Hilight
- นิทรรศการโลกแห่งร่างกาย (The Body Worlds) จัดแสดงอะไร และสอนอะไรเราบ้าง
- การบริจาคร่างกายและอวัยวะ สามารถช่วยชีวิตคนได้อีกมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม
พิพิธภัณฑ์โลกแห่งร่างกาย (The Body Worlds) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1995 โดยนักกายวิภาคศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ กันเธอร์ วอน ฮาเกนส์ (Gunther von Hagens) ผู้คิดค้นวิธีการรักษาสภาพศพและอวัยวะด้วยวิธีกรรมพลาสติเนชั่น (Plastination) ซึ่งใช้สารพลาสติกเหลวเข้าไปแทนที่น้ำและของเหลวในร่างกาย ทำให้ร่างของผู้บริจาคสามารถคงสภาพได้ยาวนานเหมือนพลาสติก ไม่เน่าเปื่อย ไม่มีกลิ่น ซึ่งฮาเกนส์ก็ได้จดสิทธิบัตรเทคนิคการทำนี้ไปเมื่อปี ค.ศ. 1997 แล้วทีมงานของเขาก็เริ่มต้นจัดงานแสดงศิลปะร่างกายไปยังหลายประเทศทั่วโลก
จุดประสงค์ในการจัดแสดงร่างกายมนุษย์และสัตว์นี้ก็เพื่อการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงความรู้ทางด้านกายวิภาคและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์โลกแห่งร่างกาย (The Body Worlds) และศูนย์การทำพลาสติเนชั่นของฮาเก้นส์ (von Hagens Plastination) ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งผู้มีสัญชาติยุโรปและอเมริกาสามารถแจ้งความประสงค์ในการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาและจัดนิทรรศการได้ พร้อมทั้งสามารถระบุได้ว่า อยากให้ร่างกายของผู้บริจาคจัดแสดงอยู่ในท่าอะไร เช่น ขอให้อยู่ในท่านั่งเล่นอ่านหนังสือ หรือ ขอให้เลาะผิวหนังออกแล้วทำท่าเต้นรำ เป็นต้น
ร่างของผู้บริจาคท่านนี้ได้ผ่านการทำพลาสติเนชั่นโดยผิวหนังได้ถูกเลาะออกมาอย่างประณีต ทางนิทรรศการได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า ผิวหนังของมนุษย์นั้นมีความหนาเพียงประมาณ 0.5 – 4 มิลลิเมตร เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดและหนักที่สุดในร่างกาย ซึ่งถ้าไม่มีผิวหนังห่อหุ้มปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมนุษย์ก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เลย การนำผิวหนังออกมาวางบนมืออย่างมีศิลปะนี้ ทำให้ผู้ชมตระหนักว่าภายใต้เปลือกบางไม่กี่มิลลิเมตรนี้ คือกล้ามเนื้อสีแดง ๆ กระดูกสีขาว ๆ ภายในร่างกายนั้นมนุษย์ดูเหมือน ๆ กันไปหมด ส่วนภายนอกนั้นมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งสีผิว สีตา สีผม เป็นเพียงแค่ปริมาณของเม็ดสีที่เรียกว่าเมลานิน
ภายใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระโหลกศีรษะนั้น คือ สมอง อวัยวะที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด สมองมนุษย์มีน้ำหนักประมาณขีดครึ่ง หรือ 1,500 กรัม ความจริงแล้วเนื้อสมองมีความนิ่มมาก นิ่มเทียบเท่ากับเต้าหู้หรือฟองน้ำเลยทีเดียว สมองจึงถือว่าเป็นอวัยวะที่เปราะบางมาก เปรียบเสมือนฟองน้ำที่ชุ่มไปด้วยเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยง และมีกระโหลกศีรษะที่มีความแข็งแรงทนทานเทียบเท่าคอนกรีตปกป้องอยู่
สมองมนุษย์เรามีเซลล์ประสาทมากกว่า 1 แสนล้านเซลล์ ทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งถ้ามนุษย์เรามีประสบการณ์เรื่องอะไรก็ตามหลาย ๆ ครั้ง วงจรประสาทจะเริ่มสร้างรูปแบบจากชั่วครั้งชั่วคราวกลายมาเป็นรูปแบบถาวร หมายความว่าพฤติกรรมอะไรก็ตามที่ทำบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย และเรื่องอะไรก็ตามที่ไม่ค่อยได้ทำ วงจรประสาทรูปแบบนั้นก็จะค่อย ๆ หายไป ทางนิทรรศการได้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า วงจรประสาทนี้คือสิ่งที่สร้างบุคลิกนิสัยและตัวตนของคนแต่ละคนขึ้นมา ทั้งยังกำหนดเรื่องที่เราทำ เรื่องที่เราคิด เพราะฉะนั้นแล้ว ความสุขความพึงพอใจในชีวิตก็สามารถถูกฝึกให้เป็นนิสัยได้เช่นกัน
