เชื่อว่าเหล่านักผจญภัยแห่งโลก Tayvet น่าจะได้เห็นและรู้จักหัวหน้าผู้พิทักษ์ป่า Avidya forest (ป่าอวิชชา : ป่าแห่งความไม่รู้) Tighnari หรือที่คอมมูนิตี้คนไทยเรียกกันว่าพี่ติ๊ก เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะชื่นชอบหูของพี่เค้าที่ดูยาวเด่นกว่าตัวละครอื่น ๆ ที่ได้ต้นแบบมาจากสุนัขเหมือนกันอย่าง Gorou อย่างไรก็วันนี้เราคงไม่มานั้งบอกว่าคุณต้องอัพตัวละครยังไง ใส่อาวุธอะไร อาร์ติแฟกอะไรแต่กลับเรื่องราวแบบวิทยาศาสตร์ที่แอบซ่อนมาต่างหาก

ที่มา : Tighnari | Genshin Impact Wiki | Fandom

ที่มา :Gorou | Genshin Impact Wiki | Fandom
Sumeru คือนครแห่งปัญญา
เนื้อเรื่องของทวีป Tayvet ของเกม Genshin impact นั้นเกิดจากตัวเราซึ่งเป็นนักผจญภัยฝาแฝดชาย-หญิงที่กำลังออกเดินทางไปยังโลกอื่น ๆ แต่ถูกเทพปริศนาขัดขวางเรา 2 พี่น้องไม่ให้เดินทางไปโลกอื่นด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้และกักขังเราไว้ที่ดินแดนที่ชื่อ Tayvet ก่อนที่เราจะตื่นมาพบกับ ไพม่อน เพื่อนและอาหารฉุกเฉินนั้นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อตามหาน้องสาว-น้องชายที่กลายเป็นไปหัวหน้าขององค์กรชั่วร้ายเรียบร้อยแล้วโดยเราต้องเดินทางผ่านดินแดนทั้ง 7 ที่ปกครองโดยเทพเจ้าที่เรียกว่า Archons หรือที่เราเรียกว่าเทพประจำเมืองซึ่งเป็นตัวแทนในแต่ละธาตุในเกมซึ่งจุดเด่นของเกมคือการประสมธาตุเพื่อสร้างดาเมจอันมหาศาล
โดยเมือง Sumeru คือเมืองลำดับที่ 4 ที่พวกเราเดินทางมาถึงโดยธีมของเมืองนี้คือนครแห่งปัญญาที่รวบรวมความรู้และเหล่านักปราชญ์ โดยในอาณาเขตที่เราจะได้เล่นก็คือพื้นที่ป่าฝนขนาดใหญ่ยักษ์ และพื้นที่ทะเลทรายที่จะเปิดให้เล่นในแพทซ์ 3.1 โดยพื้นที่แรกสุดที่เราจะได้เจิตอนเดินเข้ามาในเมืองนี้คือป่า Avidya Forest ซึ่งมี Tighnari เป็นคนดูแลป่าฝนแห่งนี้ร่วมกับเหล่าผู้พิทักษ์ป่า

ที่มา : Avidya Forest | Genshin Impact Wiki | Fandom
Tropical Rainforest
Tropical Rainforest หรือป่าดิบชื้นจัดอยู่ในป่าไม่ผลัดใบเป็นป่าที่มีสีเขียวตลอดทั้งปี ต้นไม้จะไม่ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก(ไม่ต่ำกว่า 2000 มิลลิเมตร/ปี) ต้นไม้ไม่มีความจำเป็นต้องผลัดใบเพื่อลดการคายน้ำ โดยป่าฝนดิบชื่นนี้พบได้มากบริเวณเขตร้อนชื้นรอบ ๆ เส้นศูนย์สูตร ทักพบในความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล เขตป่าฝนดิบชื้นนี้มีความพิเศษที่บ่งบอกถึงระดับชั้นและความพึ่งพาอาศัยของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ซึ่งแสดงออกผ่านระดับความสูงของต้นไม้

