เมื่อเราพูดแค่คำว่า “หมัด” ขึ้นมาหลายคนคงคิดว่าหมายถึงหมัดที่เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้ชกต่อย หรือใช้ปกป้องตนเองจากสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย แต่! บทความนี้จะมาพูดถึง “หมัด” ที่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งอาจจะตัวเล็กไม่เท่าจุลินทรีย์ แต่ก็มองด้วยสายตาได้อย่างยากลำบาก
หมัด (flea) ถูกจัดจำแนกอยู่ในกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแมลง หรือ ชั้น Insecta ที่รวบรวมเหล่าหมู่มวลแมลงทุกชีวิตเอาไว้ ซึ่งย่อยลงมาจะอยู่ในอันดับ Siphonaptera ซึ่งเป็นอันดับที่ถูกแบ่งออกมาเพื่อหมัดโดยเฉพาะ โดยหมัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่าปรสิตภายนอก (Ectoparasite)
ลักษณะเด่นที่จะมองว่าตัวที่เราเห็นอยู่เป็นหมัดคือ ลำตัวแบนด้านข้าง (Laterally compressed) ดังภาพที่ 1 ไม่มีตารวม (Compond eyes) เหมือนแมลงที่คุ้นชิน แต่มีตาเดี่ยว (Ocelies) หรือบางชนิดอาจจะไม่มีก็ได้ หนวดมีขนาดสั้นซ่อนอยู่ในโพรงหัว (Antennal fossae) ไม่มีปีกแต่มีการพัฒนาขาปล้อง Coxa ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในการกระโดด ปากของหมัดจะพัฒนาออกมาให้เรียวยาวเป็นหลอดรวงเหมือนเข็ม (Stylets) ใช้สำหรับเจาะทะลุผิวหนังของสิ่งมีชีวิตเจ้าบ้าน (Host) ที่มันเข้าไปอาศัยอยู่บนตัวโดยเรียกปากแบบนี้ว่า ปากแบบเจาะดูด (Piercing-sucking type)
ภาพที่ 1 แสดงลักษณะโครงสร้างทั่วไปของหมัด
ที่มา https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-1-60327-400-5_5
วงจรชีวิตของหมัดเป็นแบบสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) แบ่งเป็น 4 ระยะแก่
1.ไข่ (Egg) จะถูกวางไว้บนตัวสัตว์เจ้าบ้าน (Host) โดยจะติดตามผิวหนังหรือเส้นขนก่อน อาจจะมีโอกาสที่จะร่วงตามแหล่งที่อยู่อาศัย หรือบริเวณที่อยู่ของสัตว์ หรืออาจจะติดตัวสัตว์ไปจนกระทั่งไข่ฟักตัวออกมา โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน
2.ตัวหนอน (Larva) โดยระยะนี้จะเป็นหนอนแบบ Vermiform คือหนอนจะไม่มีขา ไม่มีตา ตัวสีขาวครีม กินเศษซากสารอินทรีย์ที่อยู่บริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มันอยู่บริเวณนั้น เช่น เศษผิวหนัง ขน โดยตัวหนอนจะลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง ก่อนที่จะเข้าดักแด้
3.ดักแด้ (Pupa) มีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยที่ขดตัวอยู่แต่มีเปลือกแข็งหุ้มเอาไว้เรียกดักแด้แบบนี้ว่า Exarte คล้าย ๆ กับดักแด้ของ มด ต่อ แตน ผึ้ง หรือ ด้วง แต่หมัดจะมีการนำเศษสารอินทรีย์อย่างเศษผิวหนัง ฝุ่น ต่างๆบริเวณนั้นมาเป็นรังไหมก่อน 1 ชั้น
4.ตัวเต็มวัย (Adult) หมัดตัวเต็มวัยจะไม่มีปีก ตัวเล็ก แบน ขาแข็งแรงสามารถเดินและกระโดดได้ดี เส้นขนและหนามตามตัวหมัดจะลู่ตามแนวจากหัวไปหลัง หัวเล็กแต่ท้องจะขยายกว้าง ตัวเต็มวัยทั้งตัวเพศผู้และเพศเมียกินเลือดเป็นอาหาร มีบางชนิดที่กินเศษซากอินทรีย์ซึ่งน้อยมาก โดยส่วนใหญ่เกือบทุกชนิดกินเลือดเป็นอาหาร
