เมื่อวันที่ 20-22 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมค่ายอบรบทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยครั้งที่ 18 (Young Thai Science Ambassador, YTSA#18) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และ บริษัท ทรู คอปเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมที่พร้อมผลักดันสังคมวิทยาศาสตร์ของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่าของ YTSA (รุ่นที่ 12) และได้มีโอกาสมาช่วยงานในค่าย เพื่อให้คำปรึกษากับน้องๆรุ่นใหม่ทุกปี รวมถึงปีนี้ด้วย ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า รูปแบบของกิจกรรมและผลงานจะมีความแตกต่างออกไปตามธีมของแต่ละปี ยกตัวอย่างเช่น ในปีของผู้เขียน ธีมในปีนั้นคือ “Miracle of Light” ซึ่งจะต้องออกมาสื่อสารวิทยาศาสตร์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแสงในรูปแบบการนำเสนอสดต่อหน้าคณะกรรมการ แต่ในปีนี้ ธีมประจำปีก็คือ “วิทยาศาสตร์ โอกาสที่เท่าเทียม – Equal Opportunities in Science” ภายใต้แนวคิด “ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในวงการวิทยาศาสตร์ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของความคิดเรื่องความเหนือกว่าทั้งหลาย รวมทั้งส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างความเท่าเทียมในสังคม” และผู้เข้าร่วมทุกคนต้องทำผลงานการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องออกมาในรูปของรายการพอดแคสต์ ต้องบอกตามตรงว่า นี่คือปีที่หัวข้อยากที่สุดปีนึงตั้งแต่ที่เคยจัดค่ายมา
ความยากและท้าทายของหัวข้อในปีนี้สังเกตได้จากสีหน้าแววตาของน้องๆเมื่อได้พบกับการเปิดเผยโจทย์ในวันแรกของค่าย ผู้เขียนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยก็สัมผัสได้ถึงความกังวลของน้องว่าตัวเองจะสามารถทำได้ไหม จากเท่าที่ได้พูดคุยกับกับน้องในคืนแรก ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือคำว่า “ความเท่าเทียม” ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากพอที่จะสื่อสารวิทยาศาตร์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้
น้องๆในค่ายนี้มาจากสาขาวิชาที่หลากหลายมาก ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ครุศาสตร์ ไปจนถึงนิเทศศาสตร์เลยทีเดียว ต้องมาพบเจอกับความท้าทายสารพัด ทั้งการทำความเข้าใจคำว่า “ความเท่าเทียม” เลือกประเด็นวิทยาศาสตร์ที่สนใจ เลือกกลุ่มเป้าหมาย คิดรูปแบบรายการ ร่างสคริปพอดแคสต์ แล้วต้องมานั่งแก้แล้วแก้อีก ไหนจะต้องมาอัดเสียง ตัดต่อคลิปเสียงของแต่ละคน เพื่อที่จะให้ทันส่งตรงเวลา นี่ยังไม่นับกิจกรรมและการบรรยายอบรมเทคนิคการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีมาอย่างอัดแน่นในค่ายอีก ใช่แล้ว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงแค่ 3 วัน 2 คืนเท่านั้น!!! และที่สำคัญน้องทุกคนเพิ่งมารู้โจทย์ในค่าย ไม่ได้เตรียมตัวที่จะอัดพอดแคสต์กันมาก่อนเลยด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดมากๆ แต่ผลงานของน้องทุกคนก็ออกมาอย่างยอดเยี่ยม สามารถรับมือกับคำถามของกรรมการได้อย่างมั่นใจ แสดงถึงศักยภาพที่เต็มเปี่ยมในตัวน้องๆได้เป็นอย่างดี สมกับเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ที่เป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่สำหรับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในวงกว้างเพื่อยกระดับความคิดในสังคมไทย
สำหรับผลการประเมินผลงานในปีนี้ มีผู้ที่ได้รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมทั้งหมด 4 คนด้วยกัน ซึ่งจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี ในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้แก่
- นางสาวศริญญา จิตคล่องทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ชื่อผลงาน : ทำไปทำไม-ดินดวงจันทร์เทียมสัญชาติไทย เศษหินที่ปลดล็อคอวกาศ
- นายชาคริต พุฒศรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ชื่อผลงาน : สร้างความเท่าเทียมไปกับครูวิทย์ฯ-Stop bullying by Social media and Science
- นางสาวภัทรดา ผาเหลา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ชื่อผลงาน : Science Sound Podcast – ในความเท่าเทียมมีอะไรไม่เท่าเทียม
- นางสาวพัชรากร รุนรอด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชื่อผลงาน : sci-tourism-ชีวิตที่หายไปกับน้ำ ณ แดนอาทิตย์อุทัย
สำหรับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีทั้งหมด 6 รางวัล โดยจะได้รับทุนการศึกษาคนละ 5,000 บาท พร้อมโอกาสร่วมงานกับ อพวช. ในภารกิจต่างๆ ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไป ได้แก่
- นายธนยศ จุลภักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ชื่อผลงาน : Insight Into Your Life – เพียงโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง ก็สร้างรายได้ให้เกษตรกร
- นายปวริศร์ เปี่ยมปรีชา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ชื่อผลงาน : May I have your attention? – Med you (met you)
- นายชนะพงษ์ บุญมา จากมหาวิทยาลัยพะเยา
ชื่อผลงาน : วิทยาศาสตร์ผ่านประสบการณ์-อำจริงหรืออัมพาต
- นางสาวซากุระโกะ มาซุดะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อผลงาน : Science Innovation Podcast – Skin of the future
- นายศักดิ์ชัย แซ่เฮ่ย จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ชื่อผลงาน : เปิดโปงภัยไซเบอร์ – Call Center
- นางสาวโมทนา ปิ่นเกล้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อผลงาน : Looking forward (to the future) – ยา ความจน โอกาส และความหวัง
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอแสดงความยินดีกับน้องๆทุกคนที่ได้รับรางวัลและผ่านการอบรมจากโครงการนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ผลิตผลงานการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับสังคมต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
National Science Museum | อพวช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย คัดตัวแทน 4 นักสื่อสารวิทย์ฯร่วมกิจกรรม ณ เยอรมนี ใน “โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย” ครั้งที่ 18