เห็นอย่างนี้แล้วทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจว่า สมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความคิดและร่างกายเราทุกอย่าง กลับซ่อนอยู่ภายในกระโหลกศีรษะอันมืดมิด ซึ่งอวัยวะที่ช่วยให้เรารับรู้ถึง รูป รส กลิ่น เสียง แล้วนำมาแปลผลในสมองนั้น คือเส้นประสาทที่แผ่ออกจากสมองและไขสันหลังไปทั่วร่างกาย เช่น ตา ลิ้น จมูก หู แขน ขา เป็นต้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเราสื่อสารกันผ่านทางเซลล์ประสาทที่ส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ออกมา สัญญาณประสาทเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 50 – 120 เมตร ต่อวินาที ซึ่งเทียบเท่ากับความเร็วของรถแข่ง เปรียบเทียบกับแสงที่เดินทางด้วยความเร็วประมาณ 300,000 เมตร ต่อวินาที เราจึงสามารถพูดได้ว่า แสงเดินทางเร็วกว่าจิตถึงสามพันเท่าตัวเลยทีเดียว
ทางพิพิธภัณฑ์ได้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น เป็นผลมาจากปฏิกิริยากระแสไฟฟ้าเคมีในสมอง กระแสประสาท สารสื่อประสาท รวมถึงฮอร์โมน เช่น โดปามีน เซโรโทนิน และอ็อกซีโทซิน ซึ่งประโยชน์ของอารมณ์ต่าง ๆ เช่น สุข เศร้า เหงา ฯลฯ มีส่วนช่วยให้มนุษย์เราเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดและสืบพันธุ์ ช่วยให้เราแยกแยะได้ระหว่างสิ่งที่อันตรายหรือปลอดภัย มีหรือไม่มีประโยชน์ นั่นหมายความว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีอารมณ์สุขได้ตลอดไป ถ้ามนุษย์อยากมีความสุขความพอใจในชีวิตก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนกันเอาเอง
ในอีกแง่หนึ่ง ระบบที่ทำให้เกิดอารมณ์ความสุขของมนุษย์เรานั้นก็สามารถส่งผลเสียกลับมาได้ เพราะระบบการให้รางวัลของสมองที่หลั่งสารโดปามีนนั้นทำให้มนุษย์เราเกิดอาการเสพติดความสุขขึ้นมา ซึ่งอาการเสพติดความสุขอันเกิดจากกิจกรรมที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์นั้น เปรียบเสมือนมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่นิดเดียว เช่น ระหว่างการเสพติดความสุขที่ได้จากการออกกำลังกาย กับการเสพติดความสุขที่ได้จากการสูบบุหรี่ ทั้งสองกิจกรรมนี้กระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขที่ชื่อว่า โดปามีน ออกมาเหมือนกัน เรื่องนี้ให้แง่คิดกับผู้ชมได้ว่า คุณล่ะ อยากเลือกที่จะมีความสุขกับกิจกรรมแบบไหน อยากมีสุขภาพร่างกายแบบไหน และอยากมีคุณภาพชีวิตแบบไหน
ทั้งนี้ยังมีสื่อการเรียนรู้ที่เป็นร่างกายของสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งท่านสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังพิพิธภัณฑ์ว่า อยากบริจาคร่างกายตนเองและสัตว์เลี้ยงเพื่อการศึกษา ระบุได้ด้วยว่าอยากให้จัดร่างของท่านเองและสัตว์เลี้ยงแบบไหน เช่น ท่าควบม้าแบบนี้ก็เท่ดีเหมือนกัน หรืออยากจะทำท่าวิ่งเล่นกับหมาแมวอยู่ก็ได้ ทีมงานพลาสติเนชั่นบอกว่า ได้ทำการเก็บรักษาและจัดแสดงร่างกายสิ่งมีชีวิตมาแล้วหลากหลายแบบ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก รวมไปถึงยีราฟสูง 5 เมตร
สุดท้ายแล้ว ร่างกายมนุษย์และสัตว์ สามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมต่อไปได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การจัดแสดงนิทรรศการโลกแห่งร่างกายนี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้ชมได้เห็นโลกภายในร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ทุกมิลลิเมตร ช่วยให้เข้าใจในกลไกการทำงานของธรรมชาติมากขึ้น ธรรมชาติช่างน่ามหัศจรรย์จริง ๆ และยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่รอให้มนุษย์ค้นหา การเรียนรู้นั้นก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถหลั่งสารแห่งความสุขที่ชื่อว่า โดปามีน ออกมาให้เราได้ ดั่งคำคมที่ว่า ความรู้คือพลัง ดั่งที่เพจ เดอะ พรินซิเปีย (The Principia) ได้กล่าวไว้
อ้างอิง
The Body Worlds. 2021. The Museum. www.bodyworlds.com
The Institute for Plastination. 2021. Body Donation for Plastination. www.bodyworlds.com/wp-content/uploads/2021/04/BD_Broschuere_E.pdf
The International Society for Plastination. 2021. Society of Plastination. www.plastination.org
The Journal of the Royal Anthropological Institute. 2014. Plastination for Display: A New Way to Dispose of the Dead. www.jstor.org/stable/3803797
Von Hagens Plastination. 2021. Plastination. www.vonhagens-plastination.com