Hilights
- เธอรานอส บริษัทเทคโนโลยีด้านการแพทย์คิดค้นเครื่องตรวจสุขภาพได้เป็นร้อยโรคจากเลือดไม่กี่หยด ก่อนจะพบว่ามันทำงานไม่ได้จริง
- ในปัจจุบันส่วนใหญ่เจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดดำบริเวณแขน และบางครั้งก็เจาะบริเวณปลายนิ้ว ซึ่งการตรวจสุขภาพจากการเก็บเลือดสองวิธีนี้ต่างกัน
- การเจาะเลือดจากปลายนิ้วมืออาจใช้ทดสอบอะไรที่ละเอียดละออไม่ได้ เพราะเกิดการปนเปื้นเศษเซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังง่าย รวมถึงปริมาณเลือดน้อยเกินไป
- เธอรานอสถูกยึดใบอนุญาตประกอบห้องปฏิบัติการ หลังจากพบว่าผลการทดสอบของเครื่องมือไม่ถูกต้อง และมีการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจาก US FDA

ความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็คือ ยิ่งมันถูกพัฒนาไปได้ไกล ผลประโยชน์จะตกแก่ทุกคนทั่วทั้งโลก เพราะไม่ว่าใครก็เจ็บป่วยได้ทั้งนั้น ในขณะที่เทคโนโลยีด้านอื่น ๆ บางทีอาจจะส่งผลดีกับคนที่มีรสนิยมตรงกับมันเท่านั้น แล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน เคยมีบริษัทหนึ่งที่สร้างปรากฎการณ์ในการรังสรรค์นวัตกรรมที่ไม่ว่าใครก็จะได้ผลประโยชน์จากมันอย่างแน่นอน ด้วยสรรพคุณที่ว่า การเจาะเลือดเพียงครั้งเดียว สามารถทำนายโรคร้ายที่อาจขึ้นในร่างกายเจ้าของเลือดเหล่านั้นได้ ขึ้นชื่อว่านวัตกรรมชิ้นนี้จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีพลิกโลก ด้วยการแก้ปัญหาผู้ที่กลัวการเจาะเลือดหลาย ๆ เข็ม ผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถเจาะเลือดปริมาณมากได้ และยังแก้ปัญหาต้นทุนการตรวจสุขภาพทั้งเรื่องของเงิน และเวลาอีกด้วย แต่แล้วทั้งหมดก็เป็นได้เพียงภาพฝัน เมื่อสรรพคุณที่กล่าวมาเป็นแค่คำลวงจากบริษัทผู้ผลิต บริษัทที่มีชื่อว่า เธอรานอส (Theranos)
ไอเดียผู้สร้าง นำทางสู่จุดเริ่มต้น
จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีลวงโลกที่กล่าวมา เกิดจากผู้หญิงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า เอลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) เธอมีไอเดียสุดล้ำมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตอนนั้นเธอเรียนวิศวกรรมเคมี แต่มีความมุ่งมั่นอยากจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ช่วยเหลือคนจำนวนมากได้อย่างเทคโนโลยีทางการแพทย์ นั่นทำให้เธอได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับแผ่นแปะอัจฉริยะที่สามารถตรวจหาชนิดแบคทีเรียในเลือด และให้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องได้ในครั้งเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เข็มเจาะไปตามร่างกายแม้แต่จุดเดียว ซึ่งเธอให้ชื่อมันว่า เธอราแพตช์ (TheraPatch) แต่ความคิดบรรเจิดไม่ได้เกิดขึ้นได้จริงเสมอไป เธอนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ ดร.ฟิลลิส การ์ดเนอร์ (Dr.Phyllis Gardner) อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และพบว่ามันยังมีข้อจำกัดอยู่อีกมากมาย เช่น การเก็บบรรจุยาปฏิชีวนะ หรือขนาดของแผ่นแปะที่ว่า แต่เธอก็ไม่เคยละทิ้งความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อที่จะช่วยเหลือทุกคนบนโลกใบนี้
