ท่ามกลางไฟของสงครามโลกครั้ง 2 อันดุเดือดระหว่างฝ่ายอักษะนำโดยนาซีเยอรมัน (Deutsches Reich), อิตาลีนำโดยพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ และจักรวรรดิญี่ปุ่น กับฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยสหภาพโซเวียต, อเมริกา และจักรวรรดิบริเตนในขณะนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายต่างรบกันเพื่อช่วงชิงพื้นที่และมีชัยเหนือศัตรู ในสงครามครั้งใหญ่นี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสงครามข้อมูล การรู้ข้อมูลก่อนย่อมหมายถึงการเดินเกมหมากของสงครามล่วงหน้าทั้งในการตั้งรับและการบุก โดยในช่วงแรกของสงครามฝ่ายนาซีเยอรมันมีชัยเหนือศัตรูทุกสมรภูมิด้วยเครื่องเข้ารหัสอีนิกม่า (enigma machine) ซึ่งมีความซับซ้อนในการเข้ารหัสและถูกขนานนามว่าถอดรหัสได้ยากที่สุด ด้วยเครื่องอีนิกม่านี่เองที่ทำให้ถึงแม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะสามารถดักสัญญาณมาได้ก็ไม่สามารถถอดรหัสมันได้ รวมทั้งการเข้ารหัสของอีนิกม่านั่นเปลี่ยนรูปแบบในทุก ๆ วัน
เครื่องอีนิกม่าเรียกได้ว่าเป็นเครื่องเข้ารหัสข้อมูลที่นาซีเยอรมันภูมิใจว่าไม่มีวันถอดได้ แต่แล้วความภูมิใจนี่ก็ต้องพังพินาศลงเมื่อการมาถึงชายผู้หนึ่ง นามว่า “อลัน ทัวริ่ง” นักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้น”วิธีการถอดรหัสเครื่องอีนิกม่า“
จากเด็กหนุ่มสู่ผู้พลิกกระแสสงคราม
อลัน ทัวริ่งเกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1912 ที่เมืองลอนดอน เข้าเรียนที่โรงเรียน St.Michael อลันในวัยเด็กฉายแววความอัจฉริยะเป็นอย่างมากจนครูในโรงเรียนกล่าวชื่นชมเขาเป็นประจำ ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชน Hazelhurst Preparatory School ก่อนย้ายออกมาเรียนที่โรงเรียนเชอร์บอร์นในปี ค.ศ. 1926 อลันได้เข้าเรียนภาควิชาคณิตศาสตร์ ที่คิงด์คอเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยจบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1934 โดยวิทยานิพนธ์ของเขา คือ “On the Gaussian error function“
ต่อมาใน ปี ค.ศ. 1936 อลัน ทัวริ่งได้ตีพิมพ์เอกสารฉบับหนึ่งความยาว 36 หน้า ใน วารสาร Proceedings of the London Mathematical Society ที่มีชื่อว่า “On Computable Numbers, with an Application to the Entscheidungsproblem” ซึ่งถูกเสนอครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤศภาคม และถูกตีพิมพ์ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน โดยเอกสารฉบับนี้เขาได้เสนอหลักการที่หักล้างแนวคิดเรื่อง Entscheidungsproblemไว้ว่า “ไม่มีอัลกอริธึมหรือกระบวนการใดที่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้” โดย Entscheidungsproblem เป็นการทดสอบคอมพิวเตอร์ผ่านการถามคำถามเชิงตรรกะศาสตร์ที่มีคำตอบแค่ ใช่-ไม่ใช่ เราเรียกปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ว่า halting problem ซึ่งหลักการของทัวริ่งนี่ถูกเรียกว่า “Turing’s proof”
ต่อมาทางมหาวิทยาลัยเชิญให้เขาเป็น Fellow ตามปกติแล้วตำแหน่งนี่จะเป็นของนักศึกษาปริญญาเอกเสียส่วนใหญ่ ในปี ค.ศ. 1938 ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมีวิทยานิพนธ์จบในหัวข้อ “Systems of Logic Based on Ordinals“
ผลงาน
อลัน ทัวริ่ง นอกจากการคิดวิธีในการถอดรหัสเครื่องอีนิกม่าแล้ว ทัวริ่งได้คิดเครื่องจักรนามธรรมที่สามารถทำงานอะไรก็ได้ตามคำสั่งที่ใส่ลงไป ซึ่งเขาเรียกว่าทัวริ่งแมชชีน แนวคิดเครื่องจักรในอุดมคติของอลันได้ถูกพัฒนาเป็นคอมพิวเตอร์ ทำให้อลัน ทัวริ่งถูกขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์
ทัวริ่งแมชชิน
ทัวริ่งแมชชีน คือแนวคิดเครื่องจักรในจินตนาการของอลัน ทัวริ่ง ซึ่งอลันอธิบายไว้ว่าคือ เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้ทุกอย่างตามคำสั่งที่ใส่ลงไป ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาแนวคิดเป็นการอ่านค่าคำสั่งแบบไบนารีของคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน หลักการของเครื่องจักรนี่ คือ เทปคำสั่งจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มของคำสั่ง Q1 , Q2, Q3 ในแต่ละอันจะประกอบไปด้วยชุดคำสั่งที่บอกให้เครื่องแสดงคำสั่งระหว่าง 0 กับ 1 และคำสั่งว่าง (B) ที่ใช้เพื่อเปลี่ยนยังกลุ่มคำสั่งถัดไป
การทดสอบทัวริ่ง บทพิสูจน์ของปัญญาประดิษฐ์
นอกจากแนวคิดที่ต่อมาถูกพัฒนาเป็นคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันแล้ว อลัน ทัวริ่งได้เสนอแนวคิดเพื่อพิสูจน์ปัญญาประดิษฐ์ โดยการทดลองนี่เรียกว่า “การทดสอบทัวริ่ง” ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- กรรมการพิมพ์คำถามลงไปในชุดข้อสอบหนึ่ง
- นำคน และ A.I. ตอบคำถามชุดเดียวกันนี้
- กรรมการจำเป็นต้องแยกว่าชุดคำตอบใดทำโดยมนุษย์ ชุดคำตอบใดทำโดย A.I.
- หาก A.I. สามารถหลอกกรรมการว่าตนเป็นมนุษย์ A.I. จะชนะ
- หากไม่สามารถหลอกกรรมการได้ A.I. จะเป็นฝ่ายแพ้
การทดสอบนี่ คือบททดสอบที่จะมีขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่า A.I. นี้มีความใกล้เคียงมนุษย์หรือไม่? ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่สำคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีความคล้ายมนุษย์
รักเพศเดียวกัน คือ อาชญากรรม
วันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1952 ขโมยได้ขึ้นบ้านของอลัน ส่งผลทำให้ตำรวจสืบพบว่านักคณิตศาสตร์ผู้นี้มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับชายหนุ่ม ซึ่งในยุคนั้นไม่ได้รับการยอมรับ เขาจึงถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ศาลมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าทัวริงมีความผิดจริงในปีนั้น ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1954 อลันถูกพบว่าเสียชีวิตเนื่องจากได้รับไซยาไนด์เกินขนาด
อ้างอิง
https://londmathsoc.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1112/plms/s2-42.1.230