ดวงดาวนั้นก็เหมือนมนุษย์ ที่ต้องเกิดมาแล้วแตกดับไปในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่ดวงอาทิตย์ของเราเอง แต่จะมีความตายของดาวฤกษ์ดวงไหนกันเล่าที่จะงดงามและทรงพลังไปกว่าภาพ ๆ นี้ ซึ่งถูกถ่ายไว้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อปี 1997
จุดสีขาวบริเวณด้านล่างซ้ายของภาพที่เราเห็นนั้น ก็คือการระเบิดของดาวแคระขาวหรือ ซุปเปอร์โนวาประเภท 1a ซึ่งส่องสว่างจ้าเสียยิ่งกว่าใจกลางของกาแล็กซี่ที่มันอยู่เสียอีก ทั้ง ๆ ที่กาแล็กซี่แห่งนี้อยู่ห่างจากทางช้างเผือกของเราออกไปมากกว่า 55 ล้านปีแสงด้วยกัน
สาเหตุก็เพราะว่าดาวแคระขาวอันเป็นเศษซากของดาวฤกษ์ที่ตายไปแล้ว เกิดการปะทุด้วยปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เสถียรของอนุภาคในตัวดาว เนื่องจากดาวแคระขาวได้รับมวลที่มากเกินไปจนผ่านพ้นขีดจำกัดของมวลที่ 1.4 เท่าของดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า “ขีดจำกัดจันทรเศขร” ผ่านกระบวนการกลืนกินสสารจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงหรือดาวแคระขาวมาชนกันเองก็ตามที
และนอกจากที่การระเบิดประเภทนี้เต็มไปด้วยความสวยงามแล้ว ซุปเปอร์โนวาประเภท 1a ยังเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การสนับสนุนทฤษฎีบิ๊กแบงอีกด้วย เพราะดาวแคระขาวจะระเบิดเมื่อมีมวลเพิ่มขึ้นไปถึงระดับหนึ่งเท่า ๆ กันเสมอตามอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้แสงจากการระเบิดทุกครั้งมีค่าความส่องสว่างแท้จริงเท่ากันเสมอ
นักดาราศาสตร์จึงนำแสงนี้ไปเป็นเครื่องมือในการวัดระยะทางระหว่างกาแล็กซี่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น จนกระทั่งเรารู้ว่ากาแล็กซี่ส่วนใหญ่กำลังเคลื่อนที่ออกไปจากเราไกลขึ้นเรื่อย ๆ หรือก็คือเอกภพกำลังขยายตัวอยู่ตลอดเวลานั่นเอง