ภาพที่ 2 แสดงรูปแบบวงจรชีวิตของหมัด
ที่มา https://www.britannica.com/animal/flea/Natural-history
เรื่องที่รู้แล้วถึงกับต้องกำหมัด
นอกจากจะเป็นที่น่าปวดหัวจนอยากจะเอาพาราฉีดเข้าสมองเพียงเพราะอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงอย่าง แมว หมา ที่บ้านแล้วยังพบที่อยู่ใน หนู ไก่ นก หรือแม้กระทั่ง คน ซึ่งจะคอยสร้างความรำคาญนอกจากจะวิ่งไปมาบนตัว มุดหน้า ซ่อนหลัง หลบซ้าย หักขวา กระโดดหยอง ๆ บนตัวแล้ว ยังดูดเลือดซึ่งทำให้เกิดการ คัน เกา แพ้ตามมา ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 แสดงรอยกัดจากหมัด
ที่มา https://www.medicinenet.com/flea_bites_in_humans/article.htm
ยังเป็นอีก 1 ในตัวการที่พาพยาธิเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงคนที่หมัดกระโดดเข้าปากไปด้วยโดยเฉพาะเด็กน้อยที่อาจจะมีความเสี่ยงในการสัมผัสสัตว์เลี้ยง และนำมือเข้าปาก อย่างเช่นพยาธิตืดหมัด ชื่อวิทยาสาสตร์คือ Dipylidium caninum สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ภายใน 6 ขั้นตอนคือ
1.สุนัขหรือแมวที่มีพยาธิจะขับแพคเกจปล้องพยาธิพร้อมด้วยไข่พยาธิออกมาผ่านอุจจาระ
2.ปล้องพยาธิจะปล่อยแพคไข่ออกมา
3.ตัวอ่อนของหมัดจะกินไข่พยาธิเข้าไป
4.เมื่อหมัดเข้าสู่ตัวเต็มวัยไข่พยาธิจะเจริญเป็นระยะ Cysticecide
5.สุนัขแมว หรือคนได้รับหมัดที่มาพยาธิเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินอาหาร
6.พยาธิจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยและขับลูกหลานออกมาผ่านอุจจาระของสัตว์เจ้าบ้าน (Host)
ภาพที่ 4 แผนผังแสดงวงจรการติดพยาธิตืดหมัด
ที่มา https://www.cdc.gov/dpdx/dipylidium/index.html
นอกจากนี้ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับคนโดยตัวเมียจะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังของคนดังภาพที่ 5 อย่างเช่น Tunga penetrans หรือที่เรียกว่า หมัดทราย (Jigger/ Sand flea) ที่จะเจาะใต้ผิวฝ่าเท้าเนื่องจากการเหยียบย้ำดินที่มีหมัดอยู่
ภาพที่ 5 แสดงลักษณะร่องรอยจากการเจาะอาศัยของหมัดทะเลทราย
ที่มา https://woplah.wixsite.com/blog/single-post/2016/11/29/the-fight-against-jiggers
หรือเป็นพาหะนำโรคที่ถึงกับเขย่าประชากรมนุษย์เสมือนกลั่นกรองเฟ้นหาผู้ที่แข็งแกร่งอย่าง กาฬโรค (Plauge) ที่พรากชีวิตคนหลายล้านชีวิตจากสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่เรียกว่าหมัด
ถ้าแค่นี้ยังกำหมัดไม่พอยังมีโรคนำเสนอจากหมัดอีกนั่นคือ โรคติดเชื้อ Rickettsia อย่าง murine typhus โดยมีอาการคือมีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไอผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเขตร้อน และอบอุ่น หรือคือสามารถพบได้ในประเทศไทยด้วยนั่นเอง
เป็นอย่างไรบ้าง เห็นหมัดตัวเล็ก ๆ ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา ซึ่งพอรู้เรื่องของหมัดแล้วถึงกับกำหมัดรึยัง?
อ้างอิง
อนุกรมวิธานแมลง โดย ผศ.ดร. ไสว บูรณพานิชพันธุ์
Medical and Veterinary Entomology