อาจารย์การ์ดเนอร์ได้แนะนำให้โฮล์มส์รู้จักกับ ดร.แชนนิ่ง โรเบิร์ตสัน (Dr.Channing Robertson) ที่เคยเป็นถึงรองคณบดีอาวุโสคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อทั้งสองได้พบและคุยกันอย่างถูกคอ ทำให้ไอเดียต่าง ๆ นั้นล้วนดูเป็นไปได้ หลังจากนั้นไม่นาน ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ครั้งนี้เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้โฮล์มส์ลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทั้งที่ยังเรียนไม่จบ เหมือนกับผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปชื่อดังคนอื่น ๆ อย่าง สตีฟ จ็อบส์ บิล เกตต์ หรือมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก และยังชักชวนให้อาจารย์โรเบิร์ตสันลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย เพื่อมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาแก่บริษัทเธออีกด้วย จนสุดท้ายทั้งคู่ได้ร่วมก่อตั้งบริษัทขึ้นมาจนได้ บริษัทที่มีชื่อรวมกันระหว่างคำว่า “การรักษา” (Therapy) กับ “การวินิจฉัยโรค” (Diagnosis) นั่นก็คือบริษัทที่ชื่อว่า เธอรานอส (Theranos)

ที่มา Vanity Fair
สุขภาพร่างกาย ทราบได้จาก “เลือด”
นวัตกรรมที่ทำให้เธอรานอสเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจริง ๆ คือเครื่องตรวจเลือดที่ชื่อว่าเอดิสัน ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามชื่อของนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) โดยเครื่องเอดิสันที่ว่า มีความสามารถในการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงอาการที่ผิดปกติในร่างกาย ซึ่งทางเธอรานอสยืนยันว่าสามารถตรวจสุขภาพได้เป็นร้อยอาการ ด้วยการตรวจเลือดเพียงไม่กี่หยดจากการเจาะปลายนิ้วของผู้ใช้งานเพียงครั้งเดียว นั่นทำให้ทุกคนบนโลกมีโอกาสที่จะรู้ปัญหาสุขภาพ และดูแลตัวเองก่อนที่จะสายเกินไป และต้องจากคนที่รักโดยที่ยังไม่ทันได้บอกลา เทคโนโลยีนี้จึงถือเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ และพลิกโฉมโลกใบนี้ ให้กลายเป็นโลกที่ทุกคนสามารถรู้ข้อมูลความเสี่ยงสุขภาพของตัวเองล่วงหน้า และดูแลสุขภาพของตัวเองได้ตรงจุด

ที่มา Owner’s Magazine
ในปัจจุบันมีเครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบความเสี่ยงของการเกิดโรคได้แล้วสำหรับหลายโรค โดยใช้วิธีการเจาะหลอดเลือดดำที่แขนไปยังหลอดเก็บเลือด โดยต้องเก็บเลือดจากผู้รับการตรวจ 0.5 – 1 ช้อนชาโดยประมาณ หลังจากนั้นจะมีการแบ่งเลือดที่ได้ไปบรรจุในหลอดทดลองเล็ก ๆ และทำการทดสอบตามที่แพทย์สั่ง หรือตามที่ผู้รับการตรวจต้องการ และนำเลือดไปทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการต่อไป แต่การตรวจสุขภาพด้วยวิธีนี้ที่อาจจะมีประโยชน์อย่างมาก แต่หลายคนก็เลือกที่จะไม่ไปตรวจหาความเสี่ยงหล่านี้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ อาจเพราะกลัวเข็มขนาดใหญ่ อาจเพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวยในการส่งตัวอย่างเลือดไปยังห้องทดลอง หรืออาจเพราะมันจำเป็นจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งที่ตอนตรวจสุขภาพ ผู้รับการตรวจอาจจะไม่ได้มีโรคร้ายใด ๆ อยู่เลย ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้เองที่ทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะไม่ตรวจหาความเสี่ยงสุขภาพของตนเอง และรู้ตัวเมื่อสายเกินไป เครื่องเอดิสันของโฮล์มส์จึงถูกออกแบบมาเพื่อกลบจุดด้อยเหล่านี้ ของวิธีการตรวจสุขภาพจากการเจาะเลือดในปัจจุบัน