เหมือนเป็นธรรมเนียมทุกปีที่จะต้องมีการประกาศรางวัลโนเบลฉบับล้อเลียนอย่าง Ig Nobel Prizes ซึ่งเป็นการประกาศรางวัลให้แก่งานวิจัยทั้ง 10 สาขาที่เป็นไปตามแนวคิด “ตอนแรกทำให้ขำ ตอนหลังทำให้คิด” ซึ่งหัวข้องานวิจัยที่ได้รับรางวัลบางอันแม้จะดูตลก สร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคน แต่ความจริงมันก็ช่วยสร้างองค์ความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ ให้กับโลกใบนี้มาแล้วมากมาย ไม่ใช่เล่น ๆ เลยนะเนี่ย
ปีนี้ Ig Nobel Prizes มาในธีมที่ชื่อว่า “Water” หรือ “น้ำ” โดยถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะในแต่ละสาขาจะเป็นกระดาษพิมพ์ไฟล์ PDF ออกมาพับเป็นรูปกล่องใส่โคล่า พร้อมทั้งยังมอบธนบัตรมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเวคนละ 1 ใบ เอาเป็นว่า ถ้าใครเริ่มอยากรู้แล้วว่าความรู้ที่ได้จากรางวัลนี้จะมากน้อยแค่ไหน ไปติดตามผลรางวัลทั้ง 10 สาขาภายในบทความนี้กัน
สาขาเคมีและธรณีวิทยา (The Chemistry & Geology Prize)
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “กัดก้อนเกลือกิน” เพื่อใช้ชีวิตอย่างคนไม่มีตังค์ แต่รู้ไหมว่านักวิทยาศาสตร์บางคนก็ “กัดก้อนหินชิม” ซึ่งบางทีคงดูแปลกตาคนทั่วไป เห็นแล้วอาจจะสงสาร แต่ที่พวกเขาทำไปไม่ใช่เพราะไม่มีเงินนะ พวกเขาทำเพื่อการศึกษา ด้วยเหตุนี้จึงมีจดหมายข่าวสมาคมบรรพชีวินวิทยา ที่ได้ช่วยชี้แจงในเรื่องนี้ด้วยหัวข้อ…
“การอธิบายว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนต้องเลียหินด้วย”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากสหราชอาณาจักร และโปแลนด์ ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาเคมีและธรณีวิทยา!!
นักธรณีวิทยาและนักบรรพชีวินวิทยาต้องทำงานที่คล้ายกันอย่างหนึ่งคือ การขุดพื้นดินหาบางสิ่งที่มีลักษณะหน้าตาเหมือนหิน และใช้มันในการศึกษาสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ซึ่งเมื่องานทั้งสองแขนงทับซ้อนกันก็จำเป็นต้องมีวิธีแยกให้รู้ว่า สิ่งที่ขุดพบมันเป็นก้อนหินหรือฟอสซิลกระดูกสัตว์โบราณ และวิธีการนั้นคือลองเอาลิ้นแตะชิมหินก้อนนั้นดู…
ฟอสซิลจากสิ่งมีชีวิตโบราณจะมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือเมื่อความชื้นเล็กน้อยจากลิ้นแตะลงไปบนมัน จะทำให้บางส่วนติดลิ้นมาเล็กน้อย ในขณะที่ก้อนหินส่วนใหญ่ ไม้กลายเป็นหิน หรืออะไรทำนองนั้นจะไม่ติดลิ้น บางทีนักวิทยาศาสตร์ที่เลียก้อนหินริมถนนอาจกำลังค้นพบกับฟอสซิลโปรโตซัว Nummulites foraminifera ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีก็ได้
นอกจากนี้ยังสามารถแยกคุณลักษณะของดินได้ด้วยการเคี้ยว หากอยากรู้ว่าหินนี้มาจากดินเหนียวหรือดินตะกอน ลองนำตัวอย่างเล็กน้อยมาวางระหว่างฟันบนและฟันล่าง ทำการบดดูแล้วสังเกตว่าผิวสัมผัสมันเป็นอย่างไร หากเรียบนุ่มมันคือดินเหนียว หากหยาบกรอบอาจเป็นดินที่มีตะกอนอยู่บ้าง และสามารถรู้ขนาดของเม็ดแร่จากการเคี้ยวได้ด้วย
ด้วยประสบการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องชิมหินอยู่เสมอ เมื่อไปออกพื้นที่จะรู้วิธีการเลือกสรรหินที่ค่อนข้างสะอาด ไม่ได้ถูกปกคลุมด้วยขยะหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ แต่ก็มีบ้างที่จะชิมเจอกระดูกวัวสมัยใหม่ หรือคอปโปรไลต์ (Coprolite) ซึ่งเป็นฟอสซิล “อึ” ดึกดำบรรพ์ แต่มันก็ไม่ได้น่ารังเกียจเสมอไป เป็นเรื่องขำด้วยซ้ำ เพราะฟอสซิลโบราณล้านปีมักไม่ได้มีอะไรแย่ ๆ เข้าร่างกายเรา อยู่ที่ว่ารสชาติมันโอเคหรือเปล่าก็เท่านั้น