ที่มา : Layers of a Rainforest | RoundGlass Sustain
ชั้นพื้นป่า (Forest floor) ประกอบไปด้วยพืชพุ่มเตี้ย หญ้า พืชหัว เป็นบริเวณที่ได้รับแสงแค่ 2% เท่านั้นดังนั้นพืชในชั้นนี้จึงเป็นพืชที่สามารถเติบโตในที่แสงน้อยมาก ๆ ได้ นอกจากนี้ชั้นนี้ยังเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายจำพวกเห็ด รา แมลง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อวัฏจักรแร่ธาตุในดิน ทำให้พืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารไปใช้ในการดำรงชีวิต สัตว์ที่อาศัยในชั้นพื้นป่าได้แก่ สัตว์กินพืชขนาดเล็ก กวาง งู เสือ ช้างเป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอนุบาลของต้นอ่อนต่าง ๆ
ชั้นไม้พุ่ม (Shrub or undergrowth Layer) ชั้นนี้อยู่สูงกว่าชั้นพื้นป่าแต่ไม่ถึงชั้นใต้เรือนยอด (Understorey) พื้นที่นี้ได้รับแสงอาทิตย์ประมาณ 5% ส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่มหรือต้นไม้ในชั้นที่สูงขึ้นไปซึ่งหยุดโตรอเวลาที่พืชชั้นบนตายและเปิดช่องให้พวกมันสามารถเติบโตขึ้นไปทดแทน สัตว์ที่อาศัยในชั้นนี้ได้แก่พวกงูเขียวปากแหนบ (Ahaetulla nasuta) กบต้นไม้
ชั้นใต้เรือนยอด (Understorey) คือชั้นของต้นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 10-15 ม. ได้รับแสงไม่เกิน 50% เป็นที่อยู่อาศัยพวกนกบางชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก งูบางชนิด รวมทั้งสัตว์นักล่าบางชนิด
ชั้นเรือนยอด (Canopy) เป็นชั้นของพืชที่มีความสูงประมาณ 15-20 ม. ชั้นนี้เป็นชั้นที่มีเรือนยอดขึ้นอย่างหนาแน่น ลักษณะเด่นของชั้นนี้คือถ้าเรามองจากด้านล่างเราจะเห็นช่องว่างระหว่างต้นไม้ซึ่งเราเรียกว่าช่องว่างระหว่างยอดไม้ หรือ Crown Shyness ทำให้เรือนยอดด้านข้างได้รับแสงเพิ่มขึ้น พรรณไม้ที่พบจะคล้ายกับชั้นเหนือเรือนยอด แต่มีอายุน้อยกว่า เช่น หลุมพอ สะตอ เหรียง ตะเคียน เป็นต้น
ชั้นเหนือเรือนยอด (Emergant) หรือ หลังคาชั้นแรก เป็นชั้นของพืชที่มีความสูงมากกว่า 30 เมตรขึ้นไปบางต้นอาจสูงถึง 50 ม. ส่วนใหญ่เป็นพวกไม้วงศ์ยาง-ตะเคียน (Dipterocarpaceae) ซึ่งเป็นชั้นที่สูงที่สุดทำให้ได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา
บทบาทของป่าดิบชื้น คือ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน ซึ่งรวมไปถึงเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของทางชีวภาพสูง ดัชนี้ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชนิดนี้ คือ การเป็นแหล่งอาศัยของนกเงือกซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการทำรังในโพรงต้นไม้ใหญ่ การที่นกเงือกลดลงไปจากในพื้นที่เป็นสัญญาณแรกที่แสดงถึงการเสื่อมโทรมของสังคมป่าชนิดนี้
นกเงือก
นกเงือก (Hornbills) เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดเมื่อประมาณ 50-60ล้านปีก่อน ในประเทศไทยมีนกเงือกกระจายพันธุ์ทั้งหมด 13 สายพันธุ์ โดยนกเงือกถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และกำลังถูกคุกคามทั้งจากการล่าและการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลนกและที่อยู่อาศัยของพวกมันและพวกมันถือเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าเนื่องจากพวกมันจะอาศํยได้ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น