ทั้งการทดสอบที่ใช้เวลาไม่นานกับเลือดไม่กี่หยดโดยไม่จำเป็นต้องสูบเลือดจำนวนมากเพื่อเก็บไว้ในห้องทดลอง อีกทั้งขนาดของเครื่องที่ถูกออกแบบมาให้เล็กกระทัดรัด สามารถนำไปตั้งยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านขายยา ทั่วประเทศได้ ซึ่งมันจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการรับการตรวจทุกคน และที่สำคัญที่สุดคือผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเสียเงินราคาแพงในการตรวจสอบสุขภาพของตัวเอง ก็สามารถรู้ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้คนเจ็บป่วยน้อยลงอย่างมาก แต่น่าเสียดาย ที่สุดท้ายแล้วเครื่องเอดิสันไม่สามารถทำงานได้จริง

ที่มา Dr. B. Lal Clinical Laboratory
ก่อนอื่น ผู้อ่านควรได้รู้ก่อนว่าการตรวจเลือดในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร เริ่มต้นจากสารประกอบที่อยู่ภายในเลือด ประมาณครึ่งหนึ่งคือเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดที่ผสมอยู่รวมกัน และอีกครึ่งหนึ่งคือของเหลวที่เรียกว่าพลาสมา ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำ สารอาหาร โปรตีน และสารเมตาบอไลต์อื่น ๆ ที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย ซึ่งทุกส่วนในเลือดที่ได้รับมาจากผู้เข้าตรวจ ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่บอกข้อมูลสุขภาพได้ การตรวจเลือดจากการเจาะหลอดเลือดใหญ่บริเวณแขนจึงสามารถบอกได้ทั้งเรื่องของ ปริมาณเม็ดเลือด รูปร่างเม็ดเลือด ไขมันในเลือด อัตราการแข็งตัวของเลือด การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ไต หรือต่อมไทรอยด์ ซึ่งการตรวจสอบแต่ละโรคหรืออาการนั้นใช้วิธีการทดสอบที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องนำเลือดจากผู้เข้ารับการตรวจมาใช้ในปริมาณที่มากกว่าการเจาะนิ้ว

ที่มา Thermo Fisher
ที่จริง การตรวจสุขภาพจากการเจาะเลือดจากนิ้วก็มีความนิยมในปัจจุบัน สำหรับการตรวจหาปริมาณไขมัน และน้ำตาลในกระแสเลือด รวมถึงการตรวจสอบโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบ และสุขภาพของตับ แต่การเจาะเลือดจากปลายนิ้วไม่สามารถตรวจหาหลายอย่างจากร่างกายได้ ด้วยข้อจำกัดที่ว่า ปริมาณเลือดของผู้รับการตรวจนั้นน้อยเกินไป ซึ่งมันน้อยกว่าการเจาะหลอดเลือดดำบริเวณแขน 30 – 100 เท่า และการตรวจเลือดจากปลายนิ้วยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเศษเซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนัง ซึ่งผสมไปกับเลือดในอัตราส่วนที่มากกว่าการเจาะหลอดเลือดดำบริเวณแขน นั่นทำให้ผลข้อมูลสุขภาพอาจจะไม่แม่นยำสำหรับการทดสอบที่มีความอ่อนไหวหรือใช้ความละเอียดสูง
สุดท้ายเธอรานอสก็เลือกที่จะออกแบบให้เครื่องเอดิสัน ตรวจสอบเลือดในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนโรคที่ทางผู้ผลิตยืนยันว่าสามารถตรวจหาได้ จนเกิดเป็นความไม่ไว้วางใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งนอกและในบริษัท แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทเธอรานอสลดลงเลย เพราะว่าโฮล์มส์เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่จนทุกคนมองเห็น และด้วยคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าสุดท้ายเครื่องเอดิสันจะทำงานได้จริง ผู้คนส่วนมากในช่วงเวลานั้นจึงเลือกที่จะเชื่อใจบริษัทเธอรานอสอยู่ และนั่นทำให้นักลงทุนยังคงมอบเงินทุนเข้าสู่บริษัทให้เดินหน้าต่อไป และประชาชนคนธรรมดา ก็ยังรอเข้ารับการตรวจสุขภาพด้วยเครื่องเอดิสันต่อไป แม้ว่านั่นจะเป็นการเอาสุขภาพของตัวเองมาเสี่ยงกับบริษัทสตาร์ตอัปหน้าใหม่อย่างนี้ก็ตาม

