกาศในปี ค.ศ. 2060
- 13.30 น. : พบกับ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ จาก Bioinnovation Mahidol และ สุเมธ กล่อมจิตเจริญ จาก Space Biology Research Group, Brain-computer Interface Laboratory, Mahidol University ในเรื่องราวของชีววิทยาศาสตร์กับการสำรวจอวกาศและการใช้ชีวิตในอวกาศ
- 14.30 น. : พบกับตัวแทนทีม CUHAR (Chulalongkorn University High Altitude Research Club) ตัวแทนนิสิตไทยทีมแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันจรวดความเร็วเสียงในระดับนานาชาติ รายการ “Spaceport America Cup 2022” ที่สหรัฐอเมริกา กับจรวดความเร็วเสียงเพื่องานวิจัย
- 15.30 น. : พบกับ วิวัฒน์ จ่างตระกูล จาก Dark-Sky Thailand ในหัวข้อ “Imaging & Space” ความเพียรพยายามถ่ายภาพดวงดาวของมนุษย์ จนรังสรรค์เทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับมนุษย์
- 17.00 น. : พบกับ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ และ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ ในการพูดคุยถึงเรื่องของชีววิทยากับการสำรวจอวกาศ ทั้งในด้านการออกเดินทางของมนุษย์สู่เป้าหมายนอกโลก สู่อนาคตของการตั้งถิ่นฐานบนดาวดวงอื่น

วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2023
- 10.15 น. : พบกับ Hamza Hameed จาก Space Generation Advisory Council (SGAC) พูดคุยถึงการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่กับเศรษฐกิจอวกาศ ในบทบาทที่น่าสนใจกับโลกยุคอนาคต
- 11.00 น. : พบกับตัวแทนจากทีม Indentation Error จาก SPACE AC Institute of Technology สถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อัสสัมชัญ ผู้คว้าแชมป์เอเชีย โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challeng
- 14.00 น. : พบกับ ทาเคฮิโระ นากามูระ ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) สำนักงานกรุงเทพฯ และ ปริทัศน์ เทียนทอง ผู้ประสานงานโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ JAXA ในหัวข้อ Space STEM กับเรื่องราวโอกาสดี ๆ ของเยาวชนไทยที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการอวกาศ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
- 14.50 น. : พบกับตัวแทนจาก MU Startup และ Sandboxen Club ที่มาพร้อมกิจกรรมเวิร์คช็อป “Open Mind Space” ในงาน
- 15.00 น. : พบกับ อธิภัทร วรรธอนันตชัย วิศวกรดาวเทียมของ GISTDA กับการอัปเดตความคืบหน้าดาวเทียม THEOS-2 และบทบาทของวิศวกรอวกาศในประเทศไทย
- 15.50 น. : พบกับ Marc Heemskerk และ Charlotte Pouwels จาก ICEE Space กับเรื่องราวของ “Analogue Astronaut Mission” การจำลองภารกิจอวกาศในภูมิสภาพเสมือนจริง รวมถึงการประยุกต์ใช้ในภารกิจกลับไปเยือนดวงจันทร์และดาวอังคารที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
- 16.30 น. : พบกับ วัชรินทร์ อันเวช และนครินทร์ ฉันทะโส บรรณาธิการบริหารจากเพจ The Principia ที่จะมาเสวนาอวกาศในบริบทสังคม ด้วยความเชื่อที่ว่าอวกาศเป็นเรื่องของทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือนักบินอวกาศ ก็สามารถจับต้องได้

ข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า SPARC เป็นงานที่เปิดให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ก่อนใครที่ลิงก์ต่อไปนี้ https://forms.gle/YSa5cU4Ck6cyk27ZA หรือสามารถไปที่หน้างานได้ ตั้งแต่วันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2023 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา ชั้น 5
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของงาน SPARC ได้ที่ Facebook และ Instagram ของ SPARC หรือคลิกที่นี่