ที่มา : นกเงือก – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
เรามักรู้จักนกเงือกจากพฤติกรรมการครองรักและผสมพันธุ์กับคู่เดิม จนกว่าคู่ของมันทำหน้าที่ได้ไม่ถูกใจแล้วจึงค่อยหาคู่ใหม่ พวกเราจึงยกย่องนกเงือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก และยังถือให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นวันรักนกเงือก ซึ่งจะมีกิจกรรมวันรักนกเงือกที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(พญาไท)

ผู้ย่อยสลายแห่งพงไพร

จากคำอธิบายในเกม Genshin impact เจอมอนเตอร์เห็ดเดินได้ บินได้ มุดดินได้นี้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างอาณาจักร Fungus ขึ้นที่ป่าดิบชื้นของเมืองสุเมรุซึ่งป่าแห่งนี้มีเหล่า Aranara อาศัยอยู่ก่อนแล้ว
ถึงแม้ว่าในโลกของเราจะไม่มีเห็ดที่เดินได้ บินได้ (ถ้ามีมนุษย์คงสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ก่อนแล้วละ) แต่ว่าอาณาจักร Fungus ของเจ้าเห็ดพวกนี้คือชื่อของอาณาจักรสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดราซึ่งในป่าแล้วหน้าที่ของพวกมันคือการย่อยสลายอินทรีย์สารให้กลับลงสู่ดิน
อาณาจักรแห่งเห็ดรา
เห็ดราถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุยาวนานมากที่สุดโดยมีการค้นพบตั้งแต่เมื่อราว ๆ 460 ล้านปีก่อน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่าหลายล้านปีมานี้พวกมันได้วิวัฒนาการ (ไม่ถึงขั้นติดปีกบินแบบในเกมนะ)
ลักษณะของฟังใจส่วนใหญ่ ประกอบด้วยหลายเซลล์เรียงต่อกันเป็นเส้นใย เรียกว่า ไฮฟา (hypha) กลุ่มของเส้นใย เรียกว่า ไมซีเลียม (Mycelium) ทำหน้าที่ยึดเกาะอาหารและส่งเอนไซม์ไปย่อยสลายอาหารภายนอกเซลล์และดูดซึมสารอาหารที่ย่อยได้เข้าสู่เซลล์ไมซีเลียมของฟังใจ บางชนิดจะเจริญเป็นส่วนที่โผล่พ้นดินออกมา เรียกว่า ฟรุตติงบอดี (Fruiting body) ในชนิดที่อยู่กันเป็นเซลล์เดียวเช่น ยีสต์ จะมีการสร้างผนังเซลล์ที่ทำมาจากไคตินเป็นส่วนใหญ่ (ตอนที่ผู้เขียนเรียนเรื่องนี้อาจารย์ชอบบอกว่าเพราะผนังเซลล์ทำมาจากไคตินทำให้เห็ดเผา กุ้งเผา แมลงสาบเผามีกลิ่นที่คล้ายกัน)
ซึ่งเส้นใยของเชื้อราแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
เส้นใยไม่มีผนังกัน (Non Septate Hypha หรือ Coenocytic Hypha) เส้นใยมีลักษณะเป็นท่อทะลุถึงกันหมดโดยไม่มีผนัง (Septum) กั้น มีการใช้ไซโทรพลาสซึมร่วมกัน นิวเคลียสติดต่อกันหมด
เส้นใยแบบที่มีผนังกั้น (Septate Hypha) มีผนังกั้นแบ่งแต่ละเซลล์ โดยภายในเซลล์อาจมีนิวเคลียสอันเดียว หรือมีนิวเคลียสหลายอันในแต่ละเซลล์ ผนังที่กั้นระหว่างเซลล์เป็นผนังที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีรูอยู่ที่ผนัง อาจมีรูเดียวหรือหลายรูที่ผนัง ทำให้ไรโบโซม ไมโทคอนเดรีย หรือนิวเคลียสไหลจากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่งได้
นอกจากเส้นใยยังแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ตามหน้าที่ คือ เส้นใยที่ยึดเกาะอาหารมีหน้าที่ดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้ว และเส้นใยที่ยื่นไปในอากาศ (Fruiting Body) ทำหน้าที่สร้างสปอร์เพื่อสืบพันธุ์ นอกจากนี้เส้นใยยังสามารถทำหน้าที่พิเศษอื่น ๆ ได้เช่น ไรซอยด์ (Rhizoid) ทำหน้าที่ยึดเกาะผิวและดูดซึมอาหาร ส่วนฮอสทอเรียม (Haustorium) หรือ อาร์บาสคิว (Arbuscules) เป็นเส้นใยที่ยื่นเข้าเซลล์โฮสต์ เพื่อดูดซึมอาหารจากโฮสต์ พบในราที่เป็นปรสิต
ฟังไจมีการสืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ทั้งแบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และแบบไม่อาศัยเพศ (Asexual Reproduction) โดยการแตกหน่อการสร้างสปอร์หรือการหลุดจากกันเป็นท่อน ๆ
ความหลากหลายของฟังไจ
ไฟลัมไคทริดิโอไมโคตา (Phylum Chytridiomycota) หรือที่เราเรียกมันว่าไคทริด (Chytrid) หรือราน้ำ เป็นเชื้อรากลุ่มแรกที่วิวัฒนาการมาจากกลุ่มโพรทิสต์ที่แฟลเจลลัม (เส้นยาว ๆ ที่หาง) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม บางชนิดอาศัยในดินชื้นแฉะ บางชนิดทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย (Saprophytism) ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ บางชนิดเป็นปรสิตในพวกโพรทิสต์ พืช และสัตว์ โดยลักษณะที่สำคัญของพวกนี้คือการยังไม่สร้างเส้นใยและเส้นใยไม่มีผนังกั้น (Coenocytic Hypha) นั้นทำให้เรามักพบพวกมันอยู่แยกกันเป็นตัวเดียว สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ตัวอย่างเช่น Allomyces sp, Chytridium sp.

