ในวันที่ 7 ธันวาคม 1972 ภาพของโลกจากยานอะพอลโล 17 (Apollo 17) เผยให้เราเห็นถึงดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่มีผิวน้ำปกคลุม แทรกด้วยแผ่นดินหลายต่อหลายแผ่น แผ่นดินนั้นดูเหมือนผุดขึ้นมาจากน้ำ โดยภาพนี้เป็นก้าวที่สำคัญของมนุษยชาติที่สามารถมองเห็นโลกได้ทั้งใบ เพราะผ่านมามนุษย์ในอดีตทำได้เพียงแต่ครุ่นคิดถึงรูปร่างหน้าตา และต้นกำเนิดของโลก เพราะการรับรู้ในสมัยก่อนถูกจำกัดด้วยขอบเขตการสังเกตการณ์ภายในโลกใบเดียวกันนี้ มนุษย์ในอดีตเปรียบเสมือนกับปลาที่แหวกว่ายอยู่ในตู้ปลา แล้วอยากรู้ว่าตู้ที่ใส่มันอยู่มีหน้าตาที่แท้จริงแบบไหนและมีที่มาอย่าไร ปลาตัวแรก ๆ ที่พยายามใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีมาอธิบาย คือ นักปรัชญาชาวกรีกนามว่า ธาลีส แห่งมิลีธุส (Thales of Miletus)
แม้เราจะทราบว่าธาลีส เกิดที่เมืองมิลีธุส ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตุรกี แต่เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขา เพราะไม่มีงานเขียนหรือบันทึกหลงเหลือ แต่ผู้คนโดยเฉพาะนักปรัชาในสมัยกรีกมักเล่าขานเกี่ยวกับธาลีสและผลงานของเขา ผลงานแนวคิดของธาลลีสที่หลงเหลือนั้น เราพอทราบได้จากงานของอริสโตเติล (Aristotle) และไดออจะนีซ (Diogenes) ที่เล่าถึงประวัติของปรัชญากรีกในยุคโบราณ มีเรื่องเล่าว่าธาลีส นอกจากเป็นนักปรัชญาแล้ว ยังดำเนินงานด้านการเมืองและธุรกิจอีกด้วย เขาเดินทางไปทั่ว ผ่านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงอียิปต์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรขาคณิต ซึ่งนำมาสู่แนวทางการให้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive Reasoning) แนวคิดของธาลีส ก่อร่างเป็นสำนักคิดชื่อไมลีเซียน (Milesian School) มีนักปราชญ์ผู้เป็นผลผลิตจากสำนักคิดนี้หลายคน เช่น อะแนกซิแมนเดอร์ (Anaximander) ผู้เป็นอีกคนที่เริ่มใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ อะแนกซินแมนเดอร์เป็นอาจารย์ของอะแนกซิมีนีซ (Anaximenes) และอะแนกซิมีนีซก็เป็นอาจารย์ของพิธาโกรัส (Pythagoras) ผู้โด่งดังด้วย เรียกได้ว่าธาลีสคือปรมาจารย์ของปรมาจารย์เลยก็ว่าได้
ในยุคโบราณ เมื่อผู้คนในกรีกเริ่มก่อร่างสร้างวัฒนธรรม ระบบภาษาและการเขียนที่จุดประกายปรัชญาตะวันตกจึงถือกำเนิดขึ้นมา ความเชื่อและศาสนาถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แนวคิดที่พยายามอธิบายเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยเหตุผลจึงเริ่มถูกนำมาใช้แทนที่คำอธิบายที่ว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างขึ้นมาหรือเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่หลายคนคงเชื่อว่าเกิดเหตุอะไรกับสุริยเทพ แต่ธาลีสโต้ว่า สุริยุปราคานั้นเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายได้และทำนายวันเวลาที่จะเกิดได้เช่นกัน ซึ่งจากคำบอกเล่าของนักปราชญ์ชื่อ ฮีโรโดทัส Herodotus ธาลีสคือผู้ที่สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เชื่อว่า ธาลีส ได้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาของเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 585 ปีก่อนคริสตกาล
คำถามในการมองโลกของธาลีส เป็นแนวคิดง่าย ๆ แต่ตอบยากมากหากคุณอาศัยอยู่ในดินแดนไอโอเนีย (Ionia) สมัยยุคกรีกโบราณ คำถามคือ ” อะไรคือองค์ประกอบพื้นฐานของเอกภพ ? ” แนวคิดที่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งถูกสร้างมาจากสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกันนั้นเรียกว่า เอกนิยม (Monism) หากเราถามว่า ” สรรพสิ่งและสิ่งมีชีวิตมาจากไหน ? คำตอบของธาลีสคือ น้ำ ! น้ำคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เพราะว่าน้ำสามารถดำรงอยู่ได้ในทั้งสามสถานะ ของแข็งในรูปน้ำแข็ง ของเหลวในรูปน้ำ และแก็สในรูปไอ น้ำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเกิดชีวิตและการดำรงชีวิต น้ำมีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลง ข้อสรุปเหล่านี้จึงใช้อธิบายแบบจำลองอวกาศ ที่เชื่อว่าแผ่นดินลอยอยู่บนน้ำและทุกสรรพสิ่งมาจากน้ำ ข้อสรุปนี้ยังใช้อธิบายการเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดจากการโคลงเคลงของแผ่นโลก การอธิบายนี้ดูมีเหตุผลและหลักการมากกว่าการอธิบายในเชิงศาสนา แนวคิดที่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาตินี้เรียกว่า ธรรมชาตินิยม (Naturalism)
มีคำคมของธาลีส ที่บรรดานักปราชญ์ต่างได้เล่าขานสืบกันมาตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาล กล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความคิด เพราะความคิดสามารถเดินทางไปทั่วทั้งจักรวาลได้ ” Nothing is more important than thought, for it travels over the universe “
สรุปได้ว่าทฤษฎีและการให้เหตุผลของธาลีสและสำนักคิดไมลีเซียน ได้ปลูกฝังแนวคิดเชิงปรัชญาที่ให้คำตอบกับคำถามพื้นฐาน ผ่านกระบวนการสังเกต วางแนวคิดเชิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์ให้โลกตะวันตก เพื่อเป็นลู่ทางให้นักปรัชญาในยุคถัดมาได้ใช้กระบวนเหล่านี้ในการค้นหาความจริง
อ้างอิง
NASA. 2021. The Blue Marble. www.nasa.gov/image-feature/the-blue-marble-the-view-from-apollo-17/
Research Gate. 2019. Thales of Miletus. www.researchgate.net/figure/Thales-of-Miletus-c-624-623-c-548-545-BC-one-of-the-Seven-Sages-of-Greece-the_fig3_351458083
Science Photo Library. 2017. Thales of Miletus. www.sciencephoto.com/media/552999/view/worldview-of-thales-of-miletus-artwork
World History. 2021. Thales of Miletus. www.worldhistory.org/Thales_of_Miletus/