วันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีตามวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นจัดว่าเป็น ‘วันทานาบาตะ (Tanabata, 七夕)’ ซึ่งเป็นเทศกาลตามฤดูกาลของชาวญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณ นอกจากนี้ในวันนี้ยังถือว่าเป็นวันแห่งความรักของชาวญี่ปุ่นด้วย โดยมีต้นกำเนิดมาจากงานนิทานเจ็ดนางฟ้าของจีน ที่เล่าขานถึงความรักของหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวที่ถูกกีดกัน และจะสามารถมาเจอกันที่ช้างเผือกได้ในวันนี้
ตำนานเทศกาลทานาบาตะ
เทศกาลทานาบาตะได้รับอิทธิพลจากตำนานเจ็ดนางฟ้าจากประเทศจีน ตำนานมีหลายหลายรูปแบบ รูปแบบของตำนานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดก็คือ นางฟ้าโอริฮิเมะ (Orihime) หรือดาวเวกา (Vega) เป็นลูกสาวของกษัตริย์แห่งท้องฟ้า เธอเป็นผู้ทำหน้าที่ทอผ้าอยู่ที่แม่น้ำอามาโนกาวะ ฝีมือการทอผ้าของโอริฮิเมะนับว่างดงาม หาตัวจับได้ยาก ท่านพ่อชอบฝีมือการทอผ้าของเธอมาก แม้ว่าเธอจะทำงานอย่างหนักทุกวันแต่มันก็ไม่ได้ทำให้เธอมีความสุข เพราะไม่ได้พบหรือได้หลงรักชายใดเลย กษัตริย์แห่งท้องฟ้าผู้ห่วงใยลูกสาวเลยได้จัดการให้เธอได้พบกับฮิโกโบชิ (Hikoboshi) หรือดาวอัลแตร์ (Altair) ผู้เลี้ยงวัวที่อาศัยอยู่อีกฝั่งของทางช้างเผือก เมื่อทั้งคู่ได้พบกัน ไม่นานนักทั้งคู่ก็ได้หลงรักกันและได้แต่งงาน
เมื่อแต่งงานแล้วนางฟ้าโอริฮิเมะก็ไม่ได้ขยันทอผ้าดั่งที่เคย ส่วนฮิโกโบชิก็ได้ปล่อยให้วัววิ่งเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ทวยเทพ ด้วยความโกรธกษัตริย์แห่งท้องฟ้าจึงได้แยกทั้งคู่ไม่ให้พบกัน กีดกั้นโดยให้ทั้งคู่อยู่คนละฝั่งของทางช้างเผือก นางฟ้าโอริฮิเมะเสียใจจากการสูญเสียสามีจึงได้ขอร้องบิดาของตนให้ได้เจอกับสามีของนางอีกครั้ง บิดาพ่ายแพ้แก่น้ำตาของลูกสาวจึงยอมให้ทั้งคู่สามารถเจอกันได้ในวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปี แต่จะสามารถพบได้ก็ต่อเมื่อเธอทำงานอย่างหนักและทอผ้าจนเสร็จ
เมื่อถึงเวลาที่จะได้พบกันอีกครั้งแรก ทั้งคู่ไม่สามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้เนื่องจากไร้ซึ่งสะพานข้ามทางช้างเผือก เมื่อรู้ดังนั้นนางฟ้าโอริฮิเมะได้ร้องไห้อย่างหนักจนฝูงนกกางเขนได้เข้ามาหาด้วยความสงสารและสัญญาว่าจะสร้างสะพานโดยใช้ปีกของพวกมันช่วยกันเป็นสะพานจนเธอสามารถข้ามทางช้างเผือกไปได้ โดยมีคนกล่าวไว้ว่าถ้าในวันทานาบาตะปีไหนเกิดฝนตก เหล่าฝูงนกกางเขนจะไม่สามารถช่วยเป็นสะพานในปีนั้นได้ จะทำให้ทั้งคู่ต้องรออีกถึงปีหน้าเพื่อที่จะได้พบกันอีก
จะเห็นได้ว่าจากตำนานความรักในครั้งนี้ ได้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับดวงดาวเข้าไว้ด้วยกันทั้งดาวเวกา ในกลุ่มดาวพิณ ดาวอัลแตร์ในกลุ่มดาวนกอินทรีย์ และดาวเดแนบในกลุ่มดาวหงส์ที่เป็นสะพานเชื่อมทั้งสองให้ได้มาพบรักกัน
