“Are you, are you comin’ to the tree?
Where they strung up a man, they say, who murdered three
Strange things did happen here, no stranger would it be
If we met at midnight in the hanging tree”
เนื้อร้องที่ท่านกำลังเห็นอยู่นี้คือส่วนหนึ่งของเพลง The hanging tree ซึ่งถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ The hunger game : Mockingjay Part 1 โดยเพลงถูกใช้เพื่อปลุกระดมชาวเขตต่าง ๆ ให้ต่อต้านการปกครองของแคปิตอล นครหลวงของพาเน็มซึ่งรุ่งเรืองและโอ่อ่าไปด้วยชนชั้นสูงแต่ทว่าความรุ่งเรืองนั้นเกิดจากการตักตวงทรัพยากรจากเขตภายใต้การปกครองทั้ง 12 โดยพาเน็มนับโดยประธานาธิบดี คอริโอเลนัส สโนว์ จอมเผด็จการแห่งพาเน็ม ซึ่งในทุก ๆ ปี แคปิตอลจะจัดงานที่เรียกว่าฤดูเก็บเกี่ยว หรือวาไรตี้เอาชีวิตรอดเพื่อความบันเทิงที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน โดยตัวละครที่ต้องลงสนามเพื่อเอาชีวิตรอดนี้คือเหล่าเด็กอายุ 11-18 ปีจากเขตปกครองทั้ง 12 ซึ่งจะจัดในทุก ๆ ปีในชื่อ “เกมล่าชีวิต”
ปฐมบทแห่งเกมล่าเกม
The Hunger Games คือผลงานการประพันธ์ของ Suzanne Collins จุดเริ่มต้นของบทประพันธ์เกิดขึ้นในขณะที่เธอกำลังดูรายการเรียลลิตี้โชว์ โดยระหว่างนั้นเธอได้กดเปลี่ยนช่องไปเจอรายการสารคดีสงครามอิรักที่พูดถึงความสูญเสีย ภาพความจริงของสงครามเป็นตัวจุดประเด็นให้เธอสร้างโลกดิสโทเปียที่มีรายการเรียลลิตี้ความบันเทิงภายใต้การนองเลือด และแลกมาด้วยชีวิต ซึ่งตรงกับชื่อของประเทศสมมุติที่ชื่อว่าพาเน็ม ซึ่งมีที่มาจากวลี Panem et Circenses (ขนมปังและละครสัตว์) ที่หมายถึงแนวคิดของรัฐที่พยายามควบคุมประชาชนด้วยการมอบอาหารและความบันเทิง เพื่อให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจจนไม่หันมาสนใจหรือตั้งคำถามต่อผู้ปกครอง
โดย The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น 64 ปีก่อน The Hunger Games ภาคหลักทั้ง 4 ภาคที่เราได้ดูจบไปแล้ว โดยเรื่องราวเล่าถึงเกมล่าชีวิตครั้งที่ 10 เกมล่าชีวิตที่ คอริโอเลนัส สโนว์ ในวัยหนุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะของเมนเทอร์ของ ลูซี่ เกรย์ แบร์ด บรรณาการจากเขต 12 ผู้ทำได้เพียงร้องเพลงจนชาวเขต 12 ต่างขนานนามเธอว่านกร้องเพลง
ความสัมพันธ์ของนกร้องเพลงและอสรพิษที่เกิดขึ้นนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งทำให้คอริโอเลนัส สโนว์ เด็กหนุ่มแห่งแคปิตอลจากตระกูลที่ล่มสลายจากไฟสงคราม ให้กลายเป็นประธานาธิบดีแห่งพาเน็ม อสรพิษผู้บิดเบี้ยวในอีก 64 ปีต่อมา นอกจากนี้หนังยังพาเราไปรู้จัก คาสก้า ไฮบัททอม ผู้ร่วมคิดค้นเกมล่าชีวิตและ ลูเครเทียส “ลักกี้” ฟลิกเกอร์แมน ผู้เป็นพิธีกรคนแรกของเกมล่าชีวิต และเป็นบรรพบุรุษของ ซีซาร์ ฟลิกเกอร์แมน พิธีกรเกมล่าชีวิตที่เรารู้จักกันดี รวมถึงบุคคลสำคัญอื่น ๆ ที่จะมีบทบาทในอนาคต
เนื้อหาต่อจากนี้จะมีการสปอยส์เนื้อเรื่องบางส่วนของ The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes
Apocalypse โลกหลังการล่มสลาย