ที่มา National Health Executive
ความน่าเชื่อถือ ≠ ความถูกต้อง
“Fake it Till You Make it” อาจจะเป็นคำคมหนึ่งของซิลิคอนวัลเลย์ ที่นำทางนักธุรกิจหน้าใหม่มากมายให้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก เพราะถ้าเกิดแปลตรงตัว มันคือการที่ต้องเสแสร้งแกล้งบอกทุกคนว่าคุณจะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้ แม้ว่าคุณจะยังไม่เชื่อมันเลยด้วยซ้ำ เพื่อที่หลังจากนั้นนักลงทุนจะได้ให้ความเชื่อมั่น และให้ทุนจนผลงานเกิดขึ้นจริงได้ในภายหลัง ซึ่งนักธุรกิจคนแรก ๆ ที่มีหลักฐานการใช้วิธีนี้ คงต้องยกตัวอย่างนักประดิษฐ์ชื่อดังอย่าง โทมัส เอดิสัน ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 2,000 รายการ ตั้งแต่โทรเลข ปั๊มสุญญากาศ ไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า แต่สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดคงต้องยกให้หลอดไฟ ซึ่งในปี ค.ศ. 1878 สื่อได้ประกาศว่าเอดิสันคิดค้นวิธีทำให้ไส้ร้อนของหลอดไฟสว่างสไวอย่างยาวนานได้แล้ว แต่ว่านั่นไม่เป็นความจริงเลย เพราะไส้หลอดไฟของเขายังคงละลายจากความร้อนอยู่ แต่เขาก็ใช้การดัดแปลงเพื่อหลอกนักลงทุน และติดสินบนกับสื่อ จนเวลาผ่านไปกว่า 4 ปี เขาก็ประดิษฐ์หลอดไฟที่มีแสงสว่างอย่างคงทนได้สำเร็จ

ที่มา Laiz Kuczynski
เอดิสัน ที่เป็นชื่อเครื่องมือทดสอบตัวอย่างเลือดจากบริษัทเธอรานอสก็เดินหน้าพัฒนาการผลิตด้วยวิธีการเดียวกันกับเอดิสันที่เป็นชื่อของนักประดิษฐ์ นั่นคือการประกาศว่าเครื่องมือทดสอบตัวอย่างเลือดของพวกเขาใช้งานได้ดี จากการตรวจสอบเลือดจากปลายนิ้ว แม้ว่าเครื่องเอดิสันที่ว่านั้นจะยังทำงานจริงอย่างที่ตั้งใจไว้ไม่ได้เลย แต่การพัฒนาที่กินเวลาหลายปีจนเงินทุนเริ่มร่อยหรอ ทางเธอรานอสจำเป็นจะต้องหาทางสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนหน้าใหม่ เพื่อให้เงินทุนมากพอจะทำให้บริษัทได้ไปต่อ
ความน่าเชื่อถือของเธอรานอสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อร้านขายยาชื่อดังในสหรัฐอเมริกาอย่าง วอลกรีนส์ (Walgreens) ที่ตั้งอยู่ในทุกหัวระแหงของสหรัฐอเมริกาได้จับมือร่วมมือกับเธอรานอส ในการจัดตั้งศูนย์ตรวจเลือดจากเธอรานอสที่ชื่อว่า Theranos Wellness Center ในหลาย ๆ สาขาทั่วประเทศ นั่นทำให้เครื่องเอดิสันเข้าใกล้ผู้คนได้มากกว่าเดิม และทำให้นักลงทุนเชื่อในเธอรานอสกว่าเดิม เพราะบริษัทค้าปลีกยายักษ์ใหญ่ระดับประเทศยังร่วมมือกับเธอรานอส หมายความว่าน่าจะมีการตรวจสอบข้อมูลแล้วอย่างถี่ถ้วน ซึ่งแท้จริงแล้ววอลกรีนส์ร่วมมือกับเธอรานอสด้วยเหตุผลเพียงแค่ “เชื่อมั่นในโฮล์มส์” และ “กลัวตกรถ” เพราะในขณะนั้นเธอรานอสได้เปิดตัวบริษัทมาหลายปี และมีผู้ที่ให้ความไว้วางใจมากมายมาโดยตลอด แต่แล้วความผิดปกติมากมายก็เกิดขึ้น เพราะวอลกรีนส์ก็ไม่เคยมีเครื่องเอดิสันมาไว้ครอบครองเลย แต่จำเป็นจะต้องส่งตัวอย่างเลือดไปที่ห้องทดลองของเธอรานอสเอง รวมถึงการเก็บตัวอย่างด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้วเริ่มลดน้อยลง แต่เธอรานอสเรียกร้องให้เก็บตัวอย่างเลือดจากการเจาะหลอดเลือดดำที่แขนมากขึ้น จนผู้เข้ารับการตรวจบางรายไม่พอใจอย่างมาก