รสชาติของหินก็สำคัญ มีการบันทึกไว้ว่า เปลือกฟอสซิลที่ถูกเผาหรือเศษถ่านหิน จะมีรสขมพอ ๆ กับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าน้ำจากน้ำพุที่อุดมไปด้วยแร่มาร์คาไซต์ (Marcasite) และถ่านหิน จะมีรสเผ็ดเปรี้ยว เหมือนกับกรดที่อยู่ในไวน์ ฉะนั้นด้วยรสชาติที่หลากหลาย บางทีมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ยินดีจะศึกษา “อนุกรมวิธานของรสชาติ” เลยด้วยซ้ำ ซึ่งคงน่าสนใจไม่น้อยในหมู่สมาชิกชมรมคนชอบหิน
สาขาวรรณกรรม (The Literature Prize)
เคยไหม เวลาที่เขียนหรือพูดคำอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้วเรารู้สึกว่า เอ๊ะ! คำนี้มันแปลก ๆ ไม่ค่อยคุ้นเลย ออกเสียงหรือสะกดถูกหรือเปล่านะ? อาการแบบนั้นคุณไม่ได้เป็นคนเดียว เพราะเป็นกันได้ทุกคนจนเกิดเป็นงานวิจัยได้เลยนะ…
“ความรู้สึกเวลาคนใช้คำ ๆ เดียวซ้ำ หลายต่อหลายต่อหลายต่อหลายต่อหลายครั้ง”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และฟินแลนด์ ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาวรรณกรรม!!
หลายคนน่าจะรู้จักคำว่า เดจาวู (déjà vu) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกที่เราคุ้น ๆ กับเหตุการณ์ที่เพิ่งอยู่ตรงหน้าเหมือนกับว่าเคยสัมผัสเหตุการณ์นั้นมาก่อน ซึ่งถูกพูดถึงกันทั่วไป แต่ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือมันมีคำอธิบายความรู้สึกตรงกันข้ามอย่าง จาเมส์วู (jamais vu) ซึ่งอธิบายความรู้สึกแปลกและไม่คุ้นชิน กับบางสิ่ง บางคำ หรือบางสถานที่ที่เราเคยพบเจอมาก่อนแน่ ๆ หรือบางทีได้สัมผัสกับมันเป็นประจำด้วยซ้ำ
นักวิจัยทำการศึกษาปรากฏการณ์ จาเมส์วู จากการคัดเลือกอาสาสมัครมาเขียนคำเดิมซ้ำไปซ้ำมาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเมื่อเขียนไปเรื่อย ๆ แล้วเริ่มรู้สึกว่าคำที่เขียนมันแปลก ให้ทำการหยุดเขียน ซึ่งความรู้สึกแปลกมักจะมาหลังจากเขียนซ้ำประมาณ 30 ครั้ง หรือประมาณหนึ่งนาที
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับอาสาสมัครสองในสามจากทั้งหมด และผู้ที่เคยรายงานว่าประสบกับเหตุการณ์เดจาวูในชีวิตประจำวัน มีแนวโน้มที่จะประสบกับจาเมส์วูอย่างมากด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้
สุดท้ายนี้ นักวิจัยชี้ว่าประเด็นที่ทำให้การใช้คำเดิมซ้ำ ๆ เริ่มดูแปลกไป เกิดจาก “การอิ่มความหมาย” (Semantic satiation) ซึ่งนอกจากการใช้คำนั้นซ้ำไปมาจนมันสูญเสียความหมาย อาจเกิดจากการที่มีคนจ้องมองมากขึ้นจนทำให้คำที่ใช้สูญเสียความหมายไปก็ได้
ฉะนั้นเวลาที่เราเรียกชื่อเพื่อนบ่อย ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็ลืมชื่อเพื่อน เรียกไม่ถูก อาจจะบอกเพื่อนได้ว่าเกิดจาเมส์วูขึ้นกับเราเสียแล้ว…
สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (The Mechanical Engineering Prize)
หลายคนคงเคยเล่นตู้คีบตุ๊กตา ที่เราต้องเลื่อนแขนคีบไปมาแล้วยกตุ๊กตาในตู้มาส่งยังช่องหยิบตุ๊กตาให้ได้ แต่แขนคีบนี่ก็มักจะอ่อนแรงเสียเหลือเกิน ไม่เหมือนกับแขนคีบที่ออกแบบโดยธรรมชาติ และถูกจับมาใช้งานโดยมนุษย์อย่างการใช้ขาแมงมุมในการคีบของต่าง ๆ ในงานวิจัยต่อไปนี้
“การทำให้ศพแมงมุมกลับมาขยับได้อีกครั้ง ในฐานะอุปกรณ์คีบจับของ”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากอินเดีย จีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล!!
