เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติเป็นนวัตกรรมที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นส่วนช่วยในการก่อตั้งอาณานิคมของมนุษยชาติในอนาคตเนื่องจากเทคโนโลยีในการพิมพ์วัตถุ 3 มิติออกมาอย่างแม่นยำได้อย่างไรก็ตามในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงการพิมพ์ 3 มิติก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วงที่ใช้ยึดเกาะและจัดวางวัสดุระหว่างกระบวนการพิมพ์ โดยเฉพาะการพิมพ์ที่ต้องใช้โลหะหลอมเหลวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นใยหรือสื่อพิมพ์
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องปรับตัวและคิดค้นวิธีการพิมพ์ 3 มิติด้วยโลหะหลอมเหลวภายใต้ไร้แรงโน้มถ่วง โดยสถานีอวกาศนานาชาติถือเป็นสถานที่ในการทดสอบที่เหมาะสม เครื่องพิมพ์ 3 มิติจาก ESA หรือองค์การอวกาศยุโรปจึงถูกนำขึ้นไปทดสอบ โดยการทดสอบนี้ใช้ลวดสเตนเลสที่หลอมละลายด้วยเลเซอร์ที่มีกำลังสูงซึ่งมีอุณหภูมิถึง 1,200°C เพื่อสร้างเส้นใยโลหะหลอมเหลวที่ทับถมกันเป็นชั้นๆ เพื่อสร้างรูปร่างตามต้องการ
ในที่สุดทีมงานก็สามารถปรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้เข้ากับสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงต่ำได้ โดยผลิตชิ้นส่วนโลหะชิ้นแรกในอวกาศในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทีมงานมีแผนจะพิมพ์วัตถุอีกสองชิ้น จากนั้นจะนำวัตถุทั้งสามชิ้นกลับมายังโลกเพื่อวิเคราะห์คุณภาพและวางแผนในอนาคต
Daniel Neuenschwander ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจมนุษย์และหุ่นยนต์ของ ESA กล่าวว่า การพิมพ์ 3 มิติในครั้งนี้เป็นความสำเร็จอย่างมากในการสร้างศักยภาพในการผลิตในวงโคจร ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่ภารกิจระยะไกลและระยะยาว ซึ่งการสร้างชิ้นส่วนอะไหล่ ส่วนประกอบในการก่อสร้าง และเครื่องมือตามความต้องการถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เรากำลังจะสร้างอาณานิคมบนอวกาศ การผลิตปัจจัยและวัสดุที่ต้องการในการซ่อมบำรุงจากบนนั้นย่อมดีกว่าการรอการขนส่งจากบนโลกผ่านทางจรวดที่มีความจุจำกัด
หากเทคโนโลยีนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ในอนาคตเราอาจพิมพ์เนื้อเยื่อหรืออวัยวะใหม่ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินการสำรวจอวกาศในระยะยาวได้
อ้างอิง
https://www.space.com/astronauts-3d-print-first-metal-part-on-iss