ที่มา Wall Street Journal
ภายหลังมีข้อมูลเปิดเผยว่า เธอรานอสไม่ได้ทดสอบเลือดด้วยเครื่องเอดิสันอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับใช้เลือดของผู้เข้ารับการตรวจมาทดสอบด้วยเครื่องมือที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดของเจ้าอื่น รวมถึงบางการทดสอบก็ใช้คนจริง ๆ ในการทดสอบ ควบคู่ไปกับการดูดเลือดหยดเล็ก ๆ ไปทดสอบในเครื่องเอดิสันด้วย ราวกับว่านำเลือดของผู้เข้ารับการตรวจมาใช้ทดลองเครื่องมือที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ก่อนที่จะนำข้อมูลผิดพลาดที่ได้จากเครื่องเอดิสัน ส่งกลับไปให้ผู้รับการตรวจ และทำให้ผู้เข้ารับการตรวจได้ข้อมูลสุขภาพที่ผิดพลาดไป จนหลังจากนั้นเกิดคดีความฟ้องร้องเธอรานอสจากคุณแม่ ที่ได้รับผลตรวจเลือดจากเธอรานอสว่ามีโอกาสแท้งลูกสูงมาก จนเธออยากจะทำแท้งก่อนกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง แต่เมื่อไปตรวจกับแพทย์ตามปกติกลับพบว่าไม่มีความเสี่ยงดังกล่าวเลย นั่นจึงเป็นตัวอย่างผลลัพธ์จากการแปลผลผิดพลาดของเครื่องเอดิสัน ซึ่งต่อมามีข้อมูลว่าเครื่องเอดิสันให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแก่ผู้เข้ารับการตรวจถึง 890,000 ผลลัพธ์ต่อปี
ความถูกต้อง เกิดจากการตรวจสอบ
เครื่องมือทางการแพทย์มีความสำคัญอย่างมาก หากเกิดความผิดพลาดทางด้านการแพทย์ อาจหมายถึง “ชีวิต” ของใครบางคน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เครื่องมือทางการแพทย์มีการควบคุมอย่างเข้มงวดมากที่สุด เครื่องมือทุกชนิดต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ US FDA เสียก่อนจึงจะออกวางขายได้ โดยที่เครื่องมือการแพทย์มีระดับความเสี่ยงที่ต้องประเมินก่อนได้รับการรับรอง ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับตั้งแต่คลาส 1 ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เช่น หูฟังของหมอ ไปจนถึงคลาส 3 ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจเทียม โดยที่หลอดเก็บเลือดขนาดเล็กที่เรียกว่านาโนเทนเนอร์ มีความเสี่ยงอยู่ในคลาส 2 เนื่องจากมันจำเป็นจะต้องเก็บเลือด ซึ่งละเอียดอ่อนต่อผลการทดสอบที่อาจคลาดเคลื่อนได้ รวมถึงเลือดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่เธอรานอสกลับยืนยันว่าหลอดนาโนเทนเนอร์นั้นอยู่ในคลาส 1 ทำให้เธอรานอสขายและใช้งานอุปกรณ์ที่ไม่มีการรับรองจาก US FDA เป็นเวลานานถึง 2 ปี
แม้ว่า US FDA จะมีการรับรองการตรวจหาเชื้อเริมได้จริงให้แก่เครื่องเอดิสัน แต่หลังจากนั้นก็มีเอกสาร 483 จาก US FDA ที่รายงานว่าผลการทดสอบเลือดของเครื่องเอดิสันนั้นคลุมเครือและไม่ชัดเจน และพบการร้องเรียนถึงการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานอย่างนาโนเทนเนอร์ในการทดสอบกับผู้คน จนทำให้ US FDA กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจอย่างมาก จึงสั่งห้ามใช้งานนาโนเทนเนอร์จากเครื่องเอดิสันทั่วประเทศ ทำให้เครื่องเอดิสัน และคำสัญญาของเธอรานอสไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

ที่มา The Verge