การกางและหุบแขนของมนุษย์เรา ทำงานโดยใช้กล้ามเนื้อสองชนิดคือกล้ามเนื้อไบเซปและไตรเซป ที่หดและคลายตัวไม่พร้อมกัน จึงเกิดการงอที่จุดหมุนบริเวณข้อศอก แต่ขาของแมงมุมมีกล้ามเนื้อเพียงชนิดเดียวเรียกว่า กล้ามเนื้อดึงรั้ง (Flexor) ที่ทำให้ขาของมันหดเข้าหาตัวเท่านั้น
แล้วแมงมุมอ้าขาของมันยังไง? คำตอบก็คือ บริเวณหัวของแมงมุมจะมีช่องว่างที่สามารถบีบเลือดเข้าไปยังขาทั้งแปด และมันยืดขาโดยใช้ความดันจากการสูบฉีดเลือดแบบนั้น เหมือนกับการทำงานของไฮดรอลิกส์ที่ใช้ความดันในการขยับเช่นกัน
นักวิจัยนำซากแมงมุมหมาป่า (Wolf spider) ที่ตายแล้วมาจิ้มด้วยเข็มไปที่บริเวณหัว แล้วรักษาแผลด้วยกาว จากนั้นขยับขาของแมงมุมนี้ด้วยการปรับแรงดันผ่านเข็มที่อยู่บนหัวแมงมุม ซึ่งความน่าสนใจคือ แมงมุมชนิดนี้สามารถยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวมันได้ 1.3 เท่า ด้วยแรงบีบสูงสุด 0.35 มิลลินิวตัน และยังสามารถใช้งานได้เป็นพันครั้งก่อนที่ร่างกายของแมงมุมจะเสียหายไป
งานวิจัยนี้ทำให้เห็นว่า ธรรมชาติสรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้มีความสามารถมากมายเกินกว่าจะประเมินมันด้วยสายตา โดยนักวิจัยกล่าวว่าการนำซากศพสิ่งมีชีวิตมาทำงานคล้ายหุ่นยนต์ในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ให้วงการ “เนโครโบติกส์” (Necrobotics) หรือการสร้างหุ่นยนต์จากซากศพ ให้มีการศึกษามากขึ้น เพื่อทำความรู้จักกับสัตว์โลกที่ยังซุกซ่อนความสามารถอยู่ภายในร่างกายของมัน
สาขาสาธารณสุขศาสตร์ (The Public Health Prize)
ยุคนี้เป็นยุคของ Smart Home ไม่ว่าจะทำอะไรก็สามารถเชื่อมต่อและสั่งงานได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งอุปกรณ์บางชนิดนอกจากทำให้สะดวกสบายแล้วยังช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย ถึงคราวทำความรู้จักกับ Smart-ส้วม ในงานวิจัยต่อไปนี้…
“การประดิษฐ์ส้วมที่สามารถวิเคราะห์รูทวารอย่างแม่นยำเพื่อติดตามปัญหาสุขภาพ”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาสาธารณสุขศาสตร์!!
เทคโนโลยีสุดล้ำในการศึกษานี้มีความสามารถหลายอย่างมาก ทั้งการเก็บปัสสาวะผ่านก้านเก็บปัสสาวะแล้วนำมาวิเคราะห์ ระบบคอมพิวเตอร์วิเคราะห์อุจจาระ รวมทั้งเซนเซอร์และกล้องตรวจสุขภาพรูทวาร ที่ช่วยสแกนเพื่อระบุตัวตนผู้ใช้ได้ด้วย
เป็นที่รู้กันว่าสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย จะมีองค์ประกอบหลายชนิดที่สามารถนำไปตรวจสอบเพื่อบ่งชี้ถึงสุขภาพของเราได้ เช่น หลายคนคงเคยได้ยินว่าเชื้อก่อโรค COVID-19 นอกจากอยู่ในจมูกแล้วยังอยู่ในลำไส้อีกด้วย เราสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้จากกิจวัตรประจำวันโดยไม่ต้องแยงจมูกเลยด้วยซ้ำ และในอนาคตอาจใช้สุขภาพหัวใจ ความดันโลหิต และระดับออกซิเจนได้ด้วย
ที่จริงแนวคิดของส้วมอัจฉริยะมีมาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว แต่เข้าใจได้ว่าหลายคนรู้สึกไม่เป็นส่วนตัวกับการที่มีอะไรสักอย่างมาส่องที่รูทวารของเรา แต่ด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถเก็บข้อมูลอย่างเป็นส่วนตัวได้มากยิ่งขึ้นด้วยการเก็บข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านี้ในคลาวด์แบบเข้ารหัส ซึ่งสามารถระบุตัวตนเจ้าของข้อมูลได้ผ่านลายนิ้วมือและผิวรูทวาร โดยการทดสอบต่าง ๆ สามารถทราบรายงานผลได้อย่างรวดเร็วผ่านทางสมาร์ทโฟนของผู้ใช้เองในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น
