นับเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วที่กล้องโทรทรรศน์เจมส์เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดอาเรียนนาไฟว์ โดยในวันนี้ทางองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การนาซา (NASA) ได้ประกาศว่า กระจกปฐมภูมิทรงหกเหลี่ยมทั้ง 18 แผ่นของเจมส์เว็บบ์นั้นได้รับการปรับโฟกัสให้เข้าที่เข้าทางอย่างสมบูรณ์แล้ว พร้อมกับทดสอบกล้องด้วยการถ่ายภาพบางส่วนของ ‘กาแล็กซีแมกเจลแลนใหญ่’ ภาพเผยให้เห็นดาวนับร้อยนับพันภายในกาแล็กซีแคระขนาดเล็กนี้ที่อยู่ห่างจากเราไปเพียง 160,000 ปีแสง
ทั้งนี้สาเหตุที่กระจกของเจมส์เว็บบ์ประกอบเป็นรูปหกเหลี่ยมก็เพื่อที่จะสามารถ ‘พับ’ ใส่เข้าไปในจรวดได้ และเมื่อกล้องเจมส์เว็บบ์เข้าสู่วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะ 1.5 ล้านกิโลเมตรแล้ว กระจกหกเหลี่ยมทั้ง 18 บานก็ได้กางออกมาประกบเข้าด้วยกัน กลายเป็นกระจกขนาดยักษ์ที่มีหน้ากว้างกว่า 6.5 เมตร ซึ่งใหญ่เสียยิ่งกว่ากระจกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ทำให้กล้องเจมส์เว็บบ์สามารถสังเกตภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดด้วยความคมชัดและความไวแสงมากกว่ากล้องฮับเบิลได้หลายเท่าตัว
อีกทั้งรูปร่างหน้าตาที่แปลกใหม่ของเจมส์เว็บบ์นี้ก็ยังทำให้แสงสามารถโฟกัสไปยังจุดที่หนาแน่นที่สุดของเครื่องตรวจจับได้อีกด้วย ซึ่งเป็นรูปทรงที่วิศวกรลงความเห็นว่ามีศักยภาพดีที่สุด โดยตัวกระจกนั้นทำจากแร่เบริลเลียมซึ่งทำให้มันมีความคงทนแข็งแรงและน้ำหนักเบาเพียงแค่แผ่นละ 20 กิโลกรัม พร้อมกับเคลือบตัวกระจกบาง ๆ ด้วยทองอีกทีหนึ่ง ซึ่งทองช่วยทำให้กระจกสะท้อนแสงอินฟราเรดได้ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่การออกแบบลักษณะนี้ก็ต้องแลกมากับการที่จะปรับตำแหน่งของแต่ละแผ่นให้เข้าที่เข้าทางอย่างละเอียด ซึ่งต้องมีความประณีตมากถึง 1 ในหมื่นส่วนของเส้นผมเลยทีเดียว โดยในอีก 2 เดือน กล้องโทรทรรศน์เจมส์เว็บบ์ก็พร้อมที่จะเริ่มภารกิจสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่ทีมนักวิจัยทั่วโลกเฝ้ารอต่อคิวกันมาอย่างยาวนาน
อ้างอิง
https://www.esa.int/ESA…/Images/2022/04/Webb_in_full_focus
https://webb.nasa.gov/…/observatory/ote/mirrors/index.html