การล่มสลายของอารยธรรมเป็นพล็อตที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ในสื่อต่าง ๆ เมื่อโลกไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิตทั้งผลของภาวะสงครามหรือภัยธรรมชาติที่ทำลายการดำรงอยู่ของอารยธรรมที่เรารู้จักไปตลอดกาล การล่มสลายของโลกที่พวกเรารู้จักจึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดโลกใหม่หลังการล่มสลายที่แตกต่างกัน เช่น โลกในอุดมคติที่คนเลิกการทำสงครามและแบ่งปันทรัพยากรอย่างยูโทเปีย โลกที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแต่จิตใจกลับเสื่อมโทรมลงอย่างไซเบอร์พังค์ ฯลฯ
โดยโลกใน The Hunger Games เป็นโลกหลังการล่มสลายของภาวะโลกร้อนและไฟแห่งสงครามซึ่งได้พรากชีวิตผู้คน ก่อนที่จะมีการจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้การปกครองของแคปิตอล ซึ่งตักตวงทรัพยากรจากเขตใต้ปกครอง ชีวิตของชาวแคปิตอลเมืองหลวงของพาเน็มนั้นเต็มไปด้วยระเบียบความหรูหรา ไร้ซึ่งความอดยาก ความป่าเถื่อน เต็มไปด้วยแสงสีและความบันเทิงมากมาย โดยเฉพาะเกมล่าชีวิต รายการเรียลลิตี้ที่จัดขึ้นเพื่อความบันเทิงประหนึ่งการดูกลาดิเอเตอร์ในสมัยโรมันยังเรืองอำนาจ
ปัญหาภาวะโลกร้อนถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญสำหรับพวกเราในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ตามมา ทั้งภัยพิบัติที่เกิดอยู่แล้วก็ทวีความรุนแรงขึ้น หรือภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดก็พลันเกิดขึ้น โดยยูนิเซฟได้เปิดเผยว่าตลอด 6 ปีมานี้วิกฤตการณ์นี้ไม่ได้บรรเทาลงเลย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพของเด็กที่ต้องพบความสูญเสียเนื่องจากภัยพิบัติไม่ต่ำกว่า 43.1 ล้านคนต่อปี โดยภัยพิบัติซึ่งทำให้เกิดการอพยพมากที่สุดคือน้ำท่วมและพายุ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเด็ก 40 ล้านคนหรือร้อยละ 95 ของรายงานทั้งหมด
ข้อมูลนี้เป็นเพียงผลกระทบหนึ่งของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน นอกจากการอพยพและพลัดถิ่นแล้ว ความผันผวนของสภาพอากาศส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตร ทั้งอุณหภูมิ หรือความชื้น ล้วนมีอิทธิพลทั้งสิ้น โดยผลกระทบต่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นหัวใจหลักในกระบวนการบริโภค ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้นเองเพื่อไม่ให้โลกเข้าสู่ภาวะการล่มสลายจากฝีมือของเราเอง องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องเร่งหาแนวทางและความร่วมมือเพื่อบรรเทาภาวะเรือนกระจก เพื่อไม่ให้โลกที่เราอยู่ต้องกลายเป็น Apocalypse ดังเช่นในภาพยนตร์หรือสื่อต่าง ๆ ที่พวกเราได้รับรู้มานั้นเอง
ความอดยากของชาวเขต
คำพูดหนึ่งของ ลูซี่ เกรย์ แบร์ด เมื่อเธอมาถึงแคปิตอลในฐานะบรรณาการจากเขต 12 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เธอได้เจอกับ คอริโอเลนัส สโนว์ ผู้ที่จะมาเป็นเมนเทอร์ของเธอในเกมล่าชีวิต เธอกล่าวว่า “พวกเราไม่ได้กินอะไรเลยนับตั้งแต่พิธีเก็บเกี่ยว เราคงไม่อาจชนะให้พวกคุณได้ ถ้าไม่ได้กินอะไรเลย” หรือแม้แต่ในประโยคที่เธอพูดกับสโนว์เมื่อเขานำอาหารมาให้ “ฉันนึกว่าในแคปิตอลจะมีอาหารมากมายกว่านี้” ซึ่งสโนว์ยิ้มและได้ตอบกลับไปว่า “ในช่วงสงคราม เขากินแป้งเปียกเพื่อให้อิ่มท้องและบรรเทาความหิว”
อาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต ชาวแคปิตอลซึ่งใช้ชีวิตอย่างหรูหราจากการตักตวงทรัพยากรของชาวเขต อาหารและน้ำดื่มที่ผลิตโดยชาวเขตต้องถูกส่งมายังแคปิตอลอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ชาวเขตซึ่งเป็นผู้ผลิตไม่มีสิทธิในการเข้าถึงอาหาร ทำให้ชาวเขตหลาย ๆ คนพยายามหาวิธีที่จะเป็นชาวแคปิตอลถึงแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยสิ่งใดก็ตาม ซึ่งคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้จำนวนมาก นำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ ถึงแม้ว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้ในโลกใบนี้จะมากเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงประชากรทั้งหมดก็ตาม
สาเหตุของการเข้าไม่ถึงแหล่งอาหารนี้ มีต้นเหตุมาจากการขาดแคลนพื้นที่ในการเพาะปลูกและการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าถึงอาหาร นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เด็กต้องเสียชีวิตลง 20,000 คนต่อวันเนื่องจากขาดอาหาร โดยปัญหานี้ในปัจจุบันยังคงทวีความรุนแรงขึ้นในแอฟริกาและเอเชียใต้
โดยในปัจจุบันปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขโดยการอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพและลดต้นทุนเพื่อการกระจายแหล่งอาหารและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร รวมทั้งมีการกำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันอาหารโลกเพื่อสร้างความตระหนักของปัญหาทุพโภชนาการ
ปัญหาทุพโภชนาการในประเทศพาเน็ม ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกเมินเฉยมาโดยตลอดนั้น ทำให้เกมล่าชีวิตครั้งที่ 1-9 จบลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเหล่าเครื่องบรรณาการขาดการเข้าถึงแหล่งอาหาร อีกทั้งยังผ่านช่วงสงครามมาหมาด ๆ เหล่าเครื่องบรรณาการจึงเต็มไปด้วยความไม่พร้อมทางด้านร่างกาย จึงถูกกับดักหรือเครื่องบรรณาการอื่น ๆ สังหารได้ง่าย ซึ่งทำให้เกมจบลงอย่างรวดเร็วและไม่สนุกเอาเสียเลย จนทำให้เรตติ้งของเกมล่าชีวิตในครั้งหลัง ๆ ต่ำจนมีเสียงหนาหูว่าเกมล่าชีวิตครั้งที่ 10 จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะจัดขึ้น ดังนั้นเอง คาสก้า ไฮบัททอม หนึ่งในผู้คิดค้นเกมล่าชีวิตจึงได้เสนอให้นำนักเรียนดีเด่นทั้ง 24 คนเป็นเมนเทอร์ดูแลเพื่อสร้างกระแสให้กับเกมล่าชีวิตอีกครั้ง
และในเกมล่าชีวิตครั้งนี้เองที่สโนว์ได้ฉายแววความฉลาดของเขาในการเสนอต่อ ดร.โวลัมเนีย กอล หัวหน้าผู้ควบคุมเกมล่าชีวิตครั้งที่ 10 ให้มีการปรับรูปแบบเกมล่าชีวิตให้มีสีสันที่มากขึ้นและมีการเลี้ยงบรรณาการด้วยอาหารให้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์และถ่ายทอดสดเพื่อเรียกคะแนนเสียงและสปอนเซอร์สนับสนุน
การควบคุมประชากร