หากใครพร้อมแล้วที่จะใช้อุปกรณ์ที่ช่วยตรวจสุขภาพร่างกายของคุณได้เป็นประจำ ขอแนะนำนวัตกรรม Smart-ส้วม นี้ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ และถ้าใครได้ใช้แล้ว อย่าลืมมารีวิวด้วยนะครับ
สาขาการสื่อสาร (The Communication Prize)
ยุคนี้ เป็นยุคที่มีความลื่นไหลทางภาษา (ไม่นับความลื่นล้มทางภาษานะ!) ทำให้มีคำศัพท์ ภาษา และวิธีพูดหลากหลายแบบเกิดขึ้นมาให้ได้ยินในชีวิตประจำวัน ในไทยเราคงคุ้นเคยกับคำผวน ภาษาลู หรือภาษากะเทย ในขณะที่ต่างชาติบางคนจะคุ้นกับการพูดกลับหลัง โดยการอ่านตัวอักษรที่เรียงย้อนกลับจากทิศทางปกติ ซึ่งการพูดภาษาแปลก ๆ เหล่านี้บางทีมีการทำงานของสมองไม่ต่างจากการเรียนรู้ทางภาษาปกติเลย จึงเกิดงานวิจัยขึ้นในหัวข้อว่า…
“การศึกษากิจกรรมทางสติปัญญาของผู้เชี่ยวชาญการพูดกลับหลัง”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากอาร์เจนตินา สเปน โคลอมเบีย ชิลี จีน และสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาการสื่อสาร!!
การพูดกลับหลัง เป็นการออกเสียงคำอ่านจากตัวอักษรที่เรียงย้อนกลับจากทิศทางปกติ เช่น Ig Nobel (อิ๊กโนเบล) อ่านกลับหลังได้ว่า leboN gI (เลบโอนกิ) ซึ่งสามารถอัดเสียงคำพูดกลับหลังนี้ไปย้อนคลิปเสียงในคอมพิวเตอร์จะปรากฏเป็นคำปกติได้จริงด้วย
คนที่พูดกลับหลังเก่ง ๆ บางทีขึ้นกับภาษา เพราะกลุ่มคนที่อยู่ในลาลากูนา ประเทศสเปน มีความเชี่ยวชาญการพูดกลับหลังมาก ถึงขนาดที่ว่าติดต่อ UNESCO และโรงเรียนภาษา Canary Academy of Language ให้รับรองภาษาพูดกลับหลังของพวกเขา แต่ทางองค์กรต่าง ๆ ยังมองว่าปรากฏการณ์ทางภาษานี้ยังไม่มีคุณค่าทางวิชาการขนาดนั้น
กลับกัน นักวิจัยอีกกลุ่มกลับมองว่าความเชี่ยวชาญการพูดกลับหลังน่าสนใจในการนำมาเป็นหัวข้อการศึกษาทางวิชาการมาก โดยสร้างภาพสมองหรือ Neuroimaging เพื่อตรวจหาตําแหน่งการทํางานของสมอง ในขณะที่มีการพูดกลับหลังของผู้เชี่ยวชาญเทียบกับคนทั่วไป
การศึกษานี้เลือกผู้เชี่ยวชาญการพูดกลับหลังมาสองคน โดยทั้งสองใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก เพราะภาษาสเปนเป็นภาษาที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะหน่วยเสียงของภาษานี้จะมีการรักษาเสียงให้เป็นแบบเดิมโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งของตัวอักษรนั้นและอักษรรอบข้าง
ผู้เชี่ยวชาญคนแรกเป็นวิศวกรระบบ อายุ 43 ปี ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคประสาทหรืออาการทางจิตเวช และมีการรายงานว่าทักษะการพูดและการได้ยินเป็นปกติ ยกเว้นที่จะมีอาการติดอ่างนิดหน่อยตอนสิบขวบ ส่วนผู้เชี่ยวชาญอีกคนเป็นตากล้องอายุ 50 ปี ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคประสาทและอาการทางจิตเวชเช่นกัน และเขายังรายงานว่าทักษาะการพูดและการได้ยินเป็นปกติทุกประการ โดยทั้งคู่มีความสามารถในการพูดกลับหลังโดยไม่ต้องคิด และไม่ต้องฝึกซ้อม สื่อถึงการทำงานของสมองที่ไม่ใช่ส่วนความจำ
ภาพสมองของทั้งสองคนแสดงให้เห็นว่ามีส่วนสมองเนื้อสีเทามีปริมาตรที่เพิ่มขึ้น และมีการเพิ่มการทำงานที่เชื่อมต่อระหว่างทางสัญญาณสมองด้านบน (Dorsal stream) และทางสัญญาณสมองด้านล่าง (Ventral stream) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านภาษาและการออกเสียง