สามเหลี่ยมฤดูร้อน
ในคืนวันที่ 7 เดือน 7 หากเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าเราจะเห็นดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ กับดาวอัลแตร์ในกลุ่มดาวนกอินทรีย์อยู่คนละซีกของทางช้างเผือก โดยมีดาวเดแนบในกลุ่มดาวหงส์อยู่ตรงกลาง มองดูแล้วคล้ายกับเรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยม นักดาราศาสตร์จึงได้ตั้งชื่อว่า สามเหลี่ยมฤดูร้อน
ซึ่งตลอดช่วงเดือนของฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ เราจะสามารถมองเห็นสามเหลี่ยมฤดูร้อนซึ่งจะอยู่บริเวณเหนือศีรษะพอดีในเวลาใกล้เที่ยงคืนตลอดทั้งฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ สามเหลี่ยมนี้ประกอบด้วยดาว 3 ดวงคือ ดาวเวกา ดาวอัลแตร์ ดาวเดเนบ โดยเราจะมองเห็นดาวเดเนบวางตัวอยู่กลางทางช้างเผือกและดาวเวกาและอัลแตร์จะอยู่คนละฝั่งของทางช้างเผือกเมื่อลองลากเส้นเชื่อมดาวทั้งสามนี้จะพบกับสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่จะอยู่ตลอดทั้งคืนของฤดูร้อน
ดาวเวกา
ดาวเวกา (Vega) หรือ Alpha Lyrae เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวพิณถือว่าเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่มดาวพิณและเป็นลำดับที่ 2 ของดวงดาวของซีกฟ้าเหนือ ดาวเวกานี้อยู่ห่างจากโลก 25 ปีแสง โดยดาวเวกานี้เคยถูกใช้เป็นดาวเหนือมาก่อนเมื่อราว 12,000 ปีก่อนก่อนคริสตกาล ก่อนทีเราจะใช้ดาวแอลฟาหมีเล็กในกลุ่มดาวหมีเล็กเป็นดาวเหนือ และดาวเวกาจะกลับมาเป็นดาวเหนืออีกราว ค.ศ. 13727 นอกจากนี้ดาวเวกายังเป็นดาวดวงที่ 2 ถัดจากดวงอาทิตย์ที่ใช้ในการวัดค่าสเปรกตรัมของแสงและยังเป็นดาวที่ถูกใช้การวัดแบบพารัลแล็กซ์เป็นกลุ่มแรก ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติซึ่งให้แสงที่สว่างคงที่เป็นคาบ ๆ ทำให้ถูกนำมาใช้เป็นดาวแปรแสง
ดาวอัลแตร์
ดาวอัลแตร์ (Altair) เป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนกอินทรี ซึ่งอยู่ห่างจากเราไป 16.7 ปีแสงใน G-clound complex ร่วมกันกับดาวอัลฟร้าเซนโทรี่ที่เป็นดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกที่สุด
ดาวเดเนบ
ดาวเดเนบ (Deneb) เป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหงส์นอกจากนี้บางครั้งมีผู้เรียกกลุ่มดาวหงส์นี้ว่า กลุ่มดาวกางเขนเหนือ เพื่อให้เข้าคู่กับกลุ่มดาวกางเขนใต้ โดยกลุ่มดาวหงส์นี้มักวาดภาพให้เป็นรูปหงส์กางปีกบินตามแนวของทางช้างเผือกและหันหัวไปทางทิศใต้ ดาวเดเนบสว่างเป็นอันดับที่ 19 ของท้องฟ้าซีกเหนืออยู่ห่างจากเราไป 2,615 ปีแสง ในขณะเดียวกันดาวเดเนบจัดเป็นดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ซึ่งมีมวล 19 เท่าของดวงอาทิตย์