การควบคุมประชากรในเขตปกครองทั้ง 12 เป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลของแคปิตอลให้ความสำคัญทั้งการกำหนดไม่ให้เกิดการก่อกบฎ ป้องกันการลุกฮือหรือต่อต้านด้วยความหวาดกลัวนั้นทำให้ทุกเขตย่อมมีต้นไม้แขวนคอ ซึ่งถูกใช้เป็นลานประหารเหล่าคนที่เป็นปรปักษ์ต่อแคปิตอลหรือเทศกาลเก็บเกี่ยว ที่ต้องนำส่งเด็กที่มีอายุ 11-18 ปีจากแต่ละเขตมาเข้าร่วมเกมล่าชีวิต นอกจากการควบคุมทางการเมืองแล้ว แคปิตอลยังต้องควบคุมจำนวนประชากรซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นแรงงานมนุษย์ที่ใช้ขับเคลื่อนพาเน็มให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาวะทุพโภชนาการซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมจำนวนของประชากรของแต่ละเขตไม่ให้ต่อต้านแคปิตอลได้ รวมทั้งเกมล่าชีวิตทำให้แต่ละเขตไม่สามารถจับมือกันเพื่อต่อต้านเนื่องจากความแค้นที่เกิดขึ้นระหว่างเกมล่าชีวิต จนกระทั่งการมาถึงของหญิงสาวผู้มากับไฟในอีก 64 ปีต่อมาที่ได้รวมใจประชาชนแต่ละเขตจนสามารถต่อต้านแคปิตอลได้ในที่สุด
การควบคุมจำนวนประชากรในแคปิตอลคือการใช้องค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาในเรื่องการเติบโตของขนาดประชากรและปัจจัยที่มีผลต่อขนาดของประชากรเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายทางรัฐศาสตร์ได้อย่างแยบยลและเป็นแบบแผนที่น่าสนใจในการปกครอง
คำนิยามของประชากร
ประชากรทางนิเวศวิทยาหมายถึงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ในเวลา ณ ขณะหนึ่ง เช่น หากเรากล่าวถึงจำนวนประชากรชาวแคปิตอลที่อาศัยอยู่ในแคปิตอลในช่วง 10 ปีหลังสงคราม เราจะหมายถึงประชาชนซึ่งเป็นชาวแคปิตอลในเขตแคปิตอลช่วง 10 ปีหลังสงคราม โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตอื่น ๆ ของพาเน็ม ทั้งทีอยู่ในแคปิตอลหรือไม่อยู่ในแคปิตอล ซึ่งการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของประชากรทำให้เกิดลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่น ความหนาแน่นของประชากร และการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร
หากเราพูดถึงประชากรที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ และกินอาณาเขตที่กว้างขวาง การบอกเพียงจำนวนของประชากรไม่สามารถแสดงภาพรวมใหญ่ของประชากรได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้นเองเราจึงมีการเลือกใช้เครื่องมือที่เรียกว่าความหนาแน่นของประชากรเพื่อแสดงภาพจำนวนประชากรต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่หรือปริมาตร ดังนั้นเองแต่ละพื้นที่จึงมีความหนาแน่นที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากปัจจัยด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ทำให้สะท้อนภาพการกระจายตัวของกลุ่มประชากรทำให้แคปิตอลสามารถแบ่งเขตปกครองของตนออกเป็น 12 เขตผ่านการกระจายตัวของประชากรและแบ่งหน้าที่ให้แต่ละเขตจัดสรรและดูแลเพื่อส่งเสริมความรุ่งเรืองของแคปิตอล
อย่างไรก็ตามการควบคุมการกระจายตัวและความหนาแน่นของประชากรจะเป็นไปได้ด้วยดีถ้าไม่มีการเดินทางสัญจรหรือแลกเปลี่ยนของประชากรระหว่างกลุ่มของประชากรซึ่งแคปิตอลแสดงผ่านการผูกขาดการเข้าถึงรถไฟซึ่งเป็นยานพาหนะเดียวที่สามารถเดินทางข้ามเขต รวมทั้งการขึ้นทะเบียนราษฎรก็เป็นวิธีหนึ่งที่บ่งบอกถึงภาพรวมการกระจายตัวของประชากรใต้ปกครองของแคปิตอล