แต่ถึงอย่างไร การทำงานของสมองทั้งสองคนนี้ก็ยังไม่เหมือนกันเสียทีเดียว มีความแตกต่างกันมากพอที่จะให้เห็นความแปรปรวนในความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองและการพูดกลับหลัง แม้การศึกษานี้จะใช้กลุ่มตัวอย่างที่น้อย แต่มันก็ช่วยยืนยันผลลัพธ์จากการศึกษาที่เคยมีมา เกี่ยวกับการปรับตัวของโครงข่ายประสาทและการทำงานด้านภาษา แม้ว่าภาษานั้นจะแหวกขนบและไม่ได้ใช้ในที่สาธารณะในชีวิตประจำวันก็ตาม
สาขาการแพทย์ (The Medicine Prize)
บางทีมีขนขึ้นตามร่างกายหลายส่วนที่เราไม่รู้มันจะมีเอาไว้ทำไม ไม่ได้เห็นความสำคัญมากขนาดนั้น แต่สำหรับคนที่ต้องเรียนรู้เรื่องสุขภาพร่างกายคนเราอย่างแพทย์ นอกจากจะรู้หน้าที่ของขนแต่ละส่วนแล้ว บางทีเขาก็อยากรู้จำนวนขนจนมีการศึกษาที่มานั่งนับขนด้วย การศึกษาที่ว่านั้นมาในหัวข้อ…
“การใช้ซากศพศึกษาว่าขนจมูกของมนุษย์มีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้างหรือไม่”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา มาซิโดเนีย อิหร่าน และเวียดนาม ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาการแพทย์!!
หลายคนอาจสงสัยว่า ว่างเหรอ? นับขนจมูกเพื่ออะไร แต่สำหรับแพทย์แล้วมีบางกรณีที่ต้องพบผู้ป่วยที่มาด้วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ภูมิแพ้ และจมูกแห้งกร้าน เนื่องจากส่วนสำคัญในทางเดินหายใจอย่างขนจมูกก็หลุดร่วงเช่นกัน
จำนวนขนจมูกจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย แพทย์ผู้วิจัยต้องการทราบจำนวนขนจมูกเพื่อประเมินสถานการณ์ให้ผู้ป่วยของตนเอง จึงมีการใช้ศพอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแพทย์ UCI (University of California, Irvine) 20 ร่าง แบ่งเป็นเพศชาย 10 และเพศหญิง 10 ร่างมาทำการศึกษา พบว่าจำนวนขนจมูกของทุกคนไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะเพศต่างกัน หรือมีประวัติโรคหัวใจร่วมด้วยเป็นปัจจัยก็ตาม
คราวนี้ ระหว่างจมูกทั้งสองข้าง ผลลัพธ์จากการศึกษาพบว่า ขนจมูกทั้งสองข้างมีจำนวนที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเหมือนกัน โดยจำนวนขนจมูกเฉลี่ยด้านซ้ายอยู่ที่ 120 เส้น และด้านขวาอยู่ที่ 112 เส้น
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทปวัดขนาด เพื่อหาความยาวของขนจมูกที่งอกขึ้นมาในจมูกส่วนบน ส่วนล่าง และด้านข้างด้วย พบว่าขนจมูกจะมีความยาวอยู่ในช่วง 0.81 – 1.035 เซนติเมตร
ด้วยข้อมูลของเส้นขนจมูกตรงนี้ เป็นก้าวแรกในการศึกษาเพื่อประเมินอาการต่าง ๆ ที่ตามมาของผู้ป่วยที่มีอาการขนจมูกร่วง ซึ่งอาจต่อยอดเป็นการรักษาเพื่อลดภาวะติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจได้ในอนาคต
สาขาโภชนศาสตร์ (The Nutrition Prize)
ใคร ๆ ก็ชอบกินของอร่อย แต่ของกินที่อร่อยมักไม่ค่อยมีประโยชน์ ของกินที่มีประโยชน์มักไม่ค่อยอร่อย โดยเฉพาะของเค็ม ๆ นี่ตัวการทำให้บวมโซเดียม และปัญหาสุขภาพที่ตามมามากมาย อย่างเช่น โรคไต นักวิจัยจึงลองสรรหาวิธีเสริมรสชาติ โดยไม่เสริมสารอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายเข้าไป จนเกิดเป็นงานวิจัยในหัวข้อ…
“การทดลองเพื่อวัดว่าหลอดดูดน้ำและตะเกียบไฟฟ้าเปลี่ยนรสชาติของกินได้อย่างไร”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากญี่ปุ่น ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาโภชนศาสตร์!!
ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเก่งเรื่องการออกแบบไอเดียวิจัยมาก ๆ เพราะการศึกษานี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการรับรางวัล Ig Nobel ถึง 17 ปีติดต่อกัน
ไอเดียตั้งต้นของนักวิจัยมาจากในปี 2011 มิยาชิตะและนากามูระรู้สึกเซ็งที่คนเรามีปุ่มรับรสแค่บนลิ้นเท่านั้น ในขณะที่ปลาดุกมีปุ่มรับรสทั่วตัวจนมันได้ฉายาว่าเป็น “ลิ้นลอยน้ำ” และด้วยความเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ นากามูระซึ่งเป็นนักศึกษาในการดูแลของมิยาชิตะได้ทำการทดลองพิจารณาว่าพลังงานไฟฟ้าจะช่วยเสริมความพิเศษให้การรับรสของคนเราได้ไหม โดยการนำวุ้นไปวางบนลิ้น แล้วชาร์ตด้วยไฟฟ้าเล็กน้อย จนเขาพบว่ารสชาติวุ้นเปลี่ยนไปทันทีที่เปิดสวิตช์
ด้วยความประหลาดใจ ปนดีใจ นากามูระจึงได้ทดลองติดตั้งขั้วไฟฟ้าขั้วบวกและลบไว้ที่หลอดดูดน้ำคนละอัน แล้วสอดหลอดลงไปในแก้วที่เต็มไปด้วยอิเล็กโทรไลต์หลอดละแก้ว เมื่อลองดูดน้ำ กระแสไฟฟ้าไหลครบวงจร เธอก็ได้พบกับ “รสชาติของไฟฟ้า” อีกครั้ง
มีการทดลองในลักษณะเดียวกันกับตะเกียบและอาหาร ซึ่งเมื่อนำตะเกียบคีบอาหารเข้าปากจนเกิดกระแสไฟฟ้าครบวงจรก็เกิดรสชาติที่เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยอาหารที่กินเข้าไปมีรสชาติเค็มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่า และสามารถปรับเพิ่มรสได้จากการปรับความต่างศักย์ไฟฟ้า จึงมีการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วติดที่ข้อมือเพิ่มเติมระหว่างมื้ออาหาร เพื่อช่วยในการปรับรสชาติอาหาร
จากสิ่งประดิษฐ์นี้ เราสามารถกินอาหารที่มีโซเดียมลดลงได้โดยไม่สูญเสียรสชาติความเค็ม ทำให้เราสามารถกินอาหารภายใต้คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ว่า ผู้ใหญ่ควรบริโภคเกลือน้อยกว่า 5 กรัมต่อวัน จากที่โดยปกติค่าเฉลี่ยคนญี่ปุ่นบริโภคเกลือถึง 10 กรัมต่อวัน
ถ้าไม่มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรมเจ๋ง ๆ แบบนี้ เราอาจจะต้องทนเจ็บปวดจากการตัดใจจากอาหารจานโปรดเพื่อรักษาสุขภาพก็ได้ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องทำแบบนั้นแล้วแหละ
สาขาศึกษาศาสตร์ (The Education Prize)
แทบทุกคนต้องมีชีวิตอยู่กับวงการการศึกษาในฐานะนักเรียน แล้วพบว่าหลายครั้งการศึกษาช่างน่าเบื่อเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะครูน่าเบื่อ วิชาน่าเบื่อ หลักสูตรน่าเบื่อ หนังสือน่าเบื่อ หรือคนที่มาคาดหวังให้เราเรียนเก่ง ๆ ก็อาจจะน่าเบื่อ ซึ่งไม่ใช่แค่คุณที่เคยมีความรู้สึกแบบนี้ แต่ความรู้สึกว่าการเรียนมันน่าเบื่อเหลือเกินมันเกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง ต้องลองดูจากการศึกษาในหัวข้อ…
“การศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับความเบื่อหน่ายของครูและของนักเรียน”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากฮ่องกง สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาศึกษาศาสตร์!!
