กิจกรรมที่น่าจับตามองประจำเดือนวิทยาศาสตร์ไทยประจำปี 2565 คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565” ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และดำเนินงานโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นแม่งานหลักใหญ่ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 9-10 โดยในปีนี้มาภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน”

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ประจำปีที่รวบรวมนิทรรศการและกิจกรรมจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งในวันนี้ The Principia จะขอทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางท่านผู้อ่านเอง
หากว่าทุกท่านพร้อมแล้ว…ก็ไปกันเลย

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนเลยว่างานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นไฮไลท์ที่จะจัดในช่วงนี้ของปีในทุกปีโดยแต่ละปีจะมีธีมงานที่แตกต่างกันไปตามวาระในแต่ละปี ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกท่านได้มาลองถ่ายรูปที่ซุ้มประตูหน้างานซะหน่อย เพื่อบอกให้เพื่อน ๆ ในโซเชียลมีเดียได้รับรู้ว่าคุณมาเยือนมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อทุกท่านเดินเข้ามาในงานก็จะพบกับนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหน้าของทุกท่านซึ่งถือเป็นแลนมาร์คสำคัญของงานโดยนิทรรศการนี้จะพาทุก ๆ ท่านไปรู้จักพระอัจฉริยภาพของ “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” รวมทั้งบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาของประเทศไทย
หากว่าท่านเดินออกจากนิทรรศการมาแล้วเบื้องหน้าของท่านก็จะเป็นพื้นที่กิจกรรมขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งได้ยกกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ๆ ซึ่งส่งตรงมาจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มาตั้งไว้กลางอิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี รับรองว่าท่านผู้อ่านที่พาบุตรหลานมางานจะต้องชอบใจอย่างแน่นอน

ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ก่อนที่ท่านจะเดินเลยเข้าไปภายในงาน เราอยากขอแนะนำให้ท่านลองหันมาทางด้านขวามือของท่าน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ได้ยกกล้องโทรทรรศน์ให้ทุก ๆ ท่านได้ลองส่องดวงดาวที่ถูกจำลองมาให้ท่านเป็นทีเรียบร้อยแล้ว ยังไม่หมดแค่นั้น ที่โซนกิจกรรมนี้ทาง สดร. ได้ยกท้องฟ้าจำลองที่จะพาทุกท่านไปส่งท้องฟ้ายามราตรีที่ไร้แสงใดรบกวน หยุดแหงนหน้ามองความสวยงามและเจิดจรัสของดวงดาราบนพื้นหลังอนธการของกรุงเทพมหานครที่ไร้แสงสีของเมืองกรุงรบกวนการมองเห็น ไม่ใช่แค่นั้นกิจกรรมของ สดร. ยังรณรงค์ให้ทุกท่านใช้แสงสว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลเสียน้อยที่สุด เพื่ออนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืนภายใต้ชื่อโครงการ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” รับรองเลยว่าทุกท่านที่ได้เข้าบูธของ สดร. จะต้องติดใจจนลืมไม่ลงอย่างแน่นอน นอกจากนี้ห้องกระจกที่ประดับหลอดไฟนีออนระยิบระยับก็เป็นจุดที่อยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้ลองเข้าไปถ่ายรูป ลง IG story สวย

หลังจากที่ทุกท่านเดินออกจากสดร. แล้วเดินตรงเข้าสู่ด้านในงานก็จะผ่านบูธกิจกรรมของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) ที่จะพาทุกท่านไปรู้จักพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ เพราะนิวเคลียร์ไม่ได้มีแค่โทษและการทำลายล้าง สำนักงานแสงซิงโครตรอน (องค์การมหาชน) ทางด้านซ้ายมือที่อธิบายแสงซิงโครนตรอน เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่ทุกคนคิด