โครงสร้างของประชากร
ในทางนิเวศวิทยา เราแบ่งประชากรซึ่งอยู่กันอย่างกระจายตัวออกเป็น 3 กลุ่มคือ วัยก่อนเจริญพันธุ์ วัยเจริญพันธุ์ และวัยหลังเจริญพันธุ์ ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความเป็นไปของจำนวนประชากรในอนาคตได้ เช่น หากมีประชากรวัยหลังเจริญพันธุ์มาก แสดงว่าพื้นที่นั้นมีแนวโน้มประชากรลดลง ต้องกระตุ้นให้มีการผลิตประชากร หากมีวัยเจริญพันธุ์มากแสดงว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรจะเพิ่มขึ้น
โครงสร้างประชากรนี้ถูกนำมาใช้ในการควบคุมจำนวนประชากรในตลาดแรงงานในอนาคต หากเขตใดมีจำนวนของประชากรวัยก่อนเจริญพันธุ์มากย่อมแสดงว่าในอนาคตเขตนั้นจะมีจำนวนแรงงานที่มากขึ้น โดยการสำรวจจำนวนของประชากรที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นแอบแฝงผ่านพิธีเก็บเกี่ยวซึ่งรวบรวมประชาชนที่มีอายุ 11-18 ปีซึ่งหากพวกเขาสามารถรอดจากพิธีเก็บเกี่ยวไปได้ก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต
โครงสร้างของประชากรที่กล่าวมานี้มักถูกแสดงให้เห็นผ่านปิรามิดอายุ (Age Pyramid) ซึ่งมีด้วยกัน 3 รูปแบบคือทรงปิรามิดฐานกว้าง ทรงระฆัง และฐานแคบ รูปแบบของปิรามิดอายุสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนของประชากรในกลุ่มเยาวชน แรงงาน เกษียณในปัจจุบัน และการทำนายในอนาคตของจำนวนประชากรได้ นอกจากรูปแบบที่กล่าวมานั้นในปัจจุบันปิรามิดอายุของประชากรหลังวัยเจริญพันธุ์ขยายตัวขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้เกิดแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุที่มากขึ้นตามไปด้วย
การเติบโตของประชากร
ขนาดของประชากรในแต่ละปีย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (Population Dynamics) ซึ่งเราสามารถคำนวณได้จากค่าตัวแปร 4 ตัวคือ อัตราเกิด การย้ายเข้า การตาย การย้ายออก โดยเราสามารถหาได้จากจํานวนประชากรที่เกิดหรืออพยพเข้าทั้งหมด ลบออกด้วยจํานวนประชากรที่ตาย หรืออพยพออกในช่วงเวลานั้น สำหรับพาเน็มนั้นการอพยพของประชากรแทบไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ ทำให้การคำนวณมีเพียงอัตราการเกิดลบด้วยอัตราการตายเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเติบโตของประชากรในแต่ละเขตนั้นขึ้นอยู่กับการสืบพันธุ์เท่านั้น โดยอาศัยความถี่ในการมีลูก (Frequency of Breeding) เป็นตัวแปรในการควบคุมประชากร
รูปแบบการเติบโตของประชากรสามารถแสดงโดยสมการทางคณิตศาสตร์ซึ่งแสดงด้วยกราฟการเติบโตได้ 2 รูปแบบคือ
- การเติบโตของประชากรแบบเอ็กโปเนนเชียล (Exponential Population Growth)
- การเติบโตของประชากรแบบลอจิสติก (Logistic Population Growth)
การเติบโตของประชากรแบบเอ็กโปเนนเชียล คือการเติบโตของประชากรในสภาพอุดมคติที่ไม่มีตัวต้านทานในสิ่งแวดล้อม (Environmental Resistance) เช่น อาหาร ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแบบเหยื่อกับผู้ล่า ส่งผลทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด โดยในช่วงแรกการเพิ่มขึ้นของประชากรจะมีไม่มาก เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อยเรียกว่า Lag Phase ก่อนที่การเพิ่มขึ้นของประชากรจะมีค่าเป็นทวีคูณเรียกว่า Exponential Growth Phase อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปของกราฟนี้ประชากรจะลดลงอย่างฉับพลันและก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสลับกันไปมา
การเติบโตของประชากรแบบลอจิสติก คือการเติบโตของประชากรภายใต้ตัวต้านทานในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากในธรรมชาติ ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรมักมีอยู่อย่างจำกัด สมาชิกของประชากรจึงถูกจำกัดไว้ด้วยปริมาณข้างต้น โดยค่าสูงสุดที่ประชากรจะมีได้เรียกว่าความจุที่รับได้สูงสุด (Carrying Capacity) ใช้สัญลักษณ์ K โดยในช่วงแรกประชากรจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนที่จะค่อย ๆ ชะลอตัวลงจนถึงจุดสมดุลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร อย่างไรก็ตามในธรรมชาติจำนวนประชากรย่อมไม่มีความคงที่เสมอทำให้ประชากรมีการลดลงและเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแข่งขันเป็นวัฎจักร (Population Cycle)
ปัจจัยที่ควบคุมการเติบโตของประชากร
ปัจจัยที่ควบคุมการเติบโตของประชากรหรือปัจจัยจำกัด (Population Limiting Factor) แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- ปัจจัยที่ขึ้นกับความหนาแน่นของประชากร (Density Dependent Factor) เช่นอาหาร เมื่ออาหารมีน้อย ประชากรจะเกินการแก่งแย่งแข่งขัน ทำให้ประชากรเจ็บป่วย ล้มตายและมีโอกาสสืบพันธุ์ยากทำให้ประชากรลดลงจนเมื่อปริมาณอาหารมีมากขึ้นกว่าจำนวนประชากรที่มี ทำให้ประชากรสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นและลดการแข่งขันลง
- ปัจจัยที่ไม่ขึ้นกับความหนาแน่นของประชากร(Density independent Factor) เช่น ภัยธรรมชาติ อุณหภูมิ ซึ่งส่งผลให้ประชากรมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างฉับพลัน
อย่างไรก็ตามในสัตว์บางชนิดมีการควบคุมประชากรด้วยกลไกอื่น ๆ เช่น มอดแป้งบางชนิดจะหลั่งสารเพื่อทำลายตัวอ่อนและตัวที่แก่กว่า รวมทั้งลดการสืบพันธุ์เมื่อประชากรมีมากกว่าปกติหรือความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับผู้ล่า ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปปัจจัยจำกัดมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดคือ
- อาหาร
- พื้นที่สําหรับทํากิจกรรมต่าง ๆ เช่น เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย สืบพันธุ์ เลี้ยงดูตัวอ่อน
- สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่นความชื้น อุณหภูมิ ฯลฯ
การเติบโตของประชากรมนุษย์
ตามแนวคิดของ Thomas Malthus ที่ได้เขียนถึงประชากรมนุษย์ไว้เมื่อปี 1798 ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีแนวโน้มตามจำนวนอาหารที่มีอยู่ แต่ทว่าจำนวนของอาหารและเครื่องยังชีพมีการเพิ่มขึ้นแบบอันดับเลขคณิต (Arithmatic Progression) ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นแบบอันดับเรขาคณิต (Geometic Progression) ถ้าหากการเพิ่มขึ้นยังเป็นแบบนี้ต่อไปจำนวนของประชากรจะมีค่ามากขึ้นจนมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอาหาร ดังนั้นมนุษย์จึงควรเตรียมผลผลิตเพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของประชากร
จากกราฟจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี 1800 หลังการปฎิวัติอุตสาหกรรมมนุษย์มีการเติบโตของประชากรที่มากขึ้น เนื่องจากการกระจายวัตถุดิบและปัจจัยได้สะดวกสบายมากขึ้น ทำให้มนุษย์สามารถเพิ่มจำนวนประชากร ตลอดจนการพัฒนาของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านการแพทย์ ทำให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้น นอกจากนี้การคุมกำเนิดที่มากขึ้นทำให้อัตราการเกิดลดลง ในขณะเดียวกันอัตราการตายลดต่ำลง ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามนุษย์จะเพิ่มจำนวนขึ้นจนถึงหนึ่งแสนล้านคนในอนาคต
โรคพิษสุนัขบ้า
บรรณาการชายจากเขต 12 พยายามปกป้อง ลูซี่ เกรย์ แบร์ด จนทำให้เขาถูกค้างคาวกัด แต่ก็ยังพยายามปกป้องลูซี่จากค้างคาวตลอดทั้งคืน นั่นทำให้เขาไม่ได้นอนและล้มป่วยในที่สุด การล้มป่วยของเขามาพร้อมกับอาการหนาวสั่น กระวนกระวาย ถึงแม้อาการของเขาจะแสดงอย่างเห็นได้ชัดเจนถึงความผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเหล่าบรรณาการทุกคนถูกส่งมายังสวนสัตว์ของเมืองแคปิตอล เพื่อจัดแสดงพวกเขาประหนึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ถูกจับขังในกรง บรรณาการผู้นี้ก็ยิ่งแสดงอาการถึงความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้ควบคุมเกมกลับเมินเฉยต่อสัญญาณเพราะถึงอย่างไร สุดท้ายเกมล่าชีวิตนี้ก็ย่อมมีจุดจบที่ความตายอยู่ดี
จนกระทั้งเมื่อเกมล่าชีวิตได้เริ่มขึ้น บรรณาการผู้นี้ก็ยิ่งแสดงอาการประสาทหลอน ไร้สติสัมปชัญญะ รวมไปถึงตอนที่สามารถหลบหนีการไล่ล่ามาอยู่กับ ลูซี่ เกรย์ แบร์ด ที่ชั้นใต้ดินซึ่งทางถูกเปิดจากการระเบิดของกลุ่มกบฎที่หมายจะทำลายสัญลักษณ์ของเกมล่าชีวิตในวันตรวจสอบสนามแข่ง แคปิตอลอารีน่าของเหล่าเครื่องบรรณาการ โดยบริเวณที่พวกเขาได้หลบภัยการไล่ล่ามานั้นบริเวณนั้น เจิ่งนองไปด้วยน้ำ ลูซี่ เกรย์ แบร์ด ที่กังวลต่ออาการขาดน้ำได้รวบรวมน้ำให้บรรณาการคนสนิทกินแต่เขาก็แสดงอาการหวาดกลัวต่อน้ำในมือของเธอ
อาการทั้งหมดที่บรรณาการผู้นี้เป็นเครื่องยืนยันว่าตัวของเขาไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดทั่วไป แต่กลับเป็นโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งติดมากลับการกัดของค้างคาวในตอนที่กำลังเดินทางมาแคปิตอลนี้เอง
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคติดต่อทางระบบประสาทที่พบได้เฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ซึ่งมีความอันตรายถึงชีวิต ในปัจจุบันไม่มีทางรักษาโรคพิษสุนัขบ้าให้หายขาดได้ แต่เราสามารถป้องกันได้ผ่านทางการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยการติดต่อของโรคจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีแผลและไปสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ทั้งจากการถูกกัด การเลียแผล หรือการชำแหละซากสัตว์ที่ติดเชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้
