เรียบเรียงโดย ณัฐกิตติ์ นามชู
“เมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน มนุษย์มักตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างดาวเสมอ”
ช่างน่าประหลาดใจ ทั้ง ๆ ที่ในเอกภพนี้มีดวงดาวหลายล้านดวง แต่มนุษย์กลับไม่เคยค้นพบหรือสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวเลย อย่างไรก็ตาม มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีมากมายเพื่อศึกษาและค้นหาอารยธรรมต่างดาว และหนึ่งในวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากที่สุดคือ “ชีวดาราศาสตร์”
ชีวดาราศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการก่อกำเนิด วิวัฒนาการ ความน่าจะเป็นในการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในเอกภพ และรวมไปถึงการค้นหาสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นด้วย โดยเริ่มต้นจากคำถามเล็ก ๆ ที่ว่า “สิ่งมีชีวิตบนโลกของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร” จนนำไปสู่การศึกษาการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตในเอกภพ
การศึกษาด้านชีวดาราศาสตร์ เป็น ‘การประยุกต์องค์ความรู้หลายแขนงเข้าด้วยกัน เช่น ดาราศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์บรรยากาศ สมุทรศาสตร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย’
โดยหัวข้อและคำถามหลัก ๆ ในการศึกษาและวิจัยด้านชีวดาราศาสตร์ อย่างเช่น ชีวิตและวิวัฒนาการเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งแวดล้อมแบบไหนที่เหมาะสมแก่การเกิดสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงการค้นหาดาวเคราะห์ที่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกด้วย
ภาพขวา : กล้องโทรทรรศน์วิทยุ
ที่มา : https://science.nasa.gov/mission/webb/ ,https://facts.net/nature/universe/15-unbelievable-facts-about-radio-telescope/
เป็นเวลากว่าทศวรรษที่มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อศึกษาและค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศอย่างเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งศึกษาในระดับดาวเคราะห์ และตรวจหาสัญญาณทางเคมีของสิ่งมีชีวิต กล้องโทรทรรศน์วิทยุภาคพื้นดิน ใช้ตรวจหาสัญญาณวิทยุที่อาจถูกส่งมาจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก และรวมไปถึงโรเวอร์ที่ลงจอดบนดาวเคราะห์ เพื่อศึกษาพื้นผิวของดาวด้านธรณีวิทยา
ที่มา : NASA/JPL-Caltech
https://www.newscientist.com/article/2250181-nasa-has-launched-its-perseverance-mars-rover-and-ingenuity-helicopter/
ตัวอย่างโครงการวิจัยด้านชีวดาราศาสตร์ของ NASA อย่างเช่น การลงจอดของโรเวอร์ Perseverance ณ หลุมอุกกาบาต Jezero Crater บนดาวอังคาร ซึ่งสันนิษฐานว่า เมื่อหลายพันล้านปีก่อน ในยุคที่ดาวอังคารยังมีอากาศอบอุ่นและมีความชื้นพอเหมาะ บริเวณนั้นเป็นทะเลสาบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยหลักในการเกิดสิ่งมีชีวิต ทำให้คาดว่าต้องมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งอาจทิ้งร่องรอยฟอสซิลไว้ในหินและดินบริเวณนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ NASA มุ่งเป้าศึกษาไปยังหลุมอุกกาบาต Jezero Crater
ชีวดาราศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีความสำคัญในการไขปริศนาการกำเนิดสิ่งมีชีวิตในเอกภพ ดังนั้น นักชีวดาราศาสตร์จึงต้องมีทักษะที่หลากหลายและครอบคลุม รวมไปถึงต้องมีทักษะในการสื่อสารอีกด้วย โดยเส้นทางการเป็นนักชีวดาราศาสตร์อาจเริ่มต้นจากการศึกษาฟิสิกส์ ธรณีวิทยา เคมี ชีววิทยา หรือดาราศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จากนั้นศึกษาต่อในระดับที่ลึกลงไปในด้านชีวดาราศาสตร์หรือด้านที่เกี่ยวข้อง
ศึกษาเพิ่มเติม : go.nasa.gov/GraphicNovels
อ้างอิง
https://depts.washington.edu/astrobio/wordpress/about-us/what-is-astrobiology/