เปเปอร์ที่ได้รับการพิจารณารางวัลในครั้งนี้ มาจากการศึกษาเรื่องความเบื่อหน่ายในห้องเรียนเหมือนกัน โดยการศึกษาจากเปเปอร์แรกอธิบายว่า ที่เราเบื่อ บางทีเพราะเราคาดว่ามันจะน่าเบื่อชัวร์ แค่คิดว่ามันเป็นงั้นก็ทำให้มันน่าเบื่อแล้ว ส่วนอีกเปเปอร์หนึ่งอธิบายว่าความเบื่อส่งต่อถึงกันได้ ถ้านักเรียนรู้ว่าครูกำลังเบื่อที่จะสอน เด็กก็เบื่อที่จะเรียนตามไปด้วย
การวิจัยในปี 2020 เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนักเรียน 437 คน ครู 17 คน จากโรงเรียนท้องถิ่น 2 แห่งในฮ่องกง ให้กลุ่มตัวอย่างจดบันทึกประจำวัน และให้นักเรียนจดคะแนนความรู้สึกเบื่อของตัวเอง รวมทั้งความน่าเบื่อของคุณครู นักวิจัยจึงทราบว่าเมื่อเด็กรู้สึกได้ว่าครูกำลังเบื่อ แรงจูงใจในการเรียนของเด็กจะลดต่ำลง แม้ว่าครูจะไม่ได้รู้สึกเบื่อจริง ๆ ก็ตาม
บางครั้ง นอกจากการสอนซ้ำเดิมหลายครั้งของครูจะสร้างความรู้สึกเบื่อให้ครูแล้ว ความคิดที่ว่าเนื้อหาที่เตรียมมาสอนในวันนี้ต้องน่าเบื่อแน่ ๆ ก็กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้การเรียนการสอนครั้งนั้นน่าเบื่อจริง ๆ ตามความคาดหวังด้วย ทั้งสำหรับครูเองและสำหรับนักเรียน
ความเบื่อหน่ายในห้องเรียน ไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะมันทำให้แรงจูงใจ การแสดงออก และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนลดลงไปตาม ๆ กัน แต่ถ้าไม่อยากให้นักเรียนเบื่อ ครูต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน แม้จะเข้าใจได้ว่าครูเองก็เบื่อที่ต้องสอนเนื้อหาแบบเดียวกันทุกห้องทุกปี โดยเฉพาะต้องสอนนักเรียนที่รู้สึกเบื่อ และส่งต่อความเบื่อนั้นมาให้ครูก่อนก็ตาม
สาขาจิตวิทยา (The Psychology Prize)
สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) นักจิตวิทยาซึ่งเป็นที่รู้จักจากทฤษฎีโลกกลม (Six Degrees of Seperation) ที่กล่าวว่ามนุษย์ทั้งโลกเชื่อมโยงกันได้ผ่านคนไม่เกิน 6 คน เช่น เราที่ไม่ได้รู้จักโดยตรงกับไอน์สไตน์ สามารถเชื่อมโยงกับเขาได้ผ่านคนรู้จักของพวกเรา ต่อ ๆ กันไป 6 คน ซึ่งวันนี้เราไม่ได้มาพูดถึงการศึกษานั้น แต่เป็นอีกการศึกษาหนึ่งที่กำลังจะโด่งดังตามไปเพราะเขาได้รับรางวัล Ig Nobel จากการศึกษาในหัวข้อ
“การทดลองมองว่าตามถนนในเมืองใหญ่ จะมีคนเดินสัญจรไปมาสักกี่คนที่หยุดและเงยหน้ามองตาม เวลาเห็นคนที่ไม่รู้จักเงยหน้าก่อน”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาจิตวิทยา!!
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรามักมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงตามคนอื่น เช่น หาวเวลาเห็นคนอื่นหาว หัวเราะเวลาได้ยินคนอื่นหัวเราะก่อน หรือมองนาฬิกาตามเมื่อคนอื่นมองดูนาฬิกาของตัวเอง โดยนักวิจัยก็เกิดความสงสัยว่าในที่ที่มีผู้คนจำนวนมากอย่างทางเท้าในเมืองที่ผู้คนพลุกพล่าน จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามคนอื่นแบบนี้หรือเปล่า เขาจึงใช้นิวยอร์กเป็นห้องทดลองของเขา
ในการทดลองนี้ มีการกำหนดคนที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกระตุ้นฝูงชน” โดยจะมีการให้สัญญาณตัวกระตุ้นเหล่านี้จากหน้าต่างชั้น 6 ของอาคารฝั่งตรงข้ามถนนให้หยุดเดิน และเงยหน้ามองอาคารฝั่งตัวเองเป็นเวา 1 นาทีเต็ม ก่อนจะได้รับสัญญาณให้หยุดทำ และแยกย้ายกันไป
ตัวกระตุ้นฝูงชนมีการแบ่งจำนวนในแต่ละครั้งของการทดลองไม่เท่ากัน มีทั้ง 1 2 3 4 5 10 หรือ 15 คน ที่หยุดและเงยหน้าพร้อมกัน โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวกระตุ้นฝูงชนนี่แหละ เพราะมีเพียง 4% ที่หยุดเดินและเงยหน้ามองตามตัวกระตุ้น 1 คน แต่มีถึง 40% ที่หยุดเดินและเงยหน้ามองตามตัวกระตุ้น 15 คน
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาคนที่เงยหน้าตามตัวกระตุ้นฝูงชนโดยไม่หยุดเดิน พบว่ามีผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกันคือ 42% เงยหน้ามองตามตัวกระตุ้น 1 คน แต่จะมีจำนวนถึง 86% ที่เงยหน้ามองตามตัวกระตุ้น 15 คน
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักนอกจากขึ้นกับจำนวนตัวกระตุ้นฝูงชนแล้ว ยังขึ้นกับสิ่งที่ตัวกระตุ้นมองดูด้วย เพราะการทกลองของเขาไม่ได้มีอะไรหน้าสนใจเป็นพิเศษให้เงยหน้ามองดู อาจจะรั้งคนทั่วไปไว้ไม่ได้นาน แต่ถ้ามีกายกรรมลอยฟ้าแสดงอยู่เเหนือยอดตึก อันนี้ก็ไม่แน่ อาจจะดึงความสนใจคนได้มากกว่านี้อีกก็ได้
สาขาฟิสิกส์ (The Physics Prize)
กิจกรรมทางเพศเป็นกิจกรรมที่สร้างทั้งความบันเทิง และยังสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น การปรับสภาพอารมณ์ การออกกำลังกาย หรือการลดความเสี่ยงโรคบางชนิด แต่ใครจะรู้ว่ากิจกรรมทางเพศสามารถส่งผลต่อสุขภาพของมหาสมุทร และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ด้วย!! สงสัยแล้วใช่ไหมว่ากำลังพูดถึงกิจกรรมทางเพศของตัวอะไรอยู่ เราขอแนะนำให้รู้จักการศึกษาในหัวข้อ…
“การวัดขอบเขตการผสมของน้ำในมหาสมุทร ที่มีผลจากกิจกรรมทางเพศของปลาแอนโชวี่”
หัวข้อการศึกษาของนักวิจัยจากสเปน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ที่ทำให้ได้รับรางวัล Ig Nobel 2023 สาขาฟิสิกส์!!