ไฟลัมไซโกไมโคตา (Phylum Zygomycota) ลักษณะเด่นของราในไฟลัมนี้คือไฮฟาไม่มีผนังกั้น (Coenocytic Hypha) แต่จะพบผนังกั้นในระยะที่จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์จึงเห็นนิวเคลียสจำนวนมาก ผนังเซลล์เป็นสารไคทิน
หากเป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจะสร้างเส้นใย 2 สายที่มีเพศตรงข้ามกันยื่นเข้าหากันและหลอมรวมด้วยกันและสร้างผนังไซโกสปอแรนเจียม (Zygosporangium) โดยภายในจะมีนิวเคลียสอยู่จำนวนมากจนกระทั้งถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่นิวเคลียสจะหลอมรวมและแล้วแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส (เพิ่มจำนวนเซลล์สืบพันธุ์)ทันที เมื่อไซโกสปอแรนเจียมแตกออกจะงอกเป็นสปอแรนเจียม (ก้านชู) ที่จะทำหน้าที่ปล่อยไซโกสปอร์ หากเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (Asexual Reprosuction) จะสร้างสปอแรนกิโอสปอร์ (Sporangiospore) อยู่ในอับสปอร์ (Sporangium)
ฟังไจกลุ่มนี้มีการดำรงชีวิตอยู่ในดินที่มีความชื้นและซากสิ่งมีชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ดูดสารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ แต่บางชนิดดำรงชีวิตโดยเป็นปรสิตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดิน
ตัวอย่างของราไฟลัมนี้ ได้แก่ เช่น Rhizopus stolonifer ซึ่งเป็นราที่ขึ้นบนขนมปังและ Rhizopus nigricans เป็นราที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกรดฟูมาริก
ไฟลัมแอสโคไมโคตา (Phylum Ascomycota) เป็นฟังไจที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดมีรูปร่างทั้งแบบเซลล์เดียวและหลายเซลล์ลักษณะของเส้นใยมีผนังกั้น (Septate Hypha) แต่มีรูทะลุถึงกันทำให้ไซโทพลาซึมและนิวเคลียสไหลถึงกันได้ ผนังเซลล์ประกอบด้วยสารไคทิน บางครั้งเรียกว่าราถุงเนื่องจากสปอร์ที่ใช้ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่เรียกว่า แอสโคสปอร์ (Ascospore) เกิดอยู่ในถุงแอสคัส (ascus) ซึ่งแอสคัสจะมีแอสโคสปอร์ประมาณ 4 หรือ 8 แอสโคสปอร์ และจะรวมกันอยู่ในโครงสร้างที่มีเส้นใยเรียกว่า แอสโคคาร์ป (ascocarp) ซึ่งเป็นฟรุตติงบอดี มีรูปร่างหลายแบบอาจเป็นรูปถ้วยรูปกลม

โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เกิดที่ปลายของเส้นใย ไฮฟาเรียก โคนเดีย บางชนิดไม่สร้างไมซีเลียมแต่อยู่เป็นเซลล์เดี่ยว ๆ คือ ยีสต์ (Yeast) มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อ (Budding)
สมาชิกไฟลัมแอสโคไมโคตาที่เรารู้จักกันได้แก่ ทรัฟเฟิล (truffle, Tuber) ราสีแดง (Monascus spp.) ที่ใช้ผลิตข้าวแดงและเต้าหู้รา (เต้าหู้ยี้) Neurospora sp. ที่เป็นสาเหตุทำให้ขนมปังเสียและพบขึ้นตามตอซังข้าวโพด ราชนิดนี้มีความสำคัญทางชีววิทยาเพราะใช้ศึกษามากทางด้านพันธุศาสตร์

โฟลัมเบสิดิโอไมโคตา (Phylum Basidiomycota) ฟังไจกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยอินทรียสารที่มีประสิทธิภาพของระบบนิเวศมีลักษณะสำคัญคือมีเส้นใยที่มีผนังกั้นสมบูรณ์
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยสร้างสปอร์ที่เรียกว่าเบสิดิโอสปอร์ (basidiospore) จำนวน 4 สปอร์ อยู่ข้างนอกเบสิเดียม (ฺBasidium) โดยเห็ดที่มีวิวัฒนาการสูงสุดจะสร้างเบสิเดียมบนโครงสร้างพิเศษหรือฟรุตติงบอดี (Fruiting Body) ที่เรียกว่าเบสิดิโอคาร์ป (Basidiocarp) หรือดอกเห็ด
สมาชิกของไฟลัมเบสิดิโอไมโคตาได้แก่เห็ดฟาง (Volvaricella volvacea) เห็ดหอม (Lentinula edodes) ราสนิม (Rusts)
เห็ดบางชนิดมีสารพิษมักมีลักษณะที่มีสีสันสวยงามและมีวงแหวน (Annulus) ที่บริเวณก้านของดอกเห็ด ถ้านำไปบริโภคจะทำให้เกิดอันตรายได้เช่น Amanita muscaria ที่มีสารมัสคาริน (Muscarine) ซึ่งเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้มีอาการเหงื่อออก น้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นช้า และหายใจไม่สะดวก ส่วนเห็ด Amanita phalloides เป็นเห็ดที่มีสารอะมานิติน (Amanitin) ซึ่งเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ของร่างกาย โดยเฉพาะตับ หัวใจ และไต ทำให้มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ยังพบฟังไจที่ไม่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศแต่มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการสร้างโคนิเดียม (Conidium) ซึ่งไม่ถูกจัดในกลุ่มข้างต้นแต่แยกออกมาเป็น fungi imperfection เช่น Penicillium notatum ที่ใช้ผลิตยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน Penicillium regueforti ใช้ผลิตเนยแข็ง Aspergillus niger ใช้ผลิตกรดซิตริกหรือกรดส้มจากน้ำตาล
Tighnari จิ้งจอกทะเลทรายแห่งแดนพงไพร