ตัวการที่ก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าคือไวรัส Rhabdoviridae ซึ่งพบได้ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายของสัตว์ป่วย โดยมนุษย์มักติดเชื้อจากสัตว์จำพวกสุนัขและแมวมากกว่า เนื่องจากพวกเรามีความใกล้ชิดกับสุนัขและแมวมากกว่าสัตว์ในกลุ่มอื่น ๆ
อาการของผู้ติดเชื้อ
โรคพิษสุนัขบ้ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ระยะซึ่งจะกินระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจจะใช้เวลาหลายปีก่อนจะแสดงอาการ โดยความเร็วของการแสดงอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ขนาด จำนวน และความลึกของแผล รวมทั้งภูมิต้านทานของผู้ติดเชื้อ
- ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคล้ายถูกเข็มทิ่มหรือคันบริเวณที่ถูกกัด โดยระยะนี้จะกินระยะเวลาประมาณ 2-10 วันหลังจากได้รับเชื้อ
- ระยะมีอาการทางสมอง สับสน กระวนกระวาย อยู่ไม่นิ่ง กลืนอาหารลำบาก กลัวน้ำ อาการจะมีมากขึ้นหากได้รับเสียงที่ดังหรือสัมผัสถูกตัว จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการชักและเป็นอัมพาตระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 2-7 วัน
- ระยะสุดท้าย ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โคม่าและเสียชีวิตในที่สุด
หลุยส์ ปาสเตอร์ กับวัคซีนของเขา
ย้อนไปเมื่อปี 1885 เด็กหนุ่มวัย 9 ขวบนามว่า โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) ได้เดินทางพร้อมแม่ของเขาเพื่อมาหา หลุยส์ ปาสเตอร์ เพราะเธอได้ยินข่าวว่าหลุยส์กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นโรคร้ายแรงที่ถึงแก่ความตายในทุกราย เด็กชายโจเซฟมาด้วยอาการย่ำแย่เกินเยียวยา ความหวังเดียวของโจเซฟมีเพียงวัคซีนของหลุยส์ซึ่งยังไม่ถูกนำมาใช้ทดลองกับคนมาก่อน
หลุยส์ค่อนข้างกังวลว่าวัคซีนจะได้ผลจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากความสงสาร หลุยส์จึงต้องจำใจฉีดวัคซีนที่ยังไม่เคยได้รับการทดสอบในมนุษย์มาก่อนนี้ให้เด็กชายโจเซฟ หลังจากฉีดวัคซีนหลุย์เฝ้าติดตามอาการของเด็กน้อยอย่างใกล้ชิดเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ในที่สุดเด็กชายโจเซฟก็หายเป็นปกติ
ข่าวการค้นพบวัคซีนของปาสเตอร์ทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นทำให้คนนับร้อยแห่แหนกันมารับวัคซีนพิษสุนัขบ้ากันมากขึ้นทำให้โรคที่แสนน่ากลัวในอดีตกลายเป็นโรคที่เรายังสามารถเอาชนะได้
Songbird นกร้องเพลงแห่งเขต 12
นกขับขานหรือ Songbird เป็นนกในอันดับนกจับคอน (Passeriformes) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีนิ้วที่ทำหน้าที่เกาะกิ่งไม้ 4 นิ้วและมีการเจริญของนิ้วที่ดีและอยู่ในระนาบเดียวกันเหมาะแก่การจับหรือเกาะกิ่งไม้ แต่ไม่เหมาะจะเดินบนดินทำให้ชีวิตส่วนใหญ่พวกมันอาศัยอยู่บนต้นไม้ มีลำตัวที่เล็ก โดยนกขับขานนั้นอยู่ในอันดับย่อย Passeri โดยเราจะพบนกขับขานกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก สันนิษฐานว่าพวกมันวิวัฒนาการแยกสายจากบรรพบุรุษในแผ่นทวีปกอนวาน่าเมื่อราว ๆ 50 ล้านปีก่อน