ปรากฏการณ์คล้ายฟ้าแลบ แต่เป็นแสงวาบสีแดงเหนือท้องฟ้านี้ ได้รับการกล่าวขานมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งเมื่อค.ศ. 1989 มีคนถ่ายวีดีโอเป็นหลักฐานยืนยันได้ครั้งแรก ว่าแสงสีแดงที่วาบขึ้นมาเพียงเสี้ยววินาทีเหนือท้องฟ้านั้นมีอยู่จริง ปรากฏการณ์นี้จึงได้รับชื่อว่า สไปรท์ (sprite) ตามชื่อพรายในตำนานปรัมปรา
องค์กรนาซาได้สร้างเว็บไซต์ spritacular.org ขึ้นมาเพื่อเชื้อเชิญให้คนทั่วโลกส่งรูปถ่ายสไปรท์ รวบรวมเก็บข้อมูลให้ทั้งคนทั่วไปและนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากัน เป็นหนึ่งในโครงการ NASA Citizen Science เพื่อให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย
ปรากฏการณ์สไปรท์มักเกิดขึ้นในช่วงที่พายุฝนฝ้าคะนองกำลังจะซาลง ในขณะที่ฟ้าผ่าฟ้าแลบเกิดขึ้นจากเมฆที่อยู่สูงจากพื้นดิน 20 กิโลเมตร สไปรท์เกิดขึ้นเหนือเมฆในระยะ 45-90 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน สไปรท์สามารถมีขนาดกว้างได้ถึง 50 กิโลเมตร สไปรท์เกิดขึ้นเร็วมาก แค่กระพริบตาก็อาจจะพลาดเห็นแสงวาบแล้ว นาซาจึงได้ชวนคนทั่วโลกมาตั้งกล้องช่วยกันถ่ายสไปรท์ เพราะเป็นปรากฎการณ์ที่ถือว่าพบเจอได้ยากและเรายังคงรู้เกี่ยวกับมันไม่มากพอ
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆกล่าวว่า ปรากฏการณ์สไปรท์เกิดร่วมกับฟ้าผ่าแบบบวกเสมอ เพราะปลดปล่อยประจุไฟฟ้าระหว่างบริเวณด้านบนของเมฆฝนฟ้าคะนอง ทำให้อิเลคตรอนต่าง ๆ ไปเสียดสีกับโมเลกุลของแก๊สในชั้นบรรยากาศ ความต่างศักย์ระหว่างยอดเมฆกับบรรยากาศที่สูงขึ้นไปในชั้นไอโอโนสเฟียร์ พอเกิดขึ้นอิเล็กตรอนถูกเร่ง และพุ่งไปชนพวกแก๊สต่าง ๆ ในบรรยากาศมีไนโตรเจนสูง พอชนกับไนโตรเจนที่รับพลังงานจึงเป็นแสงสีแดง