หลังจากนั้น ศูนย์บริการและควบคุมด้านการแพทย์อย่าง CMS (Centers for Medicare & Medicaid Services) ก็ได้เดินทางมาตรวจสอบห้องปฏิบัติการที่บริษัทเธอรานอสอย่างกะทันหัน นั่นทำให้ได้พบความจริงที่ว่า ผลการตรวจเลือดนั้นผิดพลาดจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เข้ารับการตรวจได้ ทั้งบาดเจ็บร้ายแรงจนถึงเสียชีวิต CMS จึงจำเป็นต้องยึดใบอนุญาตประกอบห้องปฏิบัติการ นั่นยิ่งทำให้เธอรานอสไม่สามารถเดินหน้าตรวจเลือดให้ใครได้อีก ทำให้บริษัทล่มสลาย ความเชื่อมั่นเป็นศูนย์ เท่ากับมูลค่าของบริษัทที่ชื่อว่าเธอรานอสในขณะนี้
สุดท้ายเมื่อพบว่าเธอรานอสทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่น เมื่อต้นปี ค.ศ. 2022 เจ้าของบริษัทอย่าง เอลิซาเบธ โฮล์มส์ จึงถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฉ้อโกงผ่านการโอน และสมคบกันต้มตุ๋นผู้อื่น โดยพิจารณาทั้งหลักฐานและพยาน 32 คน ซึ่งบทลงโทษอาจถึงขั้นติดคุกข้อหาละ 20 ปี แต่เธอยังคงสู้คดีอยู่ และนักกฎหมายก็คาดว่าเธอคงจะไม่ได้รับบทลงโทษสูงที่สุด

ที่มา Justin Sullivan/Getty Images
ข้อคิด จากความผิดพลาด
เรื่องของสุขภาพคน ไม่ใช่เรื่องที่จะล้อเล่นกันได้ เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดแล้ว มันอาจจะพรากเขาไปจากคนรอบตัวที่เขารัก ฉะนั้นเรื่องของเทคโนโลยีการแพทย์จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากที่จะลงทุน เพราะไม่ใช่แค่จำนวนเงินที่ใช้ในการพัฒนา แต่เป็นคนจริง ๆ ที่จะต้องถูกทดลองระหว่างการพัฒนาด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีการแพทย์ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน แต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสามารถสร้างมันขึ้นมาให้เป็นจริงได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้ เรื่องราวน่าค้นหาของวิทยาศาสตร์ อาจจะทำให้ใครเผลอคิดว่าทุกเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์พูดนั้นน่าเชื่อถือ และต้องเป็นความจริงทุกเรื่องอย่างแน่นอน แต่ความจริงคือ การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จำเป็นจะต้องตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบให้กับคำถามนั้น เพื่อที่จะตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในอดีตผู้คนเคยเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ แต่เพราะการสังเกตและตั้งคำถาม เราจึงค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างการที่โลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ในระบบสุริยะที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางเท่านั้น ซึ่งองค์ความรู้อีกหลายเรื่องในวงการวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นจากวิธีนี้ นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่างที่เราพบ แต่ควรเชื่อเมื่อมีข้อมูลและหลักฐานสนับสนุนมากเพียงพอ
อ้างอิง
The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley (2019)
Theranos กรณีศึกษาการล่มสลายของบริษัทใน Silicon Valley
How Theranos’ faulty blood tests got to market – and what that shows about gaps in FDA regulation
Scientists Testify in Holmes Trial: Theranos Tech Was Downright Bad
Theranos timeline: where did it all go wrong?
FDA inspector slams Theranos for poor quality management
Moving Past Theranos: What Is Possible With Blood Analysis?
What can a finger prick test tell us about your biology?
ศาลชี้ผิดซีอีโอสาวลวงโลก เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ส่งแรงสะเทือนซิลิคอนวัลเลย์