น้ำในมหาสมุทร บางคนอาจคิดว่ามันเหมือนกับน้ำหยดใหญ่เพียงหยดหนึ่ง แต่ที่จริงมันเป็นน้ำที่มีส่วนประกอบภายในหลายหลากมากกว่านั้น และมีคุณสมบัติแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย
ของผสมในมหาสมุทร เป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของน้ำในมหาสมุทรอย่างไม่สามารถย้อนกลับได้ ทั้งเกลือ แก๊ส สารอาหาร และอุณหภูมิ ซึ่งผสมเข้าด้วยกันผ่านการกวนด้วยแรงกล ในที่นี้หมายถึงกระแสลมและกระแสน้ำ ซึ่งของผสมเหล่านี้มีความสำคัญระดับที่สามารถส่งผลต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้เลย
นักวิจัยที่ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของผสมที่อยู่ในมหาสมุทรจะส่งผลอย่างไรต่อปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (Algal blooms) ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นอกชายฝั่งกาลิเซีย ประเทศสเปน จึงติดตามปริมาณของผสมในบริเวณดังกล่าวเป็นเวลาสองสัปดาห์ แต่กลับต้องของผสมปริมาณมหาศาลในทุกคืนอย่างไม่ทราบสาเหตุ พวกเขาจึงหาสาเหตุและพบว่ามีไข่อายุ 4 – 14 ชั่วโมงของปลาแอนโชวี่หรือปลากระตักอยู่นับพันใบ
การเปลี่ยนแปลงปริมาณของผสมในมหาสมุทรอย่างรุนแรงเกิดมาจากการรวมตัวจำนวนมากของปลาแอนโชวี่ เพื่อที่จะมามีเพศสัมพันธ์กัน และวางไข่ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ความพิเศษของกิจกรรมของปลาพวกนี้ที่นักวิจัยพบคือ ลมฤดูร้อนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวทำให้น้ำเย็นในส่วนลึกของมหาสมุทรเลื่อนตัวขึ้นใกล้ผิวน้ำที่อุ่นกว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกปลาได้เริงรักกันอย่างมีความสุขที่สุด
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยมักไม่เชื่อว่าผลกระทบจากปลาขนาดเล็กจะส่งผลต่อของผสมในมหาสมุทรได้มากมาย หรือไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบได้เลยด้วยซ้ำ แต่การศึกษานี้ช่วยยืนยีนว่าปลาเหล่านี้สามารถเพิ่มปริมาณของผสมจำนวนมากในมหาสมุทรได้ และเมื่อมันกระจายไปทั่วโลกผ่านกระแสน้ำกับกระแสลม ก็จะช่วยสร้างสมดุลให้แก่มหาสมุทรในที่สุด
ทิ้งท้าย
ครบแล้ว Ig Nobel Prize ทั้ง 10 สาขาในปีนี้ ยียวนกวนประสาทตามเคย แต่ก็ทำให้ได้เห็นแนวคิดสุดล้ำของพวกนักวิจัย ถือว่าเป็นการอุ่นเครื่องสมองก่อนการประกาศรางวัลใหญ่อย่างโนเบลที่ดีไม่น้อยเลย และสำหรับใครที่ยังอ่านไม่จุใจ สามารถเข้าไปอ่านบทความงานวิจัยของจริงได้จากรายชื่อในเ็บไซต์ทางการของ Ig Nobel Prizes (คลิกที่นี่) หรือใครที่สนใจดูวิดีโอการประกาศรางวัลยาวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งด้วยตัวเองก็สามารถไปชมต่อได้ (คลิกที่นี่)