เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ ๆ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฟอร์มิก็ได้ตรวจพบคลื่นรังสีพลังงานสูง ที่ส่องแสงสว่างวาบอย่างแปลกประหลาดเดินทางมายังโลกของเรา ก่อนที่ต่อมาองค์การนาซาเผยว่าเหตุการณ์นี้คือการระเบิดของรังสีแกมมา (Gamma-ray Burst หรือ GRB) ครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกตลอด 55 ปีที่ผ่านมา
นักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อการระเบิดรังสีแกมมาครั้งนี้ว่า GRB 221009A ตามวันที่ตรวจพบได้ ซึ่งบังเอิญตรงกับวันประชุมวิชาการที่มีนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีแกมมาจากนานาประเทศมารวมตัวกันอย่างพอดิบพอดี โดยงานประชุมนี้มีชื่อว่า Fermi Symposium ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 10 ณ ประเทศแอฟริกาใต้
ผลจากการระเบิดของรังสีแกมมานี้ได้ทำให้กล้องโทรทรรศน์ทั่วโลกต่างหันไปยังทิศทางของกลุ่มดาวธนูที่เป็นต้นกำเนิดของแสงวาบนี้ ผลการศึกษาพบว่ารังสีแกมมาได้เดินทางมาเป็นระยะทางกว่า 1,900 ล้านปีแสง หรือก็คือการระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 1,900 ล้านปีที่แล้ว โดยแสงวาบของรังสีแกมมาที่เกิดจากการระเบิดครั้งนี้ อาจมาจากดาวฤกษ์มวลมากที่หมดอายุขัยแล้วแปรสภาพกลายเป็นดาวนิวตรอน หรือหลุมดำ

ภาพแสงวาบจากการระเบิดค่อย ๆ จางลงในระยะเวลา 10 ชั่วโมง
ที่มา NASA | Swift | B. Cenko
แต่ทว่าโชคดีไป ที่การขยายตัวของเอกภพได้ทำให้ระยะทางของกาลอวกาศยืดออกไป จนต้นตอของรังสีแกมมานี้ขยับออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันคาดว่ามันน่าจะอยู่ห่างจากโลกราว 2,500 ล้านปีแสง ทำให้รังสีแกมมาที่แผ่วาบออกมาครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อโลกเลยแม้แต่น้อย
ถ้าหากวันหนึ่งดาวฤกษ์มวลมากที่อยู่ห่างจากโลกในระยะ 3,000 ปีแสงเกิดระเบิดแล้วปล่อยรังสีแกมมารุนแรงขึ้นมา ก็อาจก่อให้เกิดมหันตภัยครั้งใหญ่กับโลกได้ ดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกจะหยุดทำงาน ชั้นโอโซนที่ห่อหุ้มโลกไว้จะถูกทำลาย อนุภาคพลังงานสูงจากอวกาศจะทะลวงมาล้างบางสิ่งมีชีวิตบนโลกให้สูญพันธ์ุได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระเบิดของรังสีแกมมาลักษณะนี้อาจเป็นต้นตอการสูญพันธ์ุครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เคยเกิดขึ้นจริงเมื่อ 450 ล้านปีที่แล้วอีกด้วย
อ้างอิง
NASA | NASA’s Swift, Fermi Missions Detect Exceptional Cosmic Blast | Francis Reddy
PBS | A Bad Day in the Milky Way | Jerry Bonnell