ตามเนื้อเรื่องที่ได้เปิดเผยมา Tighnari นั้นเคยเป็นเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายมาก่อน ก่อนที่จะอพยพมายังดินแดนป่าไม้ โดยเผ่าพันธุ์ของ Tighnari นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิ้งจอกทะเลทรายในโลกของเรา เพียงแต่สีขนของเจ้าจิ้งจอกทะเลทรายนั้นไม่ใช่สีดำเหมือนกับตัว Tighnari ในเกม
หมาจิ้งจอกเฟนเนก หรือ หมาจิ้งจอกทะเลทราย (Vulpes zerda) โดยถือเป็นสัตว์วงศ์สุนัขที่เล็กที่สุดในโลก โดยขนาดโตเต็มวัยมีน้ำหนักแค่ 1.75 กิโลกรัมสำหรับตัวผู้และ 1.25 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กกว่าสุนัขบ้านซะอีก มีความยาวลำตัวประมาณ 24-40 เซนติเมตร มีความยาวหาง 8 นิ้ว มีขนสีน้ำตาลเหลืองตลอดทั้งตัว มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนคือ ใบหูที่ยาวมากคล้ายกับจิ้งจอกหูค้างคาว (Otocyon megalotis)
หมาจิ้งจอกเฟนนิกกระจายพันธุ์บริเวณตอนเหนือของแอฟริกาซึ่งเป็นทะเลทรายส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมรวมกันเป็นฝูงขนาดเล็ก หากินในเวลากลางคืน โดยใบหูยาวมากของพวกมันใช้เพื่อฟังเสียงของแมลงรวมทั้งใช้เพื่อระบายความร้อน (คล้าย ๆ กับทำไมช้างมีใบหูที่ใหญ่) โดยอาหารของพวกมันได้แก่ แมลง, สัตว์ขนาดเล็ก, ไข่นก และผลไม้ อุ้งเท้าของพวกมันที่เป็นขนหนาช่วยให้สามารถเดินบนทรายที่ร้อนระอุได้ ขนสีน้ำตาลตลอดทั้งตัวเหมือนสีของทรายของช่วยให้อำพรางตัวได้ในทะเลทราย นอกจากนี้แล้วยังหนาต่างจากสัตว์ที่อยู่ในทะเลทรายจำพวกอื่น ๆ โดยขนจะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากแสงแดดในเวลากลางวันออกไป ส่วนตอนกลางคืนก็ทำหน้าที่สะสมความอบอุ่นไว้เพื่อต่อสู้กับความหนาวเย็น เนื่องจากเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน

Image credits: Francisco Mingorance

จากรูปจะเห็นว่า Tighnari รูปร่างคล้ายจิ้งจอกหูค้างคาวมากกว่าจิ้งจอกทะเลทรายแต่ทว่าด้วยประวัติที่เปิดเผยมาจากตัวเกมว่า Tighnari เป็นเผ่าพันธุ์ที่อาศัยในทะเลทรายมาก่อนนั้นจึงอาจสันนิษฐานว่าเผ่าพันธุ์ของ Tighnari มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเฉกเช่นเดียวกับจิ้งจอกหิมะที่ในช่วงที่หิมะตกขนจะเป็นสีขาวและในช่วงที่หิมะละลายพวกมันจะมีขนสีดำอมน้ำตาลและสั้นเพื่อตอบสนองต่อช่วงหน้าร้อนที่แสนสั้นของขั้วโลกเหนือ
อ้างอิง
นกเงือกไทย 13 ชนิด (seub.or.th)
Evolution of fungi – Wikipedia
หมาจิ้งจอกเฟนเนก – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
เหตุใด”จิ้งจอกทะเลทราย”มีหูใหญ่นัก? – National Geographic Thailand (ngthai.com)