เมื่อมาจนถึงเกือบถึงเวทีกลาง เวทีที่จะมีกิจกรรมและวิทยากรมาให้ความรู้และความสนุกตลอดทั้งงาน เมื่อท่านหันไปทางด้านขวามือของท่าน นิทรรศการซึ่งเป็นไฮไลท์ที่เราไม่อยากให้ทุกท่านพลาดอีกแห่งสำหรับนิทรรศการ “นิทรรศการนวัตกรรมวันรุ่ง (Tomorrow Land Exhibition)” ก่อนจะเข้าสู่นิทรรศการนี้เราอยากให้ท่านลองคิดเล่น ๆ ดูสิว่าหากข้อพรได้หนึ่งข้อจากยักษ์ในตะเกียงท่านจะขออะไร แต่ถ้าหากความรู้และเทคโนโลยีจะช่วยให้คำปราถนาจากยักษ์ในตะเกียงเป็นจริงโดยที่ท่านไม่ต้องไปบุกฝ่าแดนอาหรับราตรี บุกถ้ำปากสิงโตเป็นคนที่คู่ควรเพื่อให้ได้ครอบครองตะเกียงวิเศษ นิทรรศการชุดนี้จะนำพาท่านก้าวเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความฝัน ความพยายาม และความรู้ พร้อมสัมผัสอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้จากความปราถนาของผู้คนมากมายผ่านร่มเงาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอนาคตแห่งการผลิตอาหาร การใช้ปัญญหาประดิษฐ์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ
ในตอนนี้เองคุณเดินมาจนถึงทางออกของนวัตกรรมแห่งอนาคตลัดเลาะไปตามทางเดินผ่านเวทีกลาง เชื่อว่าเบื้องหน้าคุณจะเห็นโดมที่ดูคล้ายกับ sanctum sanctorum ในภาพยนตร์ Doctor strange คุณอาจคิดว่ามหาจอมเวทย์แห่ง MCU มาทำอะไรที่นี้ แต่อยากจะบอกเลยว่านี้คือไฮไลท์หนึ่งของงานนี้เลย พบกับนิทรรศการเพื่อการเฉลิมฉลองปีสากลแห่งแก้ว “นิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก (Through the Looking Glass Exhibition)” แก้วคือวัสดุโปร่งแสงที่ดูเรียบง่ายแต่ทว่าภายในแก้วนั้นเก็บซ่อนงำประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แก้วนั้นผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ ร่วมสัมผัสความงดงามของแก้วผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และร่วมกันหาคำตอบว่าเราจะใช้แก้วและจัดการแก้วอย่างไร เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากคุณจะได้ความรู้แล้วนิทรรศการนี้ได้เนรมิตอุโมงกระจกแบบ 360 องศาให้คุณได้ถ่ายรูป สาดพลังแบบมหาจอมเวทย์ในมิติกระจกอีกด้วย
ห่างออกไปไม่ไกลข้าง ๆ กับนิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก ทางผู้จัดงานได้เนรมิตถ้ำที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับความลับของถ้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งระบบนิเวศน์ของถ้ำไปกับ “นิทรรศการลอดช่อง ส่องถ้ำ (Cave and Karst)” เพราะว่าถ้ำไม่ใช่เพียงแค่ช่องเล็ก ๆ ที่ซ่อนเร้นในภูเขาหรือป่าเขาแต่มันคือบ้านของสิ่งมีชีวิตและแหล่งทรัพยากรที่ไม่อาจมีสิ่งใดทดแทนได้ ร่วมย้อนรอยเปิดบันทึกการสำรวจถ้ำครั้งแรกในสยามโดย “ยอน การะฝัด” จาก Journal of an Embassy from the Governor-general of India to the Courts of Siam and Cochin China และสุดท้ายพบกับเหล่าดาวเด่นถ้ำไทย
และไม่ไกลกันจากการสำรวจถ้ำในนิทรรศการลอดช่อง ส่องถ้ำ ยังมีห้องทดลองของเหล่านักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยและเยาวชนผู้สนใจวิทยาศาสตร์ ภายในมีกิจกรรมการทดลองให้ทุกท่านได้พาบุตรหลานมาร่วมสนุกไม่ว่าจะเป็น
- มหัศจรรย์สมุนไพร
- มหัศจรรย์สีกับเคมีในบ้าน
- หุ่นยนต์เจ้าปัญญา
- นกตกรัง
- ค้างคาวเพื่อนรัก
- ลองเล่นเลนส์
มาร่วมกันสวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยที่แสนจะสนุกและได้ความรู้ไปด้วยกันกับกิจกรรมห้องทดลองวิทยาศาสตร์
ตอนนี้คุณเดินมาจนเกินครึ่งงานแล้วแต่ว่านี้ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ภายในงานยังมีการออกบูธของหน่วยงานรัฐอื่นไม่ใช่แค่กระทรวงหรือสำนักงานต่าง ๆ ยังมีมหาวิทยาลัยที่มาออกบูธแสดงงานของตัวเอง เหมือนกับการ Open house แบบเบา ๆ ให้เหล่านักเรียนที่สนใจจะมาเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ไทยในอนาคต เช่นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้ยกเอาผลงานของนิสิต นักศึกษาของคณะในแต่ละภาควิชาเช่น ภาควิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ชีวโมเลกุล ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ภายในงานยังมีบริษัทเอกชนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งสื่อและของเล่นต่าง ๆ ทำให้งานมีนิทรรศการ “Creative Science Toy by Design” ที่เราอยากเสนอให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองพาบุตรหลานของท่านได้มาเดินซักครั้งกับนิทรรศการที่รวบรวมของเล่นที่จะช่วยให้บุตรหลานของท่านสามารถเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรามากกว่าที่คิด โดย Creative Science Toy by Design คือโครงการต่อยอดของโครงการ Science Toy Competition 2022 ซึ่งมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และของเล่นวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาทักษาะศตวรรษที่ 21
หลังจากที่ท่านพาบุตรหลาน มาลองเล่น ลองเรียนรู้ผ่านนิทรรศการของเล่นวิทยาศาสตร์แล้วอยากให้ท่านได้ลองแวะ “นิทรรศการวิทย์ คิด เพื่อ คุณ (Basic Science for All Exhibition)” พาคุณมองสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวคุณล้วนมีการคิดค้นขึ้นโดยมีวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นแนวคิด โดยภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 โซนประกอบด้วย
โซนที่ 1 แนวคิดและความสำคัญของ Basic science
โซนที่ 2 พาคุณทดลอง สังเกตด้วยตัวเองแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
โซนที่ 3 นำเสนอผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใน 4 สาขา ประกอบด้วยการขนส่ง, หุ่นยนต์และเครื่องจักร, เกษตรกรรมและปศุศัตว์อัจฉริยะ และ เทคโนโลยีนาโน
ในตอนนี้ทุกท่านเดินทางมาจนถึงโค้งสุดท้ายแล้ว เราอยากจะขอพาทุกท่านเข้าสู่โซนกิจกรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะพาทุกคนรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ไปกับกิจกรรมภายในบูธ ให้เราร่วมกันตระหนักถึงปัญหาของโฆษณาเกินจริง สื่อปลอมที่มีอยู่เต็มโลกออนไลน์

สุดท้ายนี้ก่อนที่เราจะจากกันไป สิ่งที่เรายกมาให้ท่านผู้อ่านนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราไม่อาจเล่าได้หมดทุกกิจกรรมได้ เราจึงอยากเชิญชวนทุกท่านลองไปด้วยตัวเองแล้วมาแชร์ประสบการณ์หรือความประทับใจที่ได้รับจากภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2565 โดยในปีนี้งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้มีแค่ในอิมแพคอารีน่า เมืองทองธานีแค่ที่เดียวเท่านั้น ยังมีงาน Science Carnival bangkok ที่ได้รับความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครซึ่งจะจัดในวันที่ 17 -21 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ชั้น G และชั้น 5 โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของบางกอกวิทยาของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากที่ผู้เขียนทราบมาเรียกได้ว่าเป็นงานที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